Skip to main content

" เมื่อพูดถึงเอดส์ คุณนึกถึง..."

คอลัมน์/ชุมชน

หลังจากที่เขียนบทความเกี่ยวกับเอดส์ในหัวข้อเรื่อง " เยาวชนกลุ่มเสี่ยงจริงหรือ" ซึ่งเป็นบทความเรื่องแรกที่ทำให้เกิดนักอยากเขียนขึ้นมา บทความต่อจากนั้นมักจะวนเวียนป้วนเปี้ยนไปกับการเดินทางทั้งใกล้และไกล ต่อเมื่อได้ยินเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่ง ซึ่งทำงานเอดส์ด้วยกันมายาวนานเสนอว่า น่าจะมีใครสักคนเขียนเรื่องเอดส์บ้างนะ จึงคิด (นิดหน่อย) และรับสนอง (ในใจ) แต่ให้ตัวหนังสือปรากฏบนประชาไทแห่งนี้ ด้วยความคาดหวังกับตัวเองว่าจะเขียนเรื่องเอดส์สืบเนื่องต่อจากนี้ไป (หุหุ)


หากผู้อ่านถูกตั้งคำถามว่า " เมื่อพูดถึงเอดส์...คุณนึกถึงอะไร" คำตอบของคุณจะเหมือน หรือแตกต่างจากคำตอบของคนอื่น ๆ อย่างไร


เขาเหล่านั้นมักจะตอบว่า " เมื่อพูดถึงเอดส์...นึกถึง เชื้อไวรัส เพศสัมพันธ์ การป้องกัน ถุงยางอนามัย การตรวจเลือด รักเดียวใจเดียว รักนวลสงวนตัว มั่ว สำส่อน คนรักร่วมเพศ คนขายบริการทางเพศ คนใช้ยาเสพติด เป็นแล้วตายรักษาไม่หาย โลงศพ วัดพระบาทน้ำพุ ครอบครัว โรงพยาบาล ผอมดำเป็นตุ่ม โรคแทรกซ้อน ยาต้านไวรัส ฯลฯ "


คุณเชื่อหรือไม่ว่า ๒๐ ปีของการทำงานเรื่องเอดส์ในเมืองไทย คนส่วนใหญ่ยังคง " สับสน" กับข้อมูลเรื่องเอดส์ ซึ่งทำให้ " พลาด" ในการประเมินโอกาสเสี่ยงต่อการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและทำให้ " รู้สึกรังเกียจ" ที่จะใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้ป่วยเอดส์ในครอบครัวและชุมชนอีกด้วย


เพราะจากตัวอย่างคำตอบข้างบนนี้ พบว่า คนทั่วไปยังคงมองว่า เอดส์เป็นเรื่องเชื้อโรค แต่ไม่ได้เชื่อมโยงกับเรื่องวิถีชีวิตทางเพศของตนเอง


ใคร ๆ มักจะคิดว่าเอดส์เป็นเรื่องไกลตัว เกี่ยวข้องเฉพาะ " คนกลุ่มเสี่ยง" เช่น พวกที่มั่ว สำส่อน คนรักร่วมเพศ คนขายบริการทางเพศ คนใช้ยาเสพติด คนดี ๆ อย่างเราประเภทรักเดียวใจเดียว รักนวลสงวนตัว ไม่เห็นจะเกี่ยวกับเอดส์ตรงไหน จริงไหม...


ด้วยความเข้าใจว่าเอดส์เป็นเรื่องของคนกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว วิธีการป้องกันหรือลดโอกาสเสี่ยงที่บอกเล่าต่อ ๆ กันจึงเป็นวิธีการที่ตอกย้ำให้เกิดความเข้าใจและทัศนคติต่อเรื่องเอดส์ที่บิดเบี้ยวจากข้อเท็จจริง และบางวิธีไม่ได้สอดคล้อง หรือเป็นไปได้จริงกับเรื่องเพศที่เกี่ยวข้องกับคนสองคน (ขึ้นไป)


วิธีที่เสนอแนะให้คนป้องกันเอดส์ จึงมีดังนี้ ถ้าเป็นเด็กเป็นเล็กอย่าริมีเพศสัมพันธ์ ก่อนแต่งงานต้องตรวจเลือด คนที่มีคู่แล้วให้รักเดียวใจเดียว และถ้าไปเที่ยวต้องใช้ถุงยางอนามัย...


คุณผู้อ่านทราบไหมว่า คำแนะนำ " สำเร็จรูป" เหล่านี้ นอกจากบางคนจะทำตามไม่ได้แล้วยังส่งผลให้เกิดการประเมินความเสี่ยงพลาดและทำให้มีผู้ติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้นมานักต่อนักแล้ว (จริงๆ นะ...)


ขณะเดียวกัน เมื่อเอดส์ถูกทำให้เป็นเรื่องน่ากลัว เช่น ขู่ว่าเป็นโรคที่เป็นแล้วตายรักษาไม่หาย เพราะหวังว่า จะทำให้คนกลัวเอดส์แล้วไม่ไปสำส่อนทางเพศ (ซึ่งเสี่ยงกันไปใหญ่) แต่หารู้ไม่ว่าผลที่ได้จริงกลายกลับเป็นอีกด้านหนึ่ง นั่นคือ การเอาญาติที่ป่วยเอดส์ไปไว้ที่อื่น เช่น วัดพระบาทน้ำพุ แทนที่จะช่วยเหลือ ดูแลกันเองในครอบครัว หรือรักษากันในโรงพยาบาลชุมชนใกล้บ้าน...


นอกจากนี้ การนำเสนอเรื่องเอดส์ในมุมของความเศร้าสะเทือนใจ หดหู่ ท้อแท้และสิ้นหวัง แทนการนำเสนอชีวิตด้านบวกหลังการรับเชื้อเอชไอวี (คำถามคือ ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์แล้วยังเหลือด้านบวกของชีวิตอีกเหรอ) จึงส่งผลให้ผู้ติดเชื้อหลายคน " สิ้นหวัง" จนต้องตกเป็นข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์หัวสีด้วยการฆ่าตัวตายสารพัดวิธี (ฮือฮือ..เศร้าจัง)


โดยข้อเท็จจริง...คุณผู้อ่านทราบไหมว่าโรคเอดส์ที่เราเรียกกันติดปากนี้ จริง ๆ แล้วหากจะเรียกให้ถูกต้องตามความหมายแล้วจะต้องเรียกว่า " โรคติดเชื้อเอชไอวี" เพราะคำว่าเอดส์ "AIDS" เป็นคำเรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษ ซึ่งย่อมาจาก "Acquired Immuno – Deficiency Syndrome" แปลเป็นไทยว่า " กลุ่มอาการภูมิคุ้มกันบกพร่อง" ซึ่ง คำว่าเอดส์จึงไม่สามารถทำให้เกิดการติดต่อกันได้แต่อย่างใด (ครับผม)


แต่ที่ทำให้โรคเอดส์นี้แพร่ระบาดติดต่อกันทั่วโลก คือเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่าเอชไอวี "HIV" (Human Immuno-deficiency Virus ) ที่เมื่อเชื้อเอชไอวีเข้าไปในร่างกายแล้วจะไปทำลายเม็ดเลือดขาวที่เป็นระบบภูมิต้านทานของมนุษย์ ทำให้เกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ซึ่งโรคแทรกซ้อนทุกโรคสามารถป้องกันได้และรักษาได้จริงจริ๊ง...


ดังนั้น เมื่อมีคำถามว่า " คุณคิดว่า ตัวคุณเองสามารถติดเอดส์ได้หรือไม่ อย่างไร"


คำตอบจึงน่าจะเป็นว่า " ในโลกนี้ไม่มีใครที่สามารถติดเอดส์ได้ แต่ทุกคนมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดเชื้อเอชไอวี"


และหากคุณย้อนไปอ่านบทความแรกเรื่อง " เยาวชนกลุ่มเสี่ยงจริงหรือ" คุณคงค้นพบคำตอบแล้วว่า " ใครเสี่ยง" ...


ส่วนบทความต่อไปเราจะคุยกันถึง หลักคิดพิจารณาว่าโอกาสเสี่ยงต่อการติตต่อของเชื้อเอชไอวีจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลนั้น มีปัจจัยเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง


แล้วเจอกันนะจ๊ะ...