Skip to main content

กิจกรรมเสริมหลักสูตร

คอลัมน์/ชุมชน

Howard Gardner นักจิตวิทยาของโลกได้ตั้งทฤษฏีพหุปัญญา หรือ (Multiple Intelligence ไว้ว่า สติปัญญาของมนุษย์มีความหลากหลาย และมีประมาณ 8 ด้านที่มนุษย์แต่ละคนมีไม่เหมือนกัน กล่าวคือ (จาก http://www.infed.org/thinkers/gardner.htm)


ความสามารถด้านภาษา (Linguistic Intelligence) คือความสามารถสูงในการใช้ภาษา ไม่ว่าจะเป็นการพูด การเขียน การสื่อความเข้าใจของผู้คนโดยใช้ภาษา เช่น นักภาษาศาสตร์ต่าง ๆ


ความสามารถด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ (Logical-Mathematical Intelligence) เป็นความสามารถในการใช้ตัวเลข ในการใช้ตรรกะในการวิเคราะห์ทั้งนามธรรมและรูปธรรม เช่น นักคณิตศาสตร์


ความสามารถในด้านมิติสัมพันธ์ (Spatial Intelligence) คือความสามารถสูงในการมองเห็นพื้นที่ มิติต่าง ๆ ในภาพแต่ละภาพในมุมแต่ละมุม เช่น นักสถาปัตยกรรมศาสตร์


ความสามารถในด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Bodily kinesthetic Intelligence) คือความสามารถสูงในการใช้ร่างกายของตนตามแต่สมองจะสั่งการได้ เช่น นักกายกรรม นักกีฬา


ความสามารถในด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence) คือความสามารถสูงในการเข้าใจอารมณ์ความรู้สึก ความคิดและเจตนาของผู้อื่น รวมทั้งมีการตอบสนองได้อย่างดี


ความสามารถในด้านการเข้าใจตนเอง (Interpersonal Intelligence) คือความสามารถสูงในการรู้จักตนเองและสามารถประพฤติตนได้จากความรู้จักตนนี้


ความสามารถในด้านธรรมชาติวิทยา (Naturalist Intelligence) คือความสามารถในการรู้จักธรรมชาติของพืชและสัตว์


ทั้งแปดด้านของความสามารถดังกล่าว ส่งผลสะเทือนในวงกว้างโดยเฉพาะแวดวงการศึกษา โดยสามารถทำให้มุมมองของครูต่อเด็กเปลี่ยนไป ซึ่งในอดีตมักจะมองว่า เด็กที่เก่งมักเป็นเด็กที่เรียนวิชาการเก่งเท่านั้น อีกทั้งสามารถทำความเข้าใจอัจฉริยภาพของอดีตผู้มีชื่อเสียงในด้านต่าง ๆ ได้ดีขึ้น และสามารถส่งเสริมการบริหารการใช้สมองสองซีกของมนุษย์ได้อย่างสมดุล พ่อแม่หลายคนเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า เด็กแต่ละคนนั้นมีศักยภาพที่แตกต่างกัน ฉะนั้นการส่งเสริมก็ย่อมแตกต่างกันเช่นกันด้วย


เหลียวกลับมามองที่ไทย การศึกษาที่เอื้อเพื่อศักยภาพของเด็กที่แตกต่างกันยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมนัก แต่พ่อแม่หลายคนก็เริ่มมองหาและส่งเสริมให้เด็กได้ออกมาแสดงศักยภาพดังกล่าว อย่างน้อยก็จะได้ทำให้เด็กมีความสุขและเห็นคุณค่าในศักยภาพที่ตนมีอยู่ ทั้งหมดจึงออกมาในรูปของกิจกรรมเสริมหลักสูตร


กิจกรรมเสริมหลักสูตร หรือการเรียนพิเศษ ชวนให้คิดว่า ทำเพื่อเด็กหรือทำเพื่อผู้ใหญ่กันแน่ เพราะเท่าที่ทราบ เมื่อเริ่มเข้าเรียนได้ไม่ถึงอาทิตย์ก็มีการเรียนพิเศษที่จัดโดยโรงเรียนแล้ว มีทั้งเรียนเวลาเย็นหลังเลิกเรียน หรือวันเสาร์อาทิตย์ แทบจะมีทุกเนื้อหาวิชา ทั้งคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ กิจกรรมเข้าจังหวะ เต้นรำ ดนตรี กีฬา ศิลปะ วาดภาพ และอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งการบ้าน ซึ่งชื่อก็บอกว่าทำที่บ้าน แต่จ้างครูสอนทำที่โรงเรียน มีทั้งในสถานที่และนอกสถานที่ มีทั้งจัดโดยองค์กรเอกชน ทั้งครูภายในโรงเรียน หรือ ส่วนตัวครูที่มีชื่อเสียงต่าง ๆ


มูลเหตุที่พอจะประมวลได้น่าจะมาจากสองสามประการ ประการแรกคงมาจากผลสะเทือนของทฤษฏีดังกล่าวด้วยส่วนหนึ่ง เนื่องจากความต้องการของพ่อแม่ที่ต้องการดึงศักยภาพของลูกออกมาให้เห็นนั่นเอง อีกประการหนึ่งคือ ผู้ปกครองไม่มีเวลา เด็กมักเลิกเรียนในเวลาบ่ายสอง ซึ่งไม่ใช่เวลาเลิกงานของพ่อแม่ ดังนั้นเพื่อความสะดวก พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็ซื้อเวลาที่โรงเรียนเพื่อเพิ่มความรู้ให้บุตรหลานไปในตัว เหตุเพราะเป็นครอบครัวเดี่ยว ที่มักไม่มีผู้ใดอยู่ที่บ้านเพื่อรองรับเด็กกลับจากโรงเรียน ซึ่งก็เป็นเงื่อนไขที่สอดรับกับโรงเรียนในอันที่ต้องการเพิ่มรายได้ให้บุคลากรในโรงเรียนในทางหนึ่งด้วย


สาเหตุอีกประการหนึ่งคือ พ่อแม่ไม่มีภูมิความรู้ หลายคนจบการศึกษาไม่ตรงกับที่เด็กเรียน หลายคนไม่มีความมั่นใจในตัวเองที่จะสอนลูก เกรงสร้างความสับสน เกรงสร้างภาระให้ตนเองในการเตรียมสอนลูก หรือ เกรงลูกไม่ทันเพื่อน เพราะคิดว่า คนอื่นเขาเรียน ฉันมีเงินส่งลูกเรียนฉันก็ส่งเรียนบ้าง


สาเหตุในข้อแรกในเรื่องของเวลาของผู้ปกครองเป็นเรื่องน่าเห็นใจ ซึ่งหากรัฐบาลได้ใส่ใจในคุณภาพชีวิตของประชาชนบ้าง ควรมีมาตรการรองรับเพื่อเอื้อครอบครัวให้มากขึ้น อาจโดยการตั้งหน่วยงานพิเศษดูแลลูก ๆ ของพนักงานทั้งของรัฐหรือเอกชนโดยอยู่ภายในหน่วยงานต่าง ๆ ที่พ่อหรือแม่ทำงานอยู่ ด้านหนึ่งเป็นการลดภาระพ่อแม่และความห่วงใยของพ่อแม่ที่ลูก ๆ ต้องอยู่ไกลตาออกไป และเพิ่มขวัญกำลังใจในการทำงานให้กับพ่อแม่ พร้อมทั้งเพิ่มความภักดีต่อหน่วยงานที่พ่อแม่นั้นทำงานอยู่ด้วย


อีกประการหนึ่งที่ขอนำเสนอก็คือ หากโรงเรียนเห็นว่าหลักสูตรนอกเวลานั้นมีประโยชน์จริงก็ควรนำเข้ามาสอนในหลักสูตรเสียเลย อาจออกมาในรูปของวิชาเลือกให้เด็กได้เลือกเรียนตามความต้องการ ตรงนี้นับเป็นการเพิ่มมูลค่าเพิ่มให้กับโรงเรียนและผู้ปกครองไปในตัว ผู้ปกครองจะได้ไม่ต้องนั่งทำงานนอกเวลาจนไม่มีเวลาดูแลลูกเพียงเพื่อหาเงินมาให้ลูกเรียนพิเศษ สังคมโดยรวมจะดูงดงามกว่านี้


แต่หากมูลเหตูการส่งลูกเรียนพิเศษ เพราะพ่อแม่ขาดภูมิความรู้หรือกลัวไม่ทันเพื่อนนั้น คงต้องมาทำความเข้าใจร่วมกันสักนิดถึงแก่นของการเรียนรู้ที่ถูกต้อง


การเรียนรู้ ไม่ใช่เรื่องของการสอนที่ผู้ให้ความรู้จะต้องรู้ทุกอย่างเหนือผู้เรียนเสมอไป ผู้สอนอาจมีความรู้น้อยกว่า หรือเท่าเทียมผู้เรียนได้เสมอ เพราะไม่มีใครในโลกรู้หมดทุกเรื่อง การเรียนรู้สำคัญอยู่ที่การสร้างทัศนคติการใฝ่รู้ รักการค้นคว้า มากกว่าเนื้อหาที่ต้องเรียน และยิ่งไม่ต้องห่วงในเนื้อหาเลย เพราะความรู้เรียนทันกันได้ แต่การสร้างกระบวนการเรียนรู้ กระบวนการคิดที่เป็นระบบการคิดเป็นสำคัญกว่า และยิ่งผู้ให้ความรู้เป็นผู้ให้กำเนิดเขาด้วยแล้ว การเรียนรู้จะมีความหมายมากยิ่งกว่าใคร เพราะเป็นเรื่องของการถ่ายเทความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ ระหว่างกัน ไปพร้อม ๆ กับการสอนเนื้อหาความรู้นั่นเอง


ผู้เขียนเคยพบพ่อแม่หลายท่านให้ลูกเรียนพิเศษจนเป็นอาชีพ คือทั้งเวลาเย็นหลังเลิกเรียน ทั้งวันเสาร์อาทิตย์ จนเด็กไม่มีเวลาเป็นส่วนตัว ไม่มีเวลาพักผ่อน อย่างนี้น่าเป็นห่วงมาก เพราะนั่นเท่ากับท่านฝากความหวังให้กับผู้อื่นในการอบรมลูกของท่าน และเท่ากับผลักไสให้ลูก ๆ ห่างจากตัวท่านไปเรื่อย ๆ พร้อมกับความเหนื่อยล้า และความไม่พร้อมในการเรียนในหลักสูตรปกติแทนที่ ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดีกับเยาวชนของชาติสืบไป การเรียนเพื่อแข่งขันกับผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา จะทำให้เกิดแรงกดดันและไม่มีความสุขในการเรียน แต่การเรียนรู้ที่มุ่งแข่งกับตนเองน่าจะส่งเสริมให้เกิดทัศนคติต่อการเรียนรู้อย่างยั่งยืนมากกว่า


ขอเถอะ ขอให้ตั้งอยู่ในความพอดีกับวัยของเด็ก และเงินพร้อมความเข้าใจจะไม่หนีห่างไปไหน และจงเชื่อเถอะว่า เด็กที่ไม่เก่งอะไรเลยก็มีความสุขในสังคมได้