Skip to main content

ความพิเศษของคนที่ถูกเรียกว่า " คนรุ่นใหม่"

คอลัมน์/ชุมชน

รู้กันว่ากระแสข่าวที่แรง ๆ ในระยะที่ผ่านมาคือ เรื่องรับน้องโหด หรือการรับสมาชิกใหม่ ในสถาบันอุดมศึกษาของไทยทั่วประเทศ อันมีผลลุกลามไปถึงเรื่องเสียชีวิต บาดเจ็บ และเสียความรู้สึกกันไปในระดับต่าง ๆ จนเป็นเรื่องราวใหญ่โต ในช่วงที่ผ่านมา


บทความนี้จึงไม่พูดถึงเรื่องระบบที่กล่าวกันว่าโหด แต่จะพูดถึงเรื่องคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ในสายตาของคนกลางเก่ากลางใหม่แบบผู้เขียนก็แล้วกัน


ในมุมมองของนิเทศศาสตร์แล้ว เราต้องมองว่าคนกลุ่มนี้ในปัจจุบันกำลังส่งสารบางอย่างในกลุ่มของเขาที่กระฉอกออกมาในสังคมทั่วไปรอบนอก นั่นคือ เรื่องของกฎที่พวกเขาเชื่อและปฏิบัติ ซึ่งกฎเหล่านี้ไม่ใช่แค่คนกลุ่มนี้ที่มี แต่มันมีกันได้ในทุกกลุ่ม หากบังเอิญที่ว่ากลุ่มนี้มีพลังแรงตามวัยและบังเอิญมีเงื่อนไขทางสังคมอื่น ๆ คือ จะโตก็ไม่โต จะเด็กก็ไม่เด็ก สารของพวกเขาจึงไม่เป็นที่เข้าใจทั้งในกลุ่มพวกเขาเอง และคนนอกกลุ่ม (ที่เป็นคนแก่กว่าพวกเขา หรือกลุ่มที่เด็กกว่า)


กิจกรรมของคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้ที่ตกเป็นข่าว เป็นของที่มีกันมานาน บ้างก็โหดร้าย ทารุณจิตใจ และบาดตา บ้างก็ดี มีสิ่งที่ทำให้ชื่นตา ชื่นใจในหลาย ๆ ฝ่าย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่ากลุ่มย่อย ๆ ของคนรุ่นใหม่กลุ่มนี้จะเลือกที่จะส่งสารอย่างไรในบรรดาพวกเขาเอง


ดังนั้น ว่ากันไปแล้ว คือวัฒนธรรมย่อยในสังคม (subculture) ที่แบ่งตามวัย การศึกษา และปัจจัยทางสังคมอื่น ๆ ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า แม้ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน แต่ต่างคณะ ต่างสาขาวิชา ต่างวิทยาเขต วัฒนธรรมย่อยดังกล่าวนี้ก็ย่อมต่างกันได้ ผู้เขียนจำได้ว่าตอนเรียนธรรมศาสตร์นั้น คณะศิลปศาสตร์เป็นคณะหน่อมแน้ม รับน้องจุ๋มจิ๋มมาก ต่างกับคณะที่มีผู้ชายมากหรือมีชื่อเสียงมานานกว่า ที่ได้ข่าวว่ามีอะไรพิสดารมากขึ้น แต่กระนั้นก็ไม่ดุเดือดเลือดพล่าน เหมือนคณะเปิดใหม่ที่ตกเป็นข่าว


ในสหรัฐฯ พิธีแบบนี้ไม่มีในมหาวิทยาลัย นอกจากบางกลุ่มบางพวก เช่น ทีมกีฬา หรือ " บ้านกรีก" ซึ่งเป็นเหมือนหอพักชายล้วน หรือหญิงล้วน ที่มีความเป็นส่วนตัวและจำกัดวงอยู่แต่กับลูกหลานคนที่มีจะกิน ซึ่งอันนี้ไม่ต้องอยู่ในกฎมหาวิทยาลัยตรง ๆ นัก สามารถดำเนินการบางอย่างเองได้ เช่น การรับน้องที่ประหลาดพิสดาร เพียงเพื่อให้สมาชิกรู้รสชาติว่าการเป็นสมาชิกตรงนี้มันเป็นอย่างไร ซึ่งปรากฏว่ามีอะไรบ้า ๆ บอ ๆ ไม่แพ้กันกับที่เมืองไทยมี หากแต่ว่า ถ้ามีการฟ้องร้องกันขึ้นมา ก็เสียอนาคตทั้งคนทำผิดและหอพักบ้านกรีก อาจโดนถอดถอนสิทธิต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งต้องปิดตัวไปเลย


ทั้งนี้ กลุ่มบ้านกรีกนี้ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของ elitism ในระบบการศึกษาของสหรัฐฯ ที่ยังแก้ไม่ได้ เพราะนิสัยของคนบางกลุ่มที่ยังติดในอำนาจนิยม เฉกเช่นที่ปรมาจารย์ทางสังคมศาสตร์ไทยหลายคนได้กรุณากล่าวว่า ระบบรับน้องโหด ( hazing ) หรือ ระบบ SOTUS เองเป็นการบ่มสร้างความเป็นอำนาจนิยมในสังคมไทย เริ่มตั้งแต่ในโรงเรียนมัธยมดัง ๆ เรื่อยมาจนถึงสถาบันอุดมศึกษาที่ดัง ๆ จนมาถึงที่ไม่ค่อยจะดัง แต่อยากมีประเพณี " อำนาจนิยม" นี้กับเขาบ้าง ดังนั้น กลับมาที่บริบทในสหรัฐฯ คนที่อยู่บ้านกรีกจึงเป็นลูกคนรวย บ้ารุ่นพี่รุ่นน้อง (ตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์เรื่อง Legally Blonde ทั้งสองภาค) แล้วก็มักไม่ติดดินนัก


ส่วนในบริบทไทย จากลักษณะดังกล่าว จึงทำให้เกิดการสร้างระบบสัญลักษณ์เพื่อการสืบทอดความเป็นสมาชิกของกลุ่ม บ้างถึงขนาดบอกว่า ต้องสร้างโยงใยเครือข่ายไปหมด บ้างก็ใช้คำพังเพยว่า " นกไม่มีขน คนไม่มีเพื่อน ไม่มีวันบินขึ้นสู่ที่สูงได้" ซึ่งเห็นได้ทั่วไปในระดับเด็ก ๆ และในระดับผู้ใหญ่แก่ ๆ


น่าเสียดายที่ว่า ในสังคมไทยนั้น กลุ่มคนรุ่นใหม่นี้บังเอิญขาดการพิจารณาอย่างรอบคอบ จึงทำให้เกิดความขัดแย้งบานปลายออกมา และไม่ได้เข้าใจเลยว่า การเรียนในระดับอุดมศึกษานั้นคือการเรียนที่ทำให้ตนเองคิดเป็นทำเป็นที่สมบูรณ์ขึ้น ไม่ใช่มานั่งทำกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเล่าเรียน (คือไม่ใช่เสริมหลักสูตรอะไรทั้งสิ้น) ทั้งนี้ ยิ่งเป็นสถาบันของรัฐฯ ยิ่งต้องคำนึงเพราะเงินอุดหนุนการศึกษาก้อนใหญ่ ๆ มาจากงบประมาณรัฐบาล ซึ่งก็มาจากภาษีอากรของปวงชนชาวไทยนี่แหละ


ผู้เขียนไม่ได้ห่างเหินกลุ่มคนรุ่นใหม่นี้ในสังคมไทยนัก ยังจับตามองว่าเป็นเช่นไร หลายครั้งอดสะท้อนใจไม่ได้ว่าทำไมเปลี่ยนไปได้ขนาดนี้ จำได้ว่ามีรุ่นพี่คนหนึ่งบอกว่า " พ่อแม่รุ่นใหม่ (ซึ่งก็หมายถึงรุ่น ๆผู้เขียนนั่นเอง) เป็นพวกกลัวลูก กลัวลูกโกรธ ลูกเลยกลายเป็น love object"


ถ้าภาษาไทยร่วมสมัยง่าย ๆ ก็คือ " ลูกบังเกิดเกล้า" ลูกที่พ่อแม่ไม่กล้าแตะ เทิดทูนบูชา


ผู้เขียนจึงไม่โทษคนรุ่นใหม่นัก แต่โทษคนรุ่นเก่านั่นแหละที่ต้องมาพิจารณาตนเอง พ่อแม่เด็กหลายคนที่ผู้เขียนเคยเห็นพฤติกรรมตามใจ ผู้เขียนพูดไม่ออก หลายครั้งที่โดนตอกหน้ากลับมาว่า " เธอไม่มีลูกนี่ เธอไม่รู้หรอก" ผู้เขียนจึงบอกว่า " ดีแล้วที่ไม่มี เพราะถ้ารู้ว่าไม่พร้อมที่จะทำหน้าที่พ่อแม่ ก็อย่ามีเสียเลยจะดีกว่า ไม่ใช่ปั๊ม ๆ กันออกมา ให้กลายเป็นปัญหาสังคม"


นอกจากนี้ ตัวสถาบันเองด้วย ที่หลายครั้งก็ทำ " ปากว่าตาขยิบ" ครูอาจารย์หลายคนก็ยังพอใจกับเรื่องแบบนี้ บ้างก็สนับสนุน หากน้อยหน่อยก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ เป็นตั้งแต่มัธยมจนอุดมศึกษาอย่างที่เห็นกันอยู่


ดีใจที่ผู้ใหญ่ของกระทรวงศึกษาออกมาออกกฎเหล็กทันท่วงที และหวังว่าคงจะมีการบังคับใช้จริงในทุกระดับ การสื่อสารตรงจุดนี้ แม้หลายคนมองว่าเป็นเรื่องค่อนข้างเฉียบขาดและไม่ประนีประนอม แต่ก็ไม่ถือว่าผิดแต่อย่างไรเพราะว่าเป็นการตอบสนองต่อความรุนแรงที่ต้องระงับในเหตุการณ์เช่นนี้


ปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องว่าคนรุ่นใหม่ไม่ดี แต่เป็นเพราะว่าระบบในสังคมไม่ดี วั ฒนธรรมหลักในสังคมไทยอนุญาตให้คนบางกลุ่มแสดงความรุนแรงได้โดยไม่มีความผิด คนรุ่นเก่าที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเขลา ทึบ ก็พยายามส่งต่อความเขลาทึบนี้ต่อไป โดยไม่คิดว่าดีหรือไม่ อย่างไร ดังกล่าวนี้ จึงไม่สามารถโทษคนรุ่นใหม่ได้เพียงฝ่ายเดียว แต่หากทุกคนในสังคมต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน


ในสมัยที่ บิล คลินตัน อยู่ในอำนาจ ภรรยา คือ ฮิลลารี่ คลินตัน เคยสร้างแคมเพญและเขียนหนังสือ ใช้ชื่อว่า " It Takes a Village" ซึ่งมาจาก สุภาษิตแอฟริกันเต็ม ๆ ว่า "It takes a village to raise a child ." ซึ่งหมายความกว้าง ๆ ว่า ทุกคนในประชาคมต้องมีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูกล่อมเกลาเด็ก ไม่ใช่มาตั้งแง่ว่า ลูกเรา ลูกเขา


.............


เผยแพร่ในประชาไทเมื่อวันที่ ๖ ก.ค. ๒๕๔๘