Skip to main content

กระบวนการวิจัยกับการพัฒนาของชาวบ้าน

คอลัมน์/ชุมชน

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนและเพื่อนร่วมงานของศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จังหวัดพิษณุโลก ได้รับการชวนจากเพื่อน ๆ จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้มาช่วยกันวิพากษ์โครงการวิจัยเพื่อการพัฒนาชุมชนของนักพัฒนาชุมชนยุคใหม่


ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนพยายามจะปรับรูปแบบการทำงานจากเดิมที่มองว่า ชาวบ้านคือผู้รับการพัฒนา และรัฐคือผู้นำการพัฒนาไปให้ ซึ่งทำให้รูปแบบการพัฒนาชุมชนค่อนข้างแข็งตัวเป็นแบบบนลงล่าง แต่เมื่อรัฐบาลยุคนี้ดันเรื่องการปฏิรูประบบราชการ หน่วยงานราชการต่าง ๆ จึงต้องขานรับ รวมถึงพัฒนากรทั้งหลายที่จำเป็นต้องปรับบทบาทของตนจากเดิมมาเป็น "ผู้ร่วมการพัฒนากับชาวบ้าน"


ซึ่งการขับเคลื่อนการพัฒนารูปแบบใหม่นี้ ใช้กระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วม หรือ Participatory Action Research เรียกสั้นๆว่า PAR เป็นเครื่องมือช่วย หัวใจของ PAR คือยึดชุมชนเป็นศูนย์กลาง โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมเป็นตัวขับเคลื่อน กรมการพัฒนาชุมชนได้ทำการฝึกอบรมกระบวนการวิจัย PAR นี้ให้กับพัฒนากรตั้งแต่ระดับตำบลไปจนถึงระดับจังหวัด แล้วให้พัฒนากรแต่ละคนทำร่างโครงการวิจัย PAR มานำเสนอ


โดยหน้าที่ของพวกเราจาก สกว. คือ ช่วยกันวิพากษ์ร่างโครงการวิจัยเหล่านี้ ซึ่งพวกเราลงความเห็นตรงกันว่า "งานนี้ต้องสนับสนุน" เพราะเป็นแนวทางลักษณะเดียวกันกับการทำงานของศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่พวกเราทำกันอยู่ คือสนับสนุนให้ชาวบ้านใช้กระบวนการวิจัยเพื่อขับเคลื่อนปัญหาของชุมชนตนเอง โดยให้ชาวบ้านเป็นนักวิจัยเชิงปฏิบัติ งานนี้ดูน่าจะไปได้ดี แต่ในความเป็นจริง ไม่ง่ายอย่างที่คิด


หน้าที่หลักในการวิพากษ์ร่างโครงการวิจัย ที่พวกเราทำกันในศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นคือ "การตั้งคำถามกับโครงการที่ชาวบ้านนำเสนอมา" ไม่ใช่ "การแนะนำให้ชาวบ้านทำอย่างที่เราคิด" วัตถุประสงค์ของการตั้งคำถามคือ เพื่อชวนให้ชาวบ้านค่อย ๆ คิด และคิดแบบเชื่อมโยง คือเชื่อมโยงกับบริบทของพื้นที่ เชื่อมโยงตัวแปรต่าง ๆ


กระบวนการตั้งคำถามแบบชวนคิดชวนคุยแบบนี้ พวกเราเรียกกันแบบเท่ ๆ ว่า "การพัฒนาโจทย์วิจัย" ถ้าโจทย์ไม่ชัด แล้ววิธีการแก้ปัญหาจะชัดได้อย่างไร เมื่อโจทย์ชัด จึงชวนชาวบ้านต่อให้มองหาทางเลือก ชวนให้ชาวบ้านชั่งน้ำหนักทางเลือก และลงท้ายด้วยการเลือกทางเลือกใดทางเลือกหนึ่งมาทดลองปฏิบัติ เก็บข้อมูลการปฏิบัติ


การตั้งคำถามแบบชวนคิดชวนคุยนี้ เป็นการฝึกชาวบ้านให้เห็นความสำคัญของข้อมูล ฝึกให้ชาวบ้านวิเคราะห์แบบเชื่อมโยง ฝึกให้มองเห็นคุณค่าของทางเลือก ในหลักการ กระบวนการนี้ "ดูดี" มากเลย แต่ในทางปฏิบัติ ขอบอกว่า "ยากมาก" บางครั้งลงพื้นที่ไปตั้ง 3-4 ครั้ง ยังไม่ได้แม้แต่โจทย์วิจัย แต่ทีมงานของพวกเราต้องทำ "ใจแข็งและใจเย็น" ที่จะไม่ชี้นำ ที่จะไม่ทำให้ และที่จะไม่สั่งให้ทำ


การวิพากษ์โครงการวิจัยของนักพัฒนาชุมชนยุคใหม่ พวกเราก็ยึดแนวปฏิบัติเหมือนกับที่ทำกับโครงการวิจัยของชาวบ้าน คือทำตัวเป็นมนุษย์เจ้าปัญหา ตั้งคำถามแบบชวนคิดชวนคุย บางโครงการก็ดีมาก เช่น โครงการ "กลุ่มสล่า" ช่างแกะสลักไม้ของหมู่บ้านถวาย จังหวัดเชียงใหม่ ที่งานฝีมือภูมิปัญญาได้รับผลกระทบจากงานแกะสลักเอาใจตลาด


ซึ่งกระบวนการวิจัยแบบมีส่วนร่วมค้นพบว่า "ถ้าจะขายงานฝีมือแกะสลักที่สะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่น ไม่ใช่การขายแค่งานไม้แกะสลัก แต่ต้องขายความภูมิใจ ให้รู้ถึงที่มาที่ไปของลายแกะสลักแต่ละลายด้วย" การค้นหาทางเลือกที่จะผนวกความรู้ให้กับผู้บริโภคถึงถูกหยิบยกมาถกกัน หรือ โครงการอนุรักษ์สายน้ำ "อิง" ที่จังหวัดลำปาง ที่ชุมชนริมสายน้ำได้รับผลกระทบจากการที่คุณภาพของน้ำเริ่มเสื่อมลง นักพัฒนาชุมชนกับชาวบ้านจึงใช้กระบวนการวิจัย PAR ค้นหาสาเหตุและใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา


โครงการวิจัยทั้ง 2 ชิ้นนี้ "ชาวบ้านเป็นศูนย์กลางจริง ๆ" นักพัฒนาชุมชนไม่หาคำตอบล่วงหน้าให้ชาวบ้าน แต่ร่วมค้นหากับชาวบ้าน แต่หลายโครงการมีเงาของ "ใบสั่ง" จากเบื้องบน เช่น การบูรณาการกองทุนต่าง ๆ ในหมู่บ้าน ซึ่งพวกเราไม่ค่อยติดใจในใบสั่งเท่าไร เนื่องจากรู้ดีอยู่แก่ใจว่า เรื่องอย่างนี้บางครั้งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะ "เจ้านาย" ก็คือเจ้านายวันยังค่ำ ต้องแสดงความ "รู้ดี" เสมอ


แต่การจะนำใบสั่งไปบอกให้ชาวบ้านให้เอาเงินกองทุนต่าง ๆ "มารวมกัน" นั้น นักพัฒนาชุมชนอาจเจอปัญหาเสียเอง ไม่เชื่อลองตรวจสอบปฏิกิริยาของชาวบ้านดูก็ได้ โดยลองตั้งคำถามว่า ถ้าทางการสั่งมาให้เอาเงินของกลุ่มออมทรัพย์ (เงินชาวบ้าน) มารวมกับเงินกองทุนล้านบาท (เงินหลวง) ชาวบ้านคิดยังไง คงพอจะเดาภาพออก


ดังนั้น ก่อนผลีผลามทำตามใบสั่ง นักพัฒนาชุมชนยุคใหม่ก็สามารถใช้กระบวนการวิจัย เพิ่มความมั่นใจให้กับตนเองว่า การบูรณาการกองทุนคือทางเลือกที่ดีสำหรับหมู่บ้านที่ตนดูแลอยู่ ด้วยการตั้งคำถามถามตนเองก่อน ก่อนที่จะไปถามชาวบ้าน ว่ามีสัญญาณบอกเหตุอะไรบ้างที่นำไปสู่การบูรณาการกองทุน ปัญหาเกิดจากการไม่บูรณาการหรือเกิดจากอะไรกันแน่ มีทางเลือกอื่นอีกไหมนอกเหนือจากการบูรณาการกองทุน บูรณาการกองทุนแล้วปัญหาหมดไหม เหล่านี้เป็นตัวอย่างคำถามที่นักพัฒนาชุมชนต้องฝึกถามตัวเองบ่อย ๆ เมื่อมีใบสั่ง ไม่ได้หมายความว่าต่อต้านใบสั่ง แต่หา "ทางเลือก" อื่น ๆ ในการแก้ปัญหาบ้าง ถ้าอยากให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าของทางเลือก ตัวนักพัฒนาชุมชนเองต้องเห็นคุณค่าของทางเลือกด้วยตนเองก่อน ถ้าตั้งคำถามได้ แสดงว่า ประเด็นยังไม่กระจ่าง


โดยส่วนตัวของผู้เขียน ออกจะดีใจที่หน่วยงานของรัฐยุคปฏิรูประบบราชการ เริ่มมีวิธีคิดในการขับเคลื่อนปัญหาด้วยข้อมูลและเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ของตน จะเปิดมากหรือน้อย ก็ยังดีกว่าไม่เปิดเลย


ผู้เขียนไม่ได้คาดหวังว่า ข้าราชการทุกคน จะปรับโฉมใหม่การทำงานของตนไปสู่ "การทำงานที่เอาชุมชนเป็นศูนย์กลาง" เพราะงานนี้อยู่ที่ "วิธีคิด" ของแต่ละคน แต่สิ่งที่ผู้เขียนดีใจคือ ข้าราชการที่มีใจอยากทำงานพัฒนากับชาวบ้านจริง ๆ จะได้มีโอกาสทำเสียที โดยไม่ต้องรู้สึกว่าตนเองเป็นบุคคลประหลาด


เฉกเช่น นักพัฒนาชุมชน 2 ท่านข้างต้น ที่ผู้เขียนสามารถรู้สึกได้ถึงความสุขของทั้ง 2 ท่านเมื่อนำเสนอโครงการวิจัย ไม่ใช่สุขเพราะทำงานวิจัยสำเร็จ แต่สุขเพราะรู้ว่า เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ชาวบ้านมีกระบวนการในการแก้ไขปัญหา เพราะยังไง ๆ ปัญหาสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แค่นี้จะไม่สุขได้อย่างไร


...........


เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๕ พ.ค. ๒๕๔๘