Skip to main content

แต่งตัวให้คอมฯ ( ๒ ) - รู้ทันนอร์ตั้น

คอลัมน์/ชุมชน

























































































 

 

สวัสดีอีกครั้งหนึ่งครับ เพื่อน

 

ขอเปิดประชุมชมรมคนรู้ทัน .. เฮ้ยไม่ใช่ .. ขอโทษ .. ขอเปิดประชุม ชมรมคนแต่งคอมฯ นะครับ
เรื่องแจ้งเพื่อทราบ ใครไม่เข้าใจศัพท์เทคนิคที่ใช้ในคอลัมน์นี้ กรุณาย้อนไปอ่านตอนที่ ( ๑ ) ก่อน

 

วันนี้อากาศสดใส เราจะเริ่มการแต่งเครื่องคอมฯ ของเราด้วยของนิ่มที่เป็นของฟรี
ก่อนอื่นเพื่อนทุกคนจะต้องมีอุปกรณ์พร้อม คือมีคอมพิวเตอร์ ที่ใช้งานได้หนึ่งเครื่องพร้อมแผ่นแข็ง ( ฮาร์ดดิสค์ ) ที่ใช้เก็บโปรแกรมและข้อมูล เครื่องคอมฯ ของเพื่อนควรจะต้องได้ติดตั้งหน้าต่างแบบใดแบบหนึ่งไว้แล้ว หากไม่ได้ติดตั้งหน้าต่าง แต่ใช้ระบบนกเพ็นกวิ้นลงพุงแทน ( ระบบลีนุคส์หรือไลนัคส์ - แล้วแต่สำเนียงภาษาฝรั่ง ) ผมคงจะต้องขอให้เพื่อนมาช่วยเปิดคอลัมน์คู่ขนานเรื่องการแต่งตัวให้คอมฯ ในระบบนกเพ็นกวิ้น เพราะเป็นเรื่องที่ผมเองไม่มีประสบการณ์เลย ( ระบบแม๊คก็เช่นเดียวกัน )

 

คอลัมน์นี้จะบรรจุเรื่องราวสำหรับผู้ติดตั้งหน้าต่างเท่านั้น หน้าต่างที่ใช้จะเป็นหน้าต่างแบบใดก็ได้ ไม่ว่าแบบ ๙๕ ๙๘ " ฉันเอง " สองพัน เอ๊กสพี หรือ " แตรยาว " ( แต่หน้าต่างบานเกล็ดไม่เอานะ ) นอกจากนี้ผมเข้าใจว่าทุกคนคงจะได้ติดตั้งสำนักงานมาแล้วเช่นกัน เพื่อใช้ในการพิมพ์งาน เก็บข้อมูล ทำบัญชี หรือฉายภาพและข้อความประกอบการบรรยาย เป็นต้น

 

ผมจะไม่ถามเพื่อนว่าเพื่อนไปได้หน้าต่างและสำนักงานมาจากไหน ถ้าเพื่อนตกลงว่าจะไม่ถามคำถามเดียวกันกับผม

 

สุดท้ายผมหวังว่าทุกคนคงจะมีโปรแกรมล่องอินเตอร์เน็ต เช่น " อินเตอร์เน็ตเอ๊กซ์พลอเร่อ " ที่แถมมากับหน้าต่าง และมีโมเด็ม สายต่ออินเตอร์เน็ตที่ใช้งานได้ พร้อมชั่วโมงอินเตอร์เน็ตที่ยังเหลืออยู่

 

มีแค่นี้ก็พอที่จะต่อเติมเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วยของฟรี เพื่อพัฒนาการใช้งานจากระดับจักรยานสามล้อถีบมาเป็นระดับเครื่องบินจัมโบ้เจ๊ทได้

 

แน่นอนที่สุดเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัยจะต้องมาเหนือสิ่งอื่นใด เช่นเดียวกับที่การหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกย่อมสำคัญกว่าเรื่องผลกำไรของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ส่งออกไก่ ( จริงไหมครับ รัฐบาล ) ดังนั้นวันนี้ เราจะเริ่มต้นการแต่งคอมฯ ด้วยการประกันสุขภาพถ้วนหน้าตามโครงการที่มีชื่อว่า " สูญบาทรักษาทุกไวรัส " ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เครื่องคอมฯ ของเราต้องประสบกับภัยอันตรายต่าง ๆ ในรูปของ ไวรัส หนอน พยาธิ สายลับ ฯลฯ เมื่อเราเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ต

 

ถ้าจะให้ผมเดา ผมว่าเพื่อนคงจะได้ติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสอยู่แล้ว ถ้าไม่ชื่อ " นอร์ตั้น " ก็คงจะชื่อ " แมคคาฟี้ " และคิดว่าเพื่อนอาจจะได้โปรแกรมดังกล่าวมาใช้งานโดยไม่ต้องเสียเงิน ( ศัพท์เทคนิคเขาเรียกกันว่า " ขโมยมา " – ทีหลังอย่าทำอีกนะ ) แต่พอเพื่อนใช้มาครบหนึ่งปีปรากฏว่าโปรแกรมดังกล่าวไม่ยอมไปเก็บ ( อัพเดท ) ข้อมูลไวรัสตัวใหม่ ๆ จากอินเตอร์เน็ต เพราะเพื่อนไม่ยอมจ่ายค่าสมาชิกรายปี ๑,๐๐๐ บาทแก่เจ้าของโปรแกรม จึงมีผลทำให้โปรแกรมนั้นค่อย ๆ ไร้สมรรถภาพในการดักไวรัส

 

แปลกนะ ... ทำไมสมาชิกภาพการอัพเดทนอร์ตั้นแอนตี้ไวรัสของผู้ที่ขวนขวายตามหาแก่นธรรมบางคนจึงมีอายุยาวนานถึง ๓๖,๓๓๖ วัน หรือเกือบ ๑๐๐ ปี ... ก็ไม่อาจรู้ได้

 








ปีใหม่มาเร็วจัง ถึงวันเลือกตั้งส.ส.หรือยัง ?

 

โปรแกรมแบบนอร์ตั้น หรือแมคคาฟี้ เมื่อหลายปีที่ผ่านมาเคยมีคุณภาพดีพอสมควร ดาวน์โหลดง่าย กินเนื้อที่ในแผ่นแข็งน้อย ทำงานว่องไวกระฉับกระเฉง จับไวรัสได้แม่นยำ

 

ต่อมาเจ้าของต้องการพัฒนารุ่นใหม่ขึ้นมาทุก ๆ ปี เพื่อที่ผู้ใช้โปรแกรม นอกจากจะต้องเสียค่าสมาชิกรายปีเพื่อสิทธิในการอัพเดทข้อมูลไวรัสแล้ว ยังจะต้องเสียค่าอัพเกรดโปรแกรมอีกด้วย หากไม่ยอมอัพเกรด เจ้าของโปรแกรมจะเล่นสงครามประสาทขู่ว่ารุ่นเก่าที่ตนเคยอวดว่าให้การคุ้มครองความปลอดภัยได้ดีที่สุด บัดนี้ไม่ค่อยจะปลอดภัยแล้วเมื่อเทียบกับโปรแกรมรุ่นล่าสุด

 

รุ่นใหม่แต่ละรุ่นจะเพิ่มความสลับซับซ้อนของระบบการป้องกันภัย ทำให้โปรแกรมนั้นมีขนาดใหญ่โตมากขึ้นทุกปี เช่น นอร์ตั้น รุ่นเล็กสุดของปี ๒๐๐๕ เฉพาะโปรแกรมติดตั้งมีขนาดถึง ๒๕ เม็กฯ ( ใช่แล้ว ยังไม่ทันหมดปี ๒๐๐๔ เขาก็ทนรอเงินคุณไม่ไหวแล้วนะ ) เวลาเปิดคอมฯ แต่ละครั้งโปรแกรมเหล่านี้จะเริ่มดำเนินกิจกรรมรักษาความปลอดภัยมากมายหลายอย่างเกินความจำเป็น และใช้งานคอมพิวเตอร์หนักจนแทบจะทำให้คอมฯ เกิดอาการหอบ การดาวน์โหลดข้อมูลไวรัสใหม่แต่ละครั้งก็จะใช้เวลานานมาก เพราะเป็นแฟ้มใหญ่โตขนาดเกิน ๕ เม็กฯ

 

ทั้งหมดนี้เป็นผลจากการดำเนินแผนสร้างความหวาดระแวงในหมู่ผู้ใช้คอมฯ ให้มากที่สุด เพื่อประโยชน์ในการรีดทรัพย์ตามระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่พวกเราชอบนักชอบหนา

 

เพื่อนเชื่อไหมครับว่ามีโปรแกรมฟรี ไม่น้อยกว่าสามโปรแกรม ที่มีความเล็กกะทัดรัดและทำงานได้ว่องไวกว่านอร์ตั้นและแมคคาฟี้ โดยไม่ทำให้คอมพิวเตอร์เกิดอาการเหนื่อยหอบ ทั้งยังอัพเดทข้อมูลไวรัสได้เร็วกว่า แต่มีประสิทธิภาพในการจับไวรัสพอ ๆ กัน ( หรือถ้าด้อยกว่า ก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ) ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเจ้าของโปรแกรมที่แจกฟรี ไม่มีความจำเป็นจะต้องดัดจริตออกแบบโปรแกรมให้สลับซับซ้อนเกินความจำเป็น

 

แต่ผมก็ไม่แน่ใจว่าเพื่อนจะชอบของฟรีที่ว่านี้ เพราะโปรแกรมเหล่านี้ก็ไม่ค่อยจะมีชื่อเสียงนัก ( แจกฟรีแล้วยังจะให้เขาตั้งงบโฆษณาอีกหรือนี่ ) บางตัวก็มีหน้าตาที่ไม่ค่อยจะชวนให้พาไปวัดไปวาเลย และบางครั้งโปรแกรมพวกนี้จะจัดการกับไวรัสแบบเงียบ ๆ โดยไม่นิยมการประกาศคณะปฏิวัติในการจัดการไวรัส จนเพื่อนอาจจะสงสัยว่าโปรแกรมทำงานหรือเปล่า ( ผมขอยืนยันว่าทำงานครับ )

 

ความจริงถ้าเพื่อนพอใจกับโปรแกรมจัดการไวรัสที่เพื่อนใช้อยู่ทุกวันนี้ และเพื่อนพร้อมจ่ายค่าต่ออายุสมาชิกภาพการอัพเดทข้อมูลไวรัส หรือเพื่อนเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ ๑๐๐ ปี โดยเจ้าของโปรแกรมไม่ทราบ ผมขอแนะนำให้เพื่อนอยู่เฉย ๆ ไม่ต้องมาเปลี่ยนโปรแกรมต้านไวรัสให้ยุ่งยากเลยครับ

 

แต่ถ้าเพื่อนเป็นนักผจญภัย ไม่อยากเสียเงินโดยใช่เหตุ ไม่ชอบโปรแกรมที่ใช้ทรัพยากรของคอมพิวเตอร์เกินความจำเป็น และไม่ชอบดาวน์โหลดข้อมูลไวรัสครั้งละ ๓๐ นาที ( ในกรณีที่เพื่อนไม่มีบรอดแบนด์เช่นเดียวกับผม ) โปรดตามผมมาทางนี้

 

" คำเตือน ! การปฏิบัติตามคำแนะนำต่าง ๆ ในข้อเขียนนี้หรือข้อเขียนอื่นใดในอนาคตของผู้เขียนคนนี้ ให้ถือเป็นความสมัครใจของผู้อ่านเองที่ยอมเสี่ยงการพังพินาศของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และให้ถือว่าผู้อ่านได้ยอมรับล่วงหน้าแล้วว่า ผู้เขียนไม่มีภาระรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น มากไปกว่าการกล่าวคำขอโทษตามมารยาท "

 

เชิญอ่านต่อในตอนต่อไปได้เลยครับ
... จาก จอน อึ๊งภากรณ์