Skip to main content

หน้าที่ของ ส.ว.

 


ท่านคงจะได้เห็นว่าที่ผู้สมัคร ส.ว.หลายคนลงพื้นที่เพื่อเสนอตัวให้ท่านได้เลือกในปีหน้าบ้างแล้ว


ขอเรียนว่าการเลือกตั้ง ส.ว.จะมีขึ้นในปีหน้า ประมาณเดือนเมษายน


หลายท่านมาพบผมเพื่อขอคำแนะนำ ผมก็ได้แต่บอกว่า ถ้าอยากเป็นตัวแทนประชาชนให้พบพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด


คนที่รักประชาชนเท่านั้นที่สมควรเป็นตัวแทนประชาชน เนื่องจาก ส.ว. ห้ามหาเสียง และห้ามสังกัดพรรคการเมืองเพราะฉะนั้นใครอ้างว่าเป็นคนของพรรคการเมืองก็เป็นการผิดรัฐธรรมนูญ และผมก็ไม่แนะนำให้เลือกด้วยเพราะ ส.ว.จะต้องตรวจสอบการทำงานของพรรคการเมือง ตรวจสอบการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ถ้าเราเลือกคนที่ใกล้ชิดกับพรรคการเมือง หรือนักการเมือง เราก็ไม่ได้คนที่ทำงานให้


หลายท่านบอกว่าผมได้ทำมาตรฐาน ส.ว.ไว้สูง ผมเรียนว่า ผมทำหน้าที่ ส.ว.ให้ดีที่สุดตามที่ท่านไว้ใจ เพราะผมไม่ได้มาเป็น ส.ว.เพราะการซื้อเสียง ประชาชนเขาเลือกเพราะคะแนนสงสาร เพราะเขาอยากให้คนบ้านเราได้มามีบทบาทในสภา


เมื่อผมได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็น ส.ว.คนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง ผมจึงต้องทำงานให้คุ้มที่ท่านไว้ใจ คำว่าคนบ้านเรา เป็นหน้าที่ เป็นภาระที่ผมลืมไม่ได้


เวลาที่อยู่ในสภา ผมนึกถึงวันที่ ๔ มีนาคม ๒๕๔๓ วันที่ท่านตื่นแต่เช้าไปลงคะแนนให้ผม โดยกลัวว่าผมจะแพ้ จึงทำให้เกิดพลังในการทำงานอย่างมาก อย่างไม่รู้จักเหนื่อย


ขอเรียนว่า ส.ว.มีหน้าที่หลักคือการกลั่นกรองกฎหมาย ผมได้ทำหน้าที่เสนอให้การท่าเรือ การขนส่งมวลชนได้มีคนไทยถือหุ้นมากกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เสนอให้องค์การโทรศัพท์คืนเงินมัดจำค่าเครื่องให้ผู้ใช้ เพราะไม่ได้นำเงินที่ได้มาไปทำประโยชน์ เสนอตัดใบอนุญาตผู้จัดการโรงแรมที่สภาผู้แทนฯ เสนอให้ต้องขออนุญาตจากกระทรวงมหาดไทยมาเป็นการแจ้งให้มหาดไทยได้ทราบว่าผู้จัดการทำงานที่ไหน และอีกมากมายที่ ส.ว.ได้กลั่นกรองกฎหมายไม่ให้รัฐใช้อำนาจมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช. ,ก.ก.ต. หรือ ป.ป.ง.


ความจริงแล้ววุฒิสภาไม่ได้มีอำนาจอย่างที่หลายท่านเข้าใจ แต่ที่มีอำนาจมากที่สุดก็คือ การพูดความจริง สะท้อนปัญหาที่ประชาชนได้รับผลกระทบ ความจริงเป็นอาวุธที่สำคัญที่สุด เพราะการพูดความจริงในสภาเป็นการฟ้องให้ประชาชนทราบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เขากลัวคะแนนนิยมที่ประชาชนไว้วางใจมากที่สุด


ถ้ารัฐบาลใดทำให้ประชาชนเดือดร้อนแล้วไม่แก้ไข ประชาชนนั่นเองคือผู้ที่ตัดสินใจในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล


เขาจะเลือกรัฐบาลที่ฟังเสียงประชาชน


ในกรรมาธิการงบประมาณที่ผมเคยเป็น ผมก็ได้ทักท้วงเรื่องการจัดงบประมาณที่ไม่เป็นธรรม ถึงแม้ว่า ส.ว.จะไม่สามารถเสนอ ตัดทอน หรือเพิ่มเติมงบประมาณประจำปีได้ก็ตาม เราก็ทำได้แต่พูดความจริงในสภาว่ารัฐบาลทำอะไรไม่ถูกต้อง ผมเคยตั้งกระทู้ถามทั้งรัฐบาลในสมัยท่านนายกชวน หลีกภัย และรัฐบาลนายกทักษิณ ชินวัตร เคยวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ จนถึงปัจจุบัน


เพราะฉะนั้น ผมไม่ได้เป็นคนของพรรคไหน รัฐบาลไหนทำถูก ผมก็ต้องชม รัฐบาลทำผิด ผมก็ต้องติ ไม่ได้ต้องการล้มรัฐบาลแต่ประการใด เพราะวุฒิสภาเป็นสภาพี่เลี้ยง เป็นสภาที่เสนอแนะให้กับรัฐบาล


จุดยืนที่สำคัญที่สุดที่วุฒิสภาต้องมี คือต้องกล้าตัดสินใจ ตักเตือนรัฐบาล มัวเกรงใจไม่ได้ เพราะถ้าเกรงใจเขาจะไม่รู้ความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลเสียงข้างมากเช่นนี้ บทบาทของวุฒิสภาต้องตรวจสอบอย่างหนัก โดยไม่คิดว่าตัวเองเป็นฝ่ายค้าน แต่เป็นฝ่ายคิดเป็นกลางในทางการเมือง


เพราะฉะนั้นใครที่มาแนะนำตัวต่อท่าน ขอให้ท่านพิจารณาด้วยว่า เขาเป็นกลางหรือไม่ อย่าไปเชื่อว่าเขาเป็นคนของพรรคไหน หรือนักการเมืองคนไหน


ขอให้พิจารณาคนที่ท่านพบง่าย ใช้คล่อง และรู้การงาน ไม่เป็นลูกน้องให้ใคร นอกจากลูกน้องของประชาชนเท่านั้น