Skip to main content

"พรหมลิขิตรัก" อีกบทของความพยายามที่จะแตกต่าง

คอลัมน์/ชุมชน

ขอหยิบข่าวรายการทีวีไทยที่ชื่อว่า " พรหมลิขิตรัก" ที่ไม่นานมานี้โดนโจมตีอย่างหนักจากหลายฝ่ายในสังคมไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่สนับสนุนความเป็นครอบครัว หรือแม้กระทั่งสนับสนุนบทบาทเยาวชนต่าง ๆ ให้ถูกต้องตาม " วัฒนธรรมไทยที่ดีงาม" แต่งานเขียนนี้เป็นการเสนอมุมมองที่แตกออกมาอีกมุมหนึ่ง (และหวังว่าคงไม่โดนกระแสหลักต่อต้าน)


ประเด็นแรก ควรมีความเข้าใจให้ชัดเจน ว่ารายการดังกล่าวนี้ไม่ได้ต่างไปจากรายการเพื่อให้ความบันเทิงอื่น ๆ บนทีวี มีแรงขับคือการที่จะให้เกิดเรตติ้ง เกิดความนิยม และความบันเทิงของผู้ชม เพื่อเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่จะทำให้เจ้าของรายการ เจ้าของช่อง และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ดำรงอยู่ได้


เท่าที่ผ่านมา รายการทีวีในสังคมไทยหลายรายการก่อให้เกิดอะไรใหม่หลาย ๆ อย่างในสังคม เช่น ซิทคอมครอบครัว ที่ทำให้เกิดสำนึกครอบครัวขึ้นมามากกว่าแต่ก่อน รุ่นแรก ๆ น่าจะเป็น " ๓๘ ซอย ๒" ทางช่องห้า แล้วก็มีรายการเกมโชว์มากมาย ที่ทำให้เกิดกระแสการแข่งขันในสังคมไทย เช่น " มาตามนัด" และอื่น ๆ


อย่างไรก็ตาม ที่น่าสังเกตคือ รายการ " นัดบอด" ที่เน้นเรื่องการสร้างสัมพันธ์ระหว่างหญิงกับชาย แต่ด้วยว่าคนที่มาเลือกมักเป็นคนดังในสังคม ไม่ได้คิดจะมาหาคู่จริงจัง จากเกมโชว์นี้ เนื้อหาในรายการจึงเหมือนเป็นการจับคู่หลอก ๆ ให้เกิดเฮฮา ดังนั้น การลุกฮือต่อต้านจึงไม่เกิดขึ้นแบบที่เพิ่งเกิดกับรายการ " พรหมลิขิตรัก"


ประเด็นที่สอง ผู้จัดรายการสมัยก่อนไม่ใจถึงแบบสมัยนี้ เป็นเพราะสังคมทั้งโลกเปลี่ยนไป คนสมัยใหม่กล้ายอมรับการที่จะบอกรัก แสดงออกทางอารมณ์มากขึ้นตามหนังฮอลลีวู้ด ผู้จัดรายการรุ่นใหม่ก็เลยกล้าทำอะไรแหวก ๆ ออกมาได้มาก โดยเฉพาะอเมริกา และแล้วไทยก็เดินตาม


ในสังคมอเมริกันเอง เพิ่งมีรายการดังกล่าวที่ให้โอกาสหญิงและชายเลือกคู่บนจอทีวี แบบกอดรัดฟัดเหวี่ยง ซึ่งก็เพิ่งมีไม่กี่ปีมานี้ การแสดงออกถึงความรู้สึกและความต้องการของแต่ละฝ่ายเห็นได้ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับได้มากขึ้นในสหรัฐฯ แต่ไม่ใช่ทุกกลุ่ม ดังนั้น คนที่ชอบก็ดูไปลุ้นไป เรตติ้งก็ขึ้นไป ส่วนคนไม่ชอบก็มีอย่างอื่นให้ดู เป็นที่รู้กันว่าอเมริกันมีทางเลือกเรื่องนี้มากมาย ความขัดแย้งจุดนี้ไม่เด่นชัด เพราะเป็นเรื่องที่เริ่มยอมรับได้ อีกทั้งยังมีอิทธิพลมาจากยุคซิกส์ตี้ เน้นความเป็นเสรีชนและการเปลี่ยนแปลงของกรอบทางความคิดในสังคมได้ลึกลงไป แต่เมืองไทยไปไม่ถึง แม้เราจะบอกว่าเราเฉียด ๆ มาก็ตาม


สังคมไทยยังมีคตินิยมบางอย่างที่ไม่สามารถยอมรับจุดนี้ได้ มีเรื่องคอขาดบาดตายหลายเรื่องสำหรับคนไทย ได้แก่ เรื่องเกี่ยวกับมั่นคงของสถาบันหลักของชาติ เรื่องของบทบาทผู้หญิงที่ต้องแบกภาระหนักอึ้ง โดยเฉพาะที่แน่นอนเรื่องพฤติกรรมทางเพศของหญิง ที่มี " แม่พลอย" เป็นต้นแบบ ทั้งที่แม่พลอยนั้นถอดออกมาจากตะวันตก สมัยวิคตอเรียน นอกจากนี้ก็คือ เรื่องความกตัญญู เรื่องการให้เกียรติกันและกัน เหล่านี้เป็นอาทิ เนื้อหาในรายการทีวีจะต้องตอบสนองและไม่ขัดขืนต่อกรอบทางสังคมดังกล่าว มิเช่นนั้นถือว่า " ล่อแหลม" และต้องถูกกำจัด และคนไทยในกระแสหลักก็จะไม่หยุดคิดเพื่อตั้งคำถามย้อนกลับด้วยว่า " ทำไม"


ประเด็นที่สาม คือทางวาทวิทยา-นิเทศศาสตร์บอกว่ากรณีแบบนี้เป็นเรื่อง การแข่งขันทางคตินิยม ( Ideology ) เป็นเรื่องการครอบงำผู้คนในระดับความเชื่อและสำนึก มีหลายสำนักที่ศึกษาเรื่องนี้ แต่ที่ชัดคือ สำนักวัฒนธรรมศึกษา Cultural Studies ที่พยายามบอกว่าคนในสังคมกระแสหลักได้เรียนรู้ รับเข้า และตอกย้ำในความเชื่อ คตินิยมแต่ละชุด ผ่านกระบวนการเรียนรู้วัฒนธรรมนั้น ๆ ในสังคม จนกระทั่งไม่เคยคิดจะถามว่าชุดความคิดและความเชื่อนั้นมันน่าสงสัยหรือน่าตรวจสอบแค่ไหน แต่กลับยอมรับโดยดุษณีและดุษฎี ชุดความคิดและความเชื่อจึงกลายเป็นความจริงแท้โดยไม่ต้องพิสูจน์ในสังคมนั้น ๆและวัฒนธรรมนั้น ๆ


กลไกที่จะทำให้เกิดการสืบทอดนั้น ผู้รู้บอกว่า มีหลายแบบ หลายช่องทาง แต่ในสังคมปัจจุบันมีการเน้นไปที่การสื่อสาร และโดยเฉพาะการสื่อสารผ่านสื่อต่าง ๆ ดังนั้น จึงไม่แปลกใจว่าทำไมคนที่มีอำนาจปัจจุบันจะมองว่าการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญในการเถลิงอำนาจของตน เพราะเหมือนกับว่าอำนาจในการปกครองคืออำนาจในการสื่อสารที่จะควบคุมความคิดของสังคมนั่นเอง


ดังนั้น การที่รายการ "พรหมลิขิตรัก" ต้องสะดุดแบบนี้ ก็เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า กระแสหลักในสังคมไทยยังรับเรื่องการเฟลิทติ้งของหนุ่มสาวไทยไม่ได้ และโดยเฉพาะบนทีวี เช่นเดียวกับ The Weakest Link เวอร์ชั่นไทยที่โดนยุบไปไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ ทั้งที่ความต้องการทางเพศก็มีอยู่จริงในสังคม ("พรหมลิขิตรัก") เกิดได้ทั้งในเด็กหรือผู้ใหญ่ (ที่อยู่ในรูปแบบการมีสัมพันธ์นอกสมรส) และความรุนแรงความกดดัน (The Weakest Link ) ในสังคมไทยที่ต้องแก่งแย่งกันในชีวิตประจำวันและอาชีพก็ยังชัดเจน


ดังนั้น สองรายการในวงเล็บ จึงกลายเป็น " แพะ" ที่กระแสหลักในสังคมไทยได้บอกคนไทยอื่น ๆ ที่คิดแตกต่างออกไปว่า นี่แหละคือบทลงโทษ โดยลืมนึกไปว่าไม่ว่ากระแสหลักหรือนอกกระแสหลักต่างมีดีมีเลวด้วยกันทั้งสิ้น และความเห็นที่แตกต่างนั้นอาจทำให้เกิดความเข้าใจบางอย่างได้ดีขึ้นเช่นกัน


...............


เผยแพร่ในประชาไทเมื่อวันที่ ๒๓ มิ.ย. ๒๕๔๘