Skip to main content

มหาลัย-มหาหลอก?

คอลัมน์/ชุมชน

ในช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมของทุกปี ในสหรัฐฯ จะมีการรายงานผลการจัดอันดับโปรแกรมต่าง ๆของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในสหรัฐฯ ทำโดยหลายสำนักที่ดัง ๆ เช่น ยูเอสนิวส์ ซึ่งก็เป็นที่ฮือฮามากในสหรัฐฯ เปรียบเหมือนประกวดนางงามจักรวาล นางงามโลกในแวดวงการศึกษา แต่ไม่ได้เอาขาอ่อนมาโชว์ มาตอบปัญหา หากเอาผลงานจริง ๆ ที่คนอื่นเห็นมาวัดกัน


ในเมืองไทย ก็มีเรื่องใหญ่เป็นข่าวฮือฮาในทำนองเดียวกัน ในช่วงที่ผ่านมาเป็นเรื่องการจัดอันดับมหาวิทยาลัยทั่วโลก โดยมองในปัจจัยต่าง ๆ กันออกไป มหาวิทยาลัยดัง ๆ ที่ชื่อติดปากทั่วโลกก็เดินดาหน้าเข้ามาอย่างไม่ผิดความคาดหมาย แต่ที่มีปัญหา คือทำไมไม่มีของไทยเลย จึงกลายเป็นกระทู้ฮ็อต อย่างเลี่ยงไม่ได้ และตลอดไปตราบเท่าที่หลายคนยังสงสัยคุณภาพมหาวิทยาลัยไทย


อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ จุฬาฯได้ติดอันดับกับเขาด้วย จึงทำให้ความตึงเครียดค่อยลดลงมา


ผู้เขียนเคยเป็นอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่ง ในประเทศไทยมาก่อนกว่า ๔ ปี และปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยของรัฐฯ ในรัฐแห่งหนึ่งมา ๔ ปีเช่นกัน การทำงานของทั้งสองแห่งทำให้ผู้เขียนเข้าใจว่า การนำเสนอข้อมูลการจัดอันดับมีลักษณะที่ทำให้คนที่ไม่ใช่นักวิชาการ หรือที่ไม่เข้าใจการจัดอันดับที่แท้จริง เกิดความเข้าใจผิดได้ง่ายในความรู้สึก


อันนี้เป็นเรื่องของนิเทศศาสตร์โดยตรง เพราะมีการให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ทำให้เกิดบิดเบี้ยวของความหมายไปในที่สุด และมีประเด็นมาถกกันดังนี้


ประเด็นแรก ที่จะกล่าวคือ การจัดอันดับคืออะไร? ทำไมต้องมี? คำตอบง่าย ๆ คือเป็นการตรวจสอบและวัดคุณภาพของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ในระดับหนึ่ง โดยคนกลุ่มหนึ่ง โดยมีกรอบในการวัดในแต่ละเรื่อง ซึ่งคนวัดแต่ละคนก็มีเกณฑ์ดังกล่าวต่างกัน การที่ให้โอกาสมหาวิทยาลัยทุกแห่งในโลกเข้ามาอยู่ในกลุ่มที่ถูกวัดก็ทำได้ไม่เต็มที่ ไม่ครบ ดังนั้นการคลาดเคลื่อนจึงเกิดได้เสมอ ไม่สามารถเชื่อได้หมดและทึกทักเป็นความจริงแท้


จุดประสงค์ก็เพื่อให้ทราบข้อบกพร่องและข้อเด่นของแต่ละมหาวิทยาลัยในระดับหนึ่ง และต้องการให้ข้อมูลนี้เป็นที่รู้จักกันทั้งในสังคมและตัวมหาวิทยาลัยนั้น ๆ เอง คนทั่วไปก็นำมาใช้ประกอบการตัดสินในเวลาจะเลือกเข้าเรียนหรือติดต่อกับมหาวิทยาลัยนั้น ๆ มหาวิทยาลัยเองก็ได้เห็นว่า คนอื่น ๆ มองเราอย่างไร ทั้ง ๆ ที่มหาวิทยาลัยก็พอรู้บ้างว่าตนฝีมือขนาดไหน แต่คราวนี้มีการเปรียบในสนามที่เห็นตนเองและคนอื่น ๆ ด้วย


ประเด็นที่สอง ทำไมคนไทยจึงฮือฮา? ขอตอบว่า เพราะกระแสโลกาภิวัตน์ (อันนี้สะกดตามราชบัณฑิตฯ " ต-เต่า" ถูกต้อง) เป็นที่รู้กันว่าเราต้องแข่งกับที่อื่น ๆ เราต้องมีศักยภาพสู้กับพวกเขาเหล่านั้น และมหาวิทยาลัยทำหน้าที่สร้างคน ถ้าสร้างคนได้ไม่ดี ก็เท่ากับทำลายชาติอย่างมหาศาลในทางตรงเลยทีเดียว


นอกจากนี้ ต่อไปหลังจากที่รัฐบาลไทยเซ็น " เอฟทีเอ" กับสหรัฐฯ แล้ว มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ก็อาจจะตบเท้ามาเปิดสาขาในเมืองไทย ทางเลือกก็มีมากขึ้น ถ้ามหาวิทยาลัยไทยไม่ดีขึ้น ไม่ติดอันดับ เด็กไทยคงไม่สน อันนี้อาจเป็นเหตุที่ทำให้มหาวิทยาลัยไทยต้องออกมาโวยวายเสียแต่ตอนนี้ว่าตนไม่กระจอก เพื่อไม่ให้เสียตลาดในอนาคต


ประเด็นที่สาม ทำไมจึงมีการตีความกันในสังคมไทยว่ามหาวิทยาลัยไทยเรานั้น " ห่วย" ผู้เขียนขอตอบว่า การที่ข่าวจะดังและเป็นที่ติดปากนั้น ต้องเป็นเรื่องราวที่ไม่เลวก็ต้องดี มิเช่นนั้นแล้วข่าวขายไม่ได้ ไม่เกิดกระแส


ข่าวเรื่องไม่ติดอันดับนี้เป็นเรื่องด้านลบจึงดัง อีกทั้งเหตุการณ์ก่อนหน้านี้เคยมีมหาวิทยาลัยดังมาโวยวายว่าตนเองไม่ได้ติดอันดับในปีที่ผ่าน ๆ มาด้วยเหตุผลต่าง ๆ ทำให้เกิดเป็นฐานอยู่ก่อนแล้ว พอมีข่าวนี้มาซ้ำเลยยิ่งสนุก สีสันจึงสดใสมาอีกครั้ง


ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงด้วย เพราะเป็นอาชีพอยู่ในขณะนี้ จึงขอตอบว่าตนเองไม่สนใจมากนัก ผู้เขียนจบจากทั้งในไทยและสหรัฐฯ เข้าใจดีในระดับหนึ่งว่าแต่ละแห่งมีคุณภาพเช่นไร และตอบสนองความต้องการต่อสังคมอย่างไร มีพันธกิจ ( Mission) ต่างกันอย่างไร จุดนี้ทำให้ผู้เขียนยิ้มและขำทุกครั้งที่อ่านการจัดอันดับเหล่านี้


เมื่อมาสอนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ ผู้เขียนก็ได้เรียนรู้ว่าวิทยาเขตนี้ก็ติดอันดับหนึ่งในห้ามาสี่ปีซ้อน ในกลุ่มมหาวิทยาลัยของรัฐที่ให้การศึกษาศิลปศาสตร์ (Public Liberal Arts Colleges/Universities) ในระดับปริญญาตรีอย่างเดียวที่มีทั้งหมดกว่า ๔๐ แห่งทั่วสหรัฐฯ ทำให้เข้าใจการจัดอันดับต่าง ๆ มากขึ้นว่า มีการแตกย่อยออกไป แล้วแต่ลักษณะการทำงานของมหาวิทยาลัยและปัจจัยอื่น ๆ


การจะนำเอาวิทยาเขตเล็ก ๆ ที่สอนนี้ไปเปรียบกับวิทยาเขตใหญ่ในเมืองหลวงก็ไม่ได้ เพราะตรงนั้นมีจำนวนนักศึกษาหลายหมื่น มีพันธกิจหลากหลายแตกต่างกัน ส่วนวิทยาเขตที่ผู้เขียนสอนมีนักศึกษาไม่ถึงสองพันคน จึงเปรียบอย่างไรก็ไม่ได้ เฉกเช่นที่เราจะเอามหาวิทยาลัยของไทยไม่ว่าจะขนาดไหนก็ตาม ไปหาญสู้มหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ ของตะวันตก เช่น ฮาร์วาร์ด เยล คงไม่ได้ เหมือนกับการเอารถคันจิ๋วไปเทียบกับรถฮัมเมอร์ ฉันใดฉันนั้น


อย่างไรก็ตาม มีหลายคนถามต่อว่า แล้วทำไมมหาวิทยาลัยประเทศอื่น ๆ ที่เล็ก ๆ ยังติดอันดับได้ หลายคนให้ความเห็นว่าเพราะมหาวิทยาลัยเหล่านั้นมีผลงานวิจัย มีการเผยแพร่ตีพิมพ์งานดังกล่าว อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยไทยหลายแห่งที่ถูกอ้างว่ามีผลงานตีพิมพ์นานาชาติออกมามากที่สุดในบรรดาสถาบันไทยก็เคยไม่ติดอันดับกับเขาด้วย


ในเรื่องนี้ ผู้เขียนขออนุญาตบอกว่า แม้ว่าผลงานวิชาการได้ลงจริง แต่อาจไม่เข้าตากรรมการที่เข้ามามีส่วนในการจัดอันดับก็ได้ ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกเหมือนที่เราล้อกันในวงการวิชาการว่า Published and still perished หมายถึงว่า ถึงงานได้ตีพิมพ์เผยแพร่แล้วก็จริง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีคนนำไปใช้ประโยชน์ หรือคนอื่น ๆ จะรู้จักงานนั้นกันจริง ๆ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ดังนั้น แม้มีชื่อว่าตีพิมพ์ มีคุณภาพจริง แต่ก็อาจไม่ติดปากติดในความรู้สึกของคนในวงการ


การกระพือข่าวให้เกิดกระแสในสังคมทำได้ง่าย ตัวอย่างที่ชัดคือกรณีนี้นี่เอง การมองเรื่องการจัดอันดับนั้นเป็นตัวอย่างง่าย ๆ ที่บอกว่า คนไทยทั่วไปและแม้กระทั่งนักวิชาการเองหลายคนก็ออกมาเต้น มีไม่พอใจบ้างตามประสาโลกาภิวัตน์ที่ยอมรับไม่ได้ ว่า ภาพของตนในสังคมโลกนั้นไม่สวยหรือหายไปจากวงการ


จุดนี้คงทำให้เห็นว่าคนในกระแสหลักยังคงเชื่อว่า " การเห็นนั้นคือการได้รู้ความจริง" ซึ่งอาจไม่จริงก็ได้ ภาพที่ปรากฏก็แค่ภาพเท่านั้น และนอกจากนี้ มหาวิทยาลัยไทยคงต้องทำความรู้จักตัวเองมากขึ้นและหาจุดยืนให้ชัดเจนมากกว่านี้ อีกทั้งต้องไม่ต้องแยแสนักกับการจัดอันดับของชาวบ้าน หากตนเองมั่นใจในคุณภาพของตนเองได้พอ


...............


เผยแพร่ในประชาไทเมื่อวันที่ ๑๖ มิ.ย. ๒๕๔๘