Skip to main content

สอนลูกให้รักการอ่าน

คอลัมน์/ชุมชน

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไป จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2544 พบว่า คนไทยโดยเฉลี่ยใช้เวลาอ่านประมาณ 1.28-4.43 นาทีต่อ 1 วัน หลายคนแสดงทรรศนะว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะภาพผู้คนนับร้อยนับพันที่เบียดเสียดกันเข้าไปจับจองเป็นเจ้าของหนังสือเล่มโปรดในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ เป็นสิ่งที่น่าจะประกันความเป็นนักอ่านของคนไทยได้อย่างดีเยี่ยม แต่ความเป็นจริงก็คือ คนเหล่านั้นไม่ใช่คนส่วนใหญ่ของประเทศ ยังมีประชากรอีกหลายสิบล้านคน ที่ไม่ชอบอ่านหนังสือ และไม่มีโอกาสได้อ่าน


การปลูกฝังให้เด็กรักการอ่าน จึงถือเป็นภารกิจที่สำคัญยิ่งสำหรับพ่อแม่ หรือ จะเรียกได้ว่าเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลที่มีต่อประชาชนของประเทศตน เพราะ หนังสือ คือ แหล่งความรู้ วิทยาการ และทักษะต่างๆทั้งในด้านวิชาการ สังคม และอื่นๆ สามารถบ่มเพาะความคิดของผู้นั้นต่อการมองโลกและชีวิตได้อย่างดี จนมีผู้กล่าวว่า หากผู้ใดรักการอ่านหนังสือ มักจะเป็นผู้รักการเรียนรู้ และการอ่านคือหนทางนำไปสู่ความสำเร็จทั้งชีวิต การงาน และ การศึกษาด้วยเช่นกัน


งานวิจัยหลายชิ้นในหลายปีที่ผ่านมาทำให้ประจักษ์ชัดว่า ความสำเร็จของเด็ก ๆ นั้นล้วนมาจากความกระตือรือร้นในการส่งเสริมของพ่อแม่และสมาชิกในครอบครัวแทบทั้งสิ้น ยิ่งได้รับทั้งแรงกระตุ้นในการช่วยเหลือทั้งการสอนการบ้าน การพูดคุยกับคุณครูที่โรงเรียนเพื่อเชื่อมความร่วมมือระหว่างบ้านและโรงเรียน และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆของโรงเรียน ทั้งหมดล้วนเพิ่มความได้เปรียบของเด็กในสังคม


นอกเหนือจากการช่วยเหลือให้ลูกๆ ได้มีสุขภาพอนามัยที่ดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจ สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยลูกๆในเรื่องการเรียนคือ การปลูกฝังการรักการอ่าน ซึ่งในระยะยาวส่งผลกระทบต่อความสำเร็จในการเรียนรู้ในชีวิตต่อไป การอ่าน เปรียบเสมือน กุญแจอันสำคัญที่จะเปิดประตูสู่โลกกว้างแห่งความรู้ต่างๆให้กับเด็กให้เรียนรู้ หากขาดกุญแจสำคัญดอกนี้แล้วไซร้ ก็เหมือนเด็กถูกทอดทิ้งให้จมอยู่กับโคลนเลนของความโง่เขลารอวันถูกเอารัดเอาเปรียบเรื่อยไป


สามารถกล่าวได้ว่าเด็กทารกเริ่มการเรียนรู้ได้ตั้งแต่เกิด ตั้งแต่ได้ยินเสียงพูดของพ่อแม่ ทุกครั้งที่พ่อแม่เปล่งเสียงพูดคุยกับเขา เสียงร้องเพลงให้เขาฟัง หรือตอบสนองต่อทุกเสียงที่ลูกทำ ทั้งหมดคือ การเรียนรู้ในเรื่องภาษา เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ชัดเจนขึ้น โปรดระลึกถึงการเรียนรู้ที่จะพูดของเด็กที่เริ่มจากการพูดคุย การฟัง การอ่าน และการเขียน หรืออย่างที่ไทยๆมักพูดว่า สุ จิ ปุ ลิ นั่นเอง หลักการทั้งสี่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาในด้านภาษาให้กับเด็ก


พึงระลึกเสมอว่า พ่อแม่คือครูคนแรกและครูที่ดีที่สุดสำหรับลูก แม้ว่าพ่อแม่จะไม่ใช่นักอ่านตัวยง แต่พ่อแม่สามารถส่งเสริมนิสัยรักการอ่านนี้ให้กับลูกได้ด้วยความกระตือรือร้นในการส่งเสริมอย่างสม่ำเสมอ และเริ่มให้เร็วที่สุดเท่าที่เร็วได้ ยิ่งก่อนวัย 7 ขวบยิ่งส่งผลดีต่อเด็กมากเท่านั้น เพราะวัยนี้โสตประสาทแทบทุกส่วนหรือ สัมผัสทั้งห้าของเด็กไวต่อสิ่งเร้ามาก


ดังคำอธิบาย ศ.นพ. เกษม วัฒนชัย องคมนตรีและประธานมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก อธิบายเรื่องการทำงานของสมองเด็กไว้อย่างน่าสนใจว่า "สมองต้องได้รับการเรียนรู้ ต้องได้รับรู้สิ่งที่พึงปฏิบัติ ตั้งแต่แรกเกิด ทั้งในบ้าน ในชุมชน ในโรงเรียน ในที่ทำงาน การเรียนรู้ต้องกระทำผ่านผัสสะทั้ง 5 กระบวนการเรียนรู้ของเด็ก เริ่มตั้งแต่อายุ 3-4 เดือน โดยเด็กจะเรียนรู้ผ่านทางรูปภาพและสี พ่อแม่มีหน้าที่ป้อนความรู้ให้เด็ก คนเราต้องรับผัสสะก่อนแล้วจึงไปสร้างความจำ"


ขั้นตอนต่อไปนี้คือขั้นตอนในการสร้างนักอ่านหรือหนอนน้อยของพ่อแม่ โดยให้เด็กสามารถสร้างองค์ความรู้ของตนเอง หรือ แนวทางในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ต่อไป
พูดคุยและร่วมฟัง (Talk and listen).
ฟังเรื่องหรือนิทานซึ่งอ่านดังๆ (Listen to stories read aloud).
เป็นตัวอย่างในการอ่าน (Pretend to read).
เรียนรู้วิธีในการถือหนังสือ (Learn how to handle books).
เรียนรู้การพิมพ์และวิธีการทำงาน (Learn about print and how it works).
รับรู้ตัวอักษรทั้งการเรียกและรูปร่าง (Identify letters by name and shape).
รับรู้การแยกเสียงในภาษาพูด (Identify separate sounds in spoken language).
เขียนตัวอักษร (Write with scribbles and drawing).
เชื่อมตัวอักษรเข้ากับเสียงที่พูด (Connect single letters with the sounds they make).
เชื่อมสิ่งที่ได้รับรู้แล้วกับสิ่งที่ได้อ่าน (Connect what they already know to what they hear read).
คาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นจากนิทานและบทกวี (Predict what comes next in stories and poems).
เชื่อมชุดของคำกับเสียง (Connect combinations of letters with sounds).
รับรู้คำง่ายๆในการพิมพ์ (Recognize simple words in print.)
สรุปใจความจากนิทาน (Sum up what a story is about).
เขียนตัวอักษร (Write individual letters of the alphabet.)
เขียนคำ (Write words).
เขียนประโยคง่ายๆ (Write simple sentences.)
อ่านหนังสือง่ายๆ (Read simple books.)
เขียนเพื่อการสื่อสาร(Write to communicate.)


ข้างต้นเป็นเพียงแนวทางกว้างๆ ในการเรียนรู้ของเด็กต่อเรื่องของภาษาซึ่งจะโยงไปสู่เรื่องของการสร้างนิสัยรักการอ่าน ในเด็กบางคนอาจมีขั้นตอนการเรียนรู้ที่ต่างไปบ้าง แต่ไม่ใช่ทั้งหมด และอาจใช้ระยะเวลาในการเรียนรู้ไม่เท่ากัน ในคราวหน้าจะมีการพูดคุยถึงรายละเอียดในแต่ละขั้นตอน เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น


บทความนี้มุ่งหวังเพียงจุดประกายให้พ่อแม่มีส่วนร่วมในการปลูกฝังคุณลักษณะที่ดีในการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ในรายละเอียด หรือการประยุกต์ใช้จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่เองในการสร้างสรรค์ต่อไปเพื่อให้สอดคล้องกับเด็กในต่างสิ่งแวดล้อม