Skip to main content

ข่าวสารกับความรับผิดชอบทางสังคม

คอลัมน์/ชุมชน

เร็ว ๆ นี้ มีเรื่องที่นายกฯ ในประเทศสารขัณฑ์กล่าวถึง บทบาทของนักหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนว่าไม่ได้ให้ความเป็นธรรมต่อตนเอง ผู้เขียนจึงคิดว่าบทความนี้น่าจะช่วยให้เห็นอีกมุมมองหนึ่งเกี่ยวกับการสื่อสารระดับมหภาคที่กลายเป็นกรณีที่ว่ามานั้น


เรื่องของการให้ข้อมูลต่อสาธารณชนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในทางวาทวิทยา-นิเทศศาสตร์มาก เรียกกันว่าเป็นเรื่อง " การสื่อสารสาธารณะ" อันอาจจะผ่านสื่อมวลชนหรือไม่ก็ตาม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการที่มีการประกาศข่าวต่าง ๆ ทางราชการ การชุมนุมต่าง ๆ และแม้กระทั่งการสอนหนังสือเองก็อาจถือเป็นการสื่อสารสาธารณะได้ในระดับหนึ่ง โดยมุ่งเน้นอย่างน้อยที่ ๑) จำนวนคนผู้รับสาร ๒)ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ส่งสารและผู้รับสารว่าค่อนข้างจะมีความสนิทชิดเชื้อห่างออกมา หรืออาจไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ๓) ดีกรีความเป็นทางการที่ค่อนข้างสูง และ ๔) การสะท้อนกลับหรือฟีดแบคที่อาจช้าและวัดผลได้ยาก


ดังนั้น บทความนี้ต้องการเน้นให้เกิดการตระหนักรู้ในหน้าที่ของตนเองของบุคคลทั่วไปในบริบทการสื่อสารสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นผู้ส่งสารหรือผู้รับสารก็ตาม นอกจากนี้ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องเพียงแค่สื่อมวลชนเท่านั้น แต่อาจรวมถึงผู้นำทางสังคม ผู้แทนของรัฐบาล หรือแม้แต่ผู้ที่เป็นแกนนำชุมชน ซึ่งมีบทบาทต่อที่สาธารณะ


จากมุมมองทางวาทวิทยา-นิเทศศาสตร์นั้น ต้องมีความเข้าใจแต่ต้นว่า ก่อนที่จะนำสารเผยแพร่ไม่ว่าในระดับใดก็ตาม ผู้ส่งสารเป็น " นาย" ของสาร แต่เมื่อปล่อยสารนั้นออกไป สารนั้นจะกลายเป็น " นาย" ของผู้ส่งสาร นั่นหมายถึงว่า เมื่อผู้ส่งสารต้องรับผิดชอบต่อสารที่สร้างและส่งออกไปในระดับที่กว้างใหญ่แบบการสื่อสารสาธารณะนั้น การกลั่นกรองในกระบวนการสร้างสารและส่งสารย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะสารเหล่านี้มีผลต่อสังคมในระดับกว้าง


ในประเทศที่มีความเจริญทางปัญญา จะมีตัวบทกฎหมายที่ยอมและประกันให้ผู้คนมีเสรีภาพทางการแสดงออก ไม่ว่าจะเป็นในระดับบุคคลหรือระดับสาธารณะ แต่ว่ากฎหมายที่มาบังคับก็มีบทลงโทษรุนแรง หากมีการหน่วงเหนี่ยวบังคับไม่ให้แสดงออกหรือให้แสดงออกตามที่ถูกกำหนดอย่างแคบ ๆเท่านั้น ในทางตรงกันข้ามหากนำเสนออย่างผิดพลาด ไปกระทบและทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสียโดยไม่ได้อยู่บนหลักฐานที่แน่ชัดพิสูจน์ได้ ก็มีบทลงโทษเช่นกัน


ในเรื่องนี้ รัฐบาลหลายแห่งในโลก ก็เป็นผู้ต้องสงสัยในหลายเรื่อง อย่างเช่นในสหรัฐฯ เองก็มีคนสงสัยว่าข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสงครามในอิรัก ข้อขัดแย้งกับเกาหลีเหนือ ข้อมูลเกี่ยวกับบิน ลาเด็นและพรรคพวก เหล่านี้มีความถูกต้องแม่นยำแท้จริงเพียงใด อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครสามารถตอบได้ และมีข่าวลือเป็นระยะ ๆ ว่าสื่อมวลชนที่เรียกว่าเชื่อถือได้ในสหรัฐฯ ก็ร่วมขบวนการ " หมกเม็ด" หรือ " บิดเบือน" เช่นกัน


ไม่นานมานี้ มี สำนักข่าวสากลแห่งหนึ่งบอกว่าตนได้สัญญากับแหล่งข่าวของรัฐบาลสหรัฐฯ ว่าตนเองจำต้องยอมที่จะไม่ลงข่าวบางเรื่อง เพื่อให้ได้ข่าวอื่น ๆ มาออกอากาศ ซึ่งเป็นการอ้างที่ไม่ถูกต้องตามหลักจริยบรรณสื่อมวลชน


ในเมืองไทยนั้น ผู้เขียนได้เคยเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ในสมัยที่ยังวัยละอ่อน ทำงานเกี่ยวข้องกับสื่ออย่างใกล้ชิด จำต้องติดต่อกับสื่อโดยเฉพาะสิ่งพิมพ์ ทำให้ได้รับความรู้ในระดับหนึ่งว่าระบบตรงนั้นเป็นอย่างไร จากวันนั้นจนวันนี้ แม้รูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์จะต่างออกไปบ้างในเรื่องเทคโนโลยีการผลิต แต่เรื่องจริยบรรณกันแล้วก็ไม่ต่างกับของเดิมยังมีการไม่โปร่งใสอยู่ พร้อมทั้งเงาต่าง ๆ ของอำนาจทางการเมืองก็มาคุมสื่ออยู่ไม่ได้ขาด


สิ่งที่ผู้เขียนคับข้องใจมาตลอดคือเรื่องของการบริโภคข้อมูลข่าวสารของสาธารณชน ไม่ว่าในสังคมใด ๆ ก็ตาม แม้ว่าจะมีกลุ่มองค์กรต่าง ๆ พยายามเข้ามาทำให้ความเป็นธรรมเกิดขึ้น แต่ในที่สุดก็ทำไม่ได้นาน แล้วก็จะมีกลุ่มอำนาจบางกลุ่มปรากฏตัวขึ้นและมีชุดค่านิยมบางอย่างถูกขุดนำมาใช้เพื่อกลบเกลื่อนความไม่โปร่งใสต่าง ๆ ทำให้ข่าวนั้น ข้อมูลนั้น ๆ เลือนหายไปหรือบิดเบือนไป


ในสหรัฐฯ ก็จะมีเรื่องชาตินิยม ปิตุภูมิ/มาตุภูมิ ความถูกต้องตามแนวศาสนา ความเป็นครอบครัวสุขสันต์ อะไรเหล่านี้มาทำให้เกิด " ความกลัว" ที่นำไปสู่ความใฝ่หาความมั่นคงและการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเพื่อจรรโลงความเป็นอยู่ดั้งเดิม ทั้งที่ความจริงแล้ว ความไม่แน่นอนคือความแน่นอน ความไม่เปลี่ยนแปลงไม่เคยไม่มีในโลก


สังคมอเมริกันเองหรือที่ใด ๆ ก็ไม่สามารถหลุดจากวงจรอุบาทว์นี้ที่พยายามยัดเยียดความกลัว พูดตรง ๆ ง่าย ๆ คือ สาธารณชนโดนหลอกได้ง่ายด้วยอุบายดังกล่าว


สังคมไทยเองก็เห็นกันอยู่ แต่อาจจะมองข้ามไปข้ามมา กลายเป็นมองไม่เห็น เพราะไม่เคยตั้งคำถามกันมากนัก ค่านิยมหลากชุดถูกขุดนำมาใช้โดยผู้ที่ต้องการแสวงประโยชน์ แถมบางทีพยายามบอกด้วยว่ามีมานานสมัยยุคอยุธยา ยุคสุโขทัย คนพูดคงลืมไปแล้วว่าสังคมแต่ละยุคต่างกัน การนำกฎเกณฑ์ในอดีตมาบอกว่าเหมาะกับปัจจุบันเป็นข้อที่พึงสงสัย และการตีความบางอย่างของเหตุการณ์ปัจจุบันโดยเอาเรื่องในอดีตมาเป็นตัวกำหนดนั้นเป็นเรื่องที่น่าสงสัยยิ่งนักในเรื่องความถูกต้อง อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ได้บอกว่าให้ลืมของเก่า ๆ แต่บอกว่าให้ใช้ให้เป็น ไม่ใช่มาใช้ผิดประเภทแบบนี้


การที่เป็นผู้บริโภคข่าวสารในปัจจุบัน ทำให้ทุกคนต้องมั่นใจว่าจะไม่ตกกลายเป็นเครื่องมือของผู้ที่ให้ข้อมูล หลายครั้งที่ผู้บริโภคข่าวสารทั่วไปตกเป็นเครื่องมือของแหล่งข้อมูลอย่างไม่น่าเป็นไปได้ ป่วยการที่จะหวังเรื่องคุณภาพและจริยธรรมของแหล่งข้อมูลทั่วไปที่มีในสังคม เพราะกลไกทุนนิยม อำนาจนิยมที่นับวันมีแต่จะแข็งแกร่งขึ้น


หลายครั้งผู้ที่อยู่ในแวดวงข่าวสารและการสื่อสารเองก็ได้แต่ถอนใจ เพราะแม้แต่คนในอาชีพเดียวกันก็ยังเตือนกันไม่ได้ แก้ไม่ได้


บทความนี้จึงไม่สามารถให้คำตอบได้ แต่ให้ข้อคิดเพื่อนำไปคิดต่อไป (อีกครั้ง)


.............


เผยแพร่ที่ประชาไทเมื่อวันที่ ๑ มิ.ย. ๒๕๔๘