Skip to main content

"น้ำตา" ของชายคนนั้น

คอลัมน์/ชุมชน


ผมชอบอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ครับ…


โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นไม่เกินหนึ่งชั่วอายุคน เพราะมันดูไม่ห่างไกลจากความรับรู้ของเรามากเกินไปนัก


แต่ถึงแม้จะอ่านสักกี่เล่ม ก็คงไม่สามารถรู้สึก "อิน" เท่ากับการได้พบปะผู้ที่ผ่านเวลาเหล่านั้นมาจริงๆ


ครั้งหนึ่ง ขณะสัญจรไปใกล้ชายแดนตะวันตก ผมพบว่า บางทีก็ไม่จำเป็นต้องพูดจา เพียงแค่มองตา "ใจ" ดวงหนึ่งก็สามารถเล่าเรื่องแห่งอดีตสู่ "ใจ" อีกดวงหนึ่งได้


เพราะภาษา "ใจ" ไม่มีพรมแดน…


* * * * *


จังหวัดกาญจนบุรี…25 เมษายน 2548


ผมทรงตัวพิงหน้าผาด้วยความอ่อนเพลียจากการอดนอนเมื่อคืนก่อน ที่ที่ผมยืนอยู่นี้คือด่านไฟนรก (ช่องเขาขาด) และตรงหน้า กำลังจะมีพิธีกรรมบางอย่างเริ่มขึ้น…


ชายคนนั้นปรากฏตัวในเช้ามืดอันคลาคล่ำด้วยผู้คน ซึ่งส่วนมากคือฝรั่งหัวทองชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์หุ่นน้อง ๆ ผู้พันเคเอฟซี ที่พากันตื่นแต่เช้าออกเดินกันมาเป็นกลุ่มไปบนทางกันดารที่โรยด้วยหินจำนวนมาก


จุดหมายในวันนี้ของพวกเขาคือ…วางหรีดแสดงความระลึกถึงบรรพชนผู้เสียสละ


สำหรับเด็กตัวน้อยที่มากับพ่อแม่ คนเหล่านั้นคือคุณปู่หรือทวด….ผู้เสียชีวิตคราวสงครามโลกครั้งที่สอง ระเบิดขึ้นในเอเชียอาคเนย์ สงครามและความโหดร้ายซึ่ง 60 ปีก่อนทิ้งรอยแผลแห่งความปวดร้าวไว้ที่นี่


เสียงมอเตอร์ไซค์ดังขึ้น ทำให้ผมคิดว่าใครหนอ ช่างเอารถเครื่องมาวิ่งในทางทุรกันดารแต่เช้ามืด ไม่เกรงใจคนที่ต้องการบรรยากาศเงียบสงบบ้างหรืออย่างไร


ความรู้สึกเช่นนั้นหมดลง เมื่อภาพหนึ่งปรากฏ…


ชายชราเส้นผมทั้งศีรษะเป็นสีขาว ไม้เท้าคำยันอยู่ทั้งสองแขน นั่งบนรถวีลแชร์ที่ถูกยกขึ้นไว้บนรถซาเล้งอีกทีหนึ่ง ซึ่งวิ่งเข้ามายังจุดหมายช้า ๆ ท่ามกลางแสงเทียนริบหรี่ทั่วบริเวณ


ผมยืนตกตะลึง ไม่ใช่เพราะชายคนนี้พิการ แต่เป็นเพราะบางสิ่งบางอย่างในแววตาของเขา


มันคือสิ่งที่คนทั่วไปเรียกว่าความมุ่งมั่น ความเศร้า...ถึงที่สุดคือความปวดร้าว


สายตาคู่นั้นสื่อออกมาตลอดพิธีกรรมรำลึกผู้สูญเสียในวัน ANZAC DAY ซึ่งชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ทั่วโลกใช้โอกาสนี้ระลึกถึงวีรกรรมทหารร่วมชาติ ฝ่ายพันธมิตร และเชลยศึกผู้สูญเสียจากสงครามที่มนุษย์ก่อขึ้นในศตวรรษที่ 20


เช้ามืดวันนั้น สายตาของผมไม่ได้ละไปจากชายคนนี้เลย เพราะชายผู้นี้หลั่งน้ำตาเงียบ ๆ ตลอดเวลาที่พิธีกรรมดำเนินไป…


เขาคือทหารผ่านศึก เป็นหนึ่งในเชลยศึกที่ครั้งหนึ่งถูกทหารญี่ปุ่นเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟสายมรณะช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง


เส้นทางรถไฟสายนี้น้อยคนที่จะไม่รู้จัก เพราะเป็นหนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยวสำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของกาญจนบุรีไปแล้วในปัจจุบัน


ขณะที่ในอดีต "ทางรถไฟสายมรณะ" มีจุดเริ่มจากสถานีหนองปลาดุกในราชบุรี ก่อนเข้ามายังกาญจนบุรี และไปสิ้นสุดที่สถานี "ตันบีอูซายัต" ในพม่า เป็นทางรถไฟสายนี้ญี่ปุ่นให้ความสำคัญมาก เพราะเป็นทางยุทธศาสตร์ใช้ลำเลียงอาวุธและเสบียงอาหาร


และเส้นทางส่วนหนึ่งตัดผ่านเขตป่าตะวันตกรอยต่อชายแดนไทยพม่า ป่าซึ่งอุดมไปด้วยไข้มาลาเรียมากที่สุดแห่งหนึ่งในอุษาคเนย์ ทั้งยังต้องผ่านทางตันมากมายซึ่งเป็นหินแกร่ง


ช่องเขาขาด นับเป็นหนึ่งในจุดที่มีคนตายจากการขุดเจาะหน้าผามากที่สุด และหลังสงคราม มีสถิติไม่เป็นทางการว่าเชลยศึกที่สร้างทางรถไฟตายไปกว่าแสน! สูญหายอีกนับไม่ถ้วน


ไม่ต้องพูดถึงว่า กว่าชายคนหนึ่งจะผ่าน "นรก" ดังกล่าวจะมีสภาพจิตใจเช่นไร เขาย่อมแลกมาด้วยความทรงจำเลวร้ายที่ติดตัวไปชั่วชีวิต


น้ำตาเขาจึงหลั่งไหล เมื่อกลับมา …มาอยู่ในสถานที่ซึ่งครั้งหนึ่ง เพื่อนและคนรู้จักจบชีวิตลงต่อหน้าต่อตา จากการทำงานหนักและจากน้ำมือของอาชญากรสงคราม


พิธีการทั้งหมดจบลง เขายังคงอยู่ตรงนั้น นักข่าวหลายคนเข้าไปขอพูดคุย ขอสัมภาษณ์ แต่เขาตอบมาไม่กี่คำ…


ท่ามกลางกำแพงภาษาและม่านน้ำตาที่กั้นเราเอาไว้ ผมจับใจความบางอย่างได้


"เรียนรู้กับมัน อย่าให้สิ่งนี้เกิดขั้นอีก"


* * * * *


เช้ามืดวันนั้น ผมพบว่า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดที่มนุษย์สร้างขึ้นมาบนโลกคือ "สงคราม"


ผมค้นพบจาก "น้ำตา" ของชายคนนั้น