Skip to main content

นายกรัฐมนตรีกับวุฒิสภา

สัปดาห์ที่ผ่านมาไม่มีข่าวไหนที่สร้างความสลดใจเท่ากับเหตุการณ์ตายหมู่ ๘๔ ศพที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส


ในด้านการทำงานของ ส.ว.นั้น การตรวจสอบข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ดังกล่าวปกติทำได้โดยการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงเหตุการณ์ดังกล่าวในกรรมาธิการคณะต่างๆที่เกี่ยวข้องในวุฒิสภา เช่น กรรมาธิการทหาร กรรมาธิการการต่างประเทศ หรือกรรมาธิการการปกครอง


หรือส.ว.สามารถตั้งกะทู้ด่วนถึงนายกรัฐมนตรีว่าเหตุการณ์ดังกล่าวมีสาเหตุจากอะไร และจะแก้ปัญหาในระยะสั้นและระยะยาวอย่างไร


ขอเรียนว่าในวุฒิสภาไม่มีกระทู้สด การตั้งกะทู้ต้องตั้งเป็นรายลักษณ์อักษร เขียนเรื่องราวที่จะกระทู้ให้กับฝ่ายบริหารก่อน แล้วนัดวันมาตอบกะทู้


ซึ่งในวุฒิสภากะทู้ด่วนให้เวลาหลายเดือนฝ่ายบริหารถึงจะมาตอบในวุฒิสภา !


 เป็นเรื่องบังเอิญที่กะทู้ด่วนวุฒิสภาซึ่งตั้งถามนายกรัฐมนตรีเรื่องปัญหาภาคใต้ ในกรณีที่เกิดขึ้นที่มัสยิดกรือเซะ หลายเดือนมาแล้ว ก็มีการบรรจุให้นายกรัฐมนตรีมาตอบในสภา


เมื่อเกิดปัญหามีผู้เสียชีวิตถึง ๘๔ ศพ ที่ตากใบ จังหวัดนราธิวาส กะทู้เรื่องของเหตุการณืความรุนแรงในภาคใต้ จึงเป็นเรื่องที่ท่านนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ต้องมาตอบกะทู้ในวุฒิสภาด้วยตนเอง


แต่เป็นที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งที่ท่านนายกฯ มาอธิบายเรื่องของสาเหตุที่เกิดขึ้นประมาณ สิบนาที แล้วก็ลุกขึ้นกลับออกไปจากสภาทันที


ไม่ได้ให้ผู้ตั้งกะทู้ถามแต่ประการใด และส.ว.หลายคนที่ยังสงสัยอยู่ก็ไม่ได้มีโอกาสซักถามข้อข้องใจ


ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง และเป็นสิ่งที่ไม่สมควรทำในประเทศประชาธิปไตยที่ฝ่ายบริหารต้องให้เกียรติและให้เวลาแก่ตัวแทนของประชาชน


ผมขอเรียนท่านว่าในวันนั้นผมอยู่ในสภาโดยตลอด และคิดว่าท่านนายกรัฐมนตรีคงอยากจะมาตอบข้อซักถามให้ส.ว.ทั้งหลายหายข้องใจ


แต่เวลาที่มาอธิบายในสภา มีการประท้วงจากส.ว.จอน อึ๊งภากรณ์ว่านายกชี้แจงไม่ตรงประเด็น เหตุการณ์ก็เลยทำให้ท่านนายกต้องกลับทันทีหลังชี้แจงในวุฒิสภา


ทั้งๆที่มีหลายประเด็นที่ยังค้างคาใจ เช่นการตายอยู่ในเวลาไหน ทำไมจึงมาออกข่าวเย็นวันอังคาร ทั้งๆที่ตามข่าวที่มีการวิเคราะห์แล้วการตายหมู่น่าจะเกิดขึ้นในวันจันทร์


ไม่รู้ว่าจะเป็นการตั้งใจให้ตลาดหลักทรัพย์รู้ข่าวตอนเย็นวันอังคารเพื่อไม่ให้เกิดผลลบกับราคาหุ้นของไทยออยที่จะขายในวันอังคารหรือเปล่า ?


ส.ว.บางท่านอยากให้กรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงให้มีคนกลางมาตรวจสอบด้วย ว่าเป็นอุบัติเหตุจริงหรือเปล่า


ถ้าเราดูการอภิปรายในรัฐสภาต่างประเทศ เช่นที่ ประเทศอังกฤษ เราก็จะมีโอกาสเห็นนายกรัฐมนตรีประเทศอังกฤษยืนโต้กับส.ว.ของเขาอย่างเผ็ดร้อนในประเด็นที่เป็นที่สงสัยของประชาชน


เช่นเดียวกับที่ สหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีก็ต้องตอบส.ว.ในวุฒิสภาอย่างถึงพริกถึงขิงเพื่อให้ตัวแทนของประชาชนเข้าใจ


แต่เป็นที่เสียดายที่นายกรัฐมนตรีของเราไม่ได้ทำเช่นนั้นในวุฒิสภา


 สัปดาห์ที่แล้วในวุฒิสภา เราน่าจะได้เห็นวิสัยทัศน์ของท่านนายกรัฐมนตรีผ่านการตอบกะทู้ในวุฒิสภาและเราน่าจะได้ทราบความจริงในสภา


ขอเรียนว่า ผมได้เห็นวิสัยทัศน์ที่ดีของรัฐมนตรีหลายท่านตอนตอบกะทู้ หรือมาชี้แจงในกรรมาธิการ


และผมก็เสียดายที่ท่านนายกฯไม่ได้ให้เวทีวุฒิสภามาชี้แจงอย่างแจ่มชัด โดยให้ส.ว.ได้ซักถาม


ทั้งๆที่ท่านนายกเคยรับปากกับสภาว่าจะมาประชุมให้บ่อยครั้งกับวุฒิสภา


ขอเรียนท่านว่าวุฒิสภามีอำนาจในการให้นายกรัฐมนตรีมาชี้แจงต่อวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องเป็นมติของวุฒิสภา


ในสภาผู้แทนราษฎรมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีได้ โดยต้องใช้ ส.ส. ๒๐๐ เสียงแต่ใน วุฒิสภา ส.ว.มีสิทธิเข้าชื่ออภิปรายทั่วไปเพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติได้


แต่ต้องให้เสียงจำนวนสามในห้าของวุฒิสภา คือ ๑๒๐ เสียง ในการเปิดอภิปรายทั่วไป


ซึ่งผมขอเรียนท่านอย่างจริงใจว่า เราจะไม่ได้เห็นส.ว.ชุดนี้เปิดอภิปรายทั่วไปรัฐบาลอย่างเด็ดขาด เพราะการบริหารราชการของรํฐบาลเข้าตาส.ว.ชุดนี้หลายคนเหลือเกิน


 เกินกว่า ๘๐ เสียงใน ส.ว.อย่างแน่นอนที่คิดว่าไม่น่าจะเปิดอภิปรายทั่วไป


ในวุฒิสภาเคยมีการลงมติมาแล้วที่จะให้นายกรัฐมนตรีมาชี้แจงในวุฒิสภา


ปรากฏว่าเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภาว่านายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาชี้แจงในวุฒิสภา


ผมก็เลยอดเห็นหน้า ท่านนายกรัฐมนตรีที่น่ารักของผมในวุฒิสภา ! ช่างไม่รู้ใจกันบ้างเลย ใจคอไม่รุ้ว่าจะปกป้อง จะรักนายกรัฐมนตรีไว้คนเดียวหรืออย่างไรถึงได้ปกป้องกันอย่างกับไข่ในหิน !