Skip to main content

" แผล" ของเดือนพฤษภาที่ถูก " ย้ำ"

คอลัมน์/ชุมชน

17 พฤษภาคม 2548 …


วันนี้...ครบรอบ 13 ปี " พฤษภาทมิฬ" … " พฤษภาประชาธรรม" หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่หมายความถึงเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 13 ปีก่อนหน้านี้



13 ปีก่อนหน้า ประชาธิปไตยกลับคืนมาท่ามกลางรอยเลือดและคราบน้ำตาที่ท่วมท้นถนนราชดำเนิน …


13 ปีให้หลัง ญาติของผู้เสียสละเหล่านั้นมารวมตัวที่ลานจอดรถกองสลาก วางศิลาฤกษ์ก่อสร้างอนุสาวรีย์ในบริเวณที่พวกเขาต้อง " ต่อสู้" เพื่อให้ได้มาเช่นกัน


ต่อสู้เพื่อให้ได้พื้นที่สร้าง " บ้าน" แด่ดวงวิญญาณวีรชน เช่นเดียวกับอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม 2516… แม้ว่ารัฐบาลชุดหลัง ๆ จะรับปาก แต่ไม่ " อนุมัติ" งบก่อสร้างด้วยก็ตาม



* * * * * * * *



ก่อนหน้าวันวางศิลาฤกษ์หนึ่งวัน ผมมีโอกาสพบพี่ กรองกาญจน์ สืบสายหาญ เลขาธิการคณะกรรมการญาติวีรชนเดือนพฤษภา ’ 35 ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์


13 ปีที่ผ่านมา ภารกิจของเธอยังคงไม่เสร็จสิ้น...


จนถึงทุกวันนี้ ผลจากเหตุการณ์นั้นยังไม่จางและคงวนเวียนอยู่ในใจของเธอเสมอ ซึ่งญาติวีรชนคนอื่นก็มีสภาพไม่แตกต่างกันมากนัก


17 พ.ค. 2535... กรองกาญจน์ก็เหมือนกับญาติวีรชนหลายคนที่ต้องสูญเสียคนใกล้ชิดไปตลอดกาล น้องชายของเธอได้ไปร่วมเดินกับประชาชนบนท้องถนน ขึ้นไปเป็นกองหน้าโลกธงชาติประจัญกับทหาร ถูกยิงตกจากรถเมล์เสียชีวิตคาที่


" ทีแรกพี่ไม่เชื่อ เห็นในข่าวนะว่ามีคนถูกยิง แต่นึกว่าเป็นนักข่าวที่ไหนมากกว่า"



ช่วงคืนวันที่ 17 ต่อเช้าวันที่ 18 พ.ค. 2535 ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ร่างของ จักรพันธ์ อัมราชถูกหามมาที่ชั้นหนึ่งของโรงแรมรัตนโกสินทร์ (ปัจจุบันคือบริเวณร้านขายผ้าไหม) แต่พอมีข่าวว่าหน่วยไล่ล่าของรัฐบาลจะมาชิงศพ เพื่อน ๆ ของจักรพันธ์จึงแบกร่างเขาแห่ไปที่ถนนสาทร เพื่อบอกข่าวกับประชาชนและหลบเลี่ยงเจ้าหน้าที่


20 พ.ค. 2535 … กรองกาญจน์ทราบข่าวน้องชาย


เธอบอกผมว่าตนเองโชคดีที่เจอร่างคนที่รัก แต่สำหรับคนอื่น โดยเฉพาะคนที่เป็นแม่คนนั้นเจ็บปวดยิ่งกว่าจากการหาลูกไม่เจอ เมื่อครบ 50 วันหลังเหตุการณ์ ก่อนการจัดตั้งคณะกรรมการญาติวีรชน กรองกาญจน์และญาติ ๆ ส่วนหนึ่งจึงต้องช่วยตัวเองก่อนจะร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐ งานตามหาคนหายเริ่มขึ้นโดยไม่ต้องมีใครหรือหน่วยงานใดมากระตุ้น


เธอบอกผมว่าเป็นสัญชาตญาณของ " แม่" และ " พี่"


เรื่องราวคนหาย ความสูญเสีย จึงผ่านการรับรู้ของผู้หญิงคนนี้มากเหลือคณานับ


วันนั้นผมได้รับรู้เรื่องพี่น้องคู่หนึ่งที่อยู่ในเหตุการณ์ แต่ด้วยความกลัวเสียงปืน ทำให้ต้องเตลิดหนีไปต่างจังหวัดโดยไม่มีใครทราบ กลายเป็นบุคคลที่ศาลสั่งให้มีสถานภาพ " สาบสูญ" ไม่น้อยกว่า 3 ปี ก่อนที่ทีมทำงานของเธอพบว่าเด็กสองคนนี้จับผลัดจับผลูไปจนถึงภาคตะวันออก และหาทางกลับบ้านไม่ได้


การสนทนาวันนั้นผมได้อะไรมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเข้าใจถึงคุณค่าแห่งเสรีภาพที่คนรุ่นใหม่ใช้กันอยู่ในทุกวันนี้


เรามีทั้งรัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้ง เราวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้ และอย่างน้อยที่สุด เราล้อเล่นกับท่านผู้นำผ่านการ์ตูนการเมืองและตั้งคำถามกับท่านนายกฯ ได้โดยไม่โดนมาตรา 17 ยิงเป้าเหมือนสมัยเผด็จการครองเมือง



* * * *



20 พ.ค. 2548 … เสียงโทรศัพท์จากพี่กรองกาญจน์ดังขึ้น … เธอบอกผมว่ามี ญาติวีรชนคนหนึ่งถูกทำร้ายจนบาดเจ็บบริเวณใกล้อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา


เขาคนนั้นไม่ใช่ใครอื่น หากคนไทยยังจำภาพสำคัญบางภาพในเหตุการณ์พฤษภาครั้งนั้นได้ จะมีอยู่ภาพหนึ่งซึ่งแสดงเหตุการณ์คนในเครื่องแบบ 4-5 คนพร้อมด้วยไม้กระบองรุมทุบประชาชนคนหนึ่งที่หมอบเอามือกุมหัวกับพื้นอย่างหมดท่า



จากข้อมูลอ้างอิง ภาพดังกล่าวมาจากหนังสือพิมพ์ " เดอะเนชั่น" และได้รับการเผยแพร่ไปทั่วโลกจากสำนักข่าวต่างประเทศ


ภาพนี้บอกอะไรบางอย่างซึ่งทำให้นานาชาติตั้งคำถามต่อการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลไทยในครั้งนั้น …


คนที่โดนทำร้ายในคืนวันที่ 19 พ.ค. 2548 คือชายคนเดียวกันกับในภาพ …




เขาชื่อ สุทธิศักดิ์ ผลแก้ว ปัจจุบันเป็นนักกิจกรรมอิสระ ซึ่งปีนี้ได้กลับมาร่วมงาน " พฤษภาประชาธรรม" กับญาติวีรชนคนอื่น ๆ และคืนวันนั้นขณะเขาออกมาซื้อของนอกที่พัก (โรงแรม) ก็ถูกชายลึกลับ 3 คนทำร้ายจนบาดเจ็บสลบไป จนเขาฟื้นขึ้นมาและร้องให้คนพิการซึ่งบังเอิญผ่านไปแถวนั้นตามคนมาช่วย


ไม่มีใครรู้ว่าไอ้โม่งที่ไหนเป็นคนทำเขา แต่พี่กรองกาญจน์บอกผมว่า " ขออย่าให้เป็นอย่างที่คิดเลย"


ผมคงไม่ต้องบอกกระมัง … ว่าอย่างที่คิดของพี่กรองกาญจน์หมายความว่าอะไร


ภาพของทนายสมชาย นีละไพจิตร และกรณีคนที่ถูกอุ้มหายไปอย่างลึกลับตามหน้าหนังสือพิมพ์มันคอยย้ำเตือนผมอยู่ตลอดเวลา


ันนี้ … สังคมไทยยังคงมีการใช้ความรุนแรงและอำนาจมืดอย่างเป็น " ปกติ"


และที่ " ปกติ" ยิ่งกว่าคือพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ไม่ต้องพูดถึงว่าเมื่อพี่กรองกาญจน์พาคุณสุทธิศักดิ์ไปแจ้งความ เขาเจอกับอะไร


" อะไร" บางอย่างที่ไม่ได้พัฒนาไปตามระบบราชการที่ได้ชื่อว่าปฏิรูปแล้ว ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับเขา โดยที่ผมไม่ต้องพูดว่าแบบไหน โดยเฉพาะก่อนนักข่าวจะตามไปถึง



* * * *



วันนั้น ผมเดินอยู่บนถนนราชดำเนินด้วยความมึน แม้ตัวเองไม่ใช่เจ้าทุกข์


อยากให้ลองคิดดูว่า ท่านจะรู้สึกอย่างไร หากโดนเจ้าหน้าที่ตีในเหตุการณ์พฤษภา 35 ครั้งหนึ่ง โดนตีหัวโดยคนไม่รู้จักอีกครั้งหนึ่งในเวลาให้หลังไม่กี่ปี และโดนทำร้ายอีกครั้งเมื่อครบ 13 ปีพฤษภาประชาธรรม


วันนั้นผมมึนยิ่งกว่าเมื่อดูปฏิทิน


20 พฤษภาคม 2548 วันนี้ ครบรอบ 13 ปีที่พี่กรองกาญจน์เจอศพน้องชาย....


ความรุนแรงยังคงมีอยู่และเกิดขึ้นเป็น " ปกติ" ในสังคมไทยครับ !


 


เอกสารอ้างอิง



  • กองบรรณาธิการนิตยสารสารคดี. สารคดีฉบับพิเศษ " รวมเลือดเนื้อ ชาติเชื้อไทย". สนพ.สารคดี 2543.
  • 10 ปี พฤษภา 35 สังคมไทยได้อะไร ? นิตยสารสารคดีปีที่ 18 ฉบับที่ 207 พ.ค. 2545.
  • สัมภาษณ์กรองกาญจน์ สืบสายหาญ และ สุทธิศักดิ์ ผลแก้ว