Skip to main content

ภูมิคุ้มกันทางใจ

คอลัมน์/ชุมชน

เขียนบทความเกี่ยวเนื่องกับเรื่อง ความเก่ง มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกโรงเรียน และกิจกรรมการเรียนต่าง ๆมากมาย มาครั้งนี้น่าจะเป็นเรื่องของ ความดี และมีความสุข สมกับคำขวัญของกระทรวงศึกษาธิการที่มักพูดกรอกหูพวกเราพ่อแม่อยู่เสมอว่า ต้องสร้างให้เด็ก เก่ง ดี มีสุข กันบ้าง


มีผู้กล่าวว่า เด็กอายุเพียง 5 ปี ถ้าพ่อแม่ไม่สามารถควบคุมให้เป็นคนดีได้แล้ว แทบไม่ต้องนึกถึงอนาคตทีเดียวว่าเด็กคนนั้นจะเป็นเช่นไร คำพูดนี้สะท้อนว่า การปลูกฝังค่านิยมทางความคิดที่ดี หรือ คุณธรรม ควรอย่างยิ่งที่ต้องปลูกฝังแต่เยาว์วัย และในอนาคตข้างหน้า เด็กต้องประสบพบเจอสิ่งเลวร้ายมากมายที่ประเดประดังเข้ามาในชีวิต อะไรเล่าจะเป็นหลักประกันความมั่นคงของชีวิตที่เด็กต้องสร้าง อะไรเล่าที่จะเป็นภูมิคุ้มกันความชั่วร้ายที่จะมาแผ้วพาน ยิ่งโดยเฉพาะยุคนี้เป็นยุคที่โลกไร้พรมแดนด้วยแล้ว


เมื่อแรกเกิด เราพ่อแม่มักส่งเสริมให้ลูก ๆ ฉีดวัคซีนเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันเชื้อโรคนานาชนิดที่ร้ายแรงที่จ้องทำลายเด็ก ๆ เพียงเพื่อมิให้ติดเชื้อโรคจนยากเยียวยา หรือผจญกับความพิการหลากหลายรูปแบบ แต่ พ่อแม่หลายคนกลับหลงลืมการฉีดวัคซีนทางใจให้กับลูกหลานเพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคทางใจหลายโรค เช่น โรคความก้าวร้าว โรคนิยมความรุนแรง โรคเห็นแก่ตัว โรคบริโภคนิยม โรคนิยมเงินตราและอำนาจ และอื่น ๆ ทั้ง ๆ ที่ส่งผลอันตรายทั้งต่อตนเอง ครอบครัวสังคม และประชาชาติมากมายนัก


ภูมิคุ้มกันทางใจมีอะไรบ้าง


  การให้ความรักความเอาใจใส่ ซึ่งหากสร้างได้อย่างดีจะส่งเสริมให้เด็กมีจิตใจมั่นคง มองโลกในแง่ดี มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เด็กที่ได้รับความรักเต็มที่ มักจะสามารถมอบความรักนั้นให้กับผู้อื่นได้ จะเป็นคนไม่เห็นแก่ตัว เป็นคนสุขุม หนักแน่น ตรงข้ามหากไม่ได้รับตรงนี้ เด็กจะมองโลกในแง่ร้าย ไม่ไว้วางใจใครทั้งสิ้น จะขาดแคลนและโหยหาความรัก และพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อให้ได้มา


ให้โอกาสได้เล่น การเล่นในความหมายของผู้ใหญ่ก็คือการทำงานในความหมายของเด็กนั่นเอง การเปิดโอกาสให้เด็กได้เล่น ก็คือ การเปิดโอกาสความเป็นตัวของเขาเองให้ประจักษ์ในหมู่ผู้ใหญ่ เขาจะเห็นคุณค่าของตนเอง เห็นความสามารถของตนเอง มีความภาคภูมิใจตนเอง รับผิดชอบตนเองได้ ตัดสินใจเองได้ มีความรับผิดชอบสูง รับรู้กติกาการเล่น รับรู้การเป็นผู้นำและผู้ตาม มีอารมณ์ขัน สนุกสนาน ตรงข้ามหากไม่ได้รับการปลูกฝัง ก็จะเป็นคนที่ทำอะไรเองไม่เป็น คิดเองไม่เป็น ไม่ภูมิใจตนเอง สุดท้ายก็จะเป็นคนอ่อนไหวง่าย เชื่อคำพูดคนอื่นง่าย ๆ โดยไม่ไตร่ตรองให้ดี ไม่เคารพสิทธิผู้อื่น ไม่เคารพกฎกติกาทางสังคม


ให้รู้จักรอคอย อดทน และ อดกลั้น จะทำให้เด็กรู้จักควบคุมอารมณ์ตนเองได้ดี แม้มีสิ่งเร้าต่าง ๆ มากมายก็จะไม่ผลีผลาม มีความยับยั้งชั่งใจอย่างมีเหตุผล เคารพกฎเกณฑ์ของสังคม ตรงข้ามหากไม่ได้รับการปลูกฝัง ก็จะเป็นคนเอาแต่ใจตนเอง อารมณ์แปรปรวนง่าย ผิดหวังก็ฟูมฟาย ดีใจก็เริงร่า เครียดง่าย


เปิดโอกาสให้เด็กรู้จักการปรับตัว เผชิญ และแก้ปัญหาด้วยตนเอง เป็นการส่งเสริมให้เด็กรู้จักคิด พลิกแพลงเมื่อเจอปัญหา เด็กจะมีความมุ่งมั่นที่จะไปสู่ความสำเร็จ ไม่จับจด ตรงข้ามหากไม่ปลูกฝัง เด็กจะเป็นคนท้อแท้ง่าย ไม่มีความพยายามต่อสู้ปัญหา


รู้จักแบ่งปัน รู้จักช่วยเหลือและเข้าใจผู้อื่น เด็กจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้อื่น ทำให้ทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ง่าย ตรงข้ามหากไม่ได้รับการปลูกฝังจะทำให้เป็นคนเห็นแก่ตัว เป็นที่รังเกียจของผู้อื่น ไม่สามารถทำงานร่วมกับใคร ๆ ได้


ข้างต้นคือคำแนะนำจากกรมสุขภาพจิต ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยอย่างยิ่ง ในการรณรงค์ให้คนเป็นพ่อเป็นแม่เร่งปลูกฝังบ่มเพาะให้กับบุตรหลาน ทั้งนี้ต้องกระทำด้วยความเสมอต้นเสมอปลาย และใช้ตัวของพ่อแม่เองเป็น Presenter นั่นเอง


หากทำได้ดังนี้แล้ว การฝึกคุณธรรมด้านอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระเบียบวินัย การซื่อสัตย์ต่อตนเองและผู้อื่น การรู้จักอดออม มัธยัสถ์ การรู้จักใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ไม่ฟุ้งเฟ้อนิยมการบริโภคมากเกินตัว การเคารพสิทธิผู้อื่น ก็ไม่ยากเย็นอะไร


และไม่ว่าเศรษฐกิจจะเฟื่องฟูประการใด หรือเศรษฐกิจตกสะเก็ดย่อยยับ ล้วนไม่กระทบกระเทือนผู้มีคุณธรรม จริยธรรมดังว่าแม้เพียงเท่าปลายก้อย