Skip to main content

ข้าวกับความหมายที่เปลี่ยนไป

คอลัมน์/ชุมชน

ข้าว เป็นอะไรที่ทุกคนต้องเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง ในการเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยชีวิต ที่หล่อเลี้ยงร่างกายให้เราทำหน้าที่ต่อไปได้ ความเป็นมาของข้าวมีตำนานอันเก่าแก่ คู่เคียงกับบรรพบุรุษมายาวนาน นับแต่มีการจดบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับข้าว


ข้าว แปรเปลี่ยนความหมายไปตามคนที่เกี่ยวข้อง ตามกาลเวลา จากการเป็นสิ่งอันทรงคุณค่าในอดีต ที่เรียกว่า แม่โพสพ ค่อย ๆ ลดความหมายลง กลับกลายเป็นสินค้าที่ทำรายได้ให้กับคนบางกลุ่มจนร่ำรวย และในขณะเดียวกัน ก็สร้างหนี้สินล้นพ้นตัวต้องอพยพย้ายถิ่นอีกมากมาย แต่ไม่ว่าความหมายของข้าวจะเปลี่ยนไปอย่างไร ข้าวยังคงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ทำให้เราดำรงอยู่และทำหน้าที่ต่อไปเหมือนเดิม


ปัจจัยที่เข้ามาทำให้ความหมายข้าวเปลี่ยนแปลงคงหนีไม่พ้น " ความต้องการให้เกิดความเติบโตของเศรษฐกิจ" โดยดึงข้าวเข้ามาปรับเปลี่ยนให้มีความหมายในเชิงเศรษฐกิจและก่อให้เกิดรายได้กับคนที่เกี่ยวข้องมากขึ้น อาศัยทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์เป็นปัจจัยพื้นฐานในการสร้างมูลค่า เมื่อความหมายในเชิงเศรษฐกิจมีมาก ความหมายทางคุณค่าก็ลดลง


แน่นอน คนผลิตข้าว จึงมีความหมายน้อยลงไปจากสังคมไทยด้วยเช่นกัน


ทุกวันนี้คุณค่าของข้าวในเชิงพิธีกรรมแทบหาไม่ได้ โดยเฉพาะในถิ่นภาคเหนือตอนล่าง คุณค่าของความหลากหลายสายพันธุ์ข้าวลดน้อยลง เหลือเพียงไม่กี่สายพันธุ์ คุณค่าของดินที่เคยโอบอุ้มให้เกิดเมล็ดข้าวที่สมบูรณ์ก็แย่ลง ๆ คนที่ปลูกข้าวเริ่มถอยห่างมากขึ้น ๆ จนเกษตรกรตัวน้อยหาได้ยาก คุณค่าของสรรพสิ่งที่อยู่รายรอบผืนนาล้มหายตายจากจากการใช้สารพิษอันมากมาย จนหลายคนต้องออกมาร้องบอกว่า แผ่นนี้อาบยาพิษแล้วนะ และห่วงโซ่สุดท้าย คือคนบริโภคข้าวก็ได้รับผลกระทบด้วยการเจ็บป่วยตามมา


เมื่อเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นก็ได้แต่ถอนหายใจว่า แล้วจะทำอย่างไรต่อไป บอกตนเองว่ามันเป็นปัญหาที่ใหญ่เกินกว่าที่คนส่วนน้อยจะลงมาแก้ไข แต่อีกใจหนึ่งก็บอกว่า ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย แล้วเราจะปลอดภัยได้หรือ ใช่ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย สุดท้ายเรานี่แหละจะได้รับผลกระทบ ไม่เฉพาะข้าวที่เรากิน อาหารทุกอย่าง น้ำทุกหยด อากาศที่เราหายใจ คงจะเต็มไปด้วยสารพิษ


การแก้ไขปัญหาเรื่องข้าวเป็นส่วน ๆ คงจะแก้ไขไม่ได้ คงต้องแก้ให้เป็นระบบ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมโยงเป็นกระบวนการและต่อเนื่องกันอยู่เป็นโดมิโนของสิ่งต่าง ๆ ทางออกที่มองเห็นและส่วนหนึ่งมาจากการพูดคุยกับคนที่เกี่ยวข้องกับข้าว และพบด้วยตนเองจากการทำงานส่งเสริมการลด เลิกการใช้สารเคมีในจังหวัดพิจิตร พบว่า


การแก้ไขปัญหาเรื่องข้าวคงต้อง เริ่มต้นตั้งแต่การผลิตข้าว จนถึงการแปรรูปข้าว ในกระบวนการผลิตข้าว คนผลิตข้าวมีความสำคัญสูงสุด ซึ่งเกษตรกรเหล่านี้แบ่งประเภทใหญ่ ๆ คือ คนส่วนใหญ่ที่ยังคงใช้สารเคมีผลิตข้าวอย่างเข้มข้น ผลิตข้าวเพื่อหวังขายเป็นหลัก และคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นคนส่วนน้อย (น้อยมาก) มีการผลิตข้าวแบบปลอดสารพิษ ข้าวอินทรีย์ ผลิตเพื่อไว้กินและส่วนหนึ่งขาย


ถ้ามองเฉพาะประเด็น การลดเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตร พบว่า กลุ่มคนส่วนน้อยที่เปลี่ยนมักมีลักษณะพิเศษกว่าคนส่วนใหญ่ที่ใช้สารเคมี คือ ห่วงสุขภาพ อยากลดต้นทุน ห่วงใยสิ่งแวดล้อม และอีกส่วนหนึ่งมีแรงจูงใจด้านราคาที่สินค้าไม่ใช้สารเคมี มีราคาขายสูงกว่าสินค้าเกษตรที่ไม่ใช้สารเคมี


กลุ่มคนส่วนใหญ่ที่ยังไม่เปลี่ยน คือ การไม่มีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถทำนาปลอดสารพิษได้ กลัวว่าถ้าทำปลอดสารแมลงจะทำลายข้าวหมด ขาดความรู้ที่ชัดเจนในการทำเกษตรปลอดสารพิษ มองว่าเกษตรปลอดสารพิษยุ่งยาก ไม่มีแรงจูงใจด้านเศรษฐกิจชัดเจน โดยเฉพาะข้าวปลอดสารยังมีราคาเท่ากับข้าวใช้สารเคมีอยู่ อีกส่วนหนึ่งมองว่าไม่คุ้มทุนถ้าเทียบกับผลผลิตที่ลดลง กับต้นทุนค่าไถ ค่าเกี่ยว และค่าน้ำมันยังสูงอยู่ มีกลไกของรัฐ และบรรยากาศการโฆษณาโดยรวมยังส่งเสริมกระตุ้นให้ใช้สารเคมีอยู่


กิจกรรมหรือกระบวนการที่ทำให้คนเปลี่ยนที่ผ่านมาคือ ต้องให้เกษตรกรได้เรียนรู้การทดลองทำนาปลอดสารพิษจริง ๆ คำว่าจริง ๆ คือ ทดลองด้วยตนเองและเรียนรู้การปฏิบัติ อย่างน้อยก็สองถึงสามฤดูกาลผลิต มีชุดความรู้ของตนเองที่จะนำมาแก้ปัญหา แล้วชุดความรู้นี้จะก่อให้เกิดความมั่นใจตามมา


การสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรสนใจ อยากจะเปลี่ยนไปสู่การลดเลิกการใช้สารเคมี เช่น การให้ข้อมูลที่ชัดเจน เช่นเรื่องต้นทุน เรื่องสุขภาพ (อาจจะผ่านการเจาะเลือด) การจูงใจในเรื่องการตลาด


การทำให้ต่อเนื่อง ต้องมีกระบวนการเรียนรู้ของเกษตรกรเข้ามาร่วม จากการทำจริง ปฏิบัติจริงร่วมกัน พร้อมทั้งมีการวัดผลอย่างชัดเจน วิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้น กระบวนการกลุ่มจะเข้ามามีอิทธิพลอย่างมากในการให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ และกำลังใจ


ขั้นการตัดสินใจสุดท้าย คือ การเพิ่มมูลค่าผลผลิต โดยพยายามให้ราคาข้าวปลอดสารสูงขึ้น ชดเชยกับส่วนของผลผลิตที่ต่ำลงมาจากการใช้สารเคมี การยกย่องเกษตรกรที่ทำปลอดสารพิษ หรือการทำให้เกิดวงการแลกเปลี่ยนกับกลุ่มอื่น ๆ ที่สนใจเหมือนกันจะเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรเกิดความมั่นใจมากขึ้น หลายครั้ง กระบวนการส่งเสริมมักจะติดอยู่แค่การสร้างแรงจูงใจเท่านั้น จึงมีผลทำให้พฤติกรรมของเกษตรกรไม่เกิดการลด เลิกการใช้สารเคมี


ที่กล่าวข้างต้นเป็นเพียงประสบการณ์เล็ก ๆ ภายใต้ประสบการณ์ดี ๆ ที่ยังมีอีกมากมายในสังคมในเรื่องข้าว ซึ่งก็ยังมีอีกหลายประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้อง เช่น พันธุ์ข้าว ปัญหาคือ พันธุ์ข้าวพื้นเมืองกำลังจะหายไป เหลือเพียงพันธุ์ใหม่ที่ถูกปรับปรุงพันธุ์มาให้ตอบสนองด้านเศรษฐกิจ คือ การเน้นพันธุ์ข้าวที่มีคุณลักษณะการให้ผลผลิตมาก ๆ คุณค่าด้านอื่นไม่ค่อยจะสนใจเท่าไหร่ แถมพันธุ์เหล่านี้ยังไปผูกกับการที่เกษตรกรที่ต้องใช้สารเคมีเพิ่มขึ้น เป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมให้เกษตรกรลด เลิกการใช้สารเคมี เช่นพันธุ์ข้าวพิษณุโลก 2 เกษตรกรให้ข้อมูลว่าจะไม่ตอบสนองกับการใช้ปุ๋ยหมักและสารหมักชีวภาพ คงเป็นการบ้านให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือเกษตรกรที่อยากทำเกษตรปลอดสารพิษ ให้ความสำคัญเรื่องพันธุ์ข้าวไปด้วย ความรู้แค่การทำปุ๋ยหมักชีวภาพอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ


ปัญหาเรื่องเกี่ยวกับข้าวยังมีอีกมากมาย ปัญหาเหล่านี้รอให้คนที่กินข้าวมาช่วยมอง และช่วยทำอะไรสักอย่างที่แต่ละคนสามารถทำได้ในจุดที่ตนเองอยู่ โดยเฉพาะปัญหาสารเคมีในข้าว ที่นับวันจะกลายเป็นข้าวอาบยาพิษเข้าไปทุกที ปัจจุบันมีคนหลายคนเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหา แต่ดูเหมือนว่าพลังเหล่านี้ยังไม่ค่อยจะเพียงพอเมื่อเทียบกับสถานการณ์ปัญหาที่เป็นอยู่


อย่างไรก็ตาม ก่อนจะดำเนินการแก้ปัญหาใด ๆ ควรเปลี่ยนวิธีคิดจากการมองข้าวเป็นเพียงเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวเป็นคุณค่าในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านอาหารที่ทำให้เรามีชีวิตอยู่ มิฉะนั้น การแก้ปัญหาอาจจะช่วยเพิ่มปัญหาขึ้นมาอีกก็เป็นได้


...............


เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒ มิ.ย. ๒๕๔๘