Skip to main content

เมื่อเศรษฐกิจพอเพียงถูกแปลงโฉมให้เป็นทุนนิยม

คอลัมน์/ชุมชน

เมื่อ 3 เดือนก่อน ผู้เขียนมีโอกาสได้ประชุมกับกลุ่ม เครือข่ายเกษตรปลอดภัยจากสารพิษของจังหวัดแห่งหนึ่ง เพื่อวางเป้าหมายการทำงานในอีก 1 – 2 ปีข้างหน้าร่วมกันว่า เราจะ " ขยับ" อะไรบ้าง ในการประชุมนี้เราให้ทางเอ็นจีโอในพื้นที่เป็นผู้คัดเลือกผู้เข้าร่วมประชุมในระดับที่เป็น " ผู้นำการเปลี่ยนแปลง" ของแต่ละอำเภอ 10 กว่าอำเภอในจังหวัดนั้น


ในที่ประชุมวันนั้นยังหาข้อสรุปร่วมกันได้ยาก เพราะชาวบ้านเกือบทั้งหมดต้องการทำข้าวปลอดสารพิษที่ขายได้ราคาดีกว่าข้าวมีสารพิษ ลุงคนหนึ่งบอกว่า " ผมเจ็บใจจริง ๆ ที่โรงสีมันเทข้าวปลอดสารฯ ของผมไปกองรวมกันกับข้าวมีสารฯ ทำอย่างไรล่ะ อาจารย์หาตลาดให้ผมได้มั้ย เอาให้ราคาดีกว่า"


และในวันนั้นมีเพียงคนเดียวที่ต้องการพัฒนาเกษตรปลอดสารฯ ของตัวเองไปสู่เกษตรผสมผสานซึ่งมีแนวคิดที่ใกล้เคียงกับปรัชญา " เศรษฐกิจพอเพียง" นั่นคือการเคารพต่อความหลากหลายของธรรมชาติ มองแบบองค์รวม รู้จักพึ่งตัวเอง และที่สำคัญคือ " รู้จักอิ่ม รู้จักพอ" ได้


เมื่อศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดพิษณุโลก ลงพื้นที่สำรวจทั้งจังหวัด (จังหวัดอื่นไม่ใช่จังหวัดพิษณุโลก) พบว่ามีเกษตรกรที่เกษตรปลอดสารฯ ถึง 1,262 คน ในจำนวนนี้มีเพียง 9 คนเท่านั้นที่เลิกใช้สารเคมีอย่างสิ้นเชิง จากการสัมภาษณ์เกษตรกรพบว่า ร้อยละ 99 มีเป้าหมายการทำเกษตรปลอดสารฯ ที่สำคัญคือ การลดต้นทุนการผลิต และเน้นการขาย ดังนั้น การผลิตของเขาจึงยังห่างไกลจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เน้นการพออยู่พอกิน ผลิตเพื่อกินเหลือแล้วจึงขายอยู่มาก มีเพียง 2 - 3 คนเท่านั้นที่คิดห่วงใยถึงสิ่งแวดล้อม (อันเป็นแนวคิดที่สะท้อนให้เห็นถึง " วิธีคิด" ว่าเขายังมองเห็นเรื่องความหลากหลายและองค์รวม)


หันกลับไปดู วิสาหกิจชุมชนที่เกี่ยวกับเรื่องข้าวกันบ้าง ผู้เขียนได้มีโอกาสล้อมวงคุยกับชาวบ้านที่ทำโรงสีชุมชนหลายแห่ง ก็พบว่าโรงสีชุมชนใช้ชื่อเกษตรกรประมาณ 25 - 30 คนร่วมหุ้นกันไปกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) แต่ถูกดำเนินการโดยผู้นำชุมชนเพียง 1 – 2 คน ไม่มีพลังของชาวบ้านร่วม ตั้งแต่เริ่มต้นจนเดี๋ยวนี้ ยอดขายข้าวของโรงสีร้อยละ 80 – 90 ถูกนำไปขายส่งให้ ธกส. เป็นหลัก ซึ่งนับว่าค่อนข้างเสี่ยงและไม่มั่นคงเพราะมีตลาดเดียว อีกทั้งในแง่การบริหารจัดการที่ดำเนินการโดยคนเพียง 1 – 2 คน มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดความไม่โปร่งใส และที่สำคัญกว่านั้น ผู้นำชุมชนกำลัง " แปลงร่าง" เป็นพ่อค้าคนกลาง


และเแล้ว...ก็เข้า " อีหรอบเดิม" อีกคือชาวนาต้องขายข้าวผ่านพ่อค้าคนกลาง (ต่างกับแต่ก่อนตรงที่พ่อค้าสมัยก่อนมีเลือดจีน สมัยนี้เป็นเลือดชาวบ้าน) และโดยโครงสร้างตลาดในแนวดิ่งที่แบ่งชั้นกันด้วยทุนและผลประโยชน์ ก็เอื้อให้พ่อค้าไม่ว่าเลือดจีนหรือเลือดชาวบ้าน " หน้าเลือด" ได้ทั้งนั้น


การทำข้าวปลอดสารฯ เพื่อลดต้นทุนและพยายามขายให้ราคาดีกว่าเป็นเรื่องไม่ผิด และเป็นเรื่องดีภายใต้กรอบแนวคิดของเศรษฐกิจทุนนิยม นั่นคือผู้ผลิตได้ค้นหา " ความแตกต่างของผลิตภัณฑ์" อันเป็นความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) แต่ขณะนี้โรงสีเอกชนเขาก็ใช้กลยุทธ์นี้เหมือนกัน ชาวบ้านเองก็รู้ว่าโรงสีเอกชนก็กำลังกว้านซื้อข้าวปลอดสารฯ จากเครือข่ายข้าวปลอดสารฯ ของชาวบ้านไปทำตลาดเหมือนกัน ราคารับซื้อก็ถูกกำหนดมาจากโรงสีเอกชน แม้ตอนนี้จะให้ราคาดีกว่าข้าวมีสารฯ ก็ตาม


เมื่อเห็นแบบนี้แล้วเครือข่ายเกษตรปลอดสารฯ จะรวมตัวและมีอำนาจต่อรองกับเรื่องนี้อย่างไร เพราะในสภาพการณ์ปัจจุบันคือต่างคนต่างอยู่ (หรือไม่ก็รวมตัวเป็นโครงสร้างหลวม ๆ ประชุมเมื่อมีงบฯ และโอกาส) ถ้าเราไม่ทำอะไรเลยก็จะวิ่งเข้า " อีหรอบเดิม" อีก คือถ้าผลผลิตข้าวปลอดสารฯมีมาก โรงสีเอกชนก็จะมีสิทธิเลือกและกดราคารับซื้อได้


แม้จะผลิตข้าวปลอดสารฯ ทุกอย่างก็จะเข้า " อีหรอบเดิม" ถ้าพวกเราเครือข่ายเกษตรปลอดสารฯ ยังคิดและทำแบบนี้อยู่ เพราะยังคิดภายใต้กรอบของเศรษฐกิจทุนนิยม ที่มีอุดมการณ์ในเรื่องการทำกำไรสูงสุด กำไรไม่หยุดยั้ง การแข่งขัน และปัจเจกชนนิยม


ถ้าชาวบ้านเล่นในเกมของทุนนิยมชาวบ้านก็จะแพ้ เพราะเล่นในฐานะ " เบี้ยล่าง" แต่ถ้าเล่นในเกมของเศรษฐกิจพอเพียง (และเศรษฐกิจชุมชน) ชาวบ้านก็จะชนะเพราะชาวบ้านไม่ได้เป็นเบี้ยให้ใคร


ทำไมชอบเป็นเบี้ยล่างให้เขาอยู่เรื่อยนะ...


เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรปลอดสารฯ ปากก็บอกว่ารับเอาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาปฏิบัติ ไม่รู้รับอะไรมา รับมาแค่ไหน


เศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่เทคนิคการจัดการไร่นา เทคนิคการจัดการธุรกิจชุมชน หรือเทคนิคการจัดการทรัพยากร แต่เป็นการเล่นกับ " วิธีคิด" " อุดมการณ์" และ " โลกทัศน์" ซึ่งมีวิธีคิดในเรื่องการเคารพต่อความหลากหลายของธรรมชาติ (คน สัตว์ เทวดา ฯลฯ) ความเป็นองค์รวม การพึ่งตัวเอง และรู้จักพอ ในระดับวิธีคิดนี้ ผู้เขียนขอเรียกว่าเป็น " ซอฟแวร์" หรือ " ชิป" ในหัวคน ในขณะที่เทคนิคการจัดการไร่นาและจัดการธุรกิจชุมชนเป็นเพียง " ฮาร์ทแวร์" ถ้าชิปไม่เปลี่ยน ไม่ว่าฮาร์ทแวร์จะดีอย่างไรก็ตาม วันหนึ่งเราก็ต้อง " เพลี่ยงพล้ำ" ต่อทุนเอกชนซึ่งมีการสะสมทุนและประสบการณ์พร้อมด้วยเครือข่ายขนาดใหญ่กว่าเราชาวบ้านหลายเท่าตัว


เรื่องคล้าย ๆ แบบนี้ก็ได้มีการศึกษาโดยสถาบันจัดการแบบองค์รวม (2546) เรื่อง " 5 ปีที่หายไปของเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งศึกษาจากการดูเนื้อข่าวภาพรวมทั้งประเทศ พบว่า ช่วงต้น ของเศรษฐกิจพอเพียง (2541– 2543) ในแง่ความหมาย ยังเน้นเรื่องจริยธรรม คุณธรรม จิตวิญญาณ ความหลากหลาย พึ่งตัวเอง การค้าภายใน แต่ ช่วงปลาย เป็นเรื่องการเชื่อมโยงเทคโนโลยี เชื่อมโยงนโยบายกองทุนหมู่บ้านและโอท็อป


ในแง่ของเทคโนโลยีและการวิจัย ช่วงต้นเป็นเรื่องเกษตรกรรมธรรมชาติ ช่วงปลายเป็นเรื่องการค้าขาย การเผยแพร่ทางอินเตอร์เน็ต การวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งหมดนี้คือ " ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบอ่อนเป็นมะลิลา"


สถาบันการจัดการแบบองค์รวมก็สรุปผลการศึกษานี้ว่า ภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจเพียงแค่ 3 ปี สังคมเรากำลังหวนกลับเข้าไปสู่การเดินในเส้นทางทุนนิยม ที่เคยนำเราไปสู่หายนะมาแล้ว สะท้อนให้เห็นว่าวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 นั้น สังคมไทยแทบไม่ได้มีวิธีคิดใหม่ต่อการปรับเปลี่ยนเส้นทางชีวิตหรือวิถีการดำเนินชีวิตเลย...


ในอีก 15 นาทีข้างหน้านี้ ผู้เขียนก็จะลงพื้นที่ไปพบชาวบ้านผู้ทำเกษตรปลอดสารฯ กลุ่มเล็ก ๆ เพื่อวางเป้าหมายเรื่องการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนอีกครั้ง ไม่รู้ว่าชาวบ้านจะว่ายังไง เฮ้อ ! ...


คิดแล้วกลุ้ม... ถ้า " ชิปเก่า" ไม่ถูกถอดทิ้งแล้วทำให้ " ชิปหาย" เศรษฐกิจชนบทของเราก็คงจะ " ฉิบหาย" แน่แล้วในครานี้


...........


เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๙ มิ.ย. ๒๕๔๘