Skip to main content

" ตำหนักคำหยาด" กับ " สัจธรรม" แห่งสงคราม

คอลัมน์/ชุมชน

 


ต้นปี 2548 … อ.โพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง


เบื้องหน้าผมคือตำหนักร้างโดดเดี่ยวกลางทุ่งนา ซึ่งดูเผิน ๆ ก็เหมือนโบราณสถานเก่าที่สามารถพบได้ทั่วไปในเขตรอบนอกของอยุธยา



แต่ในฐานะคนเรียนประวัติศาสตร์ การทำความรู้จักกับที่นี่สำคัญไม่แพ้การทำความรู้จักโบราณสถานแห่งอื่น เพราะนี่คือร่องรอยสุดท้ายของกษัตริย์องค์หนึ่งแห่งอยุธยาที่มีพระนามติดปากคนไทยว่า " ขุนหลวงหาวัด"


" ขุนหลวงหาวัด" แฟนละครอิงประวัติศาสตร์เรื่อง " ฟ้าใหม่" ที่จบไปพักใหญ่คงรู้จักดีในฐานะตัวละครสำคัญของเหตุการณ์เสียกรุงเมื่อปี 2310 ขณะที่เด็กๆ รู้จักพระองค์ผ่านตำราเรียน ซึ่งส่วนมากขุนหลวงหาวัดมักถูกวางบทบาทในฐานะ " ฝ่ายธรรมะ" ผู้อาภัพจากการกระทำพระเจ้าเอกทัศน์ผู้เป็นเชษฐา (พี่ชาย) อยู่เสมอ


และทราบว่าโปรดที่จะ " หาวัด" มากกว่าบ้านเมือง แต่เคยมีใครตั้งคำถามไหม ว่าช่วงที่พระองค์ผนวชหลบหนีความวุ่นวายนั้น ทรงคิดอะไร … ยิ่งพูดถึงถึงชะตากรรมของพระองค์ช่วงศึกประชิดไปจนถึงหลังกรุงแตก ก็แทบไม่มีร่องรอยใดหลงเหลือเลย


สถานที่แห่งนี้จึงเป็นร่องรอยของขุนหลวงหาวัดที่ยังเหลือไม่กี่แห่งซึ่งยืนหยัดอยู่กลางทุ่งคอยบอกเล่าเรื่องราวที่สูญหายไปกับกาลเวลาเมื่อ 238 ปีก่อน …



- 1 -


พุกามประเทศ พ.ศ. 2299 ... " อองไจยะ" ลูกไพร่หลวงฝ่ายทหารม้าจากหมู่บ้านมุกโชโบ หลังแสดงความสามารถรวบรวมผู้คนปราบมอญจนสำเร็จ ได้ปราบดาภิเษกเป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์คองบองนาม " พระเจ้าอลองพญา" แล้วเริ่มแผ่แสนยานุภาพไปทั่วแผ่นดินใหญ่อุษาคเนย์ และเพื่อจะแสดงบารมีของพระองค์ดุจเดียวกับมหาราชองค์ก่อนของพม่า หนึ่งนโยบายที่ทรงกระทำคือการรวมรัฐไททั้งหมดไว้ในอำนาจ ซึ่งเมียวเมี้ยน จากมหาวิทยาลัยมัณฑะเลย์ เขียนไว้ใน " ศึกอลองพญา" (แปลโดย ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์) ถึงเจตนาของพระเจ้าอลองพญาได้อย่างเห็นภาพ


"… ความตอนหนึ่งในพระราชพงศาวดารฉบับราชวงศ์คองบอง ได้สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งพระทัยและการวางแผนของพระเจ้าอลองพญาแต่แรกที่จะเผด็จศึกกรุงศรีอยุธยา...หนึ่งในนครที่อยู่ในเป้าหมายการทำศึกของพระองค์ พงศาวดารฉบับนี้ระบุว่า ขณะที่พระเจ้าอลองพญาทรงทำสงครามกับเมืองพะโค (Pegu) ในปี พ.ศ. 2299 (1756) นั้น ก็ได้ทรงแสดงเจตจำนงอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่ทรงทอดเวลาไปกับการตีพะโคแต่เมืองเดียว หากทรงมั่นหมายที่จะเปิดศึกกับแว่นแค้นไท (Tai States) ทั้งมวล รวมทั้งราชอาณาจักรล้านช้างและกรุงศรีอยุธยาด้วย"


แต่จู่ ๆ จะยกทัพไปรุกอยุธยาเอาดื้อ ๆ มันก็ไม่งาม กรุงอังวะรอโอกาสอยู่สักพักก็ได้จังหวะเหมาะ เมื่อมอญที่เมืองสิเรียมก่อกบฏหลบหนีลงเรือไปอินเดีย แต่สภาพอากาศแย่จึงต้องจอดพักที่ท่าเมืองตะนาวศรีซึ่งขณะนั้นเป็นของอยุธยา กรุงอังวะได้ทีจึงขอให้อยุธยาส่งตัวกบฏคืน แต่กรมการเมืองตะนาวศรีก็ไม่ได้ทำตามแต่อย่างใด


พ.ศ. 2302 … เมื่อตีตะนาวศรีได้ง่ายๆ ทัพอลองพญาหลายหมื่นก็มุ่งหน้าเข้าสู่อาณาเขตอยุธยา ทันที ข้าศึกประชิดแดนแล้ว… แต่เวลานั้นราชสำนักอยุธยาเกิดความระหองระแหงในการสืบบัลลังก์ หลังเปลี่ยนกษัตริย์ติดต่อกัน 2 องค์ คือจากพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศมาเป็นพระเจ้าอุทุมพร และสุดท้ายเป็นพระเจ้าเอกทัศน์ขึ้นครองราชย์โดยพระเจ้าอุทุมพรออกผนวชเพื่อตัดปัญหาวุ่นวาย ท่ามกลางเสียงคัดค้านของขุนนางผู้ห่วงใยบ้านเมือง และทรงได้นาม " ขุนหลวงหาวัด" นับแต่นั้น



" ตำหนักคำหยาด" นี่เองคือสถานที่ซึ่งพระเจ้าอุทุทมพรเสด็จมาเร้นพระองค์ในยามวิกฤติ



- 2 -


ความจริงเรื่องการชิงราชสมบัติระหว่างพี่น้องเป็นปัญหาอมตะของอาณาจักรโบราณ ซึ่งก็ไม่ได้เว้นอยุธยาแต่อย่างใด ความวุ่นวายเริ่มส่อเค้าแต่สมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ซึ่งดำริว่าเจ้าฟ้าอุทุมพรปรีชาสามารถกว่าเจ้าฟ้าเอกทัศน์ จึงตั้งเป็นรัชทายาทแล้วขับเจ้าฟ้าเอกทัศน์ผนวช ซึ่งเป็นที่รับรู้กันว่าเจ้าฟ้าอุทุมพรลำบากพระทัยมากแต่ขัดรับสั่งไม่ได้


เมื่อพระเจ้าบรมโกศสวรรคต ปัญหาจึงเกิดขึ้นตามคาดหมาย เพราะนอกจากเจ้าฟ้าเอกทัศน์ที่หมายบัลลังก์แล้ว ยังมีเจ้าฟ้าอีกสามองค์คิดเช่นเดียวกัน การฆ่าฟันจึงเกิดขึ้นอีกครั้ง เจ้าฟ้าเอกทัศน์ได้ลาผนวชแล้วช่วยเจ้าฟ้าอุทุทมพรกำจัดฝ่ายตรงข้าม แต่เมื่อเสร็จเรื่องและเจ้าฟ้าอุทุมพรขึ้นครองราชย์ เจ้าฟ้าเอกทัศน์กลับกดดันอนุชาโดยไปประทับยังพระที่นั่งสุริยามรินทร์ซึ่งใช้ว่าราชการอยู่หลายวัน (ภายหลังจึงมีอีกนามหนึ่งว่าพระที่นั่งสุริยามรินทร์) โดยไม่เสด็จไปไหน สร้างความลำบากพระทัยแก่พระเจ้าอุทุมพรจนต้องทรงสละราชสมบัติให้ในที่สุด


ประจวบพอดีกับศึกอังวะบุกกรุง อยุธยาที่อยู่ในสภาพอ่อนแอทำท่าจะแตกอยู่รอมร่อรบกี่ครั้งก็พ่ายกลับเข้าเมือง จนชาวกรุงต้องชวนกันถวายฎีกาพระเจ้าอุทุมพระขณะทรงบาตรยามเช้าให้พระองค์ละผ้าเหลืองออกมาช่วยราชการ ด้วยความห่วงบ้านเมืองขุนหลวงหาวัดจึงลาผนวชมาจัดกำลังป้องกันข้าศึกในปี พ.ศ.2302 ได้สำเร็จโดยมีปัจจัยอื่นๆ เป็นตัวช่วยมากมาย


แต่ครั้งนี้กองทัพอังวะไม่ได้กลับไปมือเปล่า หากแต่ได้ประสบการณ์ล้ำค่าคือความคุ้นชินภูมิประเทศของอยุธยาที่รายล้อมด้วยแม่น้ำสามสาย จุดอ่อนจุดแข็งในการบุกโจมตีกลับไปด้วย โดยเฉพาะโอรสของพระเจ้าอลองพญาที่ส่งกองทัพกลับมาอีกในปี 2309 ด้วยวิธีที่รอบคอบกว่าเดิมประกอบกับการขัดแย้งระหว่างพี่น้อง ทำให้อยุธยาต้องพ่ายแพ้ในที่สุด


พูดถึงเรื่องกรุงแตกจะโทษพระเจ้าเอกทัศน์ก็ดูจะไม่เป็นธรรมนัก ปัจจุบันมีการพบหลักฐานใหม่มากขึ้น นักประวัติศาสตร์พบว่านอกจากความขัดแย้งในราชสำนัก อยุธยายังมีปัญหาการคุมกำลังคนที่ด้อยประสิทธิภาพ หลายสิบปีสุดท้ายเกิดการชิงราชสมบัติหลายครั้งเป็นผลให้แม่ทัพนายกองมีฝีมือถูกประหารมากมาย ประกอบกับว่างศึกมานานไม่มีความพร้อมรบ ในเวลานั้นจึงไม่อยู่ในสภาพรับศึกใหญ่ได้สิ้นเชิง เพียงแต่ได้ชัยภูมิยอดเยี่ยมป้องกันตัวจึงสามารถยันกองทัพอังวะได้นานและสรุปว่าที่พม่าโจมตีเป็นเพียงตัวเร่งให้อาณาจักรอายุถึง 417 ปีถึงจุดจบเร็วขึ้นเท่านั้น



- 3 -


" พระตำหนักคำหยาด" เป็นจิ๊กซอว์ทางประวัติศาสตร์ เป็นข้อเท็จจริงจากชีวิต " ขุนหลวงหาวัด"


ซึ่งคนไทยส่วนหนึ่งเข้าใจว่าทรงสนใจศาสนามากกว่าบ้านเมือง แต่เราต้องไม่ลืมว่า เหตุการณ์ช่วงหลังพม่าถอยกลับจากการโจมตีในปี 2302 นั้น พระเจ้าอุทุมพรทรงเข็ดกับพระเชษฐาจนไม่อยู่ในกรุงอีกต่อไปแม้จะทรงผนวช และทรงเลือกประทับที่ตำหนักกลางท้องทุ่งกว้างนอกเมืองอ่างทอง ห่างลงมาทางใต้ราวหนึ่งกิโลเมตรจากวัดแห่งหนึ่ง ตำหนักแห่งนั้นก็คือ " พระตำหนักคำหยาด" นั่นเอง


สุจิตต์ วงษ์เทศ เล่าสาเหตุดังกล่าวนี้ใน " ประดาบก็เลือดเดือด" อย่างออกรส " กรุงศรีอยุธยานี้ก็เป็นที่รักแห่งเรา แลอันพระราชบัลลังก์สมเด็จพระราชบิดาเล่า ก็ทรงมอบหมายไว้แก่เรา ไพร่ฟ้าประชากรหรือก็เป็นที่รักแห่งเรา - - แม้พระเจ้าพี่จะทรงกระทำการดังนั้น (ไปอยู่ในพระที่นั่งสุริยามรินทร) ก็เป็นที่เคารพแห่งเรา ครั้นจะอยู่เสียในพระนคร พระเจ้าพี่ก็จะทรงแคลงพระทัย ชะดีชะร้ายต่อไปข้างหน้าจะมิเกิดการมิดีมิร้ายหรืออย่างไร"


รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชวิจารณ์ถึงการที่ทรงมาประทับที่นี่ในมุมทางการเมืองในบันทึกเสด็จประพาสต้น " เมื่อเจ้าฟ้าอุทุมพรออกจากราชสมบัติครั้งแรก ทรงผนวชอยู่วัดประดู่ ที่จะยังไม่มีความบาดหมางมากกับขุนหลวงสุริยามรินทร ครั้นเมื่อทรงผนวชครั้งหลังทีความบาดหมางจะมากขึ้น จึงได้คิดออกมาสร้างตำหนักที่ตำบลคำหยาดเปนหมู่ไม้อยู่ในกลางท้องทุ่ง ไม่มีลำคลองที่เข้าไปถึง ถ้าจะเข้าทางทิศใดคงแลเห็นเสียก่อนนาน หวังจะเอาไว้เปนที่มั่นป้องกันตัว ถ้าขุนหลวงสุริยาสมรินทรเอะอะขึ้นมา…"


โสตสัมผัสบางอย่างบอกผมว่า ณ จุดนี้ก็ใช่ ถ้าหมายถึงที่ปลอดภัยจากการทำร้ายของพระเจ้าเอกทัศน์ แต่มองอีกแง่หนึ่ง ที่นี่ยังเป็นเส้นทางเดินทัพ หากกองทัพอังวะบุกมาย่อมที่จะเจอก่อน


อาจารย์บางท่านก็ยังสันนิษฐานว่า ทรงต้องการระแวดระวังภัยจากข้าศึก อีกด้านก็ต้องการระวังภัยจากเชษฐา ด้วยที่นี่ไม่มีลำคลองเข้าถึง จะมาได้ทางเดียวคือการเดิน ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายในแบบทุ่งโล่ง


นี่คือชะตากรรมของเจ้าฟ้าองค์หนึ่งที่ใฝ่ทางธรรม ไม่ต้องการการฆ่าฟัน ขณะเดียวกันก็เป็นห่วงบ้านเมือง



- 4 -


หกโมงเย็น ...ระเบียงพระตำหนักคำหยาด


สองร้อยกว่าปีก่อน...ที่ตรงนี้ พระภิกษุองค์หนึ่งอาจกำลังทรงทอดพระเนตรออกไปยังท้องทุ่ง และรำพึงถึงชะตากรรมของพระองค์กับบ้านเมืองที่เปรียบประดุจอาทิตย์ยามอัสดง


สองร้อยกว่าปีให้หลัง....ผมยืนอยู่ตรงนี้และมองไปรอบพระตำหนัก ภาพของทุ่งนาเวิ้งว้าง ลำแสงสุดท้ายตกลงกระทบช่องหน้าต่าง ความคิดผมล่องลอยไปถึงเรื่องการเผาสถานทูตไทยในกัมพูชาเมื่อปีก่อน คิดไปถึงเรื่องที่ญี่ปุ่นทะเลาะกับจีนที่เป็นข่าวร้อนขณะนี้ ซึ่งเป็นการรื้อฟื้นประวัติศาสตร์ขึ้นมาทะเลาะกันทั้งสิ้น


สงครามในอดีตมีผู้แพ้ มีผู้ชนะ แต่มันคือเรื่องที่ผ่านมาแล้ว มนุษย์เรามีหน้าที่ต้องเรียนรู้ เรียนรู้และทำความเข้าใจในสิ่งที่เกิดขึ้นจากหลายมุมมอง และอย่างเป็นธรรมเพื่อเยียวยาบาดแผล และพร้อมที่จะก้าวเดินร่วมกันต่อไป



เพราะชนทุกชาติกว่าจะเดินมาถึงวันนี้ ต่างก็มี " บาดแผล" ทางประวัติศาสตร์มาด้วยกันทั้งนั้น...