Skip to main content

เกษตรตามกระแส ทำอย่างนี้สิ แล้วจะรวย ?

คอลัมน์/ชุมชน

เมื่อต้นเดือน ได้พูดคุยกับเกษตรกรในเรื่อง " ความรวยและการทำเกษตรตามกระแส" ซึ่งการทำเกษตรตามกระแสในที่นี้คือการทำเกษตรที่เน้นการทำพืชเชิงเดี่ยว ทำจำนวนมาก ๆ หวังจะรวยในช่วงระยะเวลาสั้น ไม่ต้องสะสมความรู้ ประสบการณ์ หรือทรัพยากรแต่อย่างใด แล้วการเกษตรในลักษณะนี้ต้องพึ่งพิงคนอื่นทั้งสิ้น โดยผลที่เกิดขึ้น พบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้รวยเช่นที่หวัง โดยเฉพาะเกษตรกรที่ตัดสินใจทำการเกษตร จากการที่มีคนบอกว่าทำพืชตัวนี้สิ ฉันได้เป็นแสน เมื่อเกษตรกรหลายรายทำตามกลับต้องเป็นหนี้สิน ขาดทุน หมดเนื้อหมดตัว พึ่งตนเองไม่ได้ ดังเช่นคำพูดเกษตรกรในพิจิตรรายหนึ่งที่ว่า

" ตอนนี้ทำนาแทบไม่ได้กำไรเลย ปุ๋ยยา น้ำมันแพงหมด ทำนาทีไรหอยกินข้าวหมด เดี๋ยวนี้ข้าวไม่เก็บไว้กินหรอก ยุ่งยากในการตาก ทำนาตั้งหลายไร่ ใครจะตากไหว แล้วนาปีก็ไม่ทำหรอก ทำอยู่เจ้าเดียวรถก็ไม่มาเกี่ยวให้ ปีที่แล้วลองทำ กว่าจะหารถเกี่ยวได้แทบตาย แล้วการเกี่ยวมือ อย่าไปคิดเลย คนเกี่ยวหาแทบไม่ได้แล้ว "


ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนว่า ชาวนาทุกวันนี้ การทำเกษตรต้องพึ่งคนอื่นทั้งสิ้น แล้วอนาคตชาวนาจะเป็นอย่างไรหนอ สิ่งเหล่านี้จะส่งผลอย่างไรกับคนอื่น ๆ ในสังคม " คนกินข้าว" ในอนาคต คำถามเหล่านี้ คนกินข้าวน่าจะลองช่วยค้นหาคำตอบกันบ้าง


ย้อนกลับมาสู่เรื่องของความรวยอีกครั้ง คราวนี้ลองมาดูชาวสวนบ้าง ตอนนี้สวนส้มแถวบางมด ก็อพยพย้ายถิ่นเข้ามาจับจองพื้นที่บริเวณจังหวัดพิจิตร กำแพงเพชร ตั้งแต่เมื่อปี 2546 แล้วต่อมาปี 2547 คนในพื้นที่เองก็เริ่มเปลี่ยนจากการทำนามาเป็นสวนส้มครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล จากกระแสการพูดคุยที่ว่า " ได้กำไรเป็นล้าน" ได้ยินอย่างนี้ชาวนาก็ตาลุก มีความหวังจะรวยขึ้นมาทันที จึงรีบปรับเปลี่ยนกันขนานใหญ่


ณ ตอนนี้พื้นที่ปลูกส้มจึงยาวเหยียด นับตั้งแต่กำแพงเพชร นครสวรรค์ มาจนถึงพิจิตร การลงทุนแต่ละคนนั้นนับเป็นเงินไม่ต่ำกว่าแสนขึ้นไป บางคนลงทุนไปเป็นจำนวนเงินกว่าล้านบาท ซื้อกิ่งพันธุ์มาจากคนปลูกรุ่นบุกเบิก ซึ่งกินกำไรจากกิ่งพันธุ์ ก่อนที่ส้มจะขายได้


สถานการณ์ " ความรวย" ของคนปลูกส้มที่คาดหวังไว้ในอนาคต ตอนนี้เริ่มริบหรี่เต็มที เพราะการดูแลยาก ต้องพึ่งพาสารเคมีตลอด สถานะจากคนอยากรวยจึงยังตกเป็นลูกหนี้ของร้านปุ๋ยและยา บางคนเมื่อได้ผลผลิต แล้วก็น่าจะขายได้ดีตามที่ตั้งใจไว้แต่แรก กลับพบปัญหาเรื่องรสชาติของส้มสู้คนทำมืออาชีพไม่ได้ ราคาส้มเองก็ตกต่ำลงทุกที จากการที่ปลูกกันเยอะ เมื่อออกมาพร้อม ๆ กันราคาก็เลยตก


เมื่อปี 2546 เกษตรกรในพื้นที่บึงนาราง เพิ่งขาดทุนจากการปลูกแคนตาลูป ที่คนปลูกก่อนหน้า คุยกันว่ารวยหนักรวยหนา ได้เป็นแสน ผู้ปลูกภายหลังจึงแห่ปลูกตามกันเป็นแถว แล้วก็ม้วนเสื่อกลับบ้านอย่างไม่เป็นท่า


ส่วนชาวนาปี 2548 เกษตรกรส่วนใหญ่เห็นข้าวนาปรังมีราคาดีมาก จึงทิ้งการปลูกข้าวนาปี ซึ่งเป็นข้าวที่สามารถเก็บไว้กินในครอบครัวได้ และใช้เงินลงทุนไม่มากนัก เปลี่ยนมาเป็นนาปรัง อนาคตไม่รู้ว่าราคาข้าวนาปรังจะยังคงดีตามที่เกษตรกรตั้งใจไว้หรือเปล่า


เมื่อช่วงแล้งที่ผ่านมา มะนาวราคาดี บางลูกราคาลูกละเกือบ 3 บาท ตอนนี้คนก็แห่มาปลูกมะนาวกันเป็นแถว สะท้อนได้จากจำนวนกิ่งพันธุ์ที่ขายดีมาก


กรณีเช่นเดียวกับที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ยังมีตัวอย่างอีกมากมาย ซึ่งผลสุดท้ายก็แทบไม่แตกต่างกัน เจ้า " ความรวย" ที่เกษตรมุ่งหานั้น นอกจากจะไม่เกิดผลแล้วยังสร้างความชอกช้ำให้เกษตรกรไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง บางคนเจ็บตัวแค่ขาดทุน แต่บางคน แม้ที่ดินก็ไม่เหลือให้ทำกินได้ต่อไป


ปรากฏการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนตั้งคำถาม ว่าแล้ว รากฐานของปัญหาคืออะไร เท่าที่คิดได้ สอบถามเกษตรกร และค้นหาจากตำรา คำตอบจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ใกล้เคียงกันคือ การมุ่งสู่ลัทธิบริโภคนิยม รวมถึงการอยาก " รวย" ที่มาจากการให้การยอมรับคนที่มีเงินมากหรือสร้างภาพว่ารวยในสายตาคนอื่นของสังคมโดยทั่วไป ซึ่งคนเหล่านี้ถูกมองว่า " รวยแล้วคงมีความสุข" การทำมาหากินทุกอย่างจึงมองเงินเป็นตัวตั้ง ปล่อยให้ความโลภเป็นแรงผลักดัน จนบดบังการคิดวิเคราะห์ การตั้งคำถาม การคิดให้รอบด้าน รวมถึงการขาดโอกาสในการค้นหาหรือได้ข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ก่อนจะลงมือทำ


คำถามที่เกิดขึ้นในใจคือ แล้วจะทำอย่างไรกับปัญหาที่เกิดขึ้น คนเล็ก ๆ อย่างผู้เขียนยังไม่สามารถให้คำตอบได้ เพราะยังอยู่ในช่วงการค้นหาเช่นกัน แต่ พ่อผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิมที่คนในวงการ " เกษตรยั่งยืน" รู้จักและยกย่อง ได้บอกไว้ว่า " เมื่อประสบกับสภาวะปัญหาที่ยังหาทางออกไม่ได้ ถ้ายิ่งดิ้นรนปัญหาก็อาจจะบีบรัด รุนแรงมากขึ้นไปอีก สิ่งที่ควรทำคือการหยุดดิ้นรน และกลับมาตั้งสติ คิดทบทวน ทำความเข้าใจกับชีวิตใหม่ มองจากอดีตที่ผ่านมา กับสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันอย่างเข้าใจ ว่าทำไมวิถีชีวิตที่เคยพึ่งตนเองได้ในอดีต ปัจจุบันกลับพึ่งตนเองไม่ได้


การคิดอยู่กับที่บางทีก็คิดไม่ได้หรือหาทางออกไม่เจอ จึงต้องพากันออกเดินทางบ้าง เพื่อให้เห็นโลกกว้างที่มากกว่าชีวิตและสังคมแคบ ๆ ที่ตัวเองอยู่ เพื่อเรียนรู้ที่อื่น สะสมข้อมูลไปเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นวิธีคิดใหม่ และแนวทางดำเนินชีวิตของใครของมัน ที่เรียกว่าวิถีชีวิตแห่งการพึ่งตนเอง "


ลุงจวน ปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดพิจิตร เคยบอกว่า " ที่ทำเกษตรผสมผสาน เน้นทำอยู่ทำกิน ลดรายจ่ายในแต่ละวัน มันไม่รวย แล้วมันก็ไม่จน เงินมันน้อย คนมันก็ดูถูกคน เดี๋ยวนี้จะทำอะไรจะเอาให้มันรวยไปเลย"


คนชนบทอยู่ได้ด้วยทรัพยากร ผัก ปลาเมื่อก่อนเรายังหากินได้ง่ายมาก คุณตาของผู้เขียนเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนแค่แหย่เท้าลงไปในน้ำก็ยังต้องระวัง เพราะปลาแขยงที่มีมากมายมันจะตำเอา ผักหญ้าหากินตามไร่ตามนา สมัยก่อนไปนา แค่เอาข้าวและน้ำพริกไปเท่านั้น ผักไปหาเอาข้างหน้า


นอกจากนี้ แม่บ้านสมัยก่อนยังรู้จักแปรรูปและถนอมอาหารเก็บไว้กินได้ตลอดปี ส่วนแรงงานไม่ต้องจ้างเน้นการช่วยเหลือกันในครอบครัวและชุมชน การทำมาหากินเน้น " การทำอยู่ทำกิน" เป็นหลัก ช่วงเวลาขายข้าวก็มีอำนาจต่อรองกับพ่อค้าได้ ไม่จำเป็นต้องรีบขายสามารถเก็บไว้ในยุ้งก่อนได้ เงินไม่ได้เข้ามามีอิทธิพลมากมายกับการดำเนินชีวิต ประมาณว่า " ไม่มีเงินก็ยังอยู่ได้ "


คุณค่าเหล่านี้ถ้าแปลงออกมาเป็นจำนวนเงินคงประมาณไม่ได้ หรือถ้ามีคนพยายามจะแปลงให้ได้ คนสมัยก่อนคงเป็นคนยากจนในยุคสมัยปัจจุบัน เพราะรายได้ตกเกณฑ์ แต่คนชนบทสมัยก่อนก็คงไม่เดือดร้อน มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ ไม่มีอาชญากรรมรุนแรง ไม่มีคนอดอยาก ไม่มีปัญหามากมายเช่นปัจจุบัน


หรือเป็นเพราะว่า คนชนบทสมัยก่อนให้ความสำคัญกับเรื่องกินอยู่ ปัจจัยสี่ ธรรมชาติ และความสัมพันธ์ที่เกื้อกูลระหว่างมนุษย์มากกว่าเงินหรือวัตถุ เขาจึงดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไม่ต้องวุ่นวายเหมือนเราในปัจจุบัน ปัจจุบัน เราหลงลืมปล่อยให้เงินเข้ามามีอิทธิพลเหนือทุกสิ่งทุกอย่างมากเกินไปหรือเปล่มันจึงทำให้ทิศทางชีวิตของเกษตรกร (ปัจจุบัน) จึงดูกวัดแกว่ง เหมือนว่าจะไปไม่รอดทั้งปัจจุบันและอนาคต


เกษตรกรสมัยปัจจุบันเดินทางมาไกล ไกลมาก จนอาจหลงลืมสิ่งที่คนรุ่นปู่ย่าได้เคยสอนผ่านคำบอกเล่า หรือผ่านการ " เป็นอยู่ให้เห็น" ความทรงจำในส่วนนี้อาจลบเลือนไป เหลือแต่การทำเกษตร เพื่อมุ่งสู่การขาย เพื่อให้รวย แต่ดูเหมือนยิ่งทำ ความหวังก็ดูจะห่างออกไปทุกที คงเหลือแต่ภาพของความเป็นหนี้เป็นสิน ไม่มีเงินใช้จ่าย ไม่มีศักดิ์ศรี ทำงานหนัก


สิ่งเหล่านี้ เกษตรกรที่กำลังทำการเกษตร " ตามกระแส" หรือคนที่สนับสนุนการเกษตรในลักษณะนี้อาจจะต้องกลับมาทบทวนหรือไม่ ก่อนที่อาชีพเกษตรกรจะค่อย ๆ หายไปจากสังคมปัจจุบัน


................


 เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๓ มิ.ย. ๒๕๔๘