Skip to main content

โรงเรียนของหนู : อีกหนึ่งสถาบันที่เสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน

คอลัมน์/ชุมชน

1


ครั้งเมื่อยังเป็นเด็ก ผู้เขียนเคยมีอาการ " คันหัวใจ" สงสัยมานานแล้วว่าทำไมเมื่อเวลา " นาล่ม" หรือนอกฤดูกาลการทำนาปี ชาวนาจึงต้องเข้ากรุงเทพฯ เป็นกรรมกรรับจ้างทุกปี... จนเดี๋ยวนี้ก็เป็นเช่นนี้ ดูเหมือนชีวิตนี้ทำเป็นอยู่ 2 อย่าง คือ ทำนากับเป็นแรงงานรับจ้าง( เหมือนนักศึกษาสมัยนี้เลย ทำเป็นอยู่อย่างเดียว คือไปเป็นลูกจ้างในวิชาชีพที่ตัวเองจบมา พอฟองสบู่แตกก็ตกงาน รอสมัครงานใหม่อีก)


เมื่อมีโอกาสมาเป็นคุณครูที่ ม.นเรศวร จึงมีโอกาสเจอชาวนาบ่อย ๆ ก็เที่ยวถามเขาว่า " ทำไมพอนาล่ม หรือหมด " หน้านา" แล้วต้องไปเป็นแรงงานรับจ้างเล่า?" ชาวนาบอกว่า " ทำเป็นแค่นี้… จะให้ไปทำอะไรเล่า?" ผู้เขียนก็ถามกลับไปว่า " แล้วทำอะไรเป็นบ้างเล่า?" ได้รับคำตอบว่า " นอกจากทำนาแล้วก็ทำเป็นแต่รับจ้างนี่แหละ"


ว่าแล้วก็ให้ " หวนคิดถึง" ชีวิตชาวนาสมัยก่อนที่เศรษฐกิจพวกเขายังไม่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจการตลาดเนอะ! พวกเขาต้องทำการผลิต " ด้วยตัวเอง" ตั้งหลายสิ่งหลายอย่างจึงจะมีชีวิตอยู่ได้ เช่น ต้องทำนาเป็น เลี้ยงสัตว์ หาของป่า ล่าสัตว์ จับปลา จักสาน ปั้น ทอผ้า ทอเสื่อเป็น ฯลฯ การผลิตเอง (ที่ไม่ต้องซื้อ) เช่นนี้ทำให้เขามีทักษะที่หลากหลาย


ดังนั้น เมื่อ " เดี้ยง" จากการทำนาพวกเขาจึงมีความสามารถในการ " ปรับตัว" ได้ (ปรับตัว หมายถึง การมีทักษะในการจัดการกับทรัพยากรท้องถิ่นมาเลี้ยงชีพ มิใช่การไปคุ้ยขยะขาย ขอทาน ขายยาบ้า ฯลฯ ซึ่งน่าจะเรียกว่า " จนตรอก" มากกว่า " ปรับตัว" )


ดังที่ ลุงสมพงษ์ ธูปอ้น อายุ 70 กว่า ๆ แห่ง อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร บอกว่า " ถ้านาล่มผมก็จักสานขาย หรือทำอะไรก็ได้ ผมทำได้ตั้งหลายอย่าง เพราะพ่อแม่พาทำมาตั้งแต่เด็ก ไม่อดตายหรอก ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ที่แห้งแล้ง ที่น้ำท่วม หรือในกรุงเทพฯ ขออย่างเดียวให้อยู่เมืองไทยแล้วกัน"


ซึ่งผิดกับหนุ่มสาวหรือชาวนาวัยกลางคนสมัยนี้ไม่มีทักษะเหล่านี้ติดตัว ดังนั้น นอกจากทำนาแล้วจึงทำเป็นแต่การรับจ้างในเมือง ทิ้งคนแก่กับลูกอยู่บ้าน ปีหนึ่ง ๆ จึงจะส่งเงินมาให้สักครั้ง สองครั้ง และมักไม่ค่อย " พอกิน" เท่าไร


ดังนั้น การไม่ค่อยมีทักษะวิชาชีพอื่น ๆ จึงเป็น " ตัวแปร" หนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านมีทางเลือกน้อยมากในการปรับเปลี่ยนอาชีพ หรือไม่สามารถสร้างฐานการดำรงชีพที่หลากหลายได้ แม้ว่าฐานทรัพยากรในสังคมชนบทยังคงเหลืออยู่มากพอสมควรก็ตาม


 


2


นี่คือจุดแตกหักของการดำรงอยู่ของเศรษฐกิจหมู่บ้านชนบทในวันนี้ หมู่บ้านยังไม่ถูก " ดูดกลืน" เข้าสู่ระบบตลาดอย่างเต็มตัว ก็เพราะการมีฐานการดำรงชีพที่หลากหลายนี่แหละ ชาวบ้านจึงสามารถกระจายความเสี่ยงในชีวิตได้ แม้ว่าหน้าแล้งนี้ยายฝนกับลุงโก๋จะทำถั่วเขียวแล้วได้ค่าตอบแทนเพียงวันละ 3.33 บาท แต่ก็ไม่อดและไม่เครียดตายด้วย


อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของการดำรงอยู่ของเศรษฐกิจหมู่บ้านชนบทกลับมองไม่เห็นอนาคตที่ดีขึ้นเลย น่าแปลกไหม ? ในเมื่อคนรุ่นใหม่ก็ได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น ๆ เรื่อย ๆ แต่ก็อย่างที่รู้ ๆ กันอยู่ เยาวชนในชนบทที่จบ ป.6 และ ม.3 (ที่ทำนาไม่ค่อยจะเป็นและไม่มีทุนจะเรียนต่อ) รุ่นแล้วรุ่นเล่าต้องเข้ากรุงเทพฯไปเป็นลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม ทิ้งลูกไว้ให้พ่อแม่ของตัวเองเลี้ยง เข้าตำราที่ชาวบ้านมักพูดว่า " เด็กน้อยเอากัน คนแก่ออกลูก" สงกรานต์และวันออกพรรษาจึงจะกลับมาครั้งหนึ่ง


คณะคุณครูโรงเรียนวิทยสัมพันธ์ บ้านซ้ำรู้ ต.ห้วยเฮี้ย อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ก็รับรู้สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับลูกศิษย์ที่จบไปแต่ละรุ่น ก็รู้สึก " ปวดหัวใจ" ยิ่งนัก เวลาเรียกประชุมผู้ปกครองทีไร แทบไม่เห็นมีพ่อแม่เด็กมา มีแต่ยาย ๆ ย่า ๆ มา ถามว่าทำไม ก็เพราะ " พ่อแม่มันอยู่กรุงเทพ" ไง!


ด้วยวิญญาณความเป็นครู (ไม่ใช่ผู้รับจ้างสอน) จึงอยากจะให้เด็กมีทักษะการทำมาหากินที่หลากหลาย เด็กจะได้มีศักดิ์ศรีที่จะสร้างงานในพื้นที่โดยไม่ต้องจากครอบครัวไปเป็นแรงงานรับจ้างที่มีคุณภาพชีวิตต่ำ ๆ ที่กรุงเทพฯ เมื่อจบ ป .6 และ ม.3


ครูนพวรรณ พงษ์เจริญ เล่าให้ฟังว่า เด็ก ๆ ในพื้นที่นี้ค่อนข้างยากจน เมื่อเรียนจบแล้วต้องไปเป็นแรงงานรับจ้างในเมือง ทำอย่างไรจะช่วยเขาในเรื่องอาชีพได้ ครูนพวรรณ และครูอรสา ทรงศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนจึงพยายามสร้าง หลักสูตรท้องถิ่นเรื่อง " สมุนไพร" เพื่อเชื่อมโยงให้เห็นว่าการเรียนในโรงเรียนไม่ใช่เรื่องที่จะ " ตัดขาด" กับระบบการทำมาหากินของครอบครัว ไม่ใช่เรื่องเสียเวลา และไม่ใช่เรื่องที่แยกส่วน เด็กมาเรียน เด็กก็ได้ทักษะการทำมาหากินไปช่วยสร้างอาชีพเสริมให้กับพ่อ- แม่จากสมุนไพรซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นที่ปลูกอย่างกว้างขวางในพื้นที่ ครูนพวรรณบอกว่า นี่คือ การ " ปั้นเด็ก" แล้วส่งกลับไปยังครอบครัวใน " มิติใหม่" (ว้าว!)


โรงเรียนนี้จึง " เอาจริง เอาจัง" กับ " หลักสูตรท้องถิ่นด้านสมุนไพร" ( ไม่ใช่แค่สอนในวิชาการงานพื้นฐานอาชีพให้มันจบ ๆ ไป) ตั้งแต่การใช้สมุนไพรขั้นพื้นฐานเพื่อการพึ่งตัวเอง เช่น การรักษาโรคเบื้องต้น การแปรรูปสมุนไพร เช่น ข้าวหอมสมุนไพร ไข่เค็มสมุนไพร เผาไล่ยุง สมุนไพรปรุงรส การให้นักเรียนเรียนรู้จักตลาดและฝึกเป็นแม่ค้า เรียกได้ว่าเป็น การฝึกเรียนรู้เศรษฐกิจแบบ " ทำใช้" และ " ทำขาย" ไปพร้อม ๆ กัน นอกจากนี้ยังถึงกับกำหนดวิสัยทัศน์และวางเป้าหมายในระยะยาวที่จะทำให้นักเรียนพึ่งตัวเองได้ด้วยหลักสูตรอื่น ๆ อีก


 



ครูนพวรรณ พงษ์เจริญ





 


นักเรียนโรงเรียนวิทยสัมพันธ์


กับผลงานของหลักสูตรสมุนไพร


 


 


3


" บ้าน" กับ " โรงเรียน" ซึ่งสมัยนี้ดูเหมือนว่า " ต่างคนต่างทำ ต่างคนต่างอยู่" ไม่ข้องเกี่ยวกัน ก็เริ่มกลับมามีความสัมพันธ์กันมากขึ้น เหมือนไม้ไผ่ 2 ลำ มัดรวมกันย่อมมีพลังมากกว่าที่จะอยู่ลำเดียวโดด ๆ


เรื่องของโรงเรียนวิทยสัมพันธ์นี้ ทำให้ผู้เขียนคิดถึง " ตัวแปร" ที่ทำให้ชาวนายากจนอีกอย่างหนึ่ง คือ การที่เขาไม่มีเพื่อน ไม่มีเครือข่าย นอกวงการทำนา ไม่ " กว้างขวาง" เขาจึงไม่รู้จักพรรคพวกที่จะช่วยสอน ช่วยแนะเพื่อเพิ่มพูนความรู้ในการดำรงชีพ ไม่มีใครช่วยคำนวณได้ว่าถ้าเอาทรัพยากรต่างในท้องถิ่นมา " ทำใช้" ด้วยวิธีการแบบนั้น แบบนี้ จะประหยัดค่าใช้จ่ายอีกเท่าไร และถ้าไม่มีเพื่อนก็ไม่รู้จักช่องทางขาย ไม่มีใครแนะนำ ไม่มีใครช่วย ไม่รู้จักตลาด ไม่รู้จะขายใคร พวกเขาจึงยากจน แต่...โรงเรียนนี้กำลังจะเป็น " เพื่อน" กับลูกของชาวบ้าน


สำหรับนักพัฒนาชุมชน...ผู้เขียนเคยทำงานเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนกับองค์กรชาวบ้านกลุ่มเล็ก ๆ แล้วก็ใจหายยิ่งนัก เพราะเมื่อ " กิจกรรม" หรือ " โครงการ" จบลง เราก็ถอนตัวออกจากพื้นที่ (เกือบ)ทุกอย่างก็หายไป ไม่เหลือระบบและกลไกการบริหารงานในพื้นที่ที่จะจัดการได้อย่างยั่งยืน


บทเรียนนี้ทำให้รู้ว่าการทำงานพัฒนาชุมชน จำเป็นต้องร่วมมือกับ " สถาบัน" ของชุมชนที่มีความมั่นคงระดับหนึ่ง เช่น อบต. สถานีอนามัย โรงเรียน แต่ทว่าสถาบันเหล่านั้นจะต้อง " เซท" ภารกิจเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจหมู่บ้าน เข้าไปเป็นภารกิจหนึ่ง (ซึ่งเป็นภารกิจถาวร) ของสถาบัน และต่อจากนี้ จึงเป็นหน้าที่ของเรา (นักวิชาการ/นักพัฒนา) กับสถาบันเหล่านั้นที่จะเรียนรู้ร่วมกันเพื่อวางระบบ/กลไกการบริหารจัดการในระยะยาว...แบบนี้งานพัฒนาจึงจะ " ยั่งยืน"



แต่จะอย่างไรก็ช่างเหอะ ! แค่เห็นโรงเรียนวิทยสัมพันธ์กับการ " เซท" ภารกิจเยี่ยงนี้แล้ว ก็ให้มีความหวังและกำลังใจในการเสริมสร้างเศรษฐกิจหมู่บ้านต่อไป " ยิ่งนัก"