Skip to main content

สึนามิ--ซากที่ต้องเก็บ

คอลัมน์/ชุมชน

ได้ดูข่าว อ่านข่าวเกี่ยวกับสึนามิในไทยและที่อื่น ๆ จากแหล่งข่าวไทยและไม่ไทย ตั้งแต่ 26 ธันวาคมที่เกิดเหตุเป็นต้นมา ยอมรับว่าเกิดความรู้สึกว่าชีวิตคนและธรรมชาติเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นและคาดเดาไม่ได้เอาเลย เสียใจกับการสูญเสียต่าง ๆ แต่ว่าต้องทำใจว่าชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป ไม่ว่าใครก็ตามที่ยังมีชีวิตรอดต่อไป


จากมุมมองนิเทศศาสตร์ ผู้เขียนสามารถเห็นเรื่องราวต่าง ๆ ได้หลายความหมาย และบทความนี้จะลองนำมาเล่าให้ฟังพอสังเขปในบางประเด็นเท่านั้น หากเรื่องใดน่าติดตามและสามารถวิเคราะห์ได้ลึกลงไป คงได้มีการต่อเนื่องในเรื่องนั้น ๆ ตามที่จำเป็นหรือสมควร


ประเด็นแรกคือ เรื่อง การสื่อสารของรัฐบาลไทยต่อคนไทยในประเทศและต่างประเทศ จะเห็นได้ว่ารัฐบาลไทยได้พยายามทำหน้าที่สร้างภาพได้อย่างดีในเรื่องของการให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ของผู้ประสบภัยธรรมชาติในคราวนี้ เช่น การที่ออกข่าวให้โรงพยาบาลเอกชนให้บริการฟรี การประสานงานเรื่องการค้นหาศพหรือผู้บาดเจ็บทั้งไทยและต่างชาติ การมอบเงินข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้แก่บุคคลที่ได้รับผลกระทบจากภัยครั้งนี้


ในประเด็นนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันได้พลิกความโชคร้ายให้กลายเป็นกำลังของตน เพราะเท่ากับว่ารัฐบาลสามารถหาคะแนนเสียงให้กับตนเองได้อย่างง่ายดายและคุ้มค่า ยิ่งอยู่ในช่วงเวลาเลือกตั้งที่เพิ่งผ่านมาด้วยแล้ว การมอบสิ่งของ การให้ความช่วยเหลือต่าง ๆ ในรูปแบบใด ๆ ก็ตามเป็นการสร้างคะแนนนิยมต่อรัฐบาล แบบที่ฝ่ายตรงข้ามไม่สามารถตำหนิได้ชัดเจน


ในขณะเดียวกันชาวบ้านทั่วไปที่ไม่เท่าทันอาจมองว่ารัฐบาลนั้นดี ทั้งที่นี่แหละคือหน้าที่รัฐบาล ไม่ว่าจะชุดไหนก็ตาม การที่ไม่สามารถเข้าใจบทบาทหน้าที่รัฐบาลที่แท้จริงทำให้คนที่ไม่รู้พลอยนิยมรัฐบาลมากกว่าที่จำเป็น เพราะความจริงแล้วหากรัฐบาลไม่ทำ ถือเป็นเรื่องบกพร่อง และการที่ทำเท่านี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติหรืออาจน้อยไป การสร้างภาพของรัฐบาลจึงดำเนินต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง


วันนี้ ภาพต่าง ๆ เริ่มเปลี่ยน ความไม่โปร่งใสในการช่วยเหลือเริ่มมีให้เห็นเป็นระยะ ๆ คงต้องจับตาดูต่อไป


ประเด็นที่สองคือ เรื่องของคนดังที่ออกมาร่วมใจปลอบขวัญ เห็นได้ว่าตอนนี้ใคร ๆ ก็อยากให้เป็นที่ไม่ลืมของสังคม โดยการออกมาทำงานเพื่อหาเงินระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยในคราวนี้ ดังกล่าวนี้ถือเป็นการสร้างภาพได้ในระดับหนึ่ง หลายคนอาจมีเจตนาดีก็จริง แต่หลายคนก็ต้องการการลงทุนจากตรงนี้เช่นกัน การสร้างภาพบริจาคเงินของคนดังหลายคนก็อาจเกิดผล Reverse Effects (คือ สวนทางกับผลที่ต้องการให้เกิด) ได้ เช่น ในตอนแรก ๆ ที่มีนักกีฬาชื่อดังคนหนึ่งให้เงินบริจาคจำนวนหนึ่ง แต่โดนตำหนิจากบุคคลหลายกลุ่มว่าให้น้อยไปหน่อย ไม่สมศักดิ์ศรี อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องน่าคิดได้เช่นกันว่าการบริจาคเงินไม่ใช่เรื่องหมูๆ


ตอนนี้ กระแสเรื่องนี้ห่างออกไปแล้ว เวลาทำให้คนลืม และมีเรื่องใหม่ ๆ มาให้คิด ดังนั้น เหยื่อสึนามิจึงไม่ได้เห็นคนดังมาออกข่าวว่าจะช่วยอีกต่อไป


ประเด็นที่สาม เรื่องภาพลักษณ์ของสังคมไทย คนไทย และวัฒนธรรมไทยในสายตาประชาคมโลก แหล่งข่าวต่างประเทศและชาวต่างประเทศหลายคนเอง ได้พยายามบอกว่าคนไทย วัฒนธรรมไทย มีความน่ารัก ใจดี เล่นเอาคนไทยเกือบทุกคนปลื้มกันเป็นแถว ๆ เรื่องนี้จะว่าดีก็ดี ไม่ดีก็ไม่ดี ที่ดีก็คือว่าคงได้เพื่อนในระดับทั่วไปมากมาย เงินทองจากการท่องเที่ยวคงจะไหลเข้ามาอีก เพราะคนต่างชาติหลายคนอยากมาลองของแปลกในเมืองไทย มาพิสูจน์ที่ว่าใจดีนั้นเป็นอย่างไร ส่วนด้านไม่ดีคงเป็นว่าเราอาจโดนเอาเปรียบได้ง่ายในเวทีโลกเพราะต่างชาติรู้ดีว่าเราคงแหย ๆ หงิม ๆ อีกอย่างในสายตาของผู้ที่ทำงานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้นเป็นที่รู้กันว่าเวลาไทยเจรจาอะไร ไทยก็มักแพ้คนอื่นหมดเกือบทุกเรื่อง การที่ได้รับสมญานามว่าประเทศใจดีนั้นคงมี a price to pay เช่นกัน


ที่เก๋คือ ในงานประกวดนางงามจักรวาลก็ยังอุตส่าห์โฆษณาเมืองไทยแบบสุด ๆ ทุกเบรก แล้วก็เอาเรื่องสึนามิเข้ามาด้วย ไม่รู้ว่าทำด้วยใจหรือเพื่อภาพ เป็นคำถามคาใจเหมือนกัน


ประเด็นสุดท้ายคือ เรื่องของความรับผิดชอบที่แท้จริงของรัฐบาล จากการสื่อสารสามประเด็นข้างต้นนั้น จะเห็นได้ว่าสังคมไทยยังไม่ได้รับข้อมูลที่แท้จริงว่า เรื่องนี้ใครเป็นผู้รับผิดชอบอะไรกันบ้าง เช่น เรื่องระบบเตือนภัย แม้จะมีการย้ายผู้ใหญ่รับผิดชอบโดยตรงเรื่องนี้ไป มีการตรวจสอบระบบการทำงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบ มีการตั้งระบบเตือนภัยแล้วก็ตาม ผู้เขียนยังมองว่าไม่ครอบคลุมและยืนยันความจริงใจของรัฐบาลนัก


ผู้เขียนเองยังคงตั้งคำถามอยู่ว่า ในเมื่อได้รับรายงานจากอินโดนีเซียว่ามีแผ่นดินไหวแล้ว ทำไมไม่มีแผนจะรองรับจัดการเรื่องนี้อย่างทันท่วงทีก่อนหน้า? ดังนั้น ความผิดควรจะเกิดกับผู้รับผิดชอบระดับกรม กระทรวง และคณะรัฐบาลทั้งชุดหรือไม่ นอกจากนี้ยังถามต่ออีกว่า การที่ออกมาแก้ต่างว่าไร้ประสบการณ์ ไม่รู้จักภัยแบบนี้ เป็นการแก้ตัวแบบขอไปทีหรือไม่? อันนี้สังคมไทยน่าจะตั้งคำถามต่อไปต่อรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากรัฐบาลชุดเก่า


ผลที่เกิดจากสึนามิครั้งนี้ ทำให้หลายกลุ่มตื่นตัวมากขึ้น คำถามต่างก็ผุดขึ้นมา ส่วนคำตอบจะมาเมื่อไรคงเป็นอีกเรื่อง การเปิดเผยข้อมูลนั้นยังเป็นประเด็นที่น่าจับตาดูต่อไป และจะน่าเสียดายเป็นอย่างมากหากสังคมไม่สนใจใส่ใจกับปัญหาและคำถามที่โผล่มาให้เห็น เหมือนซากที่เกิดขึ้นหลังคลื่นนั้นแล้วก็ให้มันกองไว้ตรงนั้นหรืออย่างไร


หรือว่าคำถามเหล่านี้จะถูกลบเลือนหายไปอีกที เหมือนเกลียวคลื่นสึนามิที่ม้วนหายลงสู่ทะเลหลังจากที่โผล่ขึ้นมาทำลายชาวโลกแค่ช่วงระยะเวลาไม่กี่นาทีเท่านั้นเอง


................


เผยแพร่ในประชาไทเมื่อวันที่ ๙ มิ.ย. ๒๕๔๘