Skip to main content

สอนลูกทำการบ้าน ตอนที่ 2

คอลัมน์/ชุมชน

ทำไมครูต้องให้การบ้าน


. เพื่อทบทวนและฝึกฝนบทเรียนในห้อง
. เพื่อการเตรียมพร้อมบทเรียนในวันต่อไป
. เรียนรู้การใช้เครื่องมือต่าง ๆ ในการศึกษา เช่น เอกสารอ้างอิงจากอินเตอร์เน็ต หรือ ห้องสมุด
. เป็นการต่อยอดวิชาที่เรียนต่อไป
. ประยุกต์ทักษะการเรียนรู้ภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ
. บูรณาการการเรียนโดยการรวบรวมหลายทักษะเข้าด้วยกันเพื่อสร้างงานต่าง ๆ เช่น หรือโครงงานวิทยาศาสตร์


นอกจากนี้การบ้านยังช่วยสร้างนิสัยการเรียนที่ดีและทัศนคติที่ดีโดย
. สอนการทำงานเป็นอิสระ คนเดียว
. เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ อีกทั้งเป็นการสร้างเนื้องานในการบริหารเวลาอีกด้วย
เหนือสิ่งอื่นใด การบ้านยังช่วยสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างครอบครัวและโรงเรียนอีกด้วย


ข้างต้นคือ บทสรุปของการมีการบ้าน และข้อดีต่าง ๆ มากมาย ในเมื่อจำเป็นต้องมีหรือควรมี ดังนั้น ต่อไปนี้จะเป็นเรื่องรายละเอียดในการทำการบ้านให้เป็นเรื่องของสะพานเชื่อมความเข้าใจระหว่างลูกกับพ่อแม่และโรงเรียน โดยพยายามดึงข้อดีที่มีอยู่ให้ปรากฏเด่นชัดขึ้นมา


การบ้านช่วยเด็กในการเรียนหรือ


การบ้านช่วยเด็กให้สามารถทำงานได้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ หากเนื้อหางานนั้นมีความหมายต่อเขา และได้รับคำติชมพร้อมคำแนะนำจากครูที่กำหนดการบ้านให้ งานนั้นควรมีการระบุจุดประสงค์ที่แน่ชัด มีคำสั่งงานที่ชัดเจน และสอดคล้องกับความสามารถของเด็ก เช่นนี้แล้วการบ้านจะพัฒนาทั้งความรู้ในเนื้อหาวิชาการและทักษะการเรียนอีกด้วย


ในชั้นเด็กเล็ก การบ้านช่วยในเรื่องการพัฒนาทักษะนิสัยที่ดีและทัศนะในเชิงบวกกับเด็กดังได้กล่าวแล้วข้างต้น สำหรับในชั้น ประถม 3- ประถม 6 เนื้องานของการบ้านไม่มากนักแต่มีความสม่ำเสมอจะช่วยได้มาก ขณะที่ชั้นมัธยมพบว่า เด็กที่ขยันทำการบ้านหรือทำได้มากกว่าเด็กที่ไม่ยอมทำการบ้านจะส่งผลให้ผลการเรียนดีขึ้น ผลการสอบได้คะแนนดีกว่าเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง


จำนวนการบ้านแค่ไหนจึงจะพอ


จำนวนการบ้านขึ้นกับอายุและทักษะของเด็ก โดยระบุว่า ชั้นอนุบาลถึงประถม 2 ควรใช้เวลาประมาณ 10-20 นาทีในการทำการบ้านในแต่ละวัน ชั้นประถม 3-6 จะทำได้ดีเมื่อใช้เวลา 30-60 นาทีในแต่ละวัน ส่วนในชั้นที่สูงกว่าก็สามารถให้การบ้านที่ใช้เวลามากขึ้นได้


ก่อนจะกล่าวในรายละเอียด เด็กต้องทราบว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญเสียก่อน หากเขารู้ว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ เขาก็จะพยายามทำให้สำเร็จนั่นเอง คุณสามารถแสดงออกได้เพื่อให้ลูก ๆได้ตระหนักถึงความสำคัญของการบ้านและการเรียน โดย


กำหนดเวลาในการทำการเป็นประจำสม่ำเสมอ


เวลาที่เหมาะสมก็คือเวลาที่ทั้งคุณและลูกสะดวก อาจจะหมายถึงเวลาหลังอาหารเย็น หรือบางคนอาจจะเริ่มเวลาหลังเล่นไปแล้วสักชั่วโมง อย่างไรก็ตามไม่ควรกำหนดเวลาทำการบ้านใกล้เวลานอน


สำหรับการเล่นนอกบ้าน เช่น กีฬา หรือ ดนตรี ควรมีความยืดหยุ่นพอสมควร กล่าวคือ หากประเมินแล้วพบว่าในบางวันการบ้านอาจต้องใช้เวลามากกว่าจะเสร็จ การต้องเบียดบังเวลาเล่นบ้างก็มีความจำเป็น เพราะต้องการแสดงให้ลูกเห็นว่า การบ้านมีความสำคัญสูงนั่นเอง


ในระดับอนุบาลอาจมีความจำเป็นที่ต้องนั่งเฝ้าเป็นเพื่อนในการทำการบ้านกับลูก ขณะที่ระดับประถมในบางวันอาจไม่มีความจำเป็นเนื่องจากเขาสามารถทำเองคนเดียวได้ อาจมีการบอกกล่าวว่า ควรทำการบ้านเวลาใด และควรเสร็จเวลาใดไว้ที่หน้าตู้เย็นหรือบอกกล่าวให้ลูกทราบล่วงหน้าก็ได้ ทั้งนี้ควรมีความยืดหยุ่นพอสมควรในการจัดเวลาต่าง ๆให้เข้าที่ให้เหมาะสำหรับแต่ละครอบครัว


จัดสถานที่


มุมในการทำการบ้านก็สำคัญ ควรเป็นมุมสงบ ไม่วุ่นวาย ไม่มีสิ่งกระตุ้น บางคนอาจจะว่า โต๊ะทำงานในห้องนอนก็ได้ หรือบางคนอาจจะบอกว่าโต๊ะในห้องครัว หรือมุมห้องนั่งเล่น เป็นต้น แต่ควรเป็นมุมที่มีแสงเพียงพอ


หรือเด็กบางคนอาจต้องการจัดมุมทำการบ้านให้ดูพิเศษออกไป เช่น อาจมีต้นไม้ อาจมีกระป๋องใส่ดินสอสวย ๆ หรือสติ๊กเกอร์ประดับประดาพอไม่ไห้ฉูดฉาดจนเกินไป ก็เป็นสิ่งที่พอรับได้


ขจัดอุปสรรคต่าง ๆ


ทีวีไม่ควรเปิด หรือ อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือควรปิดทิ้งไป หรือแม้แต่โทรศัพท์บ้าน หากจำเป็น เพราะเป็นการรบกวนการทำงาน


แต่ในเด็กบางคนกลับทำงานได้ดีเมื่อมีดนตรีเบา ๆ เป็นเบื้องหลัง แต่สำหรับเพลงที่มีคำร้องหรือ ทีวี ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะเปิดขณะทำการบ้าน เพราะพบว่าบางทีเด็กก็หลงใส่เนื้อเพลงเหล่านั้นเข้าไปในงานก็มี เป็นเรื่องตลกที่คุณครูหลายคนพูดถึงนะคะ


สำหรับครอบครัวใหญ่ที่มีญาติมากมาย อาจจำเป็นต้องบอกกล่าวให้เขาเล่นกันห่างออกไปจากสถานที่ทำการบ้านก็จะเป็นการดี


จัดเตรียมเครื่องมือให้พร้อม


เช่น ดินสอ ปากกา ยางลบ กระดาษ พจนานุกรม คลิ๊บหนีบกระดาษ แผนที่ กบเหลาดินสอ เครื่องคิดเลข เทป กาว กรรไกร ไม้บรรทัด ดินสอสี และอื่น ๆ อาจจะจัดเก็บไว้เป็นชุดพร้อมจะนำมาวางบนโต๊ะทุกเมื่อ เป็นต้น


อาจมีหนังสืออ้างอิงในการทำการบ้านหรือเว็บไซต์ต่าง ๆ ในคอมพิวเตอร์ ซึ่งควรจะตรวจสอบกับทางโรงเรียนหรือจัดหาเองก่อนวันทำการบ้านจริงไว้ก่อนเพื่อความสะดวก


เป็นต้นแบบที่ดี


แสดงให้ลูกเห็นว่าทักษะการเรียนเช่นนี้จะสร้างสิ่งที่ดี ๆ ต่อไปในชีวิตอนาคตเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เช่น รักการอ่านหนังสือ ค้นคว้าจากคอมพิวเตอร์ การเขียนรายงาน การส่งอีเมล การใช้คณิตศาสตร์ในเรื่องการวัดสิ่งต่าง ๆ การมีความมุมานะในการทำงานแต่ละชิ้น การเป็นคนช่างคิด ช่างสังเกต ช่างสงสัย และหาคำตอบในงานที่ทำ


หากเป็นไปได้ การเสริมการเล่นพร้อมความรู้เป็นเรื่องดีที่ต้องทำสม่ำเสมอ เช่น การใช้คำศัพท์ต่าง ๆ การใช้เกมคณิตศาสตร์ ถามไถ่เรื่องราวการเรียนต่าง ๆ ที่โรงเรียนบ้าง ที่พิพิธภัณฑ์บ้าง หรือการเดินซื้อของในห้างสรรพสินค้า


สนใจและให้ความสนใจ


ใช้เวลาในห้องสมุดเพื่อเตรียมการบ้าน หรือร่วมอ่านหนังสือบ่อย ๆ กับลูก คุยกับลูก ๆ บ่อย ๆ ถึงเรื่องเรียนในห้องวิชาต่าง ๆ คุณครูเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อน ๆ เป็นเช่นไร


ให้ความสนใจในกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการประชุมร่วมระหว่างครูและผู้ปกครอง การแสดงคอนเสิร์ต งานกีฬาสี งานรื่นเริงต่าง ๆ ตรงนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่า ทั้งโรงเรียนและบ้านต่างประสานงานกันเพื่อสร้างเสริมให้เขาเป็นคนดีมีศักยภาพ