Skip to main content

ฤา….อาชีพเกษตรกรจะสิ้นแล้ว

คอลัมน์/ชุมชน

เมื่อเดือนก่อน ผู้เขียนเข้าไปประชุมในหมู่บ้าน เห็นผู้นำชุมชนหลายคนบ่นว่า วิทยาลัยเกษตรในบ้านเราดูจะร้างไปทุกที นักเรียนสายเกษตรแทบจะไม่มี ข้อมูลนี้สอดคล้องกับคำตอบของพี่น้องเกษตรกร ที่อยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุย ซึ่งพบว่าลูกหลานเกษตรกรที่จะสืบทอดอาชีพเกษตรกรต่อแทบจะไม่มี นับเป็นความมืดมนกับอนาคตทายาทเกษตรกรเสียจริง ๆ


คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ จากเครือข่ายสิทธิภูมิปัญญาไทย ได้ให้ข้อมูลที่สอดคล้องกันว่า " เมื่อก่อนเรามีวิทยาลัยเกษตรกรรมกระจายอยู่ทั่วประเทศ เป็นความหวังว่าวิทยาลัยนี้จะเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนแปลง ให้ความรู้ และปรับปรุงให้ชีวิตเกษตรกรเป็นวิถีที่ยั่งยืน เป็นวิถีที่น่าภาคภูมิใจ แต่เท่าที่ทราบมานั้น วิทยาลัยเกษตรกรรมไม่ได้สอนเรื่องการเกษตร เพราะไม่มีใครไปเรียน หลายที่ต้องจ้างให้เรียน เดี๋ยวนี้วิทยาลัยเกษตรเป็นวิทยาลัยที่สอนคอมพิวเตอร์ สอนอะไรหลายเรื่อง "


" เรียนให้เก่ง ๆ ขยัน ๆ จะได้เป็นเจ้าคนนายคน" ำบอกกล่าวของพ่อแม่ญาติพี่น้องยังคงก้องในความรู้สึก นี่อาจจะเป็นสาเหตุสำคัญในการสร้างภาพพจน์ว่า อาชีพเกษตรกรดูจะเป็นอาชีพที่น่ารังเกียจเสียเหลือเกิน


ยิ่งถ้อยคำที่ตอกย้ำความรู้สึกที่ว่า " รายได้ก็ต่ำ ใช้แรงงานก็เยอะ ต้องตากแดดตัวดำ ไม่เหมือนกับคนทำงานในสำนักงาน ที่ไม่ต้องทำอะไรมาก แค่ถือเอกสารเดินไปเดินมา ก็ได้เงินแล้ว" นี่คงเป็นภาพพจน์ที่ติดตรึงอยู่ในความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ทั่วไป


ท่ามกลางกระแสการหนีจากการเป็นทายาทเกษตรกร คุณวิลิต เตชะไพบูลย์ ( เห็นนามสกุลทุกคนก็รู้ว่าเป็นตระกูลที่มีชื่อเสียงด้านการทำธุรกิจในเมืองไทยมานาน) สร้างความงุนงงให้กับสังคม ด้วยการออกมาเป็นชาวนา หนีจากตัวเลขในห้องแอร์ เข้าสู่ท้องนา ในห้องธรรมชาติ


" เป็นสิ่งที่สนใจว่าเป็นงานจริง ๆ เพราะได้เห็นคุณค่าจากการที่ได้ลงมือทำ ได้ลงแรง ได้ไปไถนา ได้ฟันจอบ สำหรับผมในวันนี้อย่างน้อยที่สุด ผมปลูกข้าว ผมมีข้าวกิน และยังมีปลาในนาข้าวอีก" คุณวิลิตบอกเหตุผล


ปรากฎการณ์ดังกล่าวเสมือนเป็นน้ำหล่อเลี้ยง " คนรุ่นใหม่" ที่แอบซุ่มทำการเกษตรอยู่ ให้รู้สึกว่า " เฮ้ย เราไม่ได้บ้าคนเดียวนี่หว่า " นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเชื่อว่ามี " คนรุ่นใหม่" อีกหลายคนที่กำลังพยายามกรุยทางในการเป็น " เกษตรกร"


ยิ่งแน่ใจมากขึ้น เมื่อมีโอกาสได้ร่วมงาน ชุมชนชาวสวน ครั้งที่ 9 ที่ไร่กอนสะเดิน อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เมื่อวันที่ 26 - 29 มีนาคม 2548 งานนี้จัดขึ้นทุกปีเวียนไปตามสวนต่าง ๆ ที่เป็นสมาชิก ด้วยความมุ่งหมายในการจัดงาน คือ ให้ผู้ที่ออกไปทำงานและใช้ชีวิตชนบทได้แลกเปลี่ยนแนวคิด ประสบการณ์ สร้างความสัมพันธ์กัน รวมถึงการทบทวนทิศทางและแนวคิดการทำงานและใช้ชีวิตในชนบท ที่มาของการจัดงานมาจากการที่ปัจจุบัน ช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างคนจนกับคนรวยกว้างมาก คนไว้วางใจกันน้อยลง แก่งแย่งกันมากขึ้น ธรรมชาติถูกทำลาย คนจำนวนมากไม่มีความสุขในชีวิต จากปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้หลายคนตั้งคำถามกับการใช้ชีวิตปัจจุบัน และเริ่มมองหาทางเลือกใหม่ในการดำเนินชีวิต โดยหวังชีวิตที่เป็นสุขและสังคมสงบสุขเป็นปลายทาง


ผู้ร่วมงานส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ผ่านรั้วมหาวิทยาลัยมาทั้งสิ้น ตั้งแต่วัยกระเตาะ 25 ปี จนถึง 40 ปี นับไปนับมาร่วม 40 ชีวิต อยู่ในที่ต่าง ๆ กันตั้งแต่เหนือ จด ใต้ จากการพูดคุยพบว่า …… การเป็นเกษตรกร ในโลกความเป็นจริงไม่ง่าย ! ุปสรรคที่ต้องก้าวข้ามให้พ้น เริ่มตั้งแต่การต่อสู้กับครอบครัวจนกว่าจะทำให้พวกเขายอมรับ และกว่าจะทำให้พวกเขาเห็นด้วยกับการทำเกษตรที่ปฏิเสธสารเคมี และการทำอย่างไรให้ตนเองมีอยู่มีกิน มีรายได้ไปซื้อสิ่งของจำเป็นที่ไม่สามารถผลิตได้ เป็นโจทย์ที่ต้องแก้ให้สมดุลกับวิถีชีวิตของแต่ละคน !


การทำความเข้าใจกับครอบครัวมีกลยุทธ์หลายกระบวนท่าขึ้นกับปัจจัยแวดล้อมของผู้เข้าร่วมแต่ละคน แต่การทำให้ตนเองและครอบครัวมีอยู่มีกิน ใช้หลักการเดียวกัน คือ การใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม เน้นการพึ่งตนเอง ผ่านการทำของกินของ ใช้เอง ปฏิเสธการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายทั้งสิ้น การเลือกใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนและใช้พลังงานน้อยมาก เช่น ใช้น้ำด่างซักผ้าแทนผงซักฟอก ใช้มะขามเปียก ชำระร่างกายแทนสบู่ การหุงข้าว ด้วยเตาถ่าน การปลูกผัก ผลไม้กินเองในครอบครัว การปลูกข้าว และสีเป็นกล้อง ด้วยเครื่องสีข้าวที่ทำเองจากดินและไม้ไผ่ การปลูกและทำสมุนไพรไว้ใช้ในครัวเรือน การเลือกใช้แผงโซลาร์เซลในการผลิตพลังงานไฟฟ้า


นอกจากนี้ ผลผลิตทางการเกษตรยังไม่นิยมส่งขายกับพ่อค้าคนกลาง แต่จะผ่าน " การแปรรูป " ก่อน อาทิ หนุ่มวิศวกรแห่งแผ่นดินอีสาน ได้นำข้าวที่ปลูกด้วยความเอาใจใส่ของตนเอง ไม่ใช้สารเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น แปรเป็นข้าวกล้องนำไปจำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรงที่โรงพยาบาล หรือพี่อ้วน ที่แปรรูปไม้ในสวน มาเป็นถ่านและน้ำส้มจากควันไม้ ( สารไล่แมลง) ขณะที่เจ้าภาพการจัดงาน คุณราเมศ เลขยัน ปลูกมะขามเปรี้ยว แปรรูปเป็นมะขามดองและมะขามแช่อิ่มขาย ช่วยเพิ่มมูลค่าได้อีกโข


" การแปรรูป" จึงน่าจะเป็นทางออกที่น่าสนใจและดูจะเหมาะสมกับเกษตรกรรายย่อย เพราะนอกจากเป็นทางออกในการเก็บผลผลิตไว้กิน - ใช้ ในครัวเรือนได้ยาวนานแล้ว ยังสามารถพัฒนาไปสู่การเพิ่มมูลค่าผลผลิต ไม่ต้องถูกพ่อค้ากดราคาเพราะจะต้องรีบขายผลผลิตนำมาซึ่งรายได้ เพื่อไปซื้อสิ่งของจำเป็นที่ไม่สามารถผลิตได้ต่อไป


การพัฒนาใจและกายในการใช้ชีวิตที่แปลกแยกกับกระแสสังคมโดยรวม " เครือข่าย" จึงมีความสำคัญและเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ชุมชนชาวสวนใช้ โดยผ่านกิจกรรมการพบเจอกันปีละครั้งเป็นอย่างน้อย การเจอกันได้ทั้งกำลังใจ การพูดคุยถามสารทุกข์สุขดิบ การพัฒนาการทำสวน เทคนิคต่าง ๆ วิถีที่แต่ละคนใช้สร้างให้มีกิน - มีอยู่ การแลกเปลี่ยนพันธุ์พืช เหล่านี้เป็นตัวอย่างกิจกรรมในการเชื่อมโยงกันและกันของคนที่สนใจในเรื่องเดียวกัน


ประเด็นสำคัญที่พบเห็น รู้สึก " ทึ่ง" คือ ความพยายามที่ค่อย ๆ สะสมความรู้จากการลงมือทำจริง ๆ การลงไปใช้ชีวิตจริง ๆ แล้วค่อย ๆ พัฒนาขึ้นจาก " ความเป็นจริง" ในแต่ละบริบทของพื้นที่ แม้ว่าจะมีความหลากหลายในเงื่อนไขปัจจัยที่แตกต่างของแต่ละคน แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องการคือ " การเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ การได้ใกล้ชิดกับต้นไม้ใบหญ้า"


ความมั่นคงในการต่อสู้กับ …. อุปสรรคภายในจิตใจตนเอง …… การยืนหยัดจุดยืนที่สวนทางกับกระแสสังคม … และการสร้างความพร้อมในด้านปัจจัยหลักของการดำรงชีวิต อาจเป็นอีกความท้าทายหนึ่งสำหรับคนรุ่นใหม่ที่สนใจในการเป็นทายาทเกษตรกร ประสบการณ์ชีวิตของพวกเขาอาจเป็นแสงแห่งความหวังให้กับลูกหลานเกษตรกรหรือคนที่ไม่ใช่เกษตรกร ที่กำลังตัดสินใจว่าจะไปเป็นเกษตรกรดีหรือไม่


แต่ไม่ว่าคุณจะตัดสินใจอย่างไร มีคนอีกกลุ่มหนึ่งในสังคมยังคงร้องเพลง " เหลือเพียงแสงธูปดอกสุดท้ายส่องทางเดินไปไม่ไหวหวั่น…. "


..............


เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๑ เม.ย. ๒๕๔๘