Skip to main content

เงินกับโรงเรียน

คอลัมน์/ชุมชน

จะไม่กล่าวถึงแนวทางในการเลือกโรงเรียนให้กับลูก เพราะถือเป็นดุลยพินิจส่วนบุคคล แต่หลักการทั่วไป ก็ยังคงเป็นเรื่องการคมนาคม ทำเลที่ตั้ง ใกล้บ้านหรือไม่ ใกล้สิ่งยั่วยุหรือเปล่า ค่าใช้จ่าย แนวทางการเรียนการสอน สื่อที่ใช้ บุคลากร จำนวนเด็กต่อห้อง สภาพแวดล้อม และอื่น ๆ

เขียนขึ้นมาก็ให้นึกถึงคนต่างจังหวัด เขาไม่สิทธิ์แม้จะเลือกเลย เอาแค่คำว่าใกล้บ้าน ก็เจ็บปวดพออยู่แล้ว แต่สำหรับคนกรุงกลับมีให้เลือกจนปวดหัว


เดือนตุลาคม คือ ช่วงปิดภาคเรียนเทอมต้น นั่นคือเวลาเดียวกับโรงเรียนเอกชนเริ่มมีการคัดสรรเด็กเข้าเรียนในปีการศึกษาใหม่ ยุทธการช่วงชิงที่นั่งเรียนให้เด็กก่อนเปิดเรียนเทอมสองนี้ดุดันมาก ทั้ง ๆ ที่กว่าจะเรียนก็อีกกว่า 6 เดือน ทั้ง ๆ ที่ พ.ร.บ.การศึกษาฯ ระบุไม่ให้มีการสอบสำหรับเด็กชั้นอนุบาล หรือ ประถม แต่ในทางปฏิบัตินั้น ต้องขยิบตาดำเนินการอย่างไม่กลัวผิดกฎหมาย


เหตุผลคือ ความต้องการเข้าโรงเรียนมีชื่อเสียงหรือดังหรือดีนั้นมีมากกว่าจำนวนที่เรียนในห้อง ค่าเล่าเรียนในโรงเรียนเอกชนอยู่ในช่วงเกือบ 30 , 000 บาทถึง 50 , 000 บาทต่อปี แล้วแต่การแบ่งชำระ หากเป็นโรงเรียนสองภาษาด้วยแล้ว รัฐกำหนดไว้ว่าไม่ควรเกิน 70 , 000 บาทต่อปี อีกเช่นกัน ในทางปฏิบัติมีกี่โรงเรียนกันที่เป็นตามข้อกำหนดดังกล่าว หรือหากค่าเรียนเป็นตามกำหนด ก็มักใช้เทคนิคพิเศษโดยการเพิ่มจำนวนเด็กต่อห้องเสีย เช่น กำหนดไว้ว่าสองภาษามีเด็กไม่เกิน 25-30 คนต่อห้อง ก็มักเพิ่มเป็น 35-40 บ้าง เช่นนี้โรงเรียนเอกชนก็ได้ผลกำไรจากส่วนต่างจำนวนนักเรียนที่ไม่ต้องเปิดห้องเรียนเพิ่ม ผลที่ตามมาก็ไม่ต้องเพิ่มจำนวนบุคลากรที่ต้องดูแลต่อห้อง ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเปิดห้องเรียนใหม่ วัสดุอุปกรณ์การเรียนอีก ทั้งนี้ยังไม่กล่าวถึง เงินแปะเจี๊ยะ หรือเงินกินเปล่า หรือเงินบริจาค ที่ต้องชำระก่อนเข้าเรียนของเด็ก ๆ ในกรณีที่ต้องการให้เรียนโดยผ่านหรือไม่ผ่านการสอบเข้า จำนวนเงินเท่าที่ทราบก็ลดหลั่นกันไปตามแต่ฐานะและความเข้มข้นในความต้องการเข้าเรียน มักเป็นตัวเลขตั้งแต่สามหมื่นขึ้นไปจนถึง หลักแสนบาททีเดียว


มาในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม ก็เป็นยุทธการการแย่งชิงที่นั่งของอีกกลุ่มโรงเรียน นั่นคือ โรงเรียนเครือสาธิต ในสังกัดโรงเรียนของรัฐบาล แต่ต่างสังกัดย่อยก็เป็นที่นิยมในประชาชนอีกเช่นกัน ในขณะที่โรงเรียนมีที่นั่งให้เรียนสำหรับบุคคลภายนอก ประมาณ 100-150 คนต่อปีต่อโรงเรียน และในขณะที่ผู้ต้องการเข้าเรียนมีถึง 2,000-2,500 คน


ถ้าเทียบอัตราส่วนแล้ว การแข่งขันนี้ดุเดือดไม่แพ้การสอบเข้ามหาวิทยาลัยหรือเอ็นทรานซ์ของเด็กมัธยมปลายนั่นเอง แต่นี่เป็นการสอบเข้าประถม 1 ซึ่ง พ.ร.บ.การศึกษาฯ ปี 44 ระบุห้ามมีการสอบ ทางโรงเรียนก็เลี่ยงด้วยการสอบอย่างอื่นที่ไม่ใช่การสอบข้อเขียนในนิยามของโรงเรียน เช่น สอบความพร้อม สอบเชาวน์ และสารพัด ถามว่านี่คือ การสอบหรือไม่ คำตอบก็คือ การสอบนั่นแหละ ตามหลักการ ส่วนตัวยังเห็นว่าการให้มีการจับฉลาก ดูจะเป็นการยุติธรรมมากกว่า เพราะในหลักการของคณิตศาสตร์การจับฉลาก ก็คือการสุ่มตัวเลขที่มีความยุติธรรมอยู่แล้ว โดยไม่ต้องเลือกหน้าตาผู้ปกครอง หรือเลือกฐานะของผู้ปกครอง


หลายคนที่ไม่มั่นใจในศักยภาพของลูกตัวในการ เอ็นทรานซ์ฟันน้ำนม นี้ ก็มักหาวิธีการอื่น เช่น ตัวเลือกในการเป็นผู้มีอุปการคุณต่อโรงเรียน ในลักษณะเงินบริจาค เป็นเรื่องน่าขันยิ่งนัก ที่ได้มีการเปลี่ยนนิยามของการบริจาค เป็นการหวังผลตอบแทนอยู่ในที ทั้ง ๆ ที่การบริจาคตามพจนานุกรมหาใช่นิยามนี้ไม่ หรือร้ายยิ่งไปกว่านั้น บางท่านเลือกจะสมัครงานหรืออยู่ในหน่วยงานของมหาวิทยาลัยต้นสังกัดของโรงเรียนสาธิต เพื่อให้ลูกได้มีสิทธิ์ในการเรียนในเงื่อนไขของการเป็นบุคลากรของโรงเรียนแทน


พูดถึงค่าใช้จ่ายในโรงเรียนสาธิตไม่สะพัดนักและไม่ดุดันเท่าโรงเรียนเอกชน แต่ก็มีให้เห็นทั้ง ๆ ที่รัฐระบุให้เรียนฟรี ก็ฟรีเฉพาะค่าเล่าเรียนในนิยามของโรงเรียน แต่ความเป็นจริงก็เลี่ยงใช้ศัพท์คำอื่นแทนในการชำระ เช่น ค่าอุปกรณ์การเรียนบ้าง ค่าใช้บริการคอมพิวเตอร์ ค่าใช้บริการภาษาต่างประเทศ ซึ่งทั้งหมดก็อยู่ในหลักหมื่นอีกเช่นกัน


ยุทธการสุดท้าย ในราวเดือนเมษายน คือ ยุทธการแย่งชิงที่นั่งของโรงเรียนในสังกัด กทม. และ รัฐบาล ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับเขตพื้นที่การศึกษา มีการแบ่งกลุ่มการเข้าไว้ หากเป็นประถม ก็มักจะจับฉลากเอา หากเป็นมัธยม ก็มีทั้งที่เดินเข้าไปหรือ Walk-in กรณีเป็นเขตพื้นที่ของโรงเรียน หากเป็นเขตนอกพื้นที่ก็มีเงื่อนไขการสอบโดยใช้ข้อสอบกลาง หรือ เอ็นที เข้ามาเกี่ยวข้อง หรืออีกหลายเงื่อนไขที่โรงเรียนระบุ เป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่ต้องทำการศึกษาให้ถ่องแท้ก่อนนำเข้า ยุทธการนี้ก็มีปรากฏการณ์หลายอย่างของผู้ปกครองในการช่วงชิง เช่น ย้ายทะเบียนบ้านบ้าง วิ่งเต้นนำเงินบริจาคให้โรงเรียนบ้าง หรือวิ่งเต้นระดับผู้ใหญ่ที่อยู่กระทรวง เป็นต้น


อีกเช่นกันค่าเรียนไม่ฟรี แต่ก็เสียในราคาไม่สูงนัก ระดับประถมอยู่ในราวหลักร้อยถึงพัน ระดับมัธยมก็อยู่ในราวหลักพันถึงหมื่น


ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ โรงเรียนอีกรูปแบบหนึ่งคือโรงเรียนนานาชาติก็เปิดรับเช่นกัน โรงเรียนแนวนี้ไม่มีปัญหาการช่วงชิงที่ดุเดือดนัก เพราะหากคุณมีเงินชำระค่าแรกเข้า หลักแสน ค่าเล่าเรียน หลักหลายแสน คุณก็เข้าเรียนได้ไม่มีปัญหา


ที่ใดมีการสอบแข่งขันที่ดุเดือด ที่นั่นก็มักมีสถาบันกวดวิชาตามมาเป็นดอกเห็ดเช่นกัน แต่ที่น่าสังเวชก็คือ บางที่เป็นการสอบสำหรับเด็กอายุเพียง 5-6 ขวบเท่านั้น ซึ่งยังไม่เดียงสานัก ธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่า สถานที่กวดวิชา ที่ติวสอบ ชีทติว ถูกวางเรียงขายอย่างเป็นล่ำเป็นสัน เพียงเพื่อต่อยอดความมุ่งหวังของผู้ปกครอง ทั้งโรงเรียนเอกชนมีชื่อและโรงเรียนรัฐที่มีชื่อ ซึ่งสุดท้ายผู้ปกครองอีกนั่นแหละเป็นผู้จ่ายเงินเหล่านั้น


 โอ้ การศึกษาระดับรากหญ้า อนิจจา พ่อหนูแม่หนูของพวกเรา


กล่าวโดยสรุป การศึกษาเป็นบริการพื้นฐานของรัฐที่ต้องนำพาให้กับประชาชนทุกคนโดยไม่แยกเชื้อชาติตามรัฐธรรมนูญ แต่ตามสภาพความเป็นจริงการศึกษาที่รัฐหยิบยื่นให้กับประชาชนมีความไม่เท่าเทียม และขาดมาตรฐานสากลในทุกด้าน ทั้งด้านหลักสูตร สื่อการเรียนการสอน บุคลากรที่มีคุณภาพ สภาพแวดล้อมที่สะอาด ครบถ้วนสมบูรณ์ ดังนั้นจึงเท่ากับเปิดช่องว่างให้ภาคเอกชนต้องช่วยเหลือตนเองในการแสวงหาความพร้อม ความสมบูรณ์ให้กับบุตรหลาน และเปิดช่องโหว่ให้ภาคเอกชนในระดับองค์กรสร้างโรงเรียนเพื่อชดเชยความต้องการของประชาชนดังกล่าว ความมีชื่อเสียงของโรงเรียนเอกชน พร้อมกับระบบอุปถัมภ์ของโครงสร้างทางสังคม บ่งชี้ให้หลายคนยอมทุ่มทุกสิ่งทุกอย่างทั้งเงินทอง และสินทรัพย์อื่น ๆ เพื่อให้ลูกหลานได้มีที่ยืนในสังคม ได้มีที่หายใจในสังคมการทำงานต่อไป เมื่อต้องเร่งระดมสรรพกำลังทั้งมวลเพื่อการศึกษา จึงทำให้ขาดเวลาในการดูแลเอาใจใส่บุตรหลานด้วยตนเอง มักใช้ทางเลือกอื่น เช่น พี่เลี้ยง เนอสเซอรี่ หรืออื่น ๆ เข้าทำหน้าที่แทน เด็กไร้ความอบอุ่น ความเข้าใจจากพ่อแม่ ครอบครัวไร้ความเข้มแข็ง ปัญหาสังคมจึงเกิดมากมาย


ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะหันมาใส่ใจในเรื่องเหล่านี้ทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ท่านได้ทำอะไรไว้ให้กับสังคม ที่ทำให้เกิดทางลัดมากมายในทุกองคาพยพของการศึกษาไทย ที่ทำให้เงินทองเดินสะพัดมากมายยิ่งกว่าการลงทุนในตลาดเงินเสียอีก เพราะขึ้นชื่อว่าพ่อแม่แล้ว กับการศึกษาเขายอมทุ่มโดยไม่สามารถต่อรองได้เลย มองในทางกลับกัน หากทั้งภาครัฐและเอกชนในระดับองค์กร ใส่ใจการศึกษาอย่างจริงจัง น้อมนำการศึกษาระดับรากหญ้าถึงระดับมหาวิทยาลัยอย่างมีคุณภาพ เท่าเทียม และทั่วถึง แน่นอนความเจริญของประเทศไม่หนีหายไปไหน


หรือ นี่เป็นกลยุทธ์ในการเพิ่มจีดีพีทางเศรษฐกิจของรัฐ ?