Skip to main content

สอนลูกทำการบ้าน ตอนที่ 1

คอลัมน์/ชุมชน

และนี่ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทั้งคุณพ่อและคุณแม่ยุคใหม่ประสบปัญหาในการดูแลสั่งสอนลูกเรื่องนี้ ได้มีการพูดคุยกันในชุมชน และได้ข้อสรุปร่วมกันในระดับหนึ่งในการหาแนวทางที่ดีในการประยุกต์ใช้วิธีสอนการบ้านให้กับลูก ทั้งนี้เพื่อการสร้างสรรค์สภาวะแวดล้อมที่ดีในการเอื้อต่อการศึกษาของลูก ผู้เขียนได้อ่านบทความชุดนี้ซึ่งเป็นของกระทรวงศึกษาสหรัฐอเมริกา ซึ่งเห็นว่าครอบคลุมเนื้อหาดี เหมาะกับการที่พ่อแม่จะนำไปประยุกต์ใช้ในแต่ละครอบครัว จึงขออนุญาตถอดความมาให้ได้อ่านกันในชุมชนแห่งนี้


บทความได้เกริ่นให้เห็นภาพรวมของการมีการบ้านสำหรับชีวิตนักเรียนในสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีทั้งด้านดีและด้านเสีย อันมีผลต่อทัศนคติของนักเรียนในระบบการเรียน อีกทั้งนักการศึกษาเองก็มีหลายกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการเรียนที่ต้องมีการบ้าน


100 ปีของการมีการบ้าน


ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เกิดแนวความคิดในการสร้างความเข้มแข็งทางด้านอารมณ์ โดยการทำแบบฝึกหัด ทั้งในด้านการฝึกความอดทนและพัฒนากล้ามเนื้อต่าง ๆ ของร่างกาย การบ้านจึงเป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้เพื่อการนี้ แต่ในปี 1940 มีการยกระดับการเรียนแบบท่องจำ (memorization) ไปสู่การเรียนแบบการแก้ปัญหา (problem solving) การบ้านก็เลยมีอันต้องถูกละเลยไป ด้วยเพราะถือว่า การทำการบ้านคือการทำซ้ำนั่นเอง


ในปี 1950 อเมริกาพบว่า การศึกษาขาดแรงจูงใจ ขาดประสบภาวการณ์เตรียมพร้อมในการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่นคอมพิวเตอร์ และเชื่อว่า การทำการบ้านจะช่วยทำให้เพิ่มความพร้อมในการเรียนรู้มากขึ้น


ปี 1960 นักการศึกษาและผู้ปกครองมองว่า การบ้านทำให้เด็กขาดทักษะทางสังคม ขาดการเรียนรู้นอกบ้าน และกิจกรรมที่สร้างสรรค์อื่น ๆ แต่ในปี 1980 การบ้านก็กลับมาในแวดวงการศึกษาอีกครั้งด้วยต้องการนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเสริมความเข้มแข็งให้การศึกษาที่อ่อนแอของอเมริกามากขึ้น และก็ต่อเนื่องเรื่อยมาจนปี 1990 ทั้งนี้เพื่อเพิ่มมาตรฐานการศึกษาที่ดีขึ้น


การบ้านควรมีหรือไม่


การบ้านมีข้อดีมากมาย สำหรับเด็กเล็ก ทั้งช่วยในเรื่องของการเพิ่มพูนความจำและความเข้าใจในการเรียนในห้องเรียนที่ผ่านมาในแต่ละวัน การบ้านช่วยเพิ่มทักษะการเรียนรู้ที่สามารถติดตัวเด็กไปตลอดแม้ว่าจะจบการศึกษาไปแล้ว มันสอนให้รู้ว่า ทุกที่ ทุกเวลา มีการเรียนรู้เสมอ ไม่เพียงแต่ในห้องเรียนเท่านั้น มันช่วยให้เด็กเรียนรู้ได้เพียงลำพังและมีความรับผิดชอบ กล้าลองผิดลองถูก และ สอนให้เด็กรู้จักการจัดการหรือบริหารเวลาในคราวหนึ่ง ๆ ด้วย


อย่างไรก็ตาม หากมีการให้การบ้านแก่เด็กอย่างไม่สอดคล้องเหมาะสม และขาดการดูแลอย่างใกล้ชิดย่อมนำมาซึ่งทัศนคติที่เป็นลบต่อการเรียน นักการศึกษาและผู้ปกครองห่วงในประเด็นนี้มากกว่าว่าการบ้านจะทำให้เด็กเบื่อหน่ายการเรียน เพราะใช้เวลาในการทำมากไป แต่การบ้านก็มีส่วนช่วยให้เด็กไม่ต้องใช้เวลากับเรื่องไร้สาระได้เหมือนกัน แต่การบ้านก็สามารถนำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง หากมีการทำโทษรุนแรงกรณีมีการละเลย หรือมีการติวเข้มมาก


นักการศึกษาและผู้ปกครองซึมทราบดีถึงประโยชน์ต่าง ๆ เหล่านี้ แต่ประเด็นที่น่าสนใจน่าจะมาจากการจัดการให้การบ้านนำประโยชน์สูงสุดมาสู่เด็ก ๆ และการจัดการที่ทำให้ข้อเสียน้อยที่สุด มากกว่า


แค่ไหนถึงเรียกว่าพอ


นักการศึกษาให้ความเห็นกรณีนี้ว่า ปริมาณการบ้านขึ้นกับอายุและทักษะของเด็ก สมาคมผู้ปกครองแห่งชาติของอเมริกาแนะนำว่า การบ้านสำหรับเด็กชั้นอนุบาลถึงชั้นประถม 2 จะก่อให้เกิดผลดีก็เมื่อใช้เวลาประมาณ 10-20 นาทีต่อวัน สำหรับชั้นประถม 3-ชั้นประถม 6 ควรใช้เวลาประมาณ 30-60 นาทีต่อวัน และในชั้นสูงขึ้นไป ก็สามารถใช้เวลามากกว่าประถม 6 แต่ไม่ต่อเนื่อง สมควรกำหนดเป็นช่วง ๆ ไปจะเหมาะกว่า ทั้งนี้การบ้านที่ส่งเสริมการอ่านสำหรับเด็กเล็กจำเป็นมากกว่าด้านอื่น


คำแนะนำดังกล่าวสอดคล้องกับงานวิจัยต่าง ๆ มากมาย โดยระบุว่า การทำการบ้านที่ใช้เวลาสั้น ๆแต่ถี่ ๆ ให้ผลดีกว่า การบ้านที่ใช้เวลามากแบบต่อเนื่องแต่น้อยชิ้น ทั้งนี้เพราะเด็กจะรู้สึกภาคภูมิใจในความสำเร็จของตัว อีกทั้งความสนใจของเด็กเล็กจะมีอยู่ในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น


ชนิดของการบ้าน
จุดประสงค์ของการบ้านมีหลายด้านด้วยกัน หนึ่งในนั้นคือ การฝึกฝนทักษะที่ต่อยอดจากการเรียนในห้องเรียน การบ้านเน้นการฝึกฝน (Practice) จะช่วยให้เด็กเรียนรู้และช่วยให้เด็กได้ทักษะเฉพาะด้านมากขึ้น การบ้านเน้นการเตรียมพร้อมบทเรียน (Preparation) ช่วยให้เด็กเรียนรู้สื่อการเรียนได้ดีขึ้นสำหรับการเรียนในวันรุ่งขึ้นส่งผลให้เด็กเรียนรู้ในห้องได้เข้าใจมากขึ้น


การบ้านเน้นการประยุกต์หรือต่อยอด (Extension) ช่วยให้เด็กสามารถประยุกต์ใช้ทักษะที่ตัวเองมีอยู่เดิมได้ดี ส่วนการบ้านเน้นบูรณาการ (Integration) ช่วยให้เด็กสามารถนำทุกทักษะที่มีอยู่มาประยุกต์ใช้ได้หมดและรอบด้าน เช่น การทำโครงงานต่าง ๆ ซึ่งต้องมีทั้งการทดลอง การบันทึกผลการทดลอง การเขียนรายงานสรุป พบว่า การบ้านวิชาคณิตศาสตร์ควรส่งเสริมให้มีในระดับชั้นสูงมากกว่าชั้นเด็กเล็ก


ผู้ปกครองช่วยเด็กได้อย่างไร


จากงานวิจัยพบว่า การเข้ามามีส่วนร่วมของผู้ปกครองมีส่วนสำคัญในการผลักดันต่อเจตคติของเด็กต่อการเรียนในทางที่ดีขึ้น อีกทั้งผู้ปกครองจะได้ซึมทราบกระบวนการเรียนการสอนของโรงเรียนโดยปริยายจากการบ้านของลูก ซึ่งเอื้อต่อการประสานความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและบ้านได้อย่างดีพร้อมทั้งนำไปสู่ความสำเร็จทางการศึกษาของลูกต่อไป


ในอีกด้านหนึ่ง การเข้ามามีส่วนของผู้ปกครองมากไปอาจนำมาซึ่งความวุ่นวายอยู่พอสมควร หากวิธีสอนของผู้ปกครองไม่สอดคล้องกับโรงเรียน ดังนั้นบทบาทตรงนี้ของผู้ปกครองต้องชัดเจนด้วย


งานวิจัยพบว่า หากเด็กมีปัญหาในการทำการบ้าน สมควรอย่างยิ่งที่ผู้ปกครองต้องให้ความสนใจอย่างใกล้ชิด ตรงข้ามหากเด็กไม่มีปัญหาในการทำการบ้าน ผู้ปกครองสมควรปล่อยให้เด็กได้ฝึกฝนทำการบ้านเพียงลำพัง


จากข้างต้น ท่านผู้อ่านจะได้ทราบว่า การบ้านเป็นวิถีทางที่ดีในการเพิ่มพูนทักษะการเรียนรู้ของเด็ก อีกทั้งการบ้านเป็นเสมือนสะพานเชื่อมความเข้าใจ ความร่วมมือของผู้ปกครองจากทางบ้านกับโรงเรียนได้อย่างดี เหตุเพราะอิทธิพลจากการบ้านนำมาซึ่งความสำเร็จของเด็ก นำมาซึ่งทัศนคติต่อโรงเรียนโดยเฉพาะการเรียนในระดับปฐมวัย


นอกจากนี้นโยบายการให้การบ้านของโรงเรียนก็ควรสอดคล้องกับทักษะที่เด็กมี และมีความยืดหยุ่นสูงด้วย ทั้งนี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการนำประโยชน์สูงสุดมาสู่เด็กและการเรียน พร้อมทั้งลดทอนข้อเสียต่าง ๆ ที่อาจมีเกิดขึ้นได้