Skip to main content

Unseen in the Village

คอลัมน์/ชุมชน

วันนี้เสนอตอน หยุดสอยเงินซักที... งานพัฒนาและภาษีประชาชนไม่ใช่ของเล่น (นะโว้ย !)


นักพัฒนาและชาวบ้านที่เป็น " ผู้นำโวหาร" (ที่ไม่ใช่ผู้นำการเปลี่ยนแปลงไปสู่ทางเลือกอื่น ๆ ที่จะทำให้สังคมมีคุณภาพ) หลายคนก็ดีแต่ " สอยเงิน" จากภาครัฐหรือองค์กรพัฒนาเอกชนมาทำงานแบบ " สุกเอาเผากิน" ส่งไปวัน ๆ แล้ว " เมค" ใบเสร็จเพื่อหาเงินเข้ากระเป๋าตัวเอง ดีหน่อยก็หาเงินซื้อวัสดุ/อุปกรณ์ให้ชุมชน แต่ที่แย่ไปกว่านั้นคือสร้างภาพตบตาเพื่อจะเอาเงินสนับสนุนจากรัฐว่าโครงการนี้เป็นของชุมชน แต่แท้ที่จริงเป็นธุรกิจของครอบครัวเขา ครอบครัวเดียว


และผู้ประสานงาน/ผู้สนับสนุนโครงการต่าง ๆ ที่เป็นเจ้าหน้าที่ ทั้งที่เป็นภาครัฐและภาคเอกชนก็ไม่ใส่ใจว่างานพัฒนาจะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ สร้างกระบวนการเรียนรู้ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่ชุมชนหรือไม่ อย่างไร


ผู้เขียนเห็นมา นานหลายปีแล้ว ไม่มีทีท่าว่าพฤติกรรมแบบนี้จะลดลงแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับมีให้เห็นเกลื่อนตาและหนักข้อขึ้นทุกวัน ยิ่งทำงานกับชาวบ้านและนักพัฒนา ยิ่งเห็นมากขึ้น ๆ และไม่มีวันหมด วันนี้จึงทนไม่ได้ ขอแฉความจริงที่ไม่มีใครกล้าพูด เพราะภาพลักษณ์ของชาวบ้านในสายตาคนนอกนั้น " ใสซื่อ" ยิ่งนัก



รูปแบบการสอยเงิน เป็นดังนี้




  • ชาวบ้านหัวหน้าโครงการ กว่าร้อยละ 90 (ตัวเลขขั้นต่ำนะเนี่ย ! ) ยักยอกเงินโครงการเข้ากระเป๋าตัวเองโดยการ " เมค" ใบเสร็จบ้าง ไม่เมคบ้าง (ไม่เมคเพราะผู้ประสานงานโครงการอื่น ๆ ที่ผ่านมาไม่เคยตรวจ) ซ้ำร้ายยังทำงานแบบสุกเอาเผากินโดยไม่สนใจว่าจะสร้างกระบวนการเรียนรู้แก่ชุมชน (ซึ่งเป็นเป้าหมายของโครงการ) แค่ไหน เมื่องานระยะที่หนึ่งผ่านไป ผู้ประสานงานโครงการทำท่าว่าจะปิดโครงการนี้ หัวหน้าโครงการ (ซึ่งเป็นชาวบ้าน) บอกว่าจะปรับปรุงการทำงานใหม่โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วม แต่ก็เป็นเพียง " โวหาร" เพื่อสร้างภาพเอาเงินโครงการระยะที่ 2 มาเข้ากระเป๋าตัวเอง กลุ่มชาวบ้านและนักพัฒนาแบบนี้เรียกได้ว่าเป็นพวก " ไว" ต่อกระแสชุมชนเข้มแข็ง พูดเก่ง จึงใช้ประโยชน์จากกระแสนี้ พูดให้นักวิชาการในเมืองกรุงผู้โหยหาสวรรค์หายเคลิ้มไปหลายคน " สอย" เงินเข้ากระเป๋าตัวเอง งานพัฒนาชุมชนที่หลายหน่วยงานสนับสนุนล้มเหลวไม่เป็นท่าก็เพราะแบบนี้แหละ บางโครงการใช้เงินจากหน่วยงานของรัฐแห่งหนึ่งไป 1.2 ล้าน แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในพื้นที่เลย เลยนอกจากไปดูงาน ดูงาน และก็ดูงาน ทั้ง ๆ ที่สัญญาในโครงการว่าจะวางระบบน้ำเพื่อการเกษตรผสมผสาน ทั้ง ๆ ที่มองเห็นตำตาได้ชัด ๆ ก็ไม่ทำ อย่าว่าแต่จะสร้างกระบวนการเรียนรู้ซึ่งมองไม่เห็นเลย



  • ชาวบ้านบางคนถูกทีมงานของผู้เขียนจับได้เพราะ " เมค" ใบเสร็จค่ารถ 100 บาทหลายครั้ง ทั้ง ๆ ที่เดินไปประชุมไม่ถึง 50 ก้าว ต่อมาแกก็อ้างว่าขี่มอเตอร์ไซค์ จึงขอเบิกเป็นค่าน้ำมันรถมอเตอร์ไซค์ 3 กิโลเมตรๆ ละ 2 บาท เป็นเงิน 6 บาท เลยต้องคืนเงินให้โครงการอีก 94 บาท นี่แค่ตัวอย่างเล็ก ๆ นะ ยังมีเรื่องน่าเกลียดกว่านี้อีกมาก กินเงินกันตั้งแต่ 6 บาท จนถึงแสนบาท เห็นแล้วน่าเวทนายิ่งนัก




  • ที่เบาหน่อย...บางโครงการตอนแรกตั้งใจของบฯ มาเพื่อทำกิจกรรมอะไรซักอย่าง โดยทำ ๆ ไปยังงั้นแหละ ไม่ได้กะทำให้สำเร็จตามเป้าหมาย เพราะเป้าหมายจริง ๆ คือ (ถ้าบริหารโครงการดี) มีเงินเหลือจะเอามา " ซื้อของ" (ให้ชุมชน) ผู้เขียนในฐานะผู้ประสานโครงการเห็นโครงการตั้งท่าจะล้มเหลวก็ทำงาน " เกาะติด" กับพื้นที่อย่างต่อเนื่องทั้งผ่อนหนักผ่อนเบากับระยะเวลาการทำงาน แต่ยังยึดเป้าหมายการทำงานไม่เปลี่ยน ทำให้หัวหน้าโครงการเปลี่ยนใจทำงานจริงจังและสารภาพออกมาข้างต้นพร้อมกับบอกว่า ทำงาน " สร้างทุนทางปัญญาให้ชุมชน ดีกว่าเอาเงินมาซื้อของให้ชุมชน"



  • มีกิจกรรมกลุ่มจำนวนมากมายก่ายกองที่ชื่อว่า ธุรกิจชุมชน หรือวิสาหกิจชุมชน หรือ โอท็อป 3 – 5 ดาว แต่ความเป็นจริงเป็นแค่ธุรกิจของเจ๊ ๆ เฮีย ๆ หรือของผู้ใหญ่บ้าน/กำนัน/ส.อบต. (SMEs) แล้วจ้างชาวบ้านเป็นแรงงาน ดูภายนอกเหมือนธุรกิจชุมชน เพราะตั้งอยู่ในชุมชนและมีชาวบ้านมาทำงาน แต่ความจริงไม่ใช่ เพราะหุ้นส่วน ๆ ใหญ่ร้อยละ 90 – 100 เป็นของเจ๊ ๆ เฮีย ๆ กำไรก็เป็นของเจ๊ ๆ เฮีย ๆ ชาวบ้านไม่มีความเป็นเจ้าของแม้แต่น้อย นอกจากจะได้รับเงินค่าจ้างเพียงวันละ 90 บาทเท่านั้น แต่นี่ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายถ้าเขาใช่ประกาศตัวเป็น " ธุรกิจชุมชน" หรือ " โอท็อป" การประกาศตัวดังกล่าว ทำให้ได้เงิน วัสดุ/อุปกรณ์ อุดหนุนจากภาครัฐ เช่น โรงงานทำไวน์แห่งหนึ่งรัฐช่วยสร้างอาคารให้ฟรี 300,000 บาท และยังได้โอกาสขายของในงานเทศกาลต่าง ๆ ในขณะที่กำไรที่ได้ทั้งหมดตกอยู่กับเจ้าของคนเดียว เรื่องนี้ไม่แฟร์สำหรับคนที่เป็น SMEs ที่เขาลงทุนเองทั้งหมด เสี่ยงเอง และเขาก็ได้รับกำไรเป็นธรรมดา ถ้าผู้อ่านไม่เชื่อผู้เขียนว่ามีธุรกิจแบบนี้อยู่มากมาย ปีนี้ในเดือนธันวาคม ลองไปเดินดูงานโอท็อปซิตี้ที่เมืองทองธานีดูสิ! ผู้เขียนเคยถามเพื่อนที่เป็นพัฒนาชุมชนว่าทำไมมี SMEs แฝงมาในโอท็อปมากขนาดนี้ เขาบอกว่า " ก็นายกฯ " จะเอา" (คัดเลือก/จัดลำดับกลุ่มที่เข้มแข็ง) ให้เสร็จภายใน 3 เดือน 6 เดือน ใครจะไปเนรมิตทันเล่า ก็ต้องแบบนี้แหละ" การมีผู้ประการ SMEs แฝงมาเป็นโอท็อปมากเช่นนี้ ภายหลังรัฐบาลจึงต้องมีโครงการสนับสนุน " โอท็อปเอสเอ็มอี" ดังนั้น ปรัชญาโอท็อปเรื่องชุมชนเข้มแข็งพึ่งตัวเองได้ หรือสินค้าภูมิปัญญาชาวบ้าน จึงลืมไปได้เลย



  • ชื่อธุรกิจชุมชน แต่เป็นของคน ๆ เดียว เขาถือหุ้นกว่าร้อยละ 80 ที่เหลือคือชาวบ้านประมาณ 500 หลังคาเรือน ถือหุ้นร้อยละ 20 กลุ่มซึ่งได้ชื่อว่าเป็นธุรกิจชุมชนจึงได้เงินสนับสนุนสร้างโรงสี ลานตาก ยุ้งฉาง ฯลฯ ทยอย ๆ มาที่ละหลาย ๆ แสนจนเป็นหลายล้านบาทจากภาครัฐ ซ้ำร้าย..การใช้ประโยชน์จากธุรกิจก็ใช้เฉพาะครอบครัวตัวเอง ชาวบ้านแทบไม่ได้ใช้ประโยชน์ เช่น จะมาใช้ลานตากก็อ้างว่าไม่ว่าง (เอาไว้ตากผลผลิตของตัว) ขายของก็ขายในนามกลุ่มธุรกิจชุมชน ใครก็อุดหนุน เมื่อมีกำไรมาก (เพราะรัฐลงทุนให้) ก็เข้ากระเป๋าตัวเองถึงกว่าร้อยละ 80 มีคนมาดูงานมากมาย ต่างชาติก็มา เพราะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่และนึกว่าเป็นธุรกิจชุมชนจริง ๆ ในขณะที่ชาวบ้านละแวกนั้นสาปส่ง นินทาสาดเสีย เทเสีย



  • ธุรกิจชุมชนบางแห่งเป็นชาวบ้านนี่แหละ แต่คนเป็นเจ้าของมีแค่ 1 – 2 คน คนอื่นไม่รู้ก็นึกว่าเป็นของชุมชนก็สนับสนุน เช่น ผู้นำชุมชนอยากเอาเงินจากโครงการพัฒนานี้มาเป็นเงินทุนหมุนเวียนซื้อข้าวเปลือก โดยตั้งเป็นงบฯ ซื้ออุปกรณ์มาทดลองปลูกข้าวพันธุ์ดี และจะทำในรูปวิสาหกิจชุมชน แต่เอาเข้าจริงในกิจกรรมโครงการกลับไม่มีกระบวนการเรียนรู้เรื่องวิสาหกิจเลย ต่อมาก็ถูกคนรู้ทันว่าเอาเงินภาษีของประชาชนเอามาทำให้กับธุรกิจของตัวเอง



  • ชาวบ้านรวมตัวกันในนาม " วิสาหกิจชุมชน" ไปกู้เงินมาจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) มาจำนวนหนึ่ง แต่ ไม่ได้ทำวิสาหกิจชุมชน กลับมากู้ " ตกดอก" กันเอง เช่น กลุ่มทำอิฐดินประสานของจังหวัดแห่งหนึ่ง กู้เงิน ธกส.มา 300,000 บาท ในนามวิสาหกิจชุมชน แต่เอามา " ตกดอก" ปล่อยกู้กันเอง 250 ,000 บาท ทำจริง ๆ 50,000 บาท เอาไว้ " ตบตา" เจ้าหน้าที่เวลาเขามาตรวจงาน ก็แสดงการผลิตอิฐให้ดู




  • มีชุมชนแบบนี้อีกมากมายที่ " แสดง" ว่าตัวเองเข้มแข็ง เพราะมีผู้นำโวหารที่เชื่อมหมู่บ้านกับรัฐได้ พอเจ้าหน้าที่รัฐลงมาพื้นที่ก็เรียกชาวบ้านมาประชุมอย่างพร้อมเพรียงกัน แสดงการฟ้อนการรำ เป่าแคน จัดฉากทอผ้า ทอเสื่อรวมกัน หาคนพูดเก่ง ๆ สัก 3 – 4 คนคุยกับเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่เขาอยากได้ผลงานอยู่แล้วก็จะสนับสนุนชาวบ้าน แต่ติดที่ตัวชี้วัดหนึ่งของทางการคือต้องให้ชาวบ้านลงหุ้น เพื่อแสดงให้เห็นว่ากลุ่มร่วมเป็นเจ้าของและมีความเข้มแข็ง เจ้าหน้าที่ก็บอกให้ลงหุ้นกัน ชาวบ้านก็ยอมลงหุ้นโดยให้เหตุผลกับผู้เขียนว่า " เอาเงินไปต่อเงิน...เข้าใจมั้ยอาจารย์" ก็คือลงหุ้นคนละ 50 บาท ทั้งกลุ่มมี 25 คน 50 x 25 = 1 ,250 บาท แต่ได้อาคาร กี่ทอผ้า และเงินทุนหมุนเวียน มาถึง 600,000 – 700,000 กว่าบาท โดยเฉพาะ เงินทุนหมุนเวียนที่ต้องการให้เอามาซื้อด้ายซื้อสีย้อมผ้า ก็เอาไปซื้อส่วนหนึ่ง ส่วนหนึ่งก็เอามา " ตกดอก" ปล่อยกู้ เวลาเจ้าหน้าที่รัฐมาติดตามประเมินผลก็จัดฉากทอผ้าร่วมกัน สารพัดจะทำ ผ่านไป 2 – 3 ปี เงินกองทุนโตขึ้นกว่าเท่าตัว ก็นึกว่าชาวบ้านบริหารธุรกิจเก่ง (ที่แท้เอาไปปล่อยกู้ตกดอก) ก็สนับสนุนเงินมาอีก เป็นอย่างนี้อย่างน้อยตั้งแต่ปี 2524 เป็นเวลากว่า 24 ปีแล้ว ไม่เปลี่ยนแปลง ที่เปลี่ยนคือเปลี่ยนแต่ชื่อ จากกลุ่มอาชีพเสริม เป็นธุรกิจชุมชน ต่อมาเป็นวิสาหกิจชุมชน ต่อมาก็เป็นโอท็อป

ท่ามกลางปัญหาความยากจนที่ใครต่อใครไม่ว่าจะเป็นรัฐ ผู้นำโวหาร และชาวบ้าน ต่างก็คิดว่าการแก้ปัญหาต้อง " ใช้เงิน" และ " สร้างถาวรวัตถุ" เท่านั้น ก็เป็นอย่างนี้แหละ คอรัปชั่นเห็น ๆ


ผู้ประสานงานโครงการของหน่วยงานภาครัฐก็ดีแต่กระตุ้นให้ชาวบ้านรวมกลุ่ม โยนเงินลงมา และมีจัดดูงาน/ฝึกอบรมระยะสั้นบ้าง ชาวบ้านผู้ไม่เห็นความสำคัญของการพึ่งตัวเอง (เพราะไม่มีใครจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เห็นความเชื่อมโยงของทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) และไม่มีทักษะด้านการบริหารธุรกิจชุมชน ทำได้อย่างดีก็คือ " แสดงตัวว่าเป็นชุมชนเข้มแข็ง" " สอยเงิน" " ตกดอก" วนเวียนกันอย่างนี้กว่า 24 ปี แต่หนี้สินก็ไม่หลุดซักที (หลุดแต่ที่นา)


ผู้นำโวหารก็ได้สิ่งที่น่าภาคภูมิใจ คือสอยโครงการลงมาได้ ยิ่งถ้าเป็นโครงการก่อสร้าง หรือพาชาวบ้านไปดูงานได้ยิ่งได้หน้าได้ตา นอกจากนี้ก็ยังยักยอกเงินโครงการได้ง่าย ๆ เป็นค่าเหนื่อยอีก


หยุดโหยหาสวรรค์หายให้ชาวบ้านหลอก … เสียที! ทำงานกับชาวบ้านต้องจริงจังและทุ่มเทกว่านี้ เลือกชาวบ้านที่เป็น " คนจริง" และ " คนใจดี" วิธีคิดคือ ทำงานบนฐานของอุดมการณ์ คุณค่า ฐานทรัพยากร และทุนทางสังคมอื่นๆ ที่มิใช่เงินตรา วิธีการคือ สร้างกระบวนการเรียนรู้ สไตล์การทำงานคือ ทำงานชนิด " เกาะติด" รบเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวบ้าน (แบบพระนเรศวรออกศึก) การบริหารงานคือ เน้นการมีส่วนร่วม โปร่งใส ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นักพัฒนา และชาวบ้าน เป้าหมายเพื่อให้เกิดทุนทางปัญญาในการจัดการกับทุนทางสังคม ทุนทางทรัพยากรและทุนเงินตรา เพื่อ เป้าหมายสุดท้ายคือการพึ่งตัวเอง และปลดปล่อยตัวเองให้เป็นไท งานแบบนี้เห็นผลช้า...แต่ยั่งยืน


...ไม่เสี่ยงต่อการติดคุก และชาติหน้าก็ไม่ต้องเกิดเป็นวัวเป็นควายใช้หนี้แผ่นดิน !


.............


เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓๐ มิ.ย. ๒๕๔๘