Skip to main content

มาตรฐานการรักษาโรคมีจริงหรือ ?

นอกจากเรื่องราคากลางค่ารักษาพยาบาลที่อาจจะก่อผลเสียมากกว่าผลดีแล้ว มาตรฐานการรักษาพยาบาลเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรระวัง


คนส่วนใหญ่เชื่อว่าหากสังคมมีมาตรฐานการรักษาพยาบาลของทุกโรคน่าจะดี เช่น หากเป็นไข้หวัด ที่คุณหมอควรทำคือวัดไข้ วัดความดันโลหิต จับชีพจร ตรวจช่องคอ และช่องจมูก คลำต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ ตรวจหัวใจและปอด ตรวจเลือดเพื่อแยกประเภทของการติดเชื้อ หากมีหนองในช่องคอควรนำไปย้อมสีเพื่อระบุประเภทของเชื้อโรค เป็นต้น


จะเห็นว่าลำพังไข้หวัดเรื่องเดียวก็เขียนยากเย็นเพียงนี้ หากเป็นท้องเดิน ปัสสาวะแสบขัด ก็จะมีขั้นตอนวุ่นวายมากขึ้น หากเป็นไส้ติ่งอักเสบ โรคหัวใจ โรคไต ก็จะชุลมุนหนักขึ้นไปอีก


เพราะฉะนั้นในขั้นตอนนี้หากบังคับให้คุณหมอเขียนเอกสารแจงรายละเอียดวิธีรักษาโรคทุกโรคที่พบในประเทศไทย ก็อาจจะเป็นการกดดันคุณหมอมากเกินสมควร


การเขียนมาตรฐานการรักษาพยาบาลทุกโรคออกมาเป็นลายลักษณ์อักษรยังก่อผลเสียอีก 2 ประการ ทั้ง 2 ประการเกิดจากการใช้มาตรฐานในทางที่ผิด ภาษาอังกฤษว่าทำให้เกิดการ abuse มาตรฐานการรักษาพยาบาล


ประการแรก ผู้ป่วยหรือผู้บริโภคอาจจะใช้มาตรฐานการรักษาพยาบาลในทางที่ผิดโดยใช้มันเพื่อจับผิดการทำงานของคุณหมอ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการรักษาโรคทุกโรคมีข้อยกเว้นเสมอ เป็นไปไม่ได้ที่จะคาดหวังให้คุณหมอทำตามมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่เขียนไว้แบบเป๊ะ ๆ ตลอดเวลา วันหนึ่งคราวหนึ่งคุณหมอก็จะพบผู้ป่วยรายหนึ่งที่ไม่สามารถทำตามมาตรฐานที่เขียนไว้จนได้และจำเป็นต้องพลิกแพลงมาตรฐานสักเล็กน้อยเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยเอง


ประการที่สอง ผู้ประกอบวิชาชีพที่พาซื่อบางท่านอาจจะใช้มาตรฐานการรักษาพยาบาลในการบอกปัดความรับผิดชอบที่มีต่อผู้ป่วย ซึ่งสามารถทำได้ 2 ลักษณะ คือ หนึ่ง เขียนมาตรฐานให้กว้างเอาไว้จนไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นมาตรฐาน หรือ สอง ใช้เป็นข้ออ้างว่าตราบใดที่โรงพยาบาลหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบยังไม่ผลิตมาตรฐานฉบับภาษาไทยแล้ว การรักษาใด ๆ ล้วนไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าผิดมาตรฐานหรือเปล่า


ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว หากโรงพยาบาลใด ๆ จะเขียนมาตรฐานการรักษาพยาบาลโรคอะไรขึ้นมาสักโรคหนึ่ง ย่อมต้องมีเอกสารอ้างอิงซึ่งก็คือตำราแพทย์จำนวนมากทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ จะเขียนเอง เออเอง ดีเองดังที่พบในบางโรงพยาบาลนั้นก็ไม่เหมาะไม่ควร


อีกกรณีหนึ่งคืออันที่จริงแล้ว มาตรฐานการรักษาโรคทุกโรคมีปรากฏในตำราแพทย์หมดสิ้นแล้ว เพราะฉะนั้นหากมีข้อสงสัยว่าโรงพยาบาลแห่งหนึ่งรักษาได้มาตรฐานหรือไม่ ย่อมตรวจสอบกับตำราแพทย์ได้ตลอดเวลา มิใช่เรื่องยากหรือเรื่องจำเป็นเลยที่จะบังคับคุณหมอให้ละทิ้งผู้ป่วยไปนั่งเขียนเอกสารที่หาประโยชน์อันใดมิได้


อย่างไรก็ตาม การเขียนเอกสารมาตรฐานการรักษาพยาบาลโรคอะไรสักโรคยังพอมีประโยชน์อยู่บ้างในบางสถานการณ์ เป็นประโยชน์ทั้งต่อคุณหมอ ต่อผู้ป่วย และต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ


การเขียนเอกสารที่มีประโยชน์ต่อคุณหมอ มักเกิดขึ้นเมื่อเป็นคุณหมอที่ทำงานอยู่ไกลปืนเที่ยง ขาดแคลนทั้งทรัพยากรบุคคลและเวชภัณฑ์ ทำให้คุณหมอท่านนั้นไม่สามารถรักษาผู้ป่วยด้วยมาตรฐานการรักษาสูงสุดตามที่มีปรากฏในตำราแพทย์ได้ ในกรณีเช่นนี้ควรที่ผู้ป่วยจะไม่รุกไล่คุณหมอจนเกินควร ในขณะเดียวกัน หน่วยงานพี่เลี้ยงที่ดูแลคุณหมออยู่ก็ควรช่วยเหลือคุณหมอเขียนเอกสารมาตรฐานให้พอทวนสอบได้บ้าง


การเขียนเอกสารที่มีประโยชน์ต่อผู้ป่วย มักเป็นการเขียนเอกสารที่ต่อยอดจากการรักษาไปสู่มิติของการส่งเสริมป้องกัน ซึ่งเป็นเนื้อหาที่ไม่ได้รับความสนใจในตำราแพทย์ทั่วไปมากเท่าที่ควร หรือถ้าจะมีในตำราแพทย์ก็เป็นเพียงข้อความกว้าง ๆ ไม่สามารถใช้ได้กับสังคมบ้านเราในทันที จำเป็นต้องปรับแก้และลงไปในรายละเอียด เช่น เมื่อโรงพยาบาลรักษาผู้ป่วยหอบหืดแล้วส่งกลับบ้าน จะป้องกันมิให้ผู้ป่วยกลับไปสูบบุหรี่อีกได้อย่างไร เป็นต้น


การเขียนเอกสารที่มีประโยชน์ต่อระบบสาธารณสุข มักเป็นการเขียนเอกสารเพื่อประกันมาตรฐานในการรักษาโรคที่มีความซับซ้อนหรือมีทางเลือกของการรักษาหลากหลายมาก โรคบางโรค เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคเลือด เป็นต้น เหล่านี้เป็นตัวอย่างโรคที่มีวิธีรักษาหลากหลาย แต่ละวิธีสิ้นเปลืองต่างกันเป็นร้อยเท่าพันเท่า ราคายามีตั้งแต่เม็ดละ 1 บาท ไปจนถึงเม็ดละ 200 บาท ยาฉีดหลอดละ 30 บาท ไปจนถึง 3,000 บาท ยังไม่นับกรรมวิธีตรวจและรักษาไฮเทคอื่น ๆ อีก ทั้งหมดนี้หากปล่อยให้ใช้ทรัพยากรกันอย่างไม่บันยะบันยัง ระบบสาธารณสุขเพื่อคนส่วนใหญ่ก็อาจจะมีปัญหาได้ จึงสมควรเขียนเอกสารเพื่อแสดงมาตรฐานการรักษาที่เหมาะสมสำหรับทรัพยากรของสังคมเอาไว้ด้วย


จะเห็นว่ามาตรฐานการรักษาพยาบาลเป็นเรื่องดีมีประโยชน์ แต่ก็ไม่ควรผลิตอย่างแข็งกระด้างและใช้เป็นไม้บรรทัดอย่างแข็งกระด้าง ที่แท้แล้วควรผลิตอย่างไรและใช้ประโยชน์อย่างไรจึงเป็นอีกกรณีหนึ่งที่สังคมควรพูดคุยกันได้