Skip to main content

การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งทางการเมือง


























































































 


สัปดาห์ที่แล้ว สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน ๒๐๐ กว่าคนได้ร่วมกันลงชื่อเพื่อให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตรวจสอบกรณีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ออกระเบียบเพิ่มเงินพิเศษให้ตัวเองโดยมิชอบ

 

ผมจึงขอเรียนให้ท่านทราบถึงกระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

 

การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นั้น ในรัฐธรรมนูญกำหนดว่าการดำเนินคดีอาญากับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีอยู่ ๕ ตำแหน่ง ได้แก่


๑. นายกรัฐมนตรี
๒. รัฐมนตรี
๓. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
๔. สมาชิกวุฒิสภา
๕. ตำแหน่งทางการข้าราชการทางการเมืองประเภทอื่น ทั้งหมด เช่น เลขานุการรัฐมนตรี ที่ปรึกษารัฐมนตรี เป็นต้น

 
บุคคลที่จะถูกดำเนินคดีอาญาโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะต้องมี

ฐานความผิด ได้แก่
๑. ร่ำรวยผิดปกติ
๒. กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ ตามประมวลกฏหมายอาญา
๓. ทุจริตต่อหน้าที่

 

ถ้าเป็นฐานความผิดอื่น บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ยังคงใช้ศาลปกติและกระบวนการดำเนินคดีธรรมดาในการดำเนินคดี เพราะต้องการให้ดำเนินคดีต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้รวดเร็วไม่ต้องฟ้องถึงสามศาลเช่นคดีทั่วไป

 

ผู้ที่จะส่งเรื่องให้กับศาลฎีกาแผนกคดีอาญานั้นได้แก่ ป.ป.ช. เริ่มต้นโดย


๑. ป.ป.ช.ยื่นเรื่องเองโดยไม่มีการร้องขอ
๒. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรยื่นเรื่อง
๓. สมาชิกวุฒิสภายื่นเรื่อง
๔. ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน ๕๐,๐๐๐ คนยื่นเรื่อง
๕. กรณีมีผู้เสียหายเป็นคนเริ่มเรื่อง โดยแจ้งต่อพนักงานสอบสวน เช่น ตำรวจ ว่ามีการทำความผิดฐานความผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

 

การยื่นคำร้องกล่าวหาของ ส.ส. ส.ว. ประชาชน ๕๐,๐๐๐ คน ผู้เสียหาย หรือพนักงานสอบสวนต้องส่งเรื่องมายังประธานวุฒิสภาเพื่อส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ไต่สวน

 

เมื่อไต่สวนเสร็จแล้ว ป.ป.ช.จะต้องทำรายงานเสนอต่อวุฒิสภา โดยระบุชัดเจนว่าข้อกล่าวหาตามคำร้องขอมีมูลหรือไม่

 

ถ้า ป.ป.ช.มีมติว่าข้อกล่าวหามีมูล รับตั้งแต่วันดังกล่าว ผู้ดำรงตำแหน่งที่ถูกกล่าวหาจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้ จนกว่าวุฒิสภาจะมีมติว่าไม่ผิด !

 

โดยประธาน ป.ป.ช.จะทำความเห็นส่งไปยังอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

 

จะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญให้ความสำคัญต่อ ป.ป.ช.ในการไต่สวน ถ้า ป.ป.ช.ลงมติว่าคำกล่าวหาไม่มีมูล ก็ถือว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่ผิด ดังตัวอย่างที่ผ่านมามีการกล่าวหาว่ารัฐมนตรีทุจริตต่อหน้าที่ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ แล้วส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ไต่สวน ปรากฏว่า ป.ป.ช.มีมติว่า คำกล่าวหาไม่มีมูล วุฒิสภาก็ไม่มีวาระของการถอดถอนนักการเมืองตลอดสี่ปีที่ผ่านมา

 

กรณีที่มีการกล่าวหา ป.ป.ช. รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่า ส.ส.หรือ ส.ว. จำนวนมากกว่าหนึ่งในสี่ ของสมาชิกรัฐสภาคือ ๑๗๕ คนเข้าชื่อเพื่อต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า กรรมการ ป.ป.ช.ท่านใดร่ำรวยผิดปกติ ประพฤติมิชอบทางราชการ หรือทุจริตต่อหน้าที่

 

ในกรณีสัปดาห์ที่แล้วมีสมาชิกรัฐสภาเข้าชื่อโดยกล่าวหาว่า ป.ป.ช.ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยเพิ่มเงินพิเศษให้กับตัวเอง ซึ่งสมาชิกรัฐสภาที่เข้าลงชื่อกล่าวหากรรมการ ป.ป.ช.ว่าน่าจะเป็นการประพฤติผิดต่อหน้าที่ จึงยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภาเพื่อส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ เพื่อพิจารณาพิพากษา

 

ขอเรียนท่านว่า สมาชิกรัฐสภาได้ทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ลุแก่อำนาจอย่างที่นักกฎหมายตัวยงที่รับใช้มาหลายรัฐบาลออกมาวิจารณ์

 

เราทำหน้าที่ตรวจสอบการให้อำนาจขององค์กรอิสระ และการที่กรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ว่าให้ผู้ที่ลงชื่อระวังจะโดนฟ้องกลับก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เพราะ ส.ส. หรือ ส.ว.ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา

 

ผมเรียนว่าขณะนี้ องค์กรอิสระอื่น เช่น กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาก็ต่างถอยตั้งหลัก ในการที่จะออกระเบียบเพิ่มเงินพิเศษให้กับตัวเอง เพราะไม่แน่ใจว่าเป็นการถูกต้องหรือไม่

 

หลังจากที่ประธานศาลฎีกาได้รับคำร้องจากประธานวุฒิสภาก็ต้องมีการเรียกประชุมใหญ่ผู้พิพากษาศาลฎีกา ภายใน ๑๔ วัน เพื่อเลือกผู้พิพากษามาทำหน้าที่องค์คณะจำนวน ๙ คน องค์คณะทั้ง ๙ คนจะแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นหนึ่งชุดเพื่อทำหน้าที่สืบค้นข้อมูลหาข้อเท็จจริงตามคำร้องที่มีการกล่าวหา ซึ่งจะต้องทำหน้าที่เสร็จภายใน ๙๐ วัน ถ้าคณะกรรมการสรุปว่ามีมูลก็ให้ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุดเพื่อยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ภายใน ๓๐ วัน

 

ถ้ากรรมการสรุปว่าไม่มีมูล องค์คณะสามารถมีความเห็นตามคณะกรรมการก็ได้ หรืออาจจะมีการสอบเพิ่มเติม ถ้าเห็นว่ามีมูลก็สามารถส่งให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องได้เช่นเดียวกัน ก็ต้องดูว่ากรณีของข้อกล่าวหาต่อ ป.ป.ช.จะออกมาเป็นรูปใด ต้องติดตามดูเพราะไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย ที่สมาชิกรัฐสภากล่าวหา ป.ป.ช.

 

ที่แน่ ๆ ก็คือ ป.ป.ช.ที่ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฏิบัติงานทุกอย่าง จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษายกคำร้องดังกล่าว ! ถ้าคำพิพากษาออกมาว่าผิดจริง เราอาจจะได้เห็นองค์กรอิสระบางองค์กรโดนข้อหาเช่นเดียวกัน เพราะมีการเบิกเงินไปแล้วกลับมาคืนเงินเพราะกลัวผิด !?