Skip to main content

ผู้ชนะสิบคิด : การคิดเชิงสร้างสรรค์

คอลัมน์/ชุมชน

หนังสือเรื่อง ผู้ชนะสิบคิด : การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking ) ที่เขียนโดยศาสตราจารย์ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ จำนวน ๒๓๒ หน้า ที่ยืมจากห้องสมุดศูนย์เอ็มพลัส (โครงการที่ส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย จ.เชียงใหม่) อ่านแล้วเห็นว่ามีสิ่งที่น่าสนใจ จึงนำมาเล่าต่อ...


ประเด็นเรื่องความคิดต่อสิ่งที่เราต้องเผชิญในชีวิต ซึ่งเราอาจคิดว่ามัน " เหมือนเดิม" ทุกวัน ไม่ว่าเรานอนในบ้าน เราเรียนในโรงเรียน หรือเรานั่งที่โต๊ะทำงาน เราคิดว่ามันเหมือนเดิม แต่แท้จริงมันไม่เคยเหมือนเดิม ทุกสิ่งหมุนเวียนเปลี่ยนผันไปตามกาลและเวลาของมัน สิ่งที่เราถูกหลอกนั่นคือ " ความคล้ายคลึง" ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ อันส่งผลให้เราสนองตอบสถานการณ์เหล่านั้นด้วยวิธีการเดิม ๆ ที่เราคุ้นชิน


อาจารย์เกรียงศักดิ์เตือนว่า " ความคิดเช่นนี้จะทำให้เราขาดความตระหนักว่า สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปทุกเวลา และแต่ละเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมีความเฉพาะเจาะจงในสถานที่และเวลาที่แตกต่างกัน ความแตกต่างนี้เอง ทำให้การใช้วิธีเดิม ๆ ตามความเคยชินอาจจะไม่ใช่ทางออกที่ราบรื่น แม้ว่าจะเป็นเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันก็ตาม" เช่นเดียวกับนักปราชญ์จีนท่านหนึ่งกล่าวว่า " ทุกวันคือวันใหม่ แม้ปลายังไม่ว่ายอยู่ในที่เดิม"


หนังสือเล่มนี้บอกว่า การใช้ความคิดสร้างสรรค์ ช่วยให้เราแก้ปัญหาได้ลงตัวกับปัญหา เพราะความคิดสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดนวัตกรรมที่ไม่หยุดยั้ง ความคิดสร้างสรรค์ช่วยให้เราได้สิ่งที่ดีกว่าแทนการจมอยู่กับสิ่งเดิม ๆ และความคิดสร้างสรรค์เป็นองค์ประกอบสำคัญของความฉลาด ซึ่งมีลำดับขั้นตอนของการคิดเชิงสร้างสรรค์ ดังนี้


หนึ่ง ขั้นกำหนดเป้าหมายการคิด โดยการตั้งคำถามที่ชัดเจน เพื่อให้ได้รับคำตอบที่ตรงประเด็น " การระบุปัญหาได้ถูกต้อง เท่ากับแก้ปัญหาไปได้มากกว่าครึ่งแล้ว"


สอง ขั้นการแสวงหาแนวคิดใหม่ คือต้องพยายามคิดวิธีการที่จะพาไปสู่วัตถุประสงค์ หรือระดมคำตอบให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะคิดได้


สาม ขั้นการประเมินและคัดเลือกแนวคิด ความคิดใหม่ ๆ แปลกแหวกแนวนั้นได้รับการนำมากลั่นกรองด้วยความคิดที่ต้องใช้เหตุผล เหลือเพียงความคิดที่จะสามารถนำไปสู่ภาคปฏิบัติได้จริง ดังนั้น สิ่งที่แปลกอาจจะไม่สร้างสรรค์ ถ้าสิ่งที่เราคิดขึ้นมานั้นไม่ได้ดีกว่าเดิม ไม่ตอบวัตถุประสงค์และไม่สามารถทำได้จริง


และตามสไตล์หนังสือประเภทฮาวทู นั่นคือข้อเสนอ " ๙ อย่า" หรือสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงและ " ๙ ต้อง" หรือสิ่งที่จำเป็นต้องพัฒนาให้เกิดขึ้น เพื่อเป็นหลักการให้เราสามารถปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ นั่นคือ


หนึ่ง อย่าคิดแง่ลบ ต้องคิดแง่บวก
สอง อย่าชอบพวกมากลากไป ต้องลองหัวเดียวกระเทียมลีบดูบ้าง
สาม อย่าปิดตนเองในวงแคบ ต้องเปิดรับสถานการณ์ใหม่
สี่ อย่ารักสบาย ทำไปเรื่อย ๆ ต้องลงแรง บากบั่น มุ่งความสำเร็จ
ห้า อย่ากลัว ต้องกล้าเสี่ยง
หก อย่าหมดกำลังใจเมื่อไม่พบคำตอบ ต้องอดทนต่อความคลุมเครือ
เจ็ด อย่าท้อใจกับความผิดพลาด ต้องเรียนรู้จากความล้มเหลว
แปด อย่าละทิ้งความคิดใด ๆ จนกว่าจะพิสูจน์ว่าไร้ประโยชน์ ต้องชะลอการตัดสินใจ
เก้า อย่ากลัวการเผยแพร่ผลงาน ต้องกล้าเผยแพร่ผลงานแหวกวง


หากคุณเริ่มรู้สึกว่าชีวิตซ้ำซากจำเจ การมองสิ่งเดิมในมุมใหม่ที่สร้างสรรค์ มิใช่เป็นเรื่องพรสวรรค์เฉพาะบุคคล แต่มันคือทักษะที่ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาขึ้นมาได้ จริง ๆ นะ...