Skip to main content

บทเรียน (เล็ก ๆ) การปลูกผักปลอดสารพิษเมืองพิจิตร

คอลัมน์/ชุมชน

การปลูกผักปลอดสารพิษ ทำอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ เป็นความท้าทายมาหลายปีสำหรับผู้เขียน ในฐานะนักยุยงส่งเสริมให้เกษตรกรเลิกใช้สารเคมีแล้วหันมาทำปลอดสารพิษ


แต่ประสบการณ์หลายปีนั้นก็ทำให้บอบช้ำพอสมควรจากการทำตลาดผักปลอดสารพิษ เมื่อกลับไปทบทวนกระบวนการทำงานพบว่า ปัญหาอยู่ที่ " การเอาแต่ใจเรานี่เอง " จนลืมพิจารณา เรื่องราวแวดล้อมที่ส่งผลกันเป็นขบวนการ


แม้ประสบการณ์ที่ผ่านมาจะไม่สวยหรู แต่ความสนใจและคำถามที่ว่า ทำอย่างไรให้กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษมีความยั่งยืน ! ( ความยั่งยืนของผู้เขียนหมายถึงการที่ กลุ่มยังคงจัดการปลูกและขายไปได้เรื่อย ๆ และผลิตภัณฑ์ยังคงปลอดสารพิษ ) ยังคงค้างคาและรอการค้นหาคำตอบ ขณะเดียวกันก็ได้ข่าวคราวเพื่อนกลุ่มต่าง ๆ ที่ปลูกผักปลอดสารพิษหลายกลุ่มต้องหยุดดำเนินงานลง มีน้อย แทบนับกลุ่มได้ที่ยังคงเดินต่อไป


ปี 2547 การขุดคุ้ยหาคำตอบเริ่มต้นขึ้น เมื่อผู้เขียนได้โอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินงานในโครงการ เกษตรปลอดสารพิษครบวงจร ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) ปี 2547 ทำกิจกรรมส่งเสริมให้เกษตรกรจังหวัดพิจิตร (ในนามชมรมเกษตรธรรมชาติและอาหารปลอดสารพิษ) ผลิตและจัดการตลาดผักปลอดสารพิษ จำนวน 6 กลุ่ม (1)กลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษตำบลไผ่รอบ , บ้านเกษตรพัฒนา ,ตำบลโพธิ์ไทรงาม ,ตำบลหนองโสน ,ตำบลท่าเสา, ตำบลไผ่ท่าโพธิ์


การเข้าไปยุ่งกับโครงการดังกล่าวทำให้มองเห็น " ช่องว่างระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค " นั่นคือ


ผู้บริโภค เมื่อถามถึงผักปลอดสารพิษ ส่วนใหญ่ ตอบได้ทันทีว่าสนใจ แล้วคำถามต่อมา คือแล้วจะไปซื้อที่ไหนล่ะ ส่วนผู้ผลิตที่เป็นเกษตรกร ถ้าถามว่าสนใจจะปลูกผักปลอดสารพิษไหม หลายคนตอบว่าสนใจ แล้วจะถามต่อว่า มีตลาดส่งไหม สถานการณ์ของผู้บริโภค และผู้ผลิตผักปลอดสารพิษ แม้จะมองเผินๆ ว่า สนใจเรื่องเดียวกัน ( อีกฝ่ายต้องการผักปลอดสารพิษ อีกฝ่ายก็ต้องการจำหน่าย) เรื่องน่าจะง่าย !


แต่เมื่อมองไปที่การปฏิบัติการจริง ยังเกิดคำถามมากมาย บทเรียนเล็กๆ ที่กลุ่มเกษตรปลอดสารพิษ ในจังหวัดพิจิตร นำมาใช้ตอบปัญหายอดฮิต คือ

ปลอดภัยจริงแค่ไหน ?

คำถามนี้ ผู้บริโภคเป็นผู้ตั้งคำถามบ่อยครั้ง ผู้ผลิตผักปลอดสารพิษจึงมีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานผักปลอดสารพิษของกลุ่มว่าจะ " เข้ม " ขนาดไหน บางกลุ่มก็เข้มเลย คือ ต้องไม่มีสารเคมีใด ๆ ทั้งสิ้นในผัก


บางกลุ่มวางเกณฑ์ไว้แค่ปลอดภัย คือ สามารถใช้ปุ๋ยเคมีได้ แต่ต้องไม่ใช้สารฆ่าแมลง หรือใช้ได้ แต่เว้นระยะให้อยู่ในระยะที่เรียกว่าปลอดภัย แล้วใช้การตรวจด้วยเครื่องมือเป็นตัวชี้วัดผลิตภัณฑ์อีกที ว่าอยู่ในเกณฑ์หรือไม่


ที่ผ่านมา หลักการที่ใช้ได้ในหลายกลุ่มคือ " ปลูกกินก่อนแล้วจึงขาย " ที่หลักการนี้ใช้ได้เพราะ เกษตรกรกินเองจึงไม่ต้องใช้สารเคมี แถมเกษตรกรไม่ต้องพะวงเรื่องขายมาก เพราะอย่างน้อยก็ได้กิน หลักการนี้จึงใช้เป็นพื้นฐานของหลายกลุ่มที่ประสบความสำเร็จ


การปลูกน้อย ๆ ทำให้เกษตรกรสามารถสะสมความรู้ ทั้งเรื่องการสู้รบปรบมือกับแมลงที่มากวนผัก การทำอย่างไรให้ผัก มีต่อเนื่อง ทำอย่างไรให้ผักงามโดยไม่ต้องพึ่งปุ๋ยเคมี


การช่วยกันทำปัจจัยการผลิตสารทดแทนสารเคมี ของกลุ่ม เตรียมพร้อมไว้ ทั้งปุ๋ยหมักชีวภาพ สารไล่แมลง ลูกกลุ่มจะใช้เมื่อไหร่ มาเอาได้เมื่อนั้น ทำแบบเซเว่นอีเลฟเว่นเลยยิ่งดี เป็นปราการป้องกันลูกกลุ่มแอบใช้สารเคมีจากข้ออ้างที่ว่า " มันง่ายและสะดวกดี "


การตรวจสอบกันเองของสมาชิก ช่วยกันเป็นหูเป็นตาเป็นเครื่องการันตีกลุ่มได้มาก โดยเฉพาะฝ่ายการตลาดของกลุ่ม ขณะไปรับผักของสมาชิก มีการสอดส่องพูดคุย ซักถามปัญหาในแปลงร่วมไปด้วย โดยถ้ามีแมลงรบกวน กลุ่ม จะได้รีบจัดหาทางแก้ได้ทันกับสถานการณ์


มาตรฐานของผู้ผลิต จึงต้องบอกกล่าวให้ผู้บริโภคได้รับรู้ว่าของกลุ่มตนเอง " เข้ม " แค่ไหน แถมพ่วงด้วยข้อมูล ผักปลอดสารพิษมันดีอย่างไร ผลิตอย่างไร ซึ่งผู้ผลิตที่ผ่านการปฏิบัติมาอย่างช่ำชองเท่านั้นจะให้ข้อมูลได้น่าเชื่อถือมากที่สุด ยกเว้น ผู้ที่สร้างภาพได้แนบเนียนจนผู้บริโภคจับไม่ได้ แต่เชื่อเถอะ ! อย่างน้อยฟ้าดินก็รับรู้


ความใกล้ชิด ระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคเป็นประเด็นหนึ่งในการสร้างความน่าเชื่อถือ โดยถ้า ผู้บริโภคสามารถตามไปดูที่บ้านได้หรือรู้จักกันก่อนหน้านั้น เขาก็จะช่วยเป็นปากเป็นเสียงว่าผักที่กลุ่มปลูกปลอดสารพิษจริงแค่ไหน แต่ถ้าไม่ปลอด...ก็ตัวใครตัวมันล่ะกัน !

จะต่อเนื่องไหม?

การทำอะไรที่ต้องอาศัยการจัดการที่ซ้ำซ้อน มักจะไม่ค่อยมีคนสนใจ แต่กลับสนใจอะไรที่ทำง่ายๆ สะดวก แม้จะขาดทุน ก็ไม่เป็นไร เช่น การทำนา ที่ชาวนาส่วนใหญ่ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการนา ซื้อปัจจัยการผลิตทุกอย่างมาลงทุน ทำแล้วก็ขายข้าวเปลือก(สด) ถูกกดราคา หรืออาจขาดทุนโดยไม่รู้ตัว แต่หลายคนบอกมันง่ายดีไม่ต้องจัดการอะไรมาก


ฉะนั้นการปลูกผักให้ต่อเนื่องจึงนับว่าเป็นงานหิน สำหรับเกษตรกรทั่วไป โดยต้องอาศัยการเรียนรู้ สะสมประสบการณ์ จากการปลูกน้อย ๆ ก่อนแล้วค่อยขยายพื้นที่ปลูกจำนวนมากขึ้น


ทางลัดการเรียนรู้ คือ การไปดู แลกเปลี่ยนกับกลุ่มที่ทำแล้ว อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการปฏิบัติจริงในแปลงตนเองอย่างสม่ำเสมอ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่อง เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาความรู้ผู้ปลูกแต่ละคน ใครมีสูตรเด็ด ๆ ทดลองอะไรใหม่ๆ ได้ผลก็มาบอกกัน นอกจากการแลกเปลี่ยนจะให้เรื่องความรู้แล้ว ยังได้กำลังใจระหว่างกัน การรู้ว่าเรามีเพื่อนยามเมื่อเจอปัญหา ใครๆ ก็รู้สึกดีทั้งนั้น


การทำร่วมกันในลักษณะเป็นกลุ่ม (อาจเป็นแปลงเดียวกัน หรือแยกแปลงแต่ขายด้วยกันและมีการเจอกันอย่างต่อเนื่อง) เป็นตัวช่วยหลายกรณี ทั้ง การมีผักหลากหลาย ผักออกต่อเนื่อง ถ้าสมาชิกคนใดคนหนึ่งผักตัดไม่ได้ก็ยังมีของเพื่อนในกลุ่มสำรองได้ แต่ทั้งนี้กลุ่มต้องผ่านการวางแผนการปลูกร่วมกันก่อน ซึ่งขั้นตอนนี้จะเริ่มมองเห็นว่าใครปลูกอะไรกันบ้าง พื้นที่เท่าไหร่ ชนิดผักซ้ำซ้อนหรือไม่ ผักมีความหลากหลายแค่ไหน


มีตลาดไหม ?


" ตลาด " คำๆ นี้เกษตรกรน้อยรายที่จะเข้าถึง ส่วนใหญ่ เป็นเพียงผู้ส่งให้เขา(พ่อค้าแม่ค้าคนกลาง) ไปขายตลาดเท่านั้น หลายครั้งจึงมีข่าวเสมอว่า เกษตรกรถูกโกง ถูกเอาเปรียบ นอกจากนี้กลไกตลาดส่วนใหญ่ พ่อค้า แม่ค้าคนกลาง จะเป็นผู้กำหนด ทั้งราคาขาย คุณลักษณะของผัก โดยเฉพาะผักต้องสวย ๆ (ถูกบังคับอีกทีจากผู้บริโภค)


ดังนั้นถ้าเกษตรกรไม่กระโดดเข้ามาศึกษาและลองเล่นในตลาดดู จึงค่อนข้างยาก ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าคนกลางสนใจความสวยงามของผักมากกว่าจะรู้ว่ามันปลอดสารหรือไม่ ! ถ้ามาขายให้เขา อาจถูกกดราคา หรืออาจจะไม่ซื้อเลยก็ได้


แต่บางทีพ่อค้าแม่ค้าบางคนที่อยู่ในกระแส " ผู้รักสุขภาพ " ก็สนใจผักปลอดสารพิษเหมือนกัน แต่ประสบการณ์ของกลุ่มเกษตรกรที่ผ่านมา ค่อนข้างไม่น่าประทับใจคือ เมื่อขายดีไปได้ระยะหนึ่ง ก็เริ่มถูกกดราคา หรือไม่ก็นำผักปลอดสารไปปนกับผักไม่ปลอดสาร


ฉะนั้นการขายตรงให้กับผู้บริโภคน่าจะเป็นทางออกที่น่าสนใจของเกษตรกรผู้ปลูกผักปลอดสารพิษในระยะแรก ถ้าอยากได้ลูกเสือ แล้วไม่เข้าถ้ำเสือ มันจะได้ลูกเสือหรือไม่ ฉะนั้นเกษตรกรจึงต้องเข้าไปเรียนรู้การทำตลาดใน ตลาด จริง ๆ


แหล่งขายในท้องถิ่นที่น่าสนใจที่กลุ่มเกษตรกรเลือกคือ ตลาดนัด ที่มีอยู่ทั่วทุกหัวระแหง ตลาดขนาดไม่ใหญ่นัก เปิดขายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง อยู่ใกล้ ทำให้ประหยัดน้ำมันและไม่เสียเวลาในการเดินทาง น่าจะเป็นเงื่อนไขที่เหมาะกับกลุ่มเกษตรกรในช่วงเริ่มต้น


ก่อนการออกขายที่ชัดเจน ควรมีการประชาสัมพันธ์บอกกล่าวผู้บริโภคให้รับรู้วันที่จะไปขาย ทั้งการ บอกผ่านป้าย ผ่านหอกระจายข่าว หรือช่องทางที่กลุ่มเห็นว่าเข้าถึงผู้บริโภคในพื้นที่ของตนเองมากที่สุด


เมื่อมีการนัดวันออกขายที่ชัดเจน สมาชิกเริ่มนำผักมาวางขาย ค่อย ๆจัดการสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ประเมินให้ผักมีปริมาณพอหมุนได้ ช่วงวันขายวันแรกอาจให้กลุ่มผักพื้นที่อื่น ๆ ที่มีประสบการณ์การการขายแล้ว มาร่วมกันขายด้วยก็ได้ บรรยากาศการขายผักจะได้ดูคึกคัก และเทคนิคการขายจาก " พี่สอนน้อง " จะได้ถ่ายทอดกันไปโดยไม่รู้ตัว


กลุ่มอาจสร้างความสนใจของการขายผักปลอดสารพิษด้วยการดึงศิลปินท้องถิ่นมาร่วมบรรเลงดึงความสนใจของผู้บริโภคก็ได้ เพราะไม่เห็นมีใครเคยบอกว่าผักกับเสียงเพลงจะไปด้วยกันไม่ได้


การทำตลาดท้องถิ่น ผู้บริโภคน่าจะให้ความเชื่อถือพอสมควร แต่บางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มใหม่ยังพบปัญหา คนไทยไม่เชื่อถือกันเอง แม้จะมีคนทำจริงอยู่ แต่ก็อดได้ยินเสียงครหานินทาไม่ได้ มันจะปลอดจริงเหรอ (โดยเฉพาะแม่ค้าผักไม่ปลอดสารในตลาดด้วยกัน) ทางออกของกลุ่มที่ทำคือ การให้หน่วยงาน ที่มีคนเชื่อถือในเรื่องนี้มากที่สุด ซึ่งก็คือ หมอทั้งหลา (เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับงานสาธารณสุข) มาช่วยประชาสัมพันธ์ในระยะแรก โดยใช้หลายรูปแบบเช่น การเป็นลูกค้าประจำ มาช่วยขาย ตรวจผักปลอดสารพิษโชว์ บริการตรวจเลือดลูกค้า เป็นต้น


เมื่อกลุ่มปลูกผักปลอดสารพิษ จับจองตลาดนัดแห่งนั้นได้ต่อเนื่อง ก็อาจเพิ่มวันขาย ขยายตลาดไปพื้นที่อื่น ๆ เมื่อถึงจุดนี้ จะเริ่มง่ายขึ้น เพราะการเรียนรู้การปลูกและตลาดผักปลอดสารพิษมีพื้นฐานแน่นพอสมควรแล้ว


แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มไม่ต้องเรียนรู้ อีก เพราะแม้กลุ่มที่ผ่านการทำผักปลอดสารพิษมา 2 ปีขึ้นไป ก็ยังคงเจอปัญหาที่ท้าทายให้แก้ไขอีก เช่นภัยแล้ง การปนเปื้อนสารเคมีเข้าสู่ผักจากการใช้แหล่งน้ำสาธารณะ หรือ ผู้บริโภคไม่นิยมทำอาหารแต่นิยมซื้อแกงถุงหรือกินข้าวนอกบ้านมากกว่า


ปัญหาเหล่านี้ท้าทายให้กลุ่มผักปลอดสารพิษเรียนรู้ แล้วค่อย ๆ สะสมประสบการณ์ ค้นหาทางออกจนกว่าจะถึงเป้าหมายของกลุ่ม ถ้าไม่ล้มเลิกเสียก่อน


และไม่ต้องกลัวว่าจะล้มเหลว เพราะไม่เคยมีคำว่าล้มเหลว มีแต่คำว่าล้มเลิกก่อนต่างหาก


.............


เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๒ พ.ค. ๒๕๔๘