Skip to main content

เพศศึกษา เริ่มอย่างไร

คอลัมน์/ชุมชน

ด้วยอานิสงค์จากผู้ร่วมชุมชนประชาไท "คุยเฟื่องเรื่องศึกษา" ช่วยกันตั้งประเด็นในการพูดคุยภายในชุมชน ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจกับผู้เขียนในการค้นคว้าเนื้อหาในการนำเสนอในประเด็นนี้ ซึ่งก็ได้พบความพยายามของครูหรือนักการศึกษาหลายท่านได้ให้เนื้อหา และวิธีการสอนโดยคร่าว ๆ ดังนี้


หลักสูตรใหม่นี้ เราจะให้เด็กเรียนใน 6 หัวข้อหลัก คือ เรื่องพัฒนาการทางเพศของมนุษย์ ความสัมพันธ์ พฤติกรรมทางเพศ สุขอนามัยทางเพศ ทักษะที่จำเป็นต่อชีวิต และสังคมและวัฒนธรรม กระจายไปตามชั้นเรียนในเวลา 12 ปี ตั้งแต่ประถมจนถึงมัธยมปลาย


อย่าง ป.1-ป.3 จะเรียนแค่รู้ว่า อวัยวะแต่ละส่วนของร่างกายมีชื่อเรียกและมีหน้าที่อย่างไร ให้เขาได้รู้ความแตกต่างทางสรีระภายนอกของเด็กหญิงและเด็กชาย รับรู้ว่ามีอวัยวะสำหรับสืบพันธุ์ ผู้ชายจะมีองคชาติ มีอัณฑะ เมื่อก่อนเราไม่กล้าเรียก ส่วนผู้หญิงมีแคมใหญ่ แคมเล็ก ช่องคลอด มดลูก รังไข่ บอกอย่างตรงไปตรงมา


พอป.4 สูงขึ้น อายุ 9-12 ปี ก็ให้รู้และเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงของอวัยวะระบบสืบพันธุ์ทั้งภายใน และภายนอกเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น รับรู้ว่าทั้งเด็กชายและเด็กหญิงจะมีความรู้สึกที่ดี เมื่อได้รับการสัมผัสส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย


พอโตสู่วัยรุ่น เขาจะต้องรู้และเข้าใจความเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคมระหว่างหญิงชาย รวมทั้งความแตกต่างของบุคคลในเรื่องสรีระ เพราะในวัยนี้ เขาจะเริ่มมีวุฒิภาวะ เริ่มคบเพื่อนต่างเพศ เราก็เริ่มสอนเรื่องความเป็นเพื่อน ตลอดจนเรื่องความรักความใคร่มันต่างกันยังไง เพราะผู้หญิงมักจะคิดในเชิงโรแมนติก ความรักหวานแหวว ในขณะผู้ชายก็หวังจะฟันลูกเดียว


เราจึงต้องให้ผู้หญิงรู้จักระวังเนื้อระวังตัว ระวังความผิดปกติที่มันจะพัฒนาจนไปถึงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันสมควร …...


และได้กล่าวถึงวิธีการสอนดังนี้..
ปัจจุบันเรื่องนี้เปิดกว้างขึ้นเยอะ เพราะหลายฝ่ายช่วยกันรณรงค์ให้เห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมชาติ ครูหลายคนก็สนใจ เราก็จะอบรมครูทั้งในเรื่องเนื้อหา ความรู้ความเข้าใจ วิธีการที่จะสื่อสารกับเด็ก อบรมการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ให้เด็กร่วมคิดร่วมทำ อบรมการเผชิญสถานการณ์ เช่น มีสถานการณ์อย่างนี้จะมีขั้นตอน 6-7 ขั้นตอนให้ครูรู้วิธีการที่ไปสื่อกับเด็ก เหมือนจะสอนวิธีการตกเบ็ด แทนที่เราจะให้ปลาเขา เราก็ให้วิธีการ ให้เครื่องมือไปตกเบ็ด ซึ่งจะมีรูปแบบต่าง ๆ เพราะครูแต่ละคนมีพื้นฐานที่ต่างกัน เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถมีวิธีการแบบสำเร็จรูปได้


เมื่อก่อนเราเคยให้แบบเรียนสำเร็จรูปไป แล้วก็เป็นแท่ง ๆ ตรง ๆ พอหมดจากแบบเรียนก็ไม่รู้จะสอนอะไร ตอนนี้เราก็เลยต้องสอนเครื่องมือให้กับครู ให้เป็นทักษะกระบวนการแทนที่จะให้ความรู้อย่างเดียว


การจะสอนในเรื่องนี้ ก่อนอื่นต้องรู้เขารู้เรา ครูกับนักเรียนต้องมาวางแผนร่วมกันว่า วันนี้จะเรียนอะไร และที่สำคัญคือ ครูต้องรู้ข้อมูลพื้นฐานของผู้เรียน จากแบบประเมินตนเอง แบบอะไรต่าง ๆ ให้เขาเช็ค หรือทำแบบสอบถาม เช่น เมื่อคืนมีอะไรบ้างที่ติดค้างอยู่ในใจ ให้เด็กเล่า แล้วครูวิเคราะห์ กระทั่งจำแนกได้ว่าใครสนใจเรื่องอะไร พอได้แล้ว ครูก็จะเอาข้อมูลเหล่านี้มาเริ่มสอน แบ่งกลุ่มตามความสนใจ


การสอนจึงต้องมีทั้งในห้องเรียน ตามลักษณะกิจกรรม และต้องสอนข้างนอกด้วยตามพฤติกรรมที่เราเห็น อย่างกรมวิชาการเคยทำวิดีโอชุดหนึ่ง โดยใช้ข้อมูลจากการเรียนและชีวิตจริง ๆ ของเด็กในโรงเรียน เราจะทำในลักษณะกลุ่ม ทุกวันพุธจะให้เขามาคุยกัน ลักษณะแบบเพื่อนช่วยเพื่อนหรือลักษณะผู้นำ ให้เด็ก 1 คน เป็นหัวหน้าทีมต่อเพื่อน 20 คน เขาจะมาคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นที่สนใจ เราก็ได้เรื่องมาทำวิดีโอ 10 เรื่อง อย่างมีเรื่องหนึ่ง เขามาเล่ากันว่า เด็กผู้หญิงรุ่นโตชวนเพื่อนรุ่นน้องไปทานข้าวกับผู้ชาย แล้วใส่ยาในอาหาร จนในที่สุด เด็กคนนั้นก็ไปขายตัว ในขณะบางคนก็มีท้องขณะเป็นนักเรียน ต้องออกจากโรงเรียน เหล่านี้เป็นปัญหาที่จะทำให้เด็กฉุกคิด


ปัญหาอย่างนี้ครูต้องเอามาเล่า และต้องสอนในสิ่งที่เด็กสนใจ สอนตามปัญหาที่เด็กมี บางทีเขาอยากรู้ แต่ไม่รู้จะไปถามใคร ถามพ่อแม่ก็ไม่ได้ ก็ต้องมาถามครู ซึ่งตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นครูวิชาสุขศึกษา ครูแนะแนว หรือครูประจำวิชาที่เข้าถึงเด็ก ทุกคนสามารถสอนเพศศึกษาได้ทั้งนั้น แต่จะต้องได้อบรมในการที่จะสอนเรื่องนี้อย่างแท้จริง ซึ่งการสอนก็จะมี 2 ลักษณะ คือสอนโดยตรงกับสอนสอดแทรกในเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง เช่น ศีลธรรม เราก็สามารถสอดแทรกเรื่องละเมิดศีลข้อ 3 ลงไปได้


เชื่อว่าวิธีการที่เราจัดวางหลักสูตรอย่างนี้ จะทำให้เด็กดีขึ้นทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม เพราะเขาจะรู้จักและเห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้น เด็กผู้ชายจะรู้จักเห็นอกเห็นใจเพื่อนผู้หญิง มีโอกาสก็จะไม่คิดฟันเขาท่าเดียว รู้จักมารยาท ในขณะที่เด็กผู้หญิงจะรู้จักคบเพื่อนอย่างเหมาะสม เพราะการที่เขาได้ฝึกทักษะการคิด การตัดสินใจ การแก้ปัญหาในกระบวนการเรียนการสอน มีผลที่ทำให้เขารู้จักตัดสินใจ รู้จักพูดคุยกับเพื่อน รู้จักปฏิเสธ การโน้มน้าวจิตใจ หรือการเบี่ยงเบนพฤติกรรมของเขาก็ย่อมจะดีขึ้น

จากข้างต้นในส่วนของเนื้อหาวิธีการสอนกลับไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะจากงานวิจัยต่าง ๆ เนื้อหาเรื่องเพศศึกษา มักไม่ต่างกันนัก ประเด็นสำคัญน่าจะอยู่ที่ทัศนคติหรือเจตคติของผู้นำเสนอข้อมูลเหล่านี้แก่เยาวชนต่างหากว่าควรเป็นอย่างไร เปรียบไปแล้วเหมือนการเรียนในระบบโรงเรียน ต่อให้หนังสือ หรือหลักสูตรมีความสวยงามประการใด แต่การนำเสนอกลับขาดความรอบด้าน ขาดความสอดคล้องกับผู้เรียน ขาดแรงกระตุ้นให้เด็กซึมซับทราบได้ หนังสือเหล่านั้นหรือหลักสูตรเหล่านั้นก็ไม่มีเสน่ห์ควรให้หยิบจับหรือนำไปปฏิบัติได้ไม่


ผู้เขียนเห็นว่า ต้องสร้างทัศนคติที่ดีต่อเรื่องเพศศึกษาให้กับผู้นำเสนอนี้เสียก่อน ทั้งในส่วนของพ่อแม่ผู้ปกครอง และครู เพราะหากครูหรือพ่อแม่ไม่กล้าแม้กระทั่งเอ่ยถึงอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ แต่กลับเรียกไอ้นั่นบ้าง อันนั้นบ้างแล้ว เรื่องราวที่ลึกซึ้งที่ยาวไกลไปถึงการจัดการปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ การเฝ้าระวังการท้องไม่พึงประสงค์ การรู้จักการปฏิเสธการมีเพศสัมพันธ์ในวัยอันควร การระวังภัย โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือโรคที่เกิดจากเพศสัมพันธ์อื่นก็แทบไม่ต้องพูดถึงกันเลยทีเดียว


ทัศนคติที่ถูกต้องของเพศศึกษามีอย่างไรบ้าง


เพศศึกษาเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องลี้ลับซับซ้อน เริ่มตั้งแต่การปฏิสนธิ จนกระทั่งเติบโตแล้วก็ตายในที่สุด เป็นเรื่องของความงามของมนุษย์ ซึ่งหากขาดการจัดการที่ดี ความงามก็จะกลายเป็นความเสื่อมในที่สุด


พศศึกษาเป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยให้ถูกกาลเทศะ นั่นคือ พูดเหมาะกับบุคคล เหมาะกับสถานที่ และเหมาะกับเวลา อีกทั้งต้องไม่ใช้วาจาที่หยาบคาย หรือสองแง่สองมุม ซึ่งหากไม่เหมาะสมด้วยทั้งสามประการแล้ว การพูดคุยก็ขาดความน่าเชื่อถือ ไม่สุภาพ หรือทะลึ่งในที่สุด


พ่อและแม่เป็นต้นแบบของเพศศึกษาที่ดี การสอนที่ดีบางครั้งไม่จำเป็นต้องพูด การเป็นต้นแบบที่ดีของการเป็นเพศชายของพ่อ รักและให้เกียรติเพศหญิงอย่างแม่ การไม่ข่มเหงน้ำใจ การช่วยเหลืองานในครอบครัว การไม่ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การไม่เที่ยวส่ำสอนทางเพศ เหล่านี้คือต้นแบบที่ลูก ๆมักจะนำมาประพฤติปฏิบัติตาม


พ่อและแม่เปิดโอกาสให้มีการพูดคุยเรื่องเพศศึกษาได้ในบ้าน เพราะบ้านคือแหล่งเรียนรู้แห่งแรกของลูก และบ้านเป็นแหล่งที่มีความปลอดภัยสูง ดังนั้น หากบรรยากาศการพูดคุยในเรื่องเพศศึกษาเป็นไปอย่างเปิดเผย จริงใจ ก็เท่ากับเป็นการสร้างทัศนคติที่ดีต่อลูกต่อไป อย่างน้อย เขาจะวางใจว่า เมื่อเขามีปัญหาแล้ว บ้านคือสถานที่แรกที่เขานึกถึง และพ่อแม่คือผู้ให้ความรู้กับเขานั่นเองในการปฏิบัติตนต่อเรื่องเหล่านี้ได้อย่างดีในสังคม เขาไม่จำเป็นต้องพึ่งความรู้นอกบ้าน จากเพื่อน หรือ สื่ออื่นๆ ซึ่งอาจผ่านหรือไม่ผ่านประสบการณ์จริง และอาจเป็นประสบการณ์ที่ไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมด้วยความไร้เดียงสาต่อการเผชิญปัญหา


หรือท่านผู้อ่านคิดเห็นอย่างไร