Skip to main content

เก่ง ดี มีสุข

คอลัมน์/ชุมชน

คำขวัญสั้น ๆ ได้ใจความจากกระทรวงเสมา สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ปกครองและผู้เกี่ยวเนื่องกับการศึกษายิ่งนัก ความหมายโดยนัยแทบไม่ต้องแปลก็ได้ใจความ ดูเหมือนเป็นปณิธานที่แน่วแน่ในการสร้างเด็กไทยได้อย่างดีในยุคปฏิรูปการศึกษา และดูเหมือนจะสอดรับกับการสร้างสรรค์สังคมขององค์การต่าง ๆ มากมาย ที่ต้องการเด็กไทยในอนาคตอยู่ในรูปแบบเช่นใด


หลังจากพระราชบัญญัติปฏิรูปการศึกษากำเนิดในปี 2542 ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของการศึกษายิ่งนัก ดูเหมือนเยาวชนจะกลายเป็นพระเอกในแทบจะทุกบริบทที่รัฐกล่าวอ้างถึง แต่โดยความเป็นจริงเล่าเป็นเช่นไร


เก่ง อย่างที่ทราบ ๆ กันจากการสอบวัดผลระกับชาติ หรือ National Test หรือ NT พบว่าเกณฑ์เฉลี่ยของผลการสอบ 5 วิชาหลักทั่วประเทศ ทั้งระดับประถม และมัธยม อยู่ในระดับใกล้เคียง 25 เปอร์เซ็นต์ ตรงนี้สะท้อนให้เห็นภาพรวมความเก่งของเด็กไทยได้อย่างชัดเจนทีเดียวว่า ยังเก่งไม่พอ หรือ ระดับความสามารถทางวิชาการยังด้อยอยู่มาก


ี แม้ว่าจะมีความเก่งไม่มากนัก ก็ยังพยายามปลอบใจตนเองว่า ขอเป็นคนดีก็พอ แต่จากการประเมินสภาพสังคมของสำนักต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพัฒน์ หรือองค์การทางสังคมอื่น ๆ พบว่า เด็กวัยรุ่นไทย ติดยาเสพติด ติดโรคร้าย ติดเหล้า บุหรี่ และมีความส่ำส่อนทางเพศเพิ่มขึ้น หรือเด็กประถมถึงมัธยมลุ่มหลงกับเกมออนไลน์ ขาดคุณธรรม ขาดความยับยั้งชั่งใจสูง ตรงนี้เช่นกันแทบไม่ต้องกล่าวสิ่งใดให้มากความ


มีสุข จากข้างต้นเด็กที่จะเป็นคนดีได้นั้นมักต้องเป็นผู้มีความสุขในครอบครัวมาก่อน และครอบครัวนี่แหละเป็นทั้งตัวสร้างตัวเสริม และบั่นทอนในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ หากเด็กไม่มีความสุขในครอบครัว เขาก็จะไม่สามารถเป็นคนดีได้ทั้งต่อตนเอง ครอบครัว และสังคม ซึ่งในทางกลับกัน หากเขามีสุข เขาก็มักจะแบ่งปันสุขนั้นให้ครอบครัว และสังคมในคราวเดียวกัน


จากสภาพความเป็นจริงในสังคมดังกล่าว จึงเกิดคำถามขึ้นว่า กระทรวงเสมาได้ตระหนักถึงภาระการสร้างเด็กให้เป็นดังปรัชญาเบื้องต้นได้อย่างไร เป็นภาระอันใหญ่หลวง ซึ่งผู้เขียนเองไม่คิดว่า กระทรวงฝ่ายเดียวจะสามารถสร้างเด็กได้อเนกประสงค์ดังกล่าวได้ สำคัญที่ความร่วมมือของผู้ปกครองและครอบครัวเป็นรากฐานสำคัญ โดยมีโรงเรียนคอยช่วยส่งเสริม มิใช่เป็นแหล่งบั่นทอนศักยภาพของเด็ก


พ่อแม่หลายคนกล่าวว่า ไม่ได้คาดหวังอะไรมากกับลูก ขอเพียงลูกมีความสุขในการใช้ชีวิตก็เพียงพอ เป็นคำกล่าวที่ดูผิวเผินเหมือนปลงได้ และละทิ้งภาระสำคัญในการสร้างเด็ก สร้างชาติในที เพราะถามว่า เด็กชายชาวนาต่างจังหวัด ทำนาช่วยพ่อแม่ เขามีความสุขไหม ตอบว่า มี แต่เขาไม่มีการศึกษา นั่นคือ เขาไม่มีความรู้ ไม่มีความเก่ง แล้วเขาจะเป็นที่ต้องการของประเทศในการพัฒนาต่อไปหรือ สุดท้ายเขาก็ต้องถูกโกงจากพ่อค้าอยู่ร่ำไป โดยที่ไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำ


และบางคนก็กล่าวว่า ขอเพียงลูกเป็นคนดีก็เพียงพอแล้ว ถามว่า การเป็นคนดีแต่ไม่มีความสุขมีไหม ตอบว่า มี คือ ให้ทานเขาจนหมดตัว จนตัวเองเดือดร้อน เข้าข่ายชอบทำบุญจนไม่มีข้าวกิน อย่างนี้ถือว่า ไม่มีความสุข หรือเป็นคนดีของครอบครัว แต่ไม่เป็นคนดีของสังคม เช่น ทุกคนในครอบครัวมีความสุขตลอด มีเงินใช้คล่องตัวอยู่ตลอด แต่เงินเหล่านั้นได้มาจากการโกงการบริการในการทำธุรกิจ หรือ ดำเนินธุรกิจมอมเมาประชาชน เปิดบ่อน อย่างนี้ประเทศต้องการหรือไม่


และเช่นกันในมุมมองความความเก่ง บางคนมีความรู้สูง แต่พกพาความเห็นแก่ตัวมาด้วยอย่างสูงเช่นกัน อย่างที่ทราบกันในหมู่สังคมโดยทั่วไป อย่างนี้ก็ไม่เหมาะที่จะสร้างชาติต่อไป


ดังนั้น โดยทัศนะส่วนตัวของผู้เขียนเห็นว่า ทั้งสามคำ ข้างต้น คือ เก่ง ดี มีสุข ต้องสร้างไปพร้อม ๆ กัน ไม่สุดโต่งไปประเด็นใดประเด็นหนึ่ง กล่าวคือ ต้องสร้างให้เด็กมีความรู้ มีความใฝ่รู้ เพื่อเป็นเข็มทิศในการสร้างสรรค์ความดีต่อไปอย่างมีเป้าหมาย และสามารถทำให้ทั้งตัวเอง ครอบครัว พร้อมสังคมมีความสุขในคราวเดียวกันด้วย ไม่ใช่ เป็นคนดี แต่โง่ หรือ มีความสุขแต่เป็นภาระต่อสังคม


ปัญหาคือ ผู้ปกครองบ้านเมืองรับรู้ตรงนี้เพียงไรว่ามันสมควรเป็นวาระแห่งชาติเสียแล้ว ในการสร้างคน สร้างชาติโดยใช้การศึกษาเป็นธงนำ และพกพาความร่วมมือไปยังทุกครอบครัวให้ตระหนักชัดภาระอันใหญ่หลวงร่วมกันนี้ มิใช่โปรยยาหอม หลอกล่อ ด้วยคำขวัญวันเด็ก หรือ ของขวัญ ปีละครั้ง ไปวัน ๆ เพราะที่ผ่านมาในอดีตก็เป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า กี่ร้อยคำขวัญ กี่ล้านของขวัญที่ผ่านมา ไม่ได้ทำให้เด็กไทยดีขึ้นเลย..


ท้ายสุดนี้ขออำนวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกท่าน มีสติและพลังในการครองชีวิตต่อไปในปีใหม่และปีต่อ ๆ ไป แม้จะมีเรื่องร้าย ๆ ในปีลิงที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดนก ปัญหาภาคใต้ น้ำมันขึ้นราคา และ สึนามิ ก็ตาม