Skip to main content

การศึกษาไร้กระดาษ

คอลัมน์/ชุมชน

โลกาภิวัตน์ เขาว่าเป็นโลกไร้พรมแดน และว่าเป็นโลกที่ผู้บริโภคสื่อเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง เพื่อส่งเสริมโลกไร้พรมแดนดังว่า อินเตอร์เน็ต ถูกใช้เป็นเครื่องมืออันสำคัญในการประกอบกิจกรรมดังกล่าว

การศึกษาก็เช่นกัน หลายคนมุ่งความสนใจในการศึกษาไร้กระดาษมากขึ้น ถึงขั้นจบปริญญาทางอินเตอร์เน็ต ทั้งนี้ไม่มั่นใจว่าต้องการลดการตัดไม้ทำลายป่า อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอันมีอยู่น้อยนิดให้ลูกหลานได้สัมผัสต่อไปยาวนานขึ้น หรือเพื่อต้องการแสดงความนำสมัย อินเทรนด์กันแน่


การศึกษาในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตมีข้อดีมากมาย ทั้งในด้านของการเป็นแหล่งข้อมูลค้นคว้าวิจัยต่าง ๆ ประดุจการนำหนังสือในห้องสมุดหลายล้านเล่มมาบรรจุไว้ ผู้เขียนได้ใช้บริการด้านนี้อยู่บ่อยครั้งมาก เช่น การหาข้อมูลสรรพคุณทางยากรณีที่ลูกไม่สบายบ้าง เพราะแพทย์ไทยมีเวลาอธิบายน้อยมาก หรืออาการของโรคต่าง ๆ ที่เป็นอันตราย ข้อควรระวังต่าง ๆ เช่น ไข้หวัดนก หรือข้อมูลโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์สังเคราะห์การเลือกโรงเรียนให้ลูก


ข้างต้นคือ ข้อมูลแห้งหรือข้อมูลทางเดียว แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ ข้อมูลสองทาง คือข้อมูลจากการโต้ตอบทางเว็บบอร์ดบ้าง ทางแชทบ้าง นั่นคือการศึกษาโดยการนำบทเรียนผู้อื่นมาเป็นของตัวเองโดยไม่ต้องทดลองด้วยตนเอง อย่างน้อยก็เป็นการประหยัดเวลาและเป็นคุณภาพใหม่ที่ผ่านการกลั่นกรองจากผู้อื่น แม้ว่าจะมีรากฐานประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างก็ตาม ข้อมูลที่มีการโต้ตอบมักหาไม่ได้ง่ายนักจากหนังสือตามท้องตลาด เช่น เมื่อลูกส่าไข้ เมื่อลูกทะเลาะกัน หรือสอนการบ้านลูกอย่างไร เป็นต้น


ส่วนข้อเสียก็พอมองเห็นได้อยู่บ่อยครั้งทีเดียวว่า มักเป็นสาเหตุของการทะเลาะเบาะแว้งกัน เป็นการโต้คารมโดยไร้พื้นฐานของมิตรภาพ อาจเพราะความรวดเร็วของการสื่อสาร ส่งผลให้ข้อมูลจึงมีความฉาบฉวย เร่าร้อน ไร้เที่ยงธรรมไป หรือตีความต่างกันไป อันนี้เป็นข้ออ่อนที่เห็นได้เสมอ และในบางครั้งข้อมูลก็มักมีวาระซ่อนเร้นอยู่เนือง ๆ วาระของการโฆษณาสินค้า วาระของการสาดโคลนคู่ต่อสู้ วาระของการช่วงชิงประชาชนมาเป็นฐานทางการเมือง เป็นต้น


ดังนั้น ท่าทีของการบริโภคข้อมูลจึงต้องมีวิจารณญาณที่สูงกว่าปกติ ต้องมีสติตั้งมั่น ใจคอกว้างขวาง กว้างพอที่ยอมรับความคิดเห็นที่ต่างจากตน เพราะความคิดเห็นที่แตกต่างนำมาซึ่งความรอบด้านในการมอง การมองที่รอบด้าน ก็นำซึ่งความผิดพลาดที่น้อยลง อาจเริ่มจากคำถามที่ว่าผู้เขียนต้องการสื่ออะไร หรืออาจคิดในทางแย้งบ้างก็น่าจะดี นอกจากนี้ภาษาที่ใช้ควรมีความสุภาพเป็นพื้นฐาน อย่าเอาสนุกคะนองเข้าว่า เพราะท่านจะไม่ได้อะไรที่สร้างสรรค์เลยจากภาษาที่หยาบคาย รังแต่จะสร้างความขุ่นข้องหมองใจเปล่า ๆ และประเด็นก็ถูกแปรเปลี่ยนไปในทางที่ต่างไปจากแก่นของกระทู้หรือบทความ


ข้างต้นนี้เป็นข้อสังเกตจากผู้เขียนที่ท่องเว็บมาก็หลายปี