Skip to main content

ผู้นำกับการเปลี่ยนแปลง : จากบริบทองค์กรสู่บริบทมหาชน

คอลัมน์/ชุมชน

ตั้งใจมานานแล้วว่าจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องที่เกี่ยวกับ " บริบทองค์กร" ( Organizational context ) สักทีเพราะว่าชีวิตคนไม่มีวันที่จะเดินออกห่างเรื่องนี้ไปได้ เริ่มตั้งแต่ เกิดจนตาย ที่ว่าจากเกิดก็คือ ต้องไปเกิดที่สถานพยาบาล จากนั้นก็ไปแจ้งเกิดที่หน่วยราชการ จากนั้นก็เรียนที่สถานศึกษา แล้วก็ทำงานในองค์กร หรือต้องเกี่ยวโยงกับองค์กร จวบจนแก่และตายก็ต้องพึ่งองค์กรที่ทำหน้าที่ให้บริการต่าง ๆ และแม้กระทั่งวัดที่เป็นสถานฌาปนกิจ


ผู้เขียนบังเอิญได้เรียนและสอนวิชา " สื่อสารองค์กร" และเกี่ยวพันกับวิชานี้มาเป็นเวลากว่า 8 ปีแล้ว เรื่องที่คนในวงการนี้พูดกันอยู่บ่อยคือ ผู้นำและภาวะผู้นำในองค์กร และผลที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้ มีหนังสือว่าด้วยเรื่องนี้มากมาย ซึ่งในเมืองนอกก็มีการศึกษาค้นคว้าวิจัยเรื่องนี้ในแง่มุมต่าง ๆ แต่ไม่น่าแปลกใจนัก ทุกวันนี้ในสังคมใด ๆ ก็ยังไม่สามารถที่จะหาผู้นำในอุดมคติได้ ไม่ว่าในระดับใดในชีวิต เพราะว่าอุดมคติคืออุดมคติวันยังค่ำ นั่นคือ " ไม่มีจริง"


แต่เดิมมา เรามีข้อสงสัยว่าผู้นำนี่เป็นมาแต่กำเนิด หรือกลายมาเป็นผู้นำเพราะการกล่อมเกลาเลี้ยงดูทางสังคม ซึ่งก็นั่งหากันไปพักใหญ่ ต่อมาก็มาบอกว่า ผู้นำจะเป็นมาอย่างไรไม่สน เอาเป็นว่าทุกวันนี้ทำอะไรได้บ้าง และให้โอกาสลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชานั้นได้เอ่ยปากแสดงความคิดเห็นบ้างหรือเปล่า มีการสื่อสารแบบสองทางหรือไม่


จากนั้นก็ขยายตัวมาอีกว่า ผู้นำนั้นนอกจากจะมีความเป็นประชาธิปไตยแล้ว ยังต้องเป็นกัลยาณมิตรต่อลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชา พยายามที่จะทำให้พวกเขาเหล่านี้ได้นำศักยภาพออกมาใช้อย่างเต็มที่เพื่อให้เกิดการเติบโตทางปัญญาและหน้าที่การงาน


ดังนั้น การเป็นผู้นำในสมัยใหม่ ไม่ใช่ดีแต่สั่ง ดีแต่ชี้นิ้ว หรือเพียงแค่พอเข้าใจใจหัวอกลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชา แล้วปูนบำเหน็จรางวัลหรือลงโทษเท่านั้น แต่ต้องมองทุกอย่างรอบด้าน และที่สำคัญต้องพัฒนาตนเองไปพร้อมกับลูกน้อง ผู้นำคนอื่น ๆ ในสังคมด้วย เพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อทุกคนและทุกด้าน ผู้นำแบบนี้เรียกว่า Transformational leader อันเป็นผู้นำที่พึงปรารถนาในมุมมองของปัจจุบัน เพราะมีการ " แปรเปลี่ยนสภาพ" ในด้านบวกของทั้งตัวผู้นำเองและลูกน้อง ตามชื่อที่กำหนดไว้


อย่างไรก็ตาม ผู้นำที่พึงปรารถนาในสมัยใหม่นี้ ต้องมีความเป็นผู้นำที่มีคุณลักษณะที่ผู้นำเองต้องการจากลูกน้องด้วย เช่น ถ้าอยากได้ลูกน้องที่ดีมีคุณภาพ มีความตรงต่อเวลา มีความซื่อสัตย์ มีความสามารถทางเทคนิควิทยา ตัวหัวหน้าเองก็ต้องโชว์ให้เห็นเป็นตัวอย่างต่อลูกน้องได้ว่าตนเองมีคุณสมบัติดังกล่าวอย่างชัดเจน ( exemplification) แต่หากตนเองทำไม่ได้ ไม่มีคุณภาพนั้น ๆ ก็ถือว่าเป็นผู้นำไม่พึงปรารถนา


จริง ๆ แล้วลักษณะแบบนี้ ในสมัยก่อนก็ได้มีการฝึกการเป็นผู้นำแบบง่าย ๆ มาก่อนในสังคมตะวันออกคือ บรรดาคนจีนจะนิยมให้ลูกหลานไปเป็นเด็กฝึกงานในธุรกิจของตนเองหรือของคนอื่น ๆ ให้เริ่มทำตั้งแต่ตำแหน่งน้อย ๆ จนเรียนรู้งานครบทั้งระบบแล้ว นั่นแหละจึงค่อยมาเป็น เสี่ยเก่ง ๆ ที่ช่วยเตี่ยเถ้าแก่ทำงานได้


อย่างไรก็ตาม สูตรนี้ยังพอใช้ได้ ถ้าหากว่า " ว่าที่เสี่ย" นั้นมีวิสัยทัศน์ที่มองไกลมากกว่าธุรกิจที่ตนทำอยู่หรือมีอยู่ เสียดายที่ว่าในความเป็นจริงสมัยนี้ " ว่าที่เสี่ย" มักจบเอ็มบีเอกันเป็นส่วนมากและประสบการณ์จริงก็ไม่ค่อยมี แต่ขึ้นตำแหน่งใหญ่ได้ทันที และก็มี " ว่าที่เสี่ย" บางกลุ่มที่มีความชำนาญเฉพาะสายแต่ไม่มีวิสัยทัศน์เอาเสียเลย ถือว่าไม่ดีทั้งสองแบบ


ที่น่าสนุกกว่านั้นคือมีการนำเอาคำว่า CEO Chief Executive Officer มาใช้ในระบบการบริหารประเทศ ซึ่งเป็นมิติใหม่ในวงการนี้ เพราะได้นำเอาโมเดลหรือแบบตัวอย่างทางธุรกิจมาใช้ในการบริหารปกครองภาครัฐ ทั้งที่ปรัชญาของ " ธุรกิจ" กับ " รัฐกิจ" ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ที่ชัดสุดคือ " ธุรกิจ" มองเอาผลกำไรเป็นที่ตั้ง ส่วน " รัฐกิจ" มองในเรื่องของการกระจายอำนาจและประโยชน์สุขของประชาคมหรือบุคคลในรัฐนั้น ๆ


ไม่ว่าจะเป็นผู้นำในภาครัฐ หรือธุรกิจ (เอกชน) ผู้นำที่ดีก็ควรจะเป็น Transformational leader หากแต่ว่าคำถามอยู่ที่ว่า " จะสร้างผู้นำเหล่านี้อย่างไร หรือหาผู้นำเหล่านี้มาได้อย่างไร" สังคมไทยไม่มีคำตอบ เพราะไม่ได้คิด หลายครั้งเราจึงได้ผู้นำโดยบังเอิญ ที่มาจากอำนาจอะไรก็ตาม แล้วในที่สุดก็จบลงในสภาพต่าง ๆ กัน ไม่ว่าในระดับองค์กรเล็ก จนถึงใหญ่ ขยายมาจนถึงระดับประชาคมและประเทศ


การสร้างผู้นำไม่ใช่ของยาก แต่ก็ไม่ง่าย และผู้นำนั้นก็ไม่จำเป็นต้องเก่งทุกอย่าง หากแต่ขึ้นอยู่กับบริบทและช่วงเวลา หากแต่ว่าระบบบางอย่างในสังคมไทยไม่เปิดโอกาสเสียเลยกับคนที่ไม่ใช่ วงในได้มีโอกาสแสดงหรือพัฒนาศักยภาพของตนเองจนมาเป็นผู้นำในแต่ละด้านได้ ทั้งนี้ก็มาจากคตินิยมหลาย ๆ ชุดในสังคมไทยที่ไม่เอื้อ


ในมุมมองนิเทศศาสตร์นั้น ผู้นำที่ดีต้องมีการสื่อสารที่ทำให้เกิดการพัฒนาทั้งตนเองและลูกน้องในระยะไกลและใกล้ และเชื่อว่ากระบวนการสื่อสารนี่เองที่จะทำให้ผู้นำที่มีอยู่แล้วได้มีความก้าวหน้าใหม่ ๆ และเกิดการสร้างผู้นำใหม่ ๆ ที่พัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ ดังนั้น การสื่อสารจึงกลายเป็นหัวใจในเรื่องของผู้นำอย่างเลี่ยงไม่ได้


ผู้นำที่ดีไม่ว่าในระดับใด ที่ไหน เวลาใด มีสิ่งหนึ่งที่ไม่ต่างกันคือความเป็นผู้มีวินัย ไม่ฉ้อฉล และมีคุณธรรม หลายคนอาจบอกว่าบางทีต้องกะล่อนหน่อย ๆ หรือ บางคนอาจบอกเลยว่า " โกงก็ไม่ว่า ขอให้มีผลงาน" เหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องอันตราย เพราะผู้นำต้องเป็น" ตัวอย่างที่ดี" ได้ ไม่ใช่ตัวอย่างที่เลว


ผู้นำที่เก่ง ๆ ดี ๆ หลายคนในโลกนี้ คงพอมีเหลืออยู่บ้าง และไม่จำเป็นนักที่ต้องเป็นผู้นำที่ต้องโด่งดัง หรือร่ำรวยล้นฟ้า แต่อย่างน้อยก็สามารถทำหน้าที่ของความเป็น Transformational leader ได้ในระดับหนึ่ง วันนี้สังคมไทยต้องมานั่งคิดแล้วว่าเราจะช่วยกันพัฒนาให้เกิด Transformational leader ได้อย่างไร และต้องทำอย่างจริงจัง


ไม่นานมานี้ ได้มีการพูดคุยกันระหว่างผู้เขียนและเพื่อนอาจารย์ฝรั่งอีกสองคนถึงระบบการศึกษา การพัฒนาคุณภาพของคนรุ่นใหม่ในสหรัฐฯ ต่างเห็นพ้องกันว่าเป็นที่น่าวิตก เพื่อนคนหนึ่งเอ่ยว่า " เราต้องทำอะไรสักอย่างที่จะต้องให้คนรุ่นใหม่มีคุณภาพไม่น้อยไปกว่ารุ่นที่ผ่าน ๆ มา เพราะคนกลุ่มนี้ล่ะที่จะต้องดูแลเราในภายภาคหน้า และเข็นรถเข็นให้เราตอนเราแก่เฒ่า"


ผู้เขียนฟังแล้วใจหายวาบเพราะฝรั่งเค้าพัฒนามากกว่าเรา เขายังวิตกกับบ้านเมืองเขาขนาดนั้น ส่วนเมืองไทยนั้นเราห่างไกลจากเขามาก แต่พวกเรามักจะคิดว่าอะไรจะเกิดก็เกิด ต่างกันเยอะเหลือเกินในเรื่องความคิดแบบนี้


ทำให้ผู้เขียนนึกถึงประโยคภาษาอังกฤษหนึ่งในรายการ " ยุวทัศน์" ดำเนินรายการโดยคุณศุภวรรณ สวนศิลป์พงศ์ เมื่อเกือบสามสิบปีก่อนว่า "People of tomorrow are the children of today." ทำให้เกิดคำถามว่า


ผู้นำวันนี้ได้คิดถึงผู้นำของวันพรุ่งนี้หรือเปล่า แล้วคิดอย่างไร หรือคิดแคบ ๆ เพียงแค่วงศ์วานว่านเครือตนเองเท่านั้น?


คำถามนี้จะมีใครตอบ


..................


เผยแพร่ในประชาไทเมื่อวันที่ ๓๐ มิ.ย. ๒๕๔๘