Skip to main content

ราคาของค่ารักษาพยาบาล

บางหน่วยงานมีความคิดที่จะจัดทำราคากลางของค่ารักษาพยาบาลโรคต่างๆเป็นรายโรค เช่น ผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบคิดกี่บาท เป็นต้น เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ชวนสนทนา


ร้านขายของติดป้ายราคาสินค้า ร้านอาหารมีเมนูบอกราคา ร้านขายรถประกาศราคารถยนต์ในหน้าหนังสือพิมพ์ เหล่านี้ให้หลักประกันและความสบายใจแก่ผู้บริโภค ทำให้มั่นใจมากขึ้นว่าอย่างไรๆก็ไม่ต้องจ่ายเกินราคาที่ประกาศไว้


แต่สิ่งที่ติดตามมาคือผู้บริโภคมักใช้ราคาสินค้าประเมินคุณภาพหรือคุณค่าของสินค้าด้วย ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม


นาฬิกาที่แพงกว่าน่าจะมีคุณภาพดีกว่าและ/หรือหรูเริดมากกว่านาฬิการาคาถูก อาหารที่ราคาแพงกว่าน่าจะมีคุณภาพและ/หรือปริมาณมากกว่า รถยนต์ราคาแพงก็เช่นกัน


นาฬิกาเรือนละห้าหมื่นบาทไม่เพียงมีคุณภาพดีกว่านาฬิการาคาสองร้อย แต่เพิ่มค่าให้แก่ผู้สวมใส่ด้วย เมนูพระกระโดดกำแพงชุดละหนึ่งหมื่นบาทย่อมไม่ธรรมดาเมื่อเทียบกับข้าวผัดกะเพราไข่ดาวจานละยี่สิบบาท รถยนต์คันละห้าแสนบาทแม้จะขับดีปลอดภัยแต่ความสะดวกสบายย่อมไม่เหมือนรถยนต์คันละล้าน


การติดป้าย "ราคา" จึงไม่ได้ทำหน้าที่เพียงสร้างหลักประกันและให้ความสบายใจผู้บริโภค แต่ยังนำมาซึ่งความหมายบางประการด้วย แม้ว่าบางครั้งของแพงมิได้แปลว่าของดี แต่หลายครั้งของแพงมักจะดีกว่า แม้ว่าจะให้อ็อปชั่นต่างๆนานาเกินจำเป็นมาด้วยก็ตาม


ลองจินตนาการว่าหากต้องเปรียบเทียบนาฬิกา 2 เรือน อาหาร 2 รายการ รถยนต์ 2 คัน โดยไม่ทราบและไม่คำนึงถึงราคา สมมติว่าโลกนี้ไม่มีเงิน เราจะใช้อะไรในการเปรียบเทียบคุณค่าของสินค้า จะมีคำตอบให้เลือกมากมายแล้วแต่ใครจะสนใจอะไร



หากเป็นนาฬิกา หลายคนจะคิดถึงความสวยงาม ความคงทน หรือประโยชน์ใช้สอย
หากเป็นอาหาร หลายคนจะคิดถึงความอร่อย ปริมาณ หรือคุณค่าทางโภชนาการ
หากเป็นรถยนต์ หลายคนจะคิดถึงความสวยงาม ความปลอดภัย หรือคิดถึงรถยนต์ในฐานะที่เป็นเครื่องมือบ่งบอกสถานะในสังคม


แต่เมื่อสังคมมีเงินบาท หลายคนจึงใช้ราคาเป็นตัวเปรียบเทียบเบ็ดเสร็จ โดยละเลยความต้องการที่แท้จริงของตนเองว่าที่แท้แล้วตนเองต้องการนาฬิกา กินอาหาร หรือซื้อรถยนต์ไปทำไม


กรณีนาฬิกา อาหาร หรือรถยนต์ เป็นกรณีตัวอย่างที่ผู้ประกอบการมิได้ผูกขาดความรู้เอาไว้แต่ผู้เดียว ที่แท้แล้วผู้บริโภคสามารถหาความรู้และตรวจสอบราคาด้วยตนเองได้เสมอ ทำให้ไม่ต้องหลงเชื่อคำโฆษณามากจนเกินไป

สำหรับ "ค่ารักษาพยาบาล" เมื่อเจ็บป่วยนั้นต่างกัน


การรักษาพยาบาลผู้ป่วยเป็นกิจกรรมผูกขาดที่กระทำได้โดยผู้ที่มีใบประกอบโรคศิลปะเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการผูกขาดองค์ความรู้มิให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงและเข้าใจได้โดยง่าย การกำหนดราคาค่ารักษาพยาบาลจึงก่อให้เกิดทั้งผลดีผลเสีย มิใช่มีเพียงผลดีเช่นการประกาศราคาสินค้าอื่นๆ

ผลดีเป็นผลดีระยะสั้น ผู้ป่วยสามารถประเมินค่าใช้จ่ายในการรักษาของตนเองได้ โรงพยาบาลสามารถใช้เป็นเครื่องมือให้ความสบายใจแก่ผู้ป่วยได้(ว่าท่านต้องเสียเงินประมาณเท่าไร)

อย่างไรก็ตามควรที่สังคมจะช่วยกันประเมินผลเสียด้วย


เป็นไปได้หรือไม่ว่าการประกาศราคาค่ารักษาพยาบาลจะทำให้การโฆษณาแข่งขันทางการแพทย์สามารถดำเนินไปได้โดยสะดวกมากขึ้น เช่น ผู้บริโภคสามารถรับทราบและเปรียบเทียบค่ารักษาพยาบาลของแต่ละโรงพยาบาลหรือเปรียบเทียบกับราคากลางก่อนการตัดสินใจ เป็นต้น


เป็นไปได้หรือไม่ว่าการประกาศราคาค่ารักษาพยาบาลจะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าการรักษาราคาแพงหมายถึงการรักษาที่ไฮเทค มีคุณภาพ และมีความปลอดภัยสูง เป็นต้น


เป็นไปได้หรือไม่ว่าการประกาศราคาค่ารักษาพยาบาลจะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าการรักษาที่ราคาถูกหมายถึงการรักษาด้วยวิธีธรรมดาเกินไป ด้อยคุณภาพ และมีความเสี่ยงสูง เป็นต้น


ข้อสุดท้ายสำคัญที่สุด ของที่มีการกำหนดราคามักสร้างความคาดหวังให้แก่ผู้ซื้อโดยไม่รู้ตัว ของยิ่งแพงความคาดหวังยิ่งสูง เมื่อผู้บริโภคจ่ายแพงก็ต้องการการรับประกัน ทำให้การรักษาพยาบาลกลายเป็นสินค้าที่ต้องมีใบประกันเฉกเช่นเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป เป็นต้น


แต่ความจริงแล้ว การรักษาพยาบาลเป็นกิจกรรมที่มีตัวแปรซ่อนอยู่อย่างซับซ้อน ทำให้ไม่สามารถบอกได้โดยง่ายว่าของแพงต้องดี ของถูกต้องไม่ดี และไม่มีใครที่สามารถออกใบรับประกันให้ใครได้ ดังนั้นการประกาศราคากลางว่าการรักษาโรคนั้นควรมีราคาเท่านั้น การการรักษาโรคนี้ควรมีราคาเท่านี้ จึงอาจจะไม่ก่อประโยชน์อะไรให้แก่สังคมมากนัก ในทางตรงข้ามกลับไปลดคุณค่าของกิจกรรมที่มีความหมายทั้งทางวิชาชีพและจิตวิญญาณให้เหลือเป็นเพียงสินค้าที่ต้องมีใบรับประกันชนิดหนึ่ง


มิหนำซ้ำยังอาจจะเปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันตัดราคา(หรือโก่งราคา)กันโดยไม่จำเป็นอีกด้วย