Skip to main content

เจ้าหน้าที่ชี้ศพ ๘

คอลัมน์/ชุมชน

ผู้คนที่อยู่ในเหตุการณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ ณ สุสานบางมรวน ต.บางม่วง อ.ตะกั่วป่าในช่วงปลายเดือนธันวาคมปี ๒๕๔๗ ที่ผ่านมา แต่งตั้งตำแหน่งใหม่สำหรับ " พี่เทพ " หรือ นายอติเทพ จินดา นักวิชาการสาธารณสุข ๕ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ว่า " เจ้าหน้าที่ชี้ศพ ๘" อย่างเต็มอกเต็มใจ


ทั้งนี้ ทุกคนที่มาติดตามหาศพญาติพี่น้องที่สุสานบางมรวนต้องรู้จักพี่เทพ มิใช่สะดุดความคมเข้มของหน้าตา แต่เพราะทุกศพต้องผ่านมือพี่เทพในการติดป้ายรหัสให้ตรงกับดีเอ็นเอและเป็นผู้ชี้ตำแหน่งฝังศพ ช่วงนั้นกติกาในการทำงานของพี่เทพจึงมีเพียง ๒ ข้อคือ " ผมต้องไม่ป่วย ไม่ตาย เดี๋ยวผู้อื่นจะเดือดร้อนเพราะตามหาศพญาติไม่เจอ ทุกวันนี้สิ่งที่ตกตะกอนอยู่ในใจของผมตลอดคือ ผมคิดว่าปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะขาดระบบการบริหารจัดการที่ดี"


" ในวันแรก ๆ ของการทำงานช่วยเหลือ ไม่มีใครรู้ว่าตัวเองจะต้องทำอะไร คนตายเป็นพัน ผมกลัวว่าจะเกิดโรคระบาด และงานที่ผมรับผิดชอบคืองานควบคุมโรคและอนามัยสิ่งแวดล้อม แต่ผมกลับไม่ได้ดำเนินการในงานควบคุมโรค แต่สิ่งที่ผมต้องทำคือพิสูจน์ศพและเก็บหลักฐาน ผมไม่รู้ว่าทำไมผมต้องทำงานนี้ ผมรับรู้อย่างเดียวว่า หากผมไม่ทำใครจะทำ???"


การทำงานด้วยใจ (ล้วน ๆ) ใครคิดอะไรได้ " ทำ" ความร่วมมือจากเพื่อนอาสาสมัครทำให้เกิดแรงใจเกินร้อย แต่การขาดประสบการณ์ในการจัดการเก็บศพจำนวนมาก ซึ่งไม่มีใครบอกได้ว่าในวันหนึ่ง ๆ จะมีศพเข้ามาที่สุสานเมื่อไหร่ กี่ศพ ระบบสื่อสารทุกอย่าง " เจ๊ง" ติดต่อกันลำบากมาก จึงทำให้บางขณะพี่เทพรู้สึกเหนื่อยและท้อใจค่อนข้างมาก...


" เราทุกคนทำงานแต่เช้าและกลับบ้านดึกดื่นเที่ยงคืนทุกวัน เมื่อศพมาถึง เราเก็บดีเอ็นเอของแต่ละศพแล้วทำป้ายชื่อรหัสเพื่อให้รู้ตำแหน่งก่อนที่จะฝังไว้เพื่อรอญาติมารับ แต่การขุดหลุมฝังศพต้องทำในตอนกลางคืน ไม่รู้ว่าเพราะมันมืดคนขับรถขุดมองไม่เห็น หรือว่าแกอาจจะกลัว ๆ (ผี) เลยรีบ ๆ ขุดกลบ ๆ ทำให้ป้ายกำหนดจุดวางศพคลาดเคลื่อน การค้นหาศพจึงยากขึ้นไปอีก"


" บางครั้งผมหลับตาแล้วบอกกับตัวเองว่า ทุกอย่างที่เกิดขึ้นที่นี่ มันเป็นเพียงความฝันไม่ใช่ความจริง สึนามิไม่มีจริงที่พังงา แต่เมื่อผมลืมตาขึ้นทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันยังอยู่ มันเป็นจริง ที่นี่มีคนตายเป็นพันคนและมีผู้ประสบภัยอีกหลายหมื่นชีวิต"


เหตุการณ์สึนามิได้ผ่านมาครึ่งค่อนปีแล้ว สังเกตว่า หลายฝ่ายทั้งภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชนและประชาชนทั่วไปต่างได้ให้ความช่วยเหลือกับผู้ประสบภัยและครอบครัวแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่พักอาศัยทั้งชั่วคราวและถาวร เรื่องสวัสดิการ อาหาร เครื่องนุ่งห่มและยารักษาโรค อีกทั้งการฟื้นฟูจิตใจให้ทุกคนลุกขึ้นมาสู้ชีวิตใหม่ และหลายชีวิตได้บทเรียนจากเหตุการณ์ในครั้งนี้


" บทสรุปสำหรับผมที่ได้จากการทำงานอยู่กับศพคือ ทำให้ผมเข้าใจว่า สังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง ชีวิตนี้มันไม่มีอะไรที่แน่นอน ใครที่คิดอยากทำอะไรที่ดีต่อตนเอง ต่อคนรอบข้าง ลงมือทำเลยครับเพราะเราไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับชีวิต เราอาจตายวันนี้ พรุ่งนี้ ทุกสิ่งเกิดขึ้นได้ไม่มีใครรู้"


" ชาวบ้านที่ประสบภัยได้รับความช่วยเหลือค่อนข้างเยอะ แต่ผมคิดว่า ถ้าหากว่าเขาตั้งคำถามกับชีวิตตัวเอง วางแผนการในอนาคตและลงมือทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้อย่างเข้มแข็ง โดยไม่ต้องรอรับความช่วยเหลือจากผู้อื่น นั่นแหละครับคือการฟื้นฟูชีวิตผู้ประสบภัยสึนามิที่ยั่งยืน"