Skip to main content

จดหมายลางาน

คอลัมน์/ชุมชน

 


เรียน บก. เปี๊ยกที่เคารพ...


เนื่องด้วยช่วงเสาร์-อาทิตย์ที่ผ่านมา ในขณะที่เพื่อน ๆ นักข่าว กำลังง่วนอยู่กับการทำงานในหลายพื้นที่ แต่สำหรับผม...ผมใช้เวลากับการไปงานต่าง ๆ เพื่อสร้างความหฤหรรษ์ให้กับตัวเอง หรืออาจเรียกง่าย ๆ สั้น ๆ ว่า "หนีเที่ยว" นั่นเองครับ


จดหมายฉบับนี้จึงเป็นการรายงานว่าในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้หนีไปเที่ยวที่ไหนบ้าง เพื่อเป็นการยืนยันถึงความซื่อสัตย์ของผม (ก็ใครกันที่จะซื่อสัตย์ถึงขนาดจะบอกว่าหนีงานไปที่ไหนกับเจ้านายตัวเองกันบ้างละครับ) ด้วยหวังว่าพี่เปี๊ยกจะใช้ความซื่อสัตย์เป็นเหตุผลประกอบในการขึ้นเงินเดือนของผม (ฮา...)


ผมขอเริ่มเล่าตั้งแต่เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (12 กุมภา) เลยแล้วกันขอรับ


12 ก.พ. 48


ผมเดินออกจากบ้านมาตั้งแต่ห้าโมงเย็น แล้วก็ใช้บริการของรถไฟฟ้าใต้ดินจากสถานีสามย่านไปถึงสถานีศูนย์วัฒนธรรม (แม้ว่าระดับ "ความปลอดภัย" จะทำให้เราอุ่นใจถึงขั้นหนาว ๆ ร้อน ๆ แต่มันก็เป็นเส้นทางการเดินทางที่เหมาะที่สุดสำหรับคนขี้เกียจอย่างผม) ซึ่งก็ใช้เวลาหนาว ๆ ร้อน ๆ ไม่นานนัก ก็มาถึงที่หมาย...นั่นก็คือศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย


ที่ผมมาก็เพราะคอนเสิร์ต Live In a day นั่นเองครับ



งานนี้เป็นคอนเสิร์ตที่นิตยสาร a day จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยจะคัดเลือกวงดนตรีสมัครเล่นหลาย ๆ วงมาเล่นบนเวทีเดียวกัน ซึ่งเขาจัดงานนี้มาเป็นครั้งที่สามแล้ว และจำนวนผู้ชมก็มากขึ้นทุกที จนปีนี้พื้นที่ทุกตารางเซนติเมตรของลานกลางแจ้งของศูนย์วัฒนธรรมฯ ถูกจับจองด้วยบรรดาเด็กที่ทั้ง "แนว" และ "ไม่แนว" (จนบัดนี้ผมเองก็ไม่รู้เสียทีว่าคำว่า "แนว" มันหมายความว่ายังไง...เอาเป็นว่าไม่ต้องไปสนใจคำพรรค์นี้หรอกครับ) จนเต็มพื้นที่


แต่สิ่งที่ผมอยากจะเล่าไม่ได้เป็นเรื่องของดนตรีในงานหรอกนะครับ แต่ผมคงจะเล่าถึงผู้ชมงานเสียมากกว่า


คนดูส่วนใหญ่ที่ผมเห็น ถ้าคะเนจากหน้าตาคร่าว ๆ ก็พบว่าจะอยู่ในวัยมหาวิทยาลัย แต่ในบรรดาผู้ฟังทั้งหมด ก็มีจำนวนไม่น้อยที่เมื่อดูจากหน้าตาและทรงผม ก็พอจะเดาได้ว่าพวกเขาน่าจะอยู่ไม่พ้นชั้นมัธยม


ผู้ชมกลุ่มนี้ถ้ามองกันจากภายนอก อาจจะรู้สึกว่า "พวกนี้แม่ม...กวนตีนว่ะ" ซึ่งตอนแรก ๆ ผมก็รู้สึกแบบนั้นเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้สนใจกระไรมากมาย แล้วก็นั่งดูคอนเสิร์ตต่อไป


แต่เมื่อถึงเวลาที่ Modern Dog เล่นปิดรายการ สภาพของคนดูหน้าเวทีที่ตอนแรก ๆ นั่งก็เปลี่ยนเป็นยืน จากที่ดูกันนิ่ง ก็เปลี่ยนเป็นการเต้น แท็ค (วิ่งชนกัน) เซิร์ฟ (การที่ใครสักคนถูก "แห่" ด้วยฝูงชนระหว่างการดูคอนเสิร์ต)


ซึ่งก็ไม่รู้ว่าผมโชคดีหรือโชคร้าย ที่บังเอิญผมดันไปอยู่กลางฝูงชนตรงนั้นพอดี ซึ่งถ้าถามผมว่าผมรู้สึกอย่างไร ก็คงตอบได้ว่ามันรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นรถดั๊มป์มีชีวิตยังไงยังงั้น


แต่ในระหว่างที่ผมกำลังสนุกสนานกับการถูกแท็คอยู่นั้น ผมก็ไปกระแทกกับเจ้าหนุ่มคนหนึ่งที่ดูจากรูปลักษณ์ภายนอกแล้ว "กวน teen" ใช่ย่อย แต่เขาก็หันมายิ้มกับผมแล้วบอกว่า "ไม่เป็นไรนะเพ่ ฟังเพลงแบบเดียวกัน กระทบกระแทกกันบ้างก็ไม่เป็นไรนะ"


ในขณะเดียวกัน ผมก็เห็นอีกคนหนึ่งถูกกระแทกล้มลงไป หลังจากนั้นคนที่ยืนอยู่แถวนั้นสอง-สามคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อนก็ช่วยกันดึงให้เขาลุกขึ้นมาได้


ผู้ใหญ่มักจะคิดว่าบรรดาฟรีคอนเสิร์ตทั้งหลาย เป็นแหล่งที่จะเสี่ยงให้เกิดการตีกัน และผู้ใหญ่อีกน่ะแหละที่มักจะเชื่อว่า คอนเสิร์ตเพลงร็อกจะทำให้คนตีกัน แต่ภาพที่ผมเห็นทำให้เชื่อว่าถ้าคนมันคิดจะมาฟังเพลงเฉย ๆ คงไม่คิดอยากต่อยตีกับใครแน่ ๆ เพราะอย่างคอนเสิร์ตครั้งนี้ ก็ไม่เห็นจะมีการทะเลาะวิวาทกันที่ไหน


13 ก.พ. 48


ถ้าจะเปรียบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นคน ก็คงเป็นคนที่แม้ว่าเวลาและตัวของเขาจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่เขาก็ยังคงมีบางอย่างที่คงเอาไว้ ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าไรก็ตาม...ไอ้สิ่งที่ไม่เปลี่ยนไปก็คือรถที่ยังคงติดเหมือนเดิม แม้ว่าวันนี้จะเป็นวันอาทิตย์ก็ตามทีเถอะ


โดยธรรมดาแล้ว ผมจะมาที่นี่เพื่อหาก๋วยเตี๋ยวเรือกิน หรือไม่ก็มาแวะแผงเทปมือสอง แต่ที่ผมมาวันนี้ก็เพราะงาน ๆ หนึ่งที่ถูกจัดที่บริเวณลาน Victory Point ใกล้ ๆ เซ็นเตอร์วัน


งานที่ว่าชื่องาน "Valentine Volunteer" ที่จัดโดยหลายหลากองค์กร ไม่ว่าจะเป็นสภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร, องค์กรแอคชันเอดประเทศไทย, YIY, มูลนิธิรักษ์ไทย และอีกหลาย ๆ องค์กร รวมทั้ง "ประชาไท" ของเราด้วย (เอ่อ...อันนี้เป็นโฆษณาแฝงครับ)


สิ่งแรกที่ผมได้เห็นก่อนเข้างาน คือ โต๊ะขนาดยาว 1 ตัว พร้อมทั้งคนเข้างานที่กำลังทำท่าเหมือนกรอกอะไรบางอย่าง ผมเลยลองเข้าไปถาม Staff ในงานดูว่าเขากำลังกรอกอะไรกันอยู่


"เป็นแบบฟอร์มรับสมัครอาสาสมัครนะครับ" Staff คนนั้นบอกกับผม "ตรงนี้จะรับสมัครผู้ที่สนใจจะเป็นอาสาสมัครในด้านต่าง ๆ เพื่อนำรายชื่อเหล่านี้ส่งไปยังองค์กรที่ต้องการอาสาสมัคร และมีการนำชื่อเหล่านี้มาทำเป็น Database รวมเอาไว้ด้วย เมื่อเวลาที่มีความต้องการอาสาสมัครแบบฉุกเฉินอย่างกรณีสึนามิจะได้สามารถเรียกใช้ได้" เมื่อผมถามถึงจำนวนที่ได้รับสมัครไปแล้วในตอนนั้น (ห้าโมงเย็นกว่า ๆ) เขาก็ตอบมาว่า "น่าจะเกินร้อยแล้วนะ"



พอถามเขาว่า แล้วจริง ๆ คนที่มาลงชื่อเอาไว้เขาสนใจงานอาสาสมัครด้านไหนบ้าง Staff คนเดิมก็ตอบว่า "ที่คนสนใจเยอะ ๆ ก็มีงานด้านสังคม ชุมชน แล้วก็เรื่องเอดส์น่ะแหละ แต่แย่หน่อยที่ด้านศิลปวัฒนธรรมคนจะไม่ค่อยเยอะ"


หลังจากคุยกับ Staff ไปแล้วผมก็เข้าไปในตัวงาน ก็บังเอิญว่าผมได้ยินเสียงครูประทีป อึ้งทรงธรรม จากวงเสวนา "เยาวชนอาสาสมัคร เพื่อรักสาธารณะ" เข้าพอดี


"จากเหตุการณ์สึนามิที่ผ่านมา เมื่อได้ลงพื้นที่ทำให้ได้เห็นภาพของนักเรียนอาชีวะหลายสถาบันที่ลงไปทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ต่าง ๆ ในพื้นที่ รวมถึงเยาวชนจากที่ต่าง ๆ ที่ลงไปทำงานอาสาสมัครในพื้นที่นั้น ทำให้เห็นว่าเราเห็นว่าเยาวชนยังมีวิสัยทัศน์ที่ดี ไม่ได้มีแต่เรื่องแย่ ๆ เท่านั้น" ครูประทีปพูดในวงเสวนา


ครูประทีปยังแสดงความเห็นต่อว่า "สิ่งที่เราต้องทำ คือทำให้ความรักนั้นเป็นเรื่องของความรักสาธารณะ ไม่ใช่แค่เรื่องความรักส่วนบุคคลเท่านั้น เพราะจุดหมายของชีวิตไม่ใช่แค่การเสพสุขและตักตวงเท่านั้น แต่ต้องมีการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน"


ต้นไม้- รัชฎะ ศรีบุญรัตน์ ตัวแทนจากสภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร เล่าให้ฟังว่า "เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้เยาวชนมีภาพพจน์ที่ดีขึ้น อย่างในสภาเยาวชนฯ เองก็มีหลาย ๆ คนที่เริ่มมีความคิดที่อยากจะลงไปทำกิจกรรมเพื่อสังคมให้มากขึ้นกว่านี้"


เมื่องานเสร็จสิ้น ผมกลับไปถาม Staff คนเดิมอีกครั้งถึงยอดคนที่มาลงชื่อ... "เลยสองร้อยแล้วแหละ"


@#@#@#@#@



ภาพที่ผมเห็นใน 2 วันที่กล่าวไป มันทำให้ผมเห็นทั้งภาพของวัยรุ่นธรรมดา ๆ ที่แม้กิจกรรมที่เขาทำจะดู "ไร้สาระ" ในสายตาผู้ใหญ่ แต่ถ้ามองลึก ๆ ก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร และภาพของจิตสำนึกสาธารณะในวัยรุ่น ที่พร้อมจะลงไปทำอะไรเพื่อคนอื่น ๆ ในสังคม


อยากชวนอาจารย์สมพงษ์กับอาจารย์อมรวิชญ์มาทั้งสองงานจังเลยครับ