Skip to main content

โรงเรียนกับเด็ก

คอลัมน์/ชุมชน

สร้างความวุ่นวายและสับสนอยู่พอสมควรสำหรับผู้ปกครองที่ต้องสรรหาโรงเรียนให้กับลูก ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่อยู่ใน กทม. ปริมณฑล และในตัวเมืองตามต่างจังหวัด เพราะมีโรงเรียนผุดขึ้นมากมาย เกือบจะใกล้เคียงกับสาขาของห้างสรรพสินค้า ทั้งหัวน้ำเงิน หัวแดง หรือตัวเลข ผู้เขียนจึงได้รวบรวมมาเพื่อให้ท่านผู้อ่านมองเห็นภาพรวมของการศึกษาไทย และพอเป็นแนวทางในการเลือกโรงเรียนที่เหมาะสมกับบุตรหลานต่อไป


หากจะแบ่งโรงเรียนตามสังกัด ก็พอจะได้ประมาณ 3-4 แบบดังนี้


1. โรงเรียนสังกัด กทม. ก็คือ โรงเรียนที่อยู่ในเขตเมืองหลวงนั่นเอง บริหารโดยทีมผู้ว่า กทม. ถือเป็นสวัสดิการให้คน กทม. หลักสูตรการเรียนการสอนก็จะเป็นของกระทรวงศึกษาธิการนั่นเอง บางส่วนอาจใช้งบประมาณของรัฐ บางส่วนอาจใช้งบประมาณของ กทม. ที่หามาได้เอง เช่น ภาษีบำรุงท้องถิ่น ภาษีป้าย ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ เช่น ค่าเก็บขยะ เป็นต้น ตัวอย่างโรงเรียนก็เช่น สวัสดีวิทยา บ้านบัวมล ประชานิเวศน์ ซึ่งสามารถหารายละเอียดได้จากเว็บไซต์นี้ http://www.bmaeducation.in.th/ มีอยู่ประมาณ 432 โรงเรียน


2. โรงเรียนสังกัดกระทรวง หรือ กล่าวให้ชัดคือ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาพื้นฐาน หรือ สพฐ. นั่นเอง ก็คือโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรของกระทรวงศึกษา มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทั้งเมืองหลวงและอีก 75 จังหวัด แบ่งเป็นหลายเขตพื้นที่การศึกษา เช่นกัน ดุรายละเอียดจากเว็บไซต์นี้ http://www.obec.go.th/


3.โรงเรียนสังกัดมหาวิทยาลัย และสถาบันราชภัฏต่าง ๆ ในอดีต มหาวิทยาลัยต่าง ๆ สังกัด ทบวงมหาวิทยาลัย แต่ปัจจุบันก็ใต้สังกัดเดียวกับกระทรวงศึกษาเช่นกัน แต่การดำเนินการเรียนการสอนมักมีความเป็นอิสระ โดยอิงกรอบของหลักสูตรกระทรวงเท่านั้น และมักอยู่ภายใต้คณะศึกษาศาสตร์ หรือคณะครุศาสตร์ เพื่อใช้เป็นเวทีในการฝึกสอนของนิสิตคณะ หรือ ทดลองวิจัยการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ถือเป็นโรงเรียนสาธิต หรือ Demonstration นั่นเอง เช่น สาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สาธิตจุฬาฯ สาธิต มศว.ประสานมิตร ปทุมวัน สาธิตราชภัฏจันทรเกษม เป็นต้น การหารายละเอียดจึงต้องมุ่งไปที่แต่ละมหาวิทยาลัยนั่นเอง เช่น
สาธิตจุฬาประถม http://user.school.net.th/~borvorn/academic_frame.htm
สาธิตเกษตร http://www.kus.ku.ac.th/
สาธิต มศว.ประสานมิตร http://prathom.swu.ac.th/
สาธิต มศว.ปทุมวัน http://www.satitpatumwan.ac.th/


4. โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน กล่าวง่าย ๆ คือ โรงเรียนเอกชนนั่นเอง ครอบ คลุมโรงเรียนไทยธรรมดาในหลาย ๆ แนวการเรียนการสอน เช่น วิถีพุทธ โรงเรียนทางเลือก โรงเรียนเรียนตามอัธยาศัย โรงเรียนไทยคาทอลิก และโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งก็มีอยู่ชุกชุมในกรุงเทพอีกนั่นแหละ


ที่นี้หากจะแบ่งตามแนวการเรียนการสอนก็จะทำให้ง่ายขึ้นต่อผู้ปกครองในการเลือกให้เหมาะกับบุตรหลาน เพราะเชื่อแน่ว่า โรงเรียนแต่ละโรงเรียน อาจไม่เหมาะกับเด็กบางลักษณะ เช่น หากเด็กเป็นเด็กมีพรสวรรค์ หรือกิฟท์เต็ด มีความรอบรู้ในแนวลึกในบางสาขาวิชา แน่นอนการส่งเด็กให้อยู่ในโรงเรียนแนวราบที่มีขั้นตอนการเรียนการสอนแยกชั้นเป็นขั้นบันได หรือตามเกณฑ์อายุ ย่อมไม่เหมาะกับเขา เพราะทำให้เบื่อหน่ายการเรียน ด้วยสิ่งที่ครูหรือเพื่อนนำเสนอในห้องเรียนเขาได้รับรู้หรือเข้าใจหมดแล้ว


แบ่งโรงเรียนตามแนวการเรียนการสอนได้ดังนี้


1. โรงเรียนแนวเตรียมความพร้อม หรือที่นิยมเรียกกันทั่วไปว่า เด็กเป็นศูนย์กลาง Child Centered คือ โรงเรียนที่เน้นความสำคัญของการเรียนรู้ผ่านการเล่น ในวัยอนุบาลและวัยประถม ไม่ได้เน้นเร่งเรียนเขียนอ่านมากนัก ยิ่งถ้าวัยอนุบาล จะเน้น การเรียนการสอนเพื่อฝึกฝนกล้ามเนื้อมือทั้งมัดเล็ก มัดใหญ่ การดำเนินชีวิตประจำวันอย่างแคล่วคล่องว่องไวมากขึ้น มีการบูรณาการในหลายสาขาวิชาเข้าด้วยกัน สอนวิทยาศาสตร์ผ่านศิลปะ ผ่านเพลง ผ่านกีฬา ให้เด็กค่อยๆซึมซับเข้าไปเอง เหมือนเป็นโรงเรียนช่วยเสริมทักษะทางสังคมให้เด็ก นอกเหนือจากทางบ้านช่วยฝึกฝนแล้ว โรงเรียน แนวนี้ก็มักเป็นโรงเรียนเครือสาธิต โปรแกรมสองภาษาในโรงเรียนไทยต่างๆ (http://www.moe.go.th/5TypeSchool/school_eng.htm) และ นานาชาติ ( http://www.isat.or.th/ )


2. โรงเรียนแนวเร่งเรียนเขียนอ่าน คือโรงเรียนที่เน้นการเรียนการสอนที่เป็นแบบแผนแน่นอน มีการแยกส่วนการเรียนในหลายสาขาวิชาอย่างชัดเจน เน้นให้สามารถอ่านออกเขียนได้ในวัยเยาว์ มีการทบทวน การบ้านมากพอสมควร เพื่อเน้นให้เด็กรู้หน้าที่ มีระเบียบวินัย ตามข้อกำหนดของโรงเรียน โรงเรียนแนวนี้ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนแนวคาทอลิก เช่น โรงเรียนที่ขึ้นต้นชื่อด้วยเซนต์ ทั้งหลาย หรือชื่อเป็นภาษาต่างประเทศส่วนใหญ่ ซึ่งก็เน้น ภาษาอังกฤษในการสอน


3. โรงเรียนทางเลือก คือ โรงเรียนที่สอนตามความเชื่อหรือแบบแผนของนักคิดหรือนักกาศึกษาต่างประเทศ เช่น วอลดอร์ฟ ชาวเยอรมัน มอนเตซเซอรี่ ชาวอิตาลี โรงเรียนแนวนี้มีไม่มากนักในไทย นับได้ เช่น ปัญโญทัย ไตรทักษะแสนสนุก อนุบาลกรแก้ว อมาตยกุล จะมีลักษณะคล้ายแบบที่ 1 ข้างต้น แต่ในรายละเอียดต่างกันพอสมควร กล่าวคือ ทั้งเครื่องมือ หรือสื่อการเรียนการสอน และท่วงทำนองในการนำเสนอให้เด็กได้ซึมซับ หารายละเอียดแนวการสอนดังกล่าวได้จากเว็บไซต์นี้ หัวข้อ การศึกษาเด็กปฐมวัย http://www.onec.go.th/onec_pub/main2543.htm


4. การจัดการศึกษาตามอัธยาศัย 3 ข้อข้างต้น คือ การจัดการศึกษาในระบบ โดยมีกรอบของกระทรวงเป็นบรรทัดฐาน หรือ หากเป็นโรงเรียนนานาชาติ ก็จะมีหลักสูตรของชาติต่าง ๆ ที่โรงเรียนนำมา ซึ่งเป็นกรอบที่แน่นอน แต่การศึกษาแนวที่ 4 นี้ส่วนใหญ่ จัดโดยครอบครัว หรือที่เรียกอย่างไทย ๆ ว่า บ้านเรียน หรือโฮมสคูล วิธีการก็คือ ครอบครัวเป็นผู้วางแนวทางเองทั้งหมดแต่มีการประเมินเทียบผลกับโรงเรียนที่รัฐเป็นผู้กำหนดเป็นระยะๆ เหมือนขึ้นทะเบียนนักเรียนไว้กับโรงเรียน แต่เรียนที่บ้าน หารายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ http://www.edu.nu.ac.th/wiwatm/homeschool/


คิดว่าท่านผู้อ่านคงมองภาพได้ชัดขึ้นของการศึกษาที่มีในปัจจุบันของไทย คราวนี้ก็ต้องพิจารณาว่าลูกๆของเราเป็นแบบใดและเหมาะสมกับโรงเรียนเช่นไร เพื่อที่จะได้จัดการศึกษาได้สอดคล้องกับบุคลิกภาพที่เป็นของเขา โดยคาดหวังว่า การศึกษาจะทำให้เขาเป็นคนที่สมบูรณ์


เด็กๆหลายแบบ


1. เป็นเด็กที่เรียนรู้ไม่เร็วนัก ความมุมานะ อดทน ไม่สูง สนุกกับการเล่น และการเรียนที่ไม่มีรูปแบบตายตัว แน่นอน อย่างนี้ก็เหมาะกับแบบเตรียมความพร้อม เพราะหากนำไปเรียนแบบที่สอง ลูกของท่านอาจถูกเปลี่ยนบุคลิกไป หรือมีความกดดันมากเกินปกติ ถึงขั้นทรมานในการเรียน หรือ เกลียดโรงเรียนในฉับพลัน


2. เด็กที่ชอบการแข่งขัน เรียนรู้ไว ต้องการทำงานมากๆ หรือการเรียนในรูปแบบตายตัว อย่างนี้เหมาะแน่กับแนวเร่งเรียนเขียนอ่าน ซึ่งตรงข้ามหากนำไปเรียนทีแบบแรก เขาอาจรู้สึกเซ็ง ไม่ตื่นเต้น เบื่อหน่ายก็ได้


3. หากเด็กเป็นเด็กที่มีความต้องการพิเศษ ทั้งกิฟท์เต็ด (Gifted or Talented) คือ เด็กที่มีความสามารถเฉพาะทางในแนวลึก เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษา ดนตรี กีฬา หรือ ออทิสติก (Autistics) คือ เด็กที่มีปัญหาทักษะทางสังคม การพูดบกพร่อง สื่อสารได้ไม่ดี เรียนรู้จากภาพมากกว่าคำพูด หรือ แอสเพอร์เกอร์ (Asperger) คือ เด็กที่มีปัญหาทักษะทางสังคมอีกแบบ ไม่บกพร่องในการพูด แต่บกพร่องในด้านการรับรู้หรือเรียนรู้ความรู้สึกผู้อื่น เข้าข่ายการพูดหรือตีความที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่รู้กาลเทศะ หรือ common sense หรือ เด็กที่เป็น แอลดี (Learning Disabilities) คือ บกพร่องในการเรียนรู้ แต่ไอคิวไม่ต่ำ แน่นอนโรงเรียนที่เหมาะก็ควรเป็นโรงเรียนเฉพาะทางไป เช่น สาธิตเกษตร ก็มีเปิดให้ หรือ โรงเรียนมีนประสาทวิทยา หรือ โรงเรียนที่ระบุว่าสามารถให้เด็กพิเศษเหล่านี้เรียนได้ สำหรับเด็กกิฟท์เต็ด ดูเหมือนจะมีสาธิตจุฬา ผไทอุดมศึกษา รองรับอยู่ และนอกจากนี้โฮมสคูลก็เป็นทางออกที่ดีสำหรับเด็กกลุ่มนี้


จากโรงเรียนมาสู่เด็ก ต่อไปก็เป็นวิถีทางนำเด็กเข้าเรียน แล้วพบกันคราวหน้าคะ