Skip to main content

เศรษฐกิจพอเพียง หรือจะเป็นมะลิลาในยุคที่อะไร ๆ ก็ต้องยุทธศาสตร์

คอลัมน์/ชุมชน

อะไรเอ่ย ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบอ่อนเป็นมะลิลา ถ้าให้ท่านทั้งหลายเดา คงได้รับคำตอบกลับมาจำนวนมาก เพื่อไม่เป็นการเสียเวลา เพราะหน้ากระดาษมีจำกัด เฉลยคือ เศรษฐกิจพอเพียง


ที่ผู้เขียนบอกว่า ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อนนั้น ผู้เขียนหมายความว่า เศรษฐกิจพอเพียงได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นปรัชญาที่เหมาะสมกับการนำพาประเทศชาติให้พ้นจากวิกฤติเศรษฐกิจได้ เป็นปรัชญาที่แก้ไขปัญหาความยากจนได้จริง


ถึงแม้ในยุคน้ำมันแพง ปรัชญานี้ก็จะยิ่งมีคุณค่าใหญ่ เพราะคุณสมบัติที่สำคัญของเศรษฐกิจพอเพียง คือ เป็นระบบเศรษฐกิจที่สร้างเกราะป้องกันตนเองได้ มีคุณสมบัติยืดหยุ่น สามารถปรับตัวได้ เมื่อเกิดวิกฤติการณ์จากภายนอก เป็นปรัชญาที่อิงอยู่บนฐานความเชื่อที่ว่า การพึ่งตนเองจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการแก้ปัญหา ทั้งปัญหาในระดับครัวเรือน ปัญหาในระดับภาคเศรษฐกิจ เช่น ภาคเกษตร อุตสาหกรรม ไปจนถึงการค้าระหว่างประเทศ แม้แต่ภาคการเงินก็ตาม


ผู้เขียนเคยเข้าร่วมประชุมกับนักเศรษฐศาสตร์จำนวนไม่ต่ำกว่า 500 คนทั่วประเทศเมื่อประมาณปี 2542 เพื่อระดมหาทางนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้กับทุกภาคเศรษฐกิจไม่เพียงแต่ใช้กับภาคเกษตรเท่านั้น และเมื่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของคนไทยทั้งมวลในการจัดทำแผนฯ 9 ซึ่งผู้เขียนได้เข้ามีส่วนร่วมในการทำแผนฯ นี้ด้วยในระดับอนุภูมิภาคเหนือล่าง คนไทยทั้งมวลรวมทั้งผู้เขียนด้วย เห็นพ้องต้องกันว่า ต้องนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนี้มาเป็นปรัชญาของแผนฯ อย่างนี้แล้ว จะไม่ให้ผู้เขียนบอกว่า ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน ได้อย่างไร ก็การตั้งต้นดูจะยิ่งใหญ่และจริงจังออกขนาดนั้น


การบริหารงานของรัฐบาลของท่านนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ผ่านไป 1 สมัย นโยบายต่าง ๆ สมัยแรกของท่านดูจะโดนใจชาวบ้านมาก เพราะเป็นปัญหาระดับชาวบ้านจริง ๆ ตั้งแต่กองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาท โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ โครงการพักชำระหนี้เกษตรกรและโครงการฟื้นฟูเกษตรกร ซึ่งเป็นโครงการสร้างรายได้


แต่เมื่อจะครบเทอม รัฐบาลชูประเด็น จะทำให้ประเทศไทยปราศจากคนจน มาเป็นวาระสำคัญของการจะเป็นรัฐบาลสมัยที่ 2 ซึ่งถ้าไม่คิดอะไรมาก นโยบายนี้ก็โดนใจชาวบ้านอีก แต่ถ้าคิดสักนิด มันสะท้อนว่า การทำงานสมัยแรกไม่บรรลุเป้าหมายหรือเปล่า เกิดอะไรขึ้นกับตัวเลขสินค้า OTOP ที่ว่าส่งออกเป็นหมื่นล้านต่อปี ชาวบ้านน่าจะหายจนไปตั้งแต่สมัยแรกของรัฐบาลแล้วนะ เงินทองมันไปตกหล่นอยู่ที่ไหน ถึงทำให้รัฐบาลต้องออกมาตั้งวาระแห่งชาติเรื่องความยากจนในสมัยที่ 2 โดยประเดิมด้วยโครงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน และโครงการบูรณาการกองทุนของหมู่บ้าน


ซึ่งวิธีคิดก็เดิม ๆ คือ ชาวบ้านขาดเงินทุน จึงสร้างโครงการที่จะทำให้ชาวบ้านมีเงินทุนเพิ่มขึ้น มองข้ามบทเรียนจากกองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาท และโครงการพักชำระหนี้เกษตรกรที่หน่วยงานที่รับผิดชอบตรงออกมายอมรับว่า " ล้มเหลว" และคนในพื้นที่ทั่วไปรู้กันว่า ไม่ประสบความสำเร็จในเรื่องการแก้ปัญหาความยากจน


4 ปีของการทำงานของรัฐบาล นอกจากไม่เห็นวิธีคิดของเศรษฐกิจพอเพียงในนโยบายแล้ว ผู้เขียนยังคิดว่า เป็น 4 ปีที่ทำลายความเชื่อเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย


ระบบเศรษฐกิจพอเพียงเริ่มปรากฏให้เห็นอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลปรับโครงสร้างการบริหารราชการจังหวัดแบบบูรณาการ หรือผู้ว่า CEO ที่เศรษฐกิจพอเพียงเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของจังหวัดเกือบทั้งหมด ซึ่งมันสะท้อนว่าพื้นที่ต่าง ๆ ยังมองเห็นว่า เศรษฐกิจพอเพียงสามารถเป็นทางออกของปัญหาความยากจนได้ ถึงแม้จะมุ่งไปเฉพาะภาคเกษตรก็ตาม


โครงการที่เป็นรูปธรรมภายใต้ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจพอเพียงที่ดูเหมือนจะคล้าย ๆ กันในหลายจังหวัด คือโครงการลดต้นทุนด้านการเกษตร จากการลดการใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีการเกษตร ที่มีราคาแพง มาสู่การใช้ปุ๋ยชีวภาพ และสารอินทรีย์ต่าง ๆ มากขึ้น หรือโครงการส่งเสริมเรื่องเกษตรผสมผสาน เป็นต้น


ถ้าจังหวัดต่าง ๆ ดำเนินโครงการตามยุทธศาสตร์นี้ประสบผลสำเร็จ เศรษฐกิจพอเพียงคงไม่เป็น " มะลิลา" อีกรอบ แต่ผู้เขียนเห็นร่องรอยที่จะเป็นเช่นที่หวั่นใจ เพราะผู้เข้าร่วมโครงการอบรมเรื่องการทำปุ๋ยชีวภาพภายใต้โครงการเศรษฐกิจพอเพียงนี้ คือ เข้าร่วมเพราะต้องการได้ปุ๋ยชีวภาพที่ตนเองผสมตอนอบรมเท่านั้น การจะนำไปทำใช้เองต่อไปหรือไม่นั้น ยังเป็นเครื่องหมายคำถามใหญ่ ๆ


ถ้าจังหวัดจริงจังและจริงใจที่จะทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจพอเพียงขึ้นจริง ยั่งยืน และติดอยู่ในความคิดของเกษตรกรจริง จังหวัดควรเริ่มต้นที่กลุ่มเกษตรกรที่มีพฤติกรรมการใช้สารชีวภาพอยู่แล้ว ท่านผู้อ่านอาจเกิดคำถามว่า ก็เขาใช้อยู่แล้ว จะไปส่งเสริมเขาอีกทำไม ที่ผู้เขียนบอกว่า ให้เริ่มที่กลุ่มที่ใช้ปุ๋ยชีวภาพนั้น ผู้เขียนต้องการให้พวกเราข้าราชการเข้าใจก่อนว่า " ทำไม" พวกเขาถึงเปลี่ยนจากการใช้ปุ๋ยเคมีมาเป็นการใช้ปุ๋ยชีวภาพ และพวกเขามีกระบวนการอย่างไรที่ยังคงทำให้กลุ่มใช้ปุ๋ยชีวภาพ


การเรียนรู้กระบวนการนำไปสู่เศรษฐกิจพอเพียงจาก " เกษตรกรตัวจริง" น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีกว่า การหา " เกษตรกรทั่วไป" มาอบรมการทำปุ๋ยชีวภาพ เพราะที่ผ่านมาจะพบว่า เมื่อโครงการอบรมจบ ก็จบกันไป จะมารวมกันเฉพาะกิจอีกครั้งเมื่อมีงบประมาณอบรมมาใหม่ ผู้เขียนหวั่นใจว่าจะเข้าทำนองเดิม เพราะเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงนี้ ผู้เขียนว่าเป็นเรื่องของ " ความคิดได้ของตัวเกษตรกรเอง" คือต้องคิดให้ได้ว่า ที่ใช้สารเคมีที่ผ่าน ๆ มานั้น " ไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้องของความยากจน" แต่จะยิ่งทำให้จนมากขึ้น เหมือนเชื่อว่า " ถ้าทำบาป แล้วต้องชดใช้กรรม" ซึ่งเรื่องการใช้ปุ๋ยชีวภาพนี้ " เกษตรกรตัวจริง" จะถ่ายทอดวิธีคิดได้ดีกว่า เพราะผ่านประสบการณ์ " ยากจน" มาแล้ว


ผู้เขียนมีความเชื่อที่แรงกล้าว่า เศรษฐกิจพอเพียงคือเครื่องมือในการแก้จนของเกษตรกรได้จริง ท่านผู้ว่า CEO ทั้งหลายคือความหวังของผู้เขียน อย่าให้ความหวังของผู้เขียนเป็นมะลิลาอีกเลยนะ


............


เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ ๑๖ มิ.ย. ๒๕๔๘