Skip to main content

การพัฒนากองทุนหมู่บ้าน...แค่คิดก็หืดขึ้นคอแล้ว (นะเจ้านาย)

คอลัมน์/ชุมชน

ถ้าหมู่บ้านเปลี่ยนวิธีคิดจากการหวังพึ่งคนอื่นมาเป็นการพึ่งตัวเอง มีเศรษฐกิจของตัวเอง เงินกองทุนหมู่บ้านจะถูกบริหารจัดการและถูกใช้อย่างไร คงจะจินตนาการยาก...


เพราะความเป็นจริงคือ เศรษฐกิจหมู่บ้านมีโครงสร้างแห่งการพึ่งพาภายนอกตลอดเวลา ทำนาก็ต้องซื้อปุ๋ย ยา เมล็ดพันธุ์ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ก็ต้องพึ่งพาพันธุ์หมู พันธุ์ไก่ อาหาร ยา และตลาด ไม่มีเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตัวเองที่จะทำกิน ทำใช้ ทำขาย และแลกเปลี่ยนกันเองภายในชุมชน


วิถีชีวิตของชาวบ้านก็เป็นหนี้จากการกู้ยืมเงินมาลงทุนทำการผลิตภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจแบบพึ่งพาเช่นนี้ จึงไม่น่าแปลกว่า ชาวบ้านกว่าร้อยละ 90 ใช้เงินกองทุนหมู่บ้านเป็นเงินทุนหมุนเวียนในชีวิตประจำวันและใช้หนี้จากกองทุนหรือสถาบันการเงินต่าง ๆ เมื่อถึงคราวครบกำหนดชำระคืนกองทุนหมู่บ้านก็ต้องไปกู้กองทุนต่างๆ หรือแม้แต่กู้พ่อค้านอกระบบดอกเบี้ยแสนโหดมาชำระคืนกองทุนหมู่บ้าน


คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน 4 หมู่บ้าน (บ้านวังน้ำลัด บ้านร่องหอย บ้านห้วยเขว้า บ้านหนองโพธิ์ศรี) ในตำบลวังน้ำลัด อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์ มีจินตนาการร่วมกับ อบต. วังน้ำลัด และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอไพศาลี ที่จะทำให้ กองทุนหมู่บ้านเป็นกองทุนที่ช่วยเหลือด้านอาชีพทางเลือกและนำไปสู่การ " ปลดหนี้" ของเกษตรกรได้


ขณะเดียวกันการกู้แบบ " เบี้ยหัวแตก" ที่ชาวบ้านเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันและไม่เกิดประโยชน์เท่าใดนัก ก็ให้รวมกันสร้างเป็น " กลุ่มธุรกิจ" เสีย (ซึ่งเรื่องนี้น่าจะเป็นฐานสำคัญที่จะนำกองทุนหมู่บ้านไปสู่ความเป็น " ธนาคารหมู่บ้าน" อันเป็นสถาบันทางการเงินที่สำคัญของหมู่บ้าน ที่สามารถพัฒนา " เศรษฐกิจชุมชนหมู่บ้าน" ซึ่งเป็นเศรษฐกิจพึ่งตัวเองและลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกได้ในอนาคต)


คำตอบอยู่ที่ " กระบวนการเรียนรู้" ซึ่งจะต้องถูกวางเข้าไปในระบบและโครงสร้างของชุมชน แต่ในเบื้องต้นหน่วยงานราชการในพื้นที่และ อบต.วังน้ำลัด อาจจะต้องรับภาระหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงที่จะอำนวยการเรียนรู้แก่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและสมาชิก และต่อมาคณะกรรมการกองทุนจะต้องทำภารกิจหน้าที่นี้ต่อไป และต่อไป จนกลายเป็นภารกิจหน้าที่ที่ถาวรของคณะกรรมการกองทุนและสถาบันต่าง ๆ ของชุมชน แต่จะจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ประสบความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็วได้อย่างไรนั้น เป็นโจทย์ที่สำคัญที่จะต้องสอบผ่านไปให้ได้


การเรียนรู้ก็ต้องมีด้วยกัน 2 ระดับ คือ ระดับแรก ระดับคณะกรรมการ ซึ่งเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการที่ดี โปร่งใส และการจัดกระบวนการติดตามหนุนเสริมให้สมาชิกดำเนินกิจกรรมที่ขอกู้ไปได้ประสบความสำเร็จ เป็นต้น ระดับที่สอง ระดับสมาชิก ซึ่งกระบวนการเรียนรู้นี้มีความสำคัญกับการให้ชาวบ้าน " รู้ให้จริง" ใน " สิ่งที่ตัวเองจะทำ" เช่น จะเลี้ยงหมู ก็ต้องรู้จักธรรมชาติของหมู ชีวิตหมู สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรของหมู่บ้านที่เอื้อต่อการเลี้ยงหมู ตลาดหมู เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องให้สมาชิกเรียนรู้ก่อนที่จะเข้าสู่ระบบสินเชื่อของกองทุนหมู่บ้าน


จากการวิจัยของอภิชาติ ทองอยู่ (ในโครงการวิจัยและประเมินกองทุนหมู่บ้าน) พบว่า การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระบบตลาดของครัวเรือนสามารถเกิดได้จากเงื่อนไขที่สำคัญคือ (1) การช่วยเหลือผ่านความสัมพันธ์ในสถาบันทางสังคมในรูปแบบต่าง ๆ และ (2) ความเป็น " มืออาชีพ" ของชาวบ้านเอง นั่นคือ " รู้ให้จริง ในสิ่งที่ตัวเองจะทำ"


เมื่อพูดถึง " วงเรียนรู้" ความจริงแล้ว หน่วยราชการ สถาบันการศึกษา อบต. วังน้ำลัด ก็ต้องมีวงเรียนรู้ในฐานะที่เป็น " หน่วยสนับสนุน" หรือเป็น " พี่เลี้ยง" ที่ช่วยจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยเหมือนกันว่า " ควรเสริมการเรียนรู้อะไรแก่กองทุนและสมาชิกฯ แค่ไหน เมื่อไร และอย่างไร"


แบบนี้กองทุนหมู่บ้านก็จะมีความหมายมากต่อการสร้างเสริม " เศรษฐกิจชุมชน" (ซึ่งทุกวันนี้ได้ล่มสลายไปเกือบจะหมดแล้ว)


 



ประธานสภา อบต.วังน้ำลัด นายถนอม ช่วยงาน และนายก อบต.วังน้ำลัด นายทองสุข หาเวียง ในฐานะหน่วยสนับสนุนการจัดการความรู้กองทุนหมู่บ้าน กำลังชวนชาวบ้านร่องหอย และบ้านห้วยเขว้า ระดมหาเป้าหมายการทำงานพัฒนากองทุนหมู่บ้าน




ผู้ใหญ่บ้าน บุญนาค แก้วสูงเนิน ประธานกองทุนหมู่บ้านห้วยเขว้า จัดเวทีวางเป้าหมายการพัฒนากองทุนหมู่บ้าน


 



ทีมคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านหนองโพธิ์ศรี จากซ้ายไปขวา ศิลาพร ชาติเผือก รัตนา ตรีสาต กำชัย หทัยไพบูลย
์ ล้อมวงคุยเพื่อวางเป้าหมายการพัฒนากองทุนหมู่บ้าน


 


แต่กระบวนการเรียนรู้เช่นนี้ทำได้ยากระดับน้อง ๆ ของการฝ่าด่าน 18 อรหันต์ทองคำเลยก็ว่าได้ ่านแรก ชื่อว่า " จะทำหรือไม่ แล้วใครจะทำ(วะ)" ด่านนี้ต้องมีหน่วยสนับสนุนการจัดการเรียนรู้คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน ที่มีอุดมการณ์ ตั้งใจจริง ขอย้ำว่าต้องเป็นความตั้งใจระดับ " อุดมการณ์" และต้อง " กัดไม่ปล่อย" กับเรื่องนี้เพราะมันไม่ใช่ทำให้สำเร็จได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็วเหมือนจัดกฐิน ผ้าป่า งานบวช งานแต่ง หรือไปรับจ้างหักข้าวโพดก็ได้เงินเห็น ๆ วันละ 120 ซึ่งก็มักจะมีคำถามว่าทำแบบนี้จะเห็นผลเมื่อไหร่กัน ดังนั้น ใครต่อใครก็จะบอกว่า ไม่ทำด๊อก! ยากจะตาย ธุระไม่ใช่ ทำไปก็ไม่ได้ตังค์ เงินเดือนก็เท่าเดิม สองขั้นก็ไม่ได้ เสียเวลา บางทีเนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง กระดูกแขวนคอและถูก (ชาวบ้าน) ด่าเสียอีก


ด่านที่สอง ชื่อว่า " จะทำอย่างไร (จ๊ะ)" ด่านนี้ก็ไม่มีตำราหรือกูรูที่ไหนบอกได้ว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพราะบริบทแวดล้อม ศักยภาพและข้อจำกัดของแต่ละพื้นที่ก็ไม่เหมือนกัน ต้องอาศัยการศึกษาดูงานเพิ่มเติม และ ต้องเรียนรู้จากการลงมือทำ ซึ่งเป็นหัวใจของเรื่องนี้


ด่านที่สาม ชื่อว่า " สู้ต่อไป ไอ้มดแดง" เพราะระหว่างทางของการเรียนรู้อาจมีคน " เซกู๊ดบาย" ไปบ้าง งานที่วางแผนไว้ก็ไม่สำเร็จบ้าง กระบวนการเรียนรู้ที่จัดก็น่าเบื่อบ้าง เพราะหน่วยสนับสนุนก็ไม่ใช่วิทยากรกระบวนการมืออาชีพ สมาชิกก็ไม่มีเวลาเพราะต้องทำมาหากินบ้าง ทั้งหมดก็ต้องอดทน และปรับปรุงการทำงานต่อไป


ด่านที่สี่ ชื่อว่า " วิจัย ให้เอ็นจอย" จะหานักวิจัยที่ไหนที่จะมาถอดบทเรียนทั้งจากกระบวนการเรียนรู้ และจากตัวแปรที่เป็นบริบทต่าง ๆ ให้เป็น " องค์ความรู้" เพื่อในปีต่อ ๆไปจะได้ไม่ทำ " ผิดซ้ำซาก" อีก เรียกได้ว่าต้องทำทั้ง " วิจัย" และ " ปฏิบัติการ" อย่าง " มีส่วนร่วม" ให้ " สำเร็จ" จงได้


อ่านแล้วก็เห็นภาพว่าทีมงานนี้ที่จะต้องเจอ " หืดขึ้นคอ" เป็นแน่ อย่างนี้เจ้านายแถว ๆ อำเภอไพศาลี นครสวรรค์ จะมาช่วยชาวบ้านฝ่าด่าน 18 อรหันต์ทองคำนี้รึเปล่า? ฝากช่อง 7 ประกาศหน่อยว่า...


" ช่วยชาวบ้านวังน้ำลัดพัฒนากองทุน หน่อยเถอะครับ...เจ้านาย..ย...ย"


...............


เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑๙ พ.ค. ๒๕๔๘