Skip to main content

สอนลูกทำการบ้าน ตอนที่ 3 (ตอนจบ)

คอลัมน์/ชุมชน

การตรวจสอบการบ้าน


เด็กทั่วไปโดยมากมักต้องการให้พ่อแม่ตรวจงานของเขา ซึ่งเป็นแรงจูงใจให้เขาทำงานได้สำเร็จเสมือนว่าต้องการคำชมในความสำเร็จของเขา และสร้างความภูมิใจให้กับเด็กในคราวเดียวกัน การตรวจงานจะให้ใกล้ชิดเพียงใดขึ้นกับอายุและทักษะการทำงานคนเดียวของเขามีมากเพียงใด อย่างไรก็ตาม หากงานของลูกไม่น่าพอใจทั้งต่อตัวเขาเองหรือของครู แน่นอนเขาย่อมต้องการคำแนะนำจากคุณนั่นเอง ต่อไปนี้คือแนวทางในการตรวจงาน


ถามถึงนโยบายการให้การบ้านจากโรงเรียน


เมื่อเริ่มเปิดเรียนในปีการศึกษาใหม่ ควรถามถึงนโยบายการให้การบ้านของครู หรือแนวทางความคาดหวังในการทำการบ้านว่าเป็นเช่นไร หรือถามถึงจุดประสงค์ของงานที่ครูมอบหมายให้กับเด็ก พร้อมทั้งชนิดของงานที่มอบหมายด้วย ถามถึงบทบาทของพ่อแม่ที่ควรมีต่อการบ้านของลูก ความคาดหวังของครูที่มีต่อความร่วมมือของพ่อแม่ในเรื่องการเรียน การบ้าน หรืองานชิ้นที่ครูมอบหมาย เนื่องจากครูบางท่านคาดหวังให้พ่อแม่ดูแลใกล้ชิด ในขณะที่บางคนกลับไม่ต้องการขอเพียงให้กำชับลูกให้ทำการบ้านก็เพียงพอ


ต้องพร้อมเสมอ


สำหรับเด็กอนุบาล อาจต้องการความดูแลการบ้านอย่างใกล้ชิด ต้องการให้พ่อแม่พร้อมตลอดเวลาที่เขาต้องการถามวิธีการทำการบ้านเรียกได้ว่าเหมือนนั่งประกบ ในขณะที่เด็กชั้นประถมอาจต้องการเพียงถามเมื่อมีปัญหาเท่านั้น หากไม่มีปัญหาก็สามารถดำเนินการได้โดยลำพัง ยิ่งเด็กโตขึ้นไปอีก อาจต้องการเพียงรู้สึกว่าคุณอยู่ข้างๆก็เพียงพอแล้ว


อย่างไรก็ตาม หากคุณครูสามารถสั่งสอนลูกของเราให้มีทักษะในการทำงานโดดได้อย่างดีแล้ว ภาระของพ่อแม่ต่อการทำการบ้านก็จะน้อยลง และนั่นคือเป้าหมายใหญ่ในการที่จะต้องสร้างให้เด็กสามารถทำเองโดยลำพังได้ด้วย มีพ่อแม่หลายคนมักสร้างความเคยชินให้กับลูกๆในทางที่ไม่เหมาะสมนักในการช่วยเหลือลูกในการทำการบ้านเสียทั้งหมดจนเด็กขาดความเป็นตัวของตัวเองและนิยมพึ่งพิงความช่วยเหลือของพ่อแม่ตลอดไป เช่นนี้เท่ากับเป็นการฝึกฝนให้ลูกขาดความรับผิดชอบด้วยตัวเอง ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียในการศึกษาในอนาคตของเขาต่อไป


ตรวจความเรียบร้อย


สำหรับเด็กอนุบาล ควรตรวจสอบการบ้านด้วยว่า เสร็จด้วยความเรียบร้อยหรือไม่ สำหรับเด็กโตอาจเพียงตรวจว่าทำครบถ้วนหรือไม่ พร้อมทั้งอ่านคำแนะนำที่ตอบกลับของคุณครูด้วยแล้วนำมาแก้ไขต่อไปในการทำงานครั้งต่อไป


พึงระลึกเสมอว่า การบ้านเป็นของลูก ไม่ใช่ของพ่อแม่ ดังนั้นพ่อแม่ห้ามทำเด็ดขาด ลายมือที่ปรากฏในการบ้านต้องเป็นลายมือลูกเสมอไม่ใช่ของพ่อแม่ เพราะการทำเยี่ยงนั้นเท่ากับสร้างความไม่มั่นใจในตนเองให้เกิดกับเด็ก ลดความเข้าใจในบทเรียน และเขาจะไม่สามารถพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ได้เลย


ต่อไปนี้คือแนวทางที่พอจะช่วยสร้างสรรค์ทักษะการทำการบ้านให้ดีขึ้น


ช่วยบริหารการทำการบ้านของลูก


ช่วยกำหนดตารางเวลาในการทำการบ้านให้กับลูกว่า ควรเริ่มเวลาใด และเสร็จเวลาใด ทำเช่นนี้บ่อย ๆ เด็กจะรับรู้เองว่าควรต้องใช้เวลาเท่าใดในการทำงาน ในระยะเริ่มต้นพ่อแม่อาจเขียนเวลาให้เขาไว้พร้อมเวลาที่คาดว่าจะแล้วเสร็จหากลูกของคุณยังเล็กเกินไปที่จะทำตารางการทำงาน


จัดเก็บซองใส่การบ้านให้เรียบร้อยเมื่องานแล้วเสร็จเพื่อที่ลูก ๆ จะได้สะดวกในการส่งงานที่โรงเรียน โดยแยกจากหนังสือที่นำกลับบ้านมาอ่านทบทวนเฉย ๆ ในกระเป๋านักเรียน


ส่งเสริมลักษณะนิสัยที่ดี


คุณครูมักแนะแนวทางการเรียนที่ดีให้กับลูก ๆ ซึ่งมักใช้เวลาฝึกฝนนานจนกว่าจะเป็นนิสัย พ่อแม่มีส่วนช่วยสร้างเสริมทักษะการเรียนที่ดีด้วยเช่นกันโดย


. บริหารเวลาในการทำการบ้านที่เป็นโครงงาน เช่น หากได้รับงานรายงานวิทยาศาสตร์ซึ่งใช้เวลาทำประมาณ 3 สัปดาห์ ก็ควรมีแนวทางดังนี้
- เลือกหัวข้อ
- ค้นคว้าหาหนังสือหรือวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องในหัวข้อนั้นพร้อมทำเรื่องย่อ
- จัดทำคำถามที่ต้องพูดคุยกันในกลุ่ม
- ร่างหัวข้อ
- ลงมือเขียนเนื้อหาอย่างหยาบ ๆ และ
- ทบทวนพร้อมจัดทำเนื้อหาให้เสร็จสิ้น
สนับสนุนให้ลูกทำแผนภูมิในการใช้เวลาทั้งหมดของงานจนกว่าเสร็จสิ้นในแต่ละขั้นตอน


. ช่วยลูกให้สามารถเริ่มต้นในการทำแผนงานรายงานเพื่อให้งานที่มอบหมายเสร็จสิ้นโดยให้ลูกค้นคว้าในห้องสมุด หากไม่มั่นใจให้ลูกขอความช่วยเหลือบรรณารักษ์ในห้องสมุด ทั้งนี้ควรสนับสนุนให้สามารถค้นคว้าในเว็บไซต์ร่วมด้วยอีกทางหนึ่ง และควรเป็นผู้ฟังที่ดีในการสนับสนุนให้ลูกค้นหาหัวข้อในการทำรายงานได้สำเร็จ


. กรณีที่มีการสอบเขียนไทย หรือเขียนอังกฤษที่เน้นการสะกดคำนั้น ต้องเป็นผู้อำนวยความสะดวกในด้านอ่านออกเสียงให้ลูกทดลองเขียน จากนั้นให้ลูกเป็นผู้ตรวจและแก้ไขคำด้วยตนเอง


. อาจทดลองให้ลูกลองทำข้อสอบเองจากการทบทวนบทเรียนของตนเอง นี่ก็เป็นแนวทางหนึ่งในการทบทวนอีกแบบหนึ่ง


. พูดคุยทุกครั้งในการทดสอบแต่ละครั้ง เพื่อจะได้ทราบจุดบกพร่องในการสอบ เช่น ต้องมั่นใจว่าอ่านคำสั่งถูกต้องทุกครั้ง และไม่ควรใช้เวลามากในการทำสอบในแต่ละข้อ เป็นต้น


พูดคุยเนื้องานที่ทำ


การได้พูดคุยกับลูก ถามคำถามต่าง ๆ กับลูกจะทำให้ลูกได้แนวความคิดในการซอยงานที่ได้รับมอบหมายให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ซึ่งสะดวกต่อการบริหารจัดการงานให้เสร็จสิ้น และนี่คือแนวคำถามที่ควรถามกับลูกถึงเรื่องงานที่ได้รับมอบหมายจากโรงเรียน


. เข้าใจงานที่ได้รับหรือไม่ว่าเขาต้องการให้ทำอะไร ภายหลังจากที่ลูกอ่านโจทย์แล้ว ลองถามด้วยคำถามนี้เพื่อให้เขาทบทวนความจำว่าคุณครูต้องการให้ทำอะไร หรือร่วมอ่านโจทย์กับลูกก็ได้ในกรณีที่ทักษะการอ่านของลูกยังไม่แข็งแรง พร้อมทั้งแนะนำชุดของคำที่ปรากฏในโจทย์ที่อาจนำพามาซึ่งความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่นนี้จะทำให้ลูกไม่รู้สึกลำบากใจในการทำการบ้าน


. ต้องการความช่วยเหลือจากแม่หรือไม่ ในกรณีที่ลูกต้องการความเข้าใจที่มากกว่าที่เรียนมาในโรงเรียนก่อนการทำการบ้าน เช่น เรื่อง เศษส่วน เป็นต้น พ่อแม่อาจทำความเข้าใจโดยยกตัวอย่างให้เข้าใจเพิ่มเติมหรือ ชัดเจนขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ลูกต้องทำการบ้านด้วยตัวของเขาเอง


. ต้องการอุปกรณ์อะไรในการทำการบ้านหรือไม่ เช่น กรณีนี้ลูกอาจต้องการดินสอสี เครื่องคิดเลข แผนที่ หนังสืออ้างอิงอื่น ๆ ตรงนี้พ่อแม่ก็สมควรจัดหามาให้หรือปรึกษาครูว่าสามารถใช้อุปกรณ์อื่นแทนได้หรือไม่


. ถามคำถามอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับงานของเขา โดยคำถามนั้น ๆ อาจเป็นการตรวจสอบความเข้าใจในงานและในบทเรียน เช่น การถามว่าเขาแก้ปัญหาโจทย์เลขนี้อย่างไร สรุปให้ฟังหน่อยซิคะ


คอยสังเกตอารมณ์


หากพบความคับข้องใจในการทำงานของลูก ให้หยุดงานนั้นลงชั่วคราว พร้อมให้กำลังใจเขาว่าเขาสามารถทำงานนี้สำเร็จลุล่วงได้แน่


ให้คำชมเชย


ทุกคนต้องการคำชมเชยเช่นกัน เด็ก ๆ ก็ต้องการกำลังใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบุคคลในครอบครัว ทั้งนี้ เพื่อเสริมให้เขาสามารถทำงานได้สำเร็จ เช่น "เก่งมากลูก แม่ว่าแล้วลูกต้องทำได้แน่" ในกรณีที่งานออกมาไม่ดีอย่างที่คาดหวัง เด็กก็ควรได้รับรู้ความผิดพลาด ทั้งนี้การวิจารณ์งานของลูกควรกระทำในเชิงบวก เช่น "งานนี้จะสวยและดีมากกว่านี้นะ ถ้าลูกตั้งใจเขียนให้ลายมือสวยกว่านี้หน่อย"


ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับทางบ้าน


หากพบสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้ควรอย่างยิ่งที่ต้องพบปะพูดคุยกับครูประจำชั้น
. ลูกของคุณปฏิเสธการบ้าน แม้ว่าคุณได้พยายามเกลี้ยกล่อมแล้วก็ตาม
. โจทย์หรือคำสั่งไม่ชัดเจน
. คุณไม่สามารถช่วยให้ลูกทำการบ้านเสร็จได้
. คุณไม่สามารถจัดหาอุปกรณ์หรือสิ่งของที่ทางโรงเรียนต้องการได้ เช่น เตรียมอุปกรณ์เพื่อทำการฝีมือในวันรุ่งขึ้น เป็นต้น
. ทั้งคุณและลูกไม่เข้าใจในการบ้านทั้งคู่
. การบ้านยากเกินไปสำหรับลูก
. การให้การบ้านไม่เหมาะสม เช่น วันจันทร์ อังคาร หรือวันพุธ ไม่มีการบ้านเลย แต่วันพฤหัส กลับมีการบ้าน 4-5 ชิ้น
. ลูกไม่ได้ไปโรงเรียน เพราะป่วย ทำให้ไม่ได้ทำการบ้าน


การทำงานร่วมกับครู


เพื่อความสัมพันธ์อันดีในการทำงานร่วมกันระหว่างครูและทางบ้านในการช่วยแก้ปัญหาการบ้านของลูก ๆ สมควรต้องคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้คือ


. พูดคุยกับครูแต่เนิ่น ๆ ยิ่งเป็นช่วงเปิดภาคเรียนแรกยิ่งดี เป็นการทำความคุ้นเคยกับครูก่อนปัญหาจะเกิด
. ติดต่อกับครูทันทีหากทราบว่าปัญหาเกิดขึ้น ทั้งนี้เพื่อจะได้แก้ปัญหาได้ทันท่วงทีและลูกของคุณไม่รู้สึกผิดหวังต่อโรงเรียน เพราะบางปัญหาเมื่อเกิดนานจะแก้ไขได้ยากขึ้น
. ขอนัดคุยกับครูเมื่อพบปัญหากับลูก อย่ารอให้ปัญหารุนแรงขึ้น


. ต้องเชื่อว่าคุณครูประจำชั้น หรือครูประจำวิชาสามารถแก้ปัญหาได้ อย่าเพิ่งติดต่อครูใหญ่หรือผู้อำนวยการ เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาความร่วมมือต่อไปในอนาคตได้
. แจ้งให้ครูทราบเท่าที่เป็นไปได้ว่า การบ้านที่ได้รับยากเกินหรือง่ายเกินไป ทั้งนี้เพื่อให้มีการปรับปรุงการบ้านให้สอดคล้องกับศักยภาพของเด็ก ๆ อีกทั้งครูจะได้รับทราบและภูมิใจว่างานที่ให้ทำนั้นเด็กทำด้วยความรู้สึกอย่างไร และในบางครั้งครูอาจจะลดการบ้านสำหรับเด็กบางคน แต่กับบางคนครูอาจเพิ่มงานพิเศษให้


. ช่วงระหว่างการพูดคุยกับครู ให้อธิบายทุกอย่างที่คุณต้องการ เช่น ลูกอาจจะบอกว่าครูอธิบายไม่เข้าใจ หรือครูอาจพูดว่า ลูกของคุณไม่ตั้งใจเรียน เช่นนี้จะทำให้เข้าใจกันมากขึ้น
. หาแนวทางร่วมกันในการแก้ปัญหา เช่น หากพบว่าลูกทำการบ้านไม่ได้เลยสักครั้ง เช่นนี้อาจต้องการการเรียนพิเศษเพิ่มเติม หรือลูกต้องการทำการบ้านในวันที่เขาไม่ได้ไปโรงเรียน หรือกรณีที่ลูกมีความสามารถพิเศษที่ต้องการงานเพิ่มเติมก็สามารถร้องขอกับโรงเรียนได้ว่า มีโปรแกรมอะไรพิเศษให้กับลูกหรือไม่
. ต้องมั่นใจว่าการสื่อสารระหว่างครูและโรงเรียนชัดเจน หากไม่มั่นใจเมื่อไรให้สอบถามได้ตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อความต่อเนื่องในการแก้ปัญหาต่อไป


จากข้างต้นทั้งหมดสามตอน พอจะทำให้เห็นแนวทางในการดำเนินความร่วมมือระหว่างบ้านและโรงเรียนได้ชัดเจนขึ้น


อย่าลืมว่า การบ้านนั้นเป็นสะพานเชื่อมความเข้าใจที่ดีเสมอ หากจัดการได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งผลดีทั้งปวงก็ตกอยู่กับลูกหลานของเรานั่นเอง ทั้งนี้ ก็ขึ้นกับวิจารณญาณและจิตวิทยาของทั้งคุณพ่อคุณแม่พร้อมทั้งครูในการปรับใช้ให้ได้ผลดี และความสำคัญจึงอยู่ที่ทั้งสองฝ่ายต้องเปิดใจยอมรับความจริงเสมอ