Skip to main content

โรงสีชุมชน : การหวนกลับมาพึ่งตนเองอีกครั้งของชุมชน

คอลัมน์/ชุมชน





ในเขตภาคเหนือตอนล่าง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชลประทาน ที่การทำนาดูจะไม่มีกาลเทศะมากที่สุด คือไม่รู้ว่าเวลาที่ถูกที่ควรของการทำนาคือช่วงใด เพราะไม่มีฤดูกาลในการทำนาอีกต่อไป การทำนาปีละ 3 ครั้ง ดูจะเป็นเรื่องปกติของชาวนาแถบนี้ ยุ้งฉางที่เคยมีเอาไว้เก็บข้าวไว้รอราคาขายและเก็บไว้กินบ้างนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะมีข้าวออกมาแทบทุกเดือน ยุ้งฉางที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของความมีกินของชาวบ้าน หดหายไปเกือบหมด และสิ่งที่ค่อยๆหายไปพร้อมกับยุ้งฉางคือ การพึ่งตนเองในการทำนาของชาวนาแถบนี้ ชาวนาจ้างคนอื่นทำนาเกือบจะทุกขั้นตอนไม่ใช่เรื่องแปลกของการทำนาในภูมิภาคนี้ จนทำให้ธุรกิจรถไถนาและเก็บเกี่ยวข้าวเฟื่องฟู และที่ดูจะสูญเสียมากที่สุดในการพึ่งตนเองของชาวนาแถบนี้คือ การที่ชาวนาซื้อข้าวสารมาบริโภคเป็นสิ่งที่รับรู้กันอยู่ทั่วๆไป


การกำเนิดขึ้นของกองทุนเพื่อการลงทุนทางสังคม (Social Investment Fund : SIF) หรือที่ชุมชนต่างๆรู้จักกันในนามของ กองทุนชุมชน ในช่วงปี 2542-2544 เพื่อฟื้นฟูทุนทางสังคมนั้น ได้ช่วยให้ห่วงโซ่สำคัญห่วงหนึ่งของการพึ่งตนเองของชาวนากลับคืนมาสู่วิถีชีวิตของชาวนาอีกครั้ง นั่นคือการเกิดขึ้นของโรงสีชุมชนจำนวนมาก กระจายอยู่ในชุมชนต่างๆทั่วประเทศ เฉพาะในจังหวัดพิษณุโลกและพิจิตรก็ไม่น่าจะต่ำกว่า 60 แห่ง มีตั้งแต่โรงสีขนาดเล็กกำลังการผลิตแค่ 2 เกวียนต่อวัน ไปจนถึงโรงสีชุมชนที่สามารถทำเป็นธุรกิจได้ ขนาดกำลังการผลิต 12-13 เกวียนต่อวัน นอกจากนี้ยังมีโรงสีแบบเคลื่อนที่ที่ติดตั้งอยู่บนรถ ออกไปบริการสีข้าวตามชุมชนต่างๆอีกด้วย


แต่การทำโรงสีชุมชนเป็นเรื่อง"ใหม่ถอดด้าม" ทั้งสำหรับคณะกรรมการโรงสีชุมชนและตัวชุมชนเอง การจะทำให้โรงสีชุมชน "อยู่รอด" ดูจะยากกว่าการได้โรงสีชุมชนมา กรรมการโรงสีชุมชนแห่งหนึ่งในอำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร เคยเปรยให้ฟังในที่ประชุมครั้งหนึ่งของเครือข่ายโรงสีชุมชน เขตภาคเหนือตอนล่างว่า "ผมไม่รู้ว่าผมเป็นผู้จัดการโรงสีชุมชน หรือเป็นนักการโรงสีชุมชน เพราะทำทุกอย่าง ตั้งแต่โกยข้าว แบกข้าว สีข้าว รวมไปถึงการบริหารจัดการทั่วไป แต่ขึ้นหลังเสือแล้ว ก็ต้องสู้กันต่อไป" หรือ แกนนำท่านหนึ่งของโรงสีชุมชนบ้านปลวกง่าม ตำบลชมภู อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก บ่นเป็นทำนองน้อยใจว่า "พอได้โรงสีชุมชนมาแล้ว แทนที่ชาวบ้านจะนำข้าวมาสีกับเรา แต่ก็ยังมีคนนำข้าวไปสีกับเถ้าแก่โรงสีในพื้นที่ เพราะเขาให้ค่าน้ำมันสำหรับการลากข้าวไปสีที่เขา หรือไม่ก็มีบริการมาลากข้าวถึงบ้านเลย" นี่แสดงว่า การต่อสู้ของโรงสีชุมชนนั้น ไม่เพียงแต่ต้องต่อสู้เชิงธุรกิจกับเถ้าแก่โรงสีที่เป็นนักธุรกิจมืออาชีพ แต่ยังต้องต่อสู้กับ "ความสะดวกสบาย ความเคยชินของชาวบ้านในชุมชน" ซึ่งยากกว่าที่คิดขึ้นอีกเยอะ


คำบ่นของคณะกรรมการโรงสีชุมชนที่ดูเหมือนจะคล้ายๆกันคือ "เครื่องสีข้าวของเรามันเล็ก ขาดอุปกรณ์คัดแยกเมล็ดหัก ทำให้เมล็ดข้าวที่สีออกมาไม่สวย สู้โรงสีเถ้าแก่ไม่ได้" คำบ่นนี้แสดงว่า อยากทำธุรกิจค้าข้าวบ้างแล้ว แต่อุปสรรคใหญ่อยู่ที่เทคโนโลยี จะเห็นได้ว่า การบริหารจัดการโรงสีชุมชนนั้น มีปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย ตั้งแต่การปลุกจิตสำนึกของชุมชนให้หันกลับมาพึ่งตนเอง ทักษะในการสีข้าว เงินทุนหมุนเวียนในการซื้อข้าวและในการดำเนินกิจการ ซึ่งอาจจะรวมไปถึงบรรจุภัณฑ์ การตลาด และการขาดอุปกรณ์เสริมของการจะเป็นโรงสีชุมชนเชิงธุรกิจ เช่น ลานตากข้าว เครื่องชั่งน้ำหนัก เป็นต้น ประเด็นสำคัญจึงอยู่ตรงที่ว่า กลยุทธ์ในการบริหารจัดการโรงสีชุมชนควรจะเป็นอย่างไร กลยุทธ์ที่จะนำเสนอต่อไปนี้ มาจากประสบการณ์จริงที่ตัวดิฉันเองได้เข้าไปคลุกคลีกับโรงสีชุมชนในช่วงเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง


กลยุทธ์การให้บริการที่สม่ำเสมอ ชาวบ้านจำนวนไม่น้อย เมื่อนำข้าวไปสีที่โรงสีชุมชน แต่ต้องผิดหวังกลับไป เพราะโรงสีชุมชนปิดบริการในวันนั้น ถ้าเป็นเช่นนี้ ชาวบ้านที่อยากนำข้าวมาสีกับโรงสีชุมชนก็จะเกิดความเบื่อหน่าย และเลิกใช้บริการ วิธีแก้ปัญหาสำหรับโรงสีชุมชนที่ยังมีกำลังทรัพย์น้อยในการจ้างพนักงานถาวรที่จะมาสีข้าวคือ กำหนดวันเปิดสีข้าวที่แน่นอน อาจเป็นข้อตกลงร่วมกันของชุมชนเลยว่า โรงสีชุมชนจะเปิดบริการสัปดาห์ละ 2 วัน หรือ 3 วัน การกำหนดวันให้บริการที่แน่นอน ทำให้ผู้นำข้าวมาสีไม่ผิดหวัง ไม่เสียความรู้สึก และโรงสีชุมชนก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ด้วย


กลยุทธ์ที่ไม่เอาเงินเป็นตัวตั้ง โรงสีชุมชนที่ทีเงินหมุนเวียนในจำนวนไม่มาก ทำให้ซื้อข้าวเปลือกได้จำนวนไม่มากตอนที่ข้าวออกมาใหม่ๆ ทำให้ธุรกิจโตช้า แต่ต้องเสียเงินซื้อข้าวเปลือกในราคาที่สูงขึ้น หลังการเก็บเกี่ยว ทำให้ต้นทุนข้าวที่จะขายสูงขึ้น กำไรที่ได้จึงน้อย แต่ถ้าลองคิดใหม่ว่า ถ้าให้ชุมชนเข้าร่วมหุ้นกับโรงสี โดยแทนที่จะลงเงินเป็นหุ้น ลงข้าวเป็นหุ้นแทนได้ไหม เมื่อขายข้าวได้แล้ว จึงนำกำไรมาแบ่งกัน ชาวบ้านได้เป็นเจ้าของโรงสี ได้ทั้งกำไรและอาจมีเงินปันผลปลายปี และโรงสีไม่ต้องเสียเงินซื้อข้าว


กลยุทธ์ยืดชุมชน กำนันจันที พิลึก แห่งตำบลเนินปอ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร เคยพูดไว้ว่า การพัฒนาชุมชนไม่ต้องทำอะไรมาก ขอให้เงินไหลวนอยู่ในชุมชนมากๆเท่านั้นก็เพียงพอ คำพูดนี้เหมือนหลักการทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า ผลกระทบของตัวทวี (multiplier effect) ที่ใช้หลักการคิดง่ายๆว่า เงินจำนวนเดียวกัน ถ้าหมุน 3 รอบ ก็คล้ายกับมีเงินเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ดังนั้น ถ้าโรงสีชุมชนสามารถยึดชุมชนได้สัก 50% โรงสีชุมชนนั้นอยู่รอดแน่ คือ ขอแค่ครึ่งหนึ่งของชุมชนมาเป็นสมาชิกของโรงสีชุมชน เมื่อเขาเป็นสมาชิก เขาก็เข้ามาร่วมหุ้น เขาก็จะเข้ามาใช้บริการ และเขาก็จะเข้ามาซื้อข้าวไปกิน และได้รับปันผลกลับคืนมาอีก ถ้าเป็นอย่างนี้ ชุมชนไม่เห็นต้องไปสนใจตลาดโลก ไม่เห็นต้องชื่นชมว่าประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่สุดของโลก แต่ชาวนายังจนอยู่


กลยุทธ์สร้างภาพเพื่อหาจุดขาย ถ้าต้องการทำโรงสีชุมชนในเชิงธุรกิจ ต้องหาเอกลักษณ์ของโรงสีชุมชนให้ได้ ต้องไม่ใช่ที่ลักษณะทางกายภาพของเมล็ดข้าวที่สีออกมา เพราะโรงสีชุมชนไม่สามารถสีข้าวได้สวยเท่าโรงสีเอกชนแน่นอน แต่สิ่งที่สามารถนำมาเป็นจุดขายของโรงสีชุมชนได้ คือ คุณสมบัติในเนื้อในของข้าว คือ ข้าวปลอดสารพิษ ถึงสีออกมาแล้วเมล็ดไม่สวย แต่คุณสมบัติภายในสวย หรือสีข้าวนาปีขายที่ใช้สารเคมีน้อย เพราะในปัจจุบัน ความไว้ใจเรื่องเกษตรปลอดสารพิษของผู้บริโภคนั้น คือเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง ถ้าโรงสีชุมชนสามารถสร้างเอกลักษณ์นี้ขึ้นมาได้ เท่ากับว่า เราเปลี่ยนจากการขายข้าวธรรมดามาเป็นขายความเชื่อใจกัน ซึ่งโรงสีชุมชนหลายแห่งสามารถทำได้ โดยรวบรวมสมาชิกปลูกข้าวนาปีบ้าง ปลูกข้าวปลอดสารพิษบ้าง ปลูกข้าวโดยใช้สารชีวภาพบ้าง


กระบวนการเรียนรู้เรื่องโรงสีชุมชนต้องใช้เวลา แต่จะคุ้มค่ามากเพราะทำให้ชาวนาไทยและชุมชนมีความหวังในการกลับมาพึ่งตนเองได้อีกครั้ง คิดง่ายๆอย่างนี้ก็แล้วกันว่า กว่าจะได้โรงสีชุมชนมา เราต้องแลกมาด้วยวิกฤติเศรษฐกิจของชาติเชียวนะ ถ้าปล่อยให้ล้มไปอีก โอกาสครั้งที่สองมองไม่เห็นทางเลย แค่นี้พอมีกำลังใจในการต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆหรือยัง


......


เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๔ เม.ย. ๒๕๔๘