Skip to main content

สอนลูกให้รักการอ่าน ตอนที่ 2

คอลัมน์/ชุมชน

บ่มเพาะให้เด็กมีความรักการอ่าน สำคัญกว่าการฝึกให้เด็กแค่อ่านหนังสือเป็น เนื่องจากหากเด็กมีลักษณะนิสัยในการรักการอ่านนั้น ผลพลอยได้ที่ตามมาคือ เขาจะอ่านหนังสือเป็นโดยปริยาย และการอ่านเป็นของเด็กที่รักการอ่านจะมีคุณภาพมากกว่าเด็กที่อ่านหนังสือเป็นโดยไม่ได้เกิดจากความรัก


ในบทความตอนนี้ต้องมาทำความเข้าใจในรายละเอียดของขั้นตอนที่กล่าวถึงเมื่อคราวที่แล้ว ที่ว่า การพูดคุยและการฟังลูกคุย


นักวิทยาศาสตร์ซึ่งเชี่ยวชาญด้านสมองพบว่า เด็กทารกนั้นเรียนรู้สิ่งรอบตัวที่มองเห็นและได้ยินมากกว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่คาดคิดเสียอีก ดังนั้น ควรอย่างยิ่งที่เราผู้ใหญ่ต้องใช้ความหิวกระหายใคร่เรียนรู้ของเด็กให้เป็นประโยชน์


ภายหลังการเปลี่ยนผ่านย้ายที่อยู่ของเด็กทารกจากในครรภ์สู่โลกภายนอกครรภ์ เด็กเรียนรู้สรรพสิ่งรอบตัวทั้งเสียงพูด สีหน้า ท่าทาง และการเคลื่อนไหวต่าง ๆ นี่คือเหตุผลที่เราต้องพูดคุยกับเขา หรือร้องเพลง หรือยิ้ม หรือตอบสนองความรู้สึกกับเขา เพราะเขากำลังเรียนรู้ในสิ่งที่คุณพูด นั่นคือขั้นตอนแรกของการเป็นนักอ่านที่ดี เขากำลังสนใจภาษาแล้ว เขาก็จะรักภาษาในที่สุด


เมื่อเขาเติบโตขึ้น ควรอย่างยิ่งที่ต้องพูดคุยกับเขาอย่างต่อเนื่อง ถามไถ่ถึงสิ่งที่เขาทำ หรือคิดจะทำ ถามถึงเหตุการณ์หรือบุคคลต่าง ๆ ที่โลดแล่นในเรื่องราวที่คุณอ่านพร้อมกับเขา แสดงออกให้เขาเห็นว่า คุณให้ความสนใจทุกคำพูดที่เขาพูดกับคุณ กระตุ้นให้เขาพูดคุยหรือฟังสิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวเขา พร้อมกับแสดงให้เห็นว่าคุณเคารพคำพูดที่เขาพูด สิ่งที่เขาคิดไปพร้อมกันด้วย


ร่วมอ่านด้วยกันแม่ลูก


ให้นำลูกนั่งตักแล้วอ่านหนังสือด้วยกันกับคุณ ณ จุดนี้ลูกจะเห็นความแตกต่างระหว่างการพูดคุยธรรมดา กับการอ่านหนังสือ ชี้ชวนให้ลูกดูรูปภาพ พร้อมคำบรรยาย เด็กจะจับความสัมพันธ์ระหว่างตัวอักษรกับภาพได้ดีขึ้น เขาจะรู้สึกสนุกกับการอ่านภาพพร้อมตัวอักษรในเบื้องต้น


หากลูกยังเป็นทารก การอ่านออกเสียงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตประจำวัน พยายามหาเวลาที่เงียบสงบ เช่น เวลาก่อนนอนเป็นช่วงการอ่านประจำ ซึ่งเวลานี้เป็นเหมือนเวลาว่างที่ถ่ายโอนจากเวลาเล่นมาสู่เวลานอน ทำบรรยากาศสบาย ๆ ให้เด็กได้รับรู้ และมีความสุขปลอดภัยในไออุ่นจากแม่ด้วย จะเป็นการส่งเสริมทัศนคติที่ดีต่อการอ่าน เมื่อไรที่เด็กที่รู้สึกเหนื่อยล้า หรือหงุดหงิด ไม่สบายตัวในการร่วมอ่านด้วย ให้ระงับทันที


พยายามใช้เวลาในการอ่านประมาณ 30 นาทีต่อวัน ทั้งนี้ในเบื้องต้นควรเริ่มเพียงไม่กี่นาที และหลาย ๆ ครั้งต่อวัน จนพัฒนาเป็นเวลาประจำเพียงหนึ่งครั้งในท้ายที่สุด พยายามทำอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เมื่อไรที่มีเหตุจำเป็นต้องยกเลิกหรือเลื่อนออกไป ควรรีบกลับมาใช้เวลาร่วมกันดังเดิม ทั้งนี้ช่วงเวลาอ่านหนังสือให้ลูกฟังควรเป็นช่วงที่มีความสุขทั้งแม่และลูก


เรื่องราวมันเป็นอย่างไรจ๊ะ


ขณะที่อ่านร่วมกับลูก ควรถามไถ่ความเห็นของลูกต่อเรื่องราวต่าง ๆ ที่คุณได้อ่านในกรณีที่ลูกของคุณสามารถสื่อสารได้บ้าง เช่น ในรูปนี้หนูอยู่ตรงไหนจ๊ะ แล้วชี้ชวนให้เขาชี้ หรือลองทายซิ เรื่องจะจบลงอย่างไร หนูคิดว่าเรื่องนี้สนุกไหม ... ทั้งหมดก็เพื่อการสร้างบรรยากาศ และสร้างวิธีที่ถูกต้องในการอ่านหนังสือ ที่มิใช่เพียงแค่อ่านผ่าน ๆ ให้จบ แต่ควรจะเก็บข้อคิดหรือกระตุ้นการคิดให้กับเด็กด้วย


การเลือกหนังสือ


เป็นสิ่งสำคัญมาก ที่ควรจะเลือกให้เหมาะกับวัยและสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้สามารถข้อคำแนะนำได้จากบรรณรักษ์ในห้องสมุด


เมื่อเด็กยังเป็นวัยทารกอยู่ ควรแนะนำหนังสือให้ลูก ๆ ได้สัมผัสเองในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือปกแข็ง หนังสือผ้าที่สามารถซักได้ หนังสือที่มีตุ๊กตาอยู่ภายในที่สามารถกระเด้งออกมาได้เมื่อเปิด หรือหนังสือที่มีเสียงพูดเสียงร้องที่ผู้จัดทำมักบรรจุกล่องเสียงเล็ก ๆ อยู่ภายใน หนังสือที่ควรเลือกให้กับลูกควรเป็นเล่มใหญ่พอสมควรที่ลูกจะไม่สามารถเอาเข้าปากได้ โดยมีเนื้อหาภายในที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวันที่เขาได้สัมผัสอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน


อย่าหงุดหงิดหรือโกรธเด็ก หากในวันแรก ๆ เขาโยนหนังสือทิ้ง หรือขว้างปา หรือฉีกหนังสือ ให้อดทนต่อปฏิกิริยาของเขาต่อหนังสือ เขาเพียงต้องการเรียนรู้ว่ามันคืออะไร ทำอะไรได้เท่านั้น ให้ชี้ชวนให้ดูรูปภาพภายในพร้อมแสดงออกให้รู้สึกกระตือรือร้นหรือสนใจอย่างมากต่อสิ่งที่คุณนำเสนอ ไม่นานก็จะเรียนรู้วิธีใช้ประโยชน์จากมัน แล้วเมื่อเขาเติบโตขึ้นมาหน่อย ราวสัก 3 ถึง 4 ขวบ เขาจะเป็นคนเลือกหนังสือให้คุณอ่านให้เขาฟังเอง


ต่อเมื่อวัยอนุบาล หนังสือที่ควรอ่านให้ลูกฟังควรมีความยาวมากขึ้นหรือมีจำนวนคำมากขึ้น ทั้งนี้คำที่ใช้ในหนังสือควรมีคำซ้ำเพื่อให้จดจำได้ง่าย หรือคำคล้องจองเพื่อความสนุกสนาน จนเมื่อเริ่มวัยประถม 1 หนังสือที่เลือกอ่านควรมีความสนุกสนานของเนื้อหา การเล่นคำ มากกว่าหนังสือเชิงสารคดี


พึงระลึกเสมอว่า วัยเด็กเล็กมักสนใจในเรื่องของผู้คน สถานที่ต่าง ๆ หรือสิ่งที่เคยได้รับรู้มาบ้างแล้วที่ใกล้ตัวนั่นเอง เช่น เรื่องเกี่ยวกับจังหวัดที่เขาอาศัยอยู่ บ้านที่เขาอยู่ ส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ไม่ว่าการทำบุญตักบาตร การเล่นสงกรานต์ การไหว้หรือทักทายผู้คน การแต่งตัว วันหยุด หรือเด็กบางคนสนใจเรื่องไดโนเสาร์ก็ควรเลือกในสิ่งที่เขาสนใจ


แสดงให้ลูกเห็นว่าคุณสนใจอ่าน


การเป็นต้นแบบความรักการอ่านเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งผู้แสดงบทบาทนี้ก็คือคุณพ่อคุณแม่นั่นเอง วิธีการก็คือ คุณแม่นำหนังสือที่ตนเองชอบโดยเลือกมาจากร้านหนังสือ หรือห้องสมุด นำมาอ่านร่วมกันกับลูก โดยให้ลูก ๆ อ่านหนังสือของเขาข้าง ๆ คุณ คุณอาจรู้สึกไม่สะดวกในการอ่านหนังสือของตัวเอง แต่นั่นแหละคือการปลูกฝังทัศนคติในการรักการอ่าน เพราะเมื่อเขาเห็นว่าหนังสือสำคัญต่อคุณ เขาก็คิดว่าหนังสือสำคัญต่อเขาเช่นกัน


เรียนรู้อักษรที่พิมพ์


การอ่านหนังสือโดยออกเสียง และชี้ไปด้วย ก็คือการประสานของอวัยวะต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เด็กจะจับความสัมพันธ์ระหว่างภาพตรงหน้าพร้อมเสียงที่ได้ยิน และอักษรที่ปรากฏ ทำให้เขาเข้าใจความหมายโดยนัยได้อย่างไม่ยากเย็นนัก


ประมาณ 4 ขวบ เด็กเรียนรู้คำที่พิมพ์ในหนังสือนั้นมีความหมาย และประมาณ 5 ขวบ เด็กสามารถแยกแยะตัวอักษรได้ดีขึ้น ทราบว่าตัวอักษรนั้นเรียงจากซ้ายไปชวา ในภาษาอังกฤษมีตัวพิมพ์ใหญ่ตัวพิมพ์เล็กด้วย และประมาณ ประถม 1 เขาจะมีความกระตือรือร้นที่อ่านหนังสือเอง ควรปล่อยให้เขาทำ อย่าบังคับ เพราะการอ่านเป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งของเด็กที่สามารถทำอะไรได้เหมือนผู้ใหญ่ ต้องตระหนักว่า ต้องเป็นความต้องการของเขาเอง


หนังสือทำงานอย่างไร


เด็กเรียนรู้การถือหนังสืออ่าน การวางท่าเพื่ออ่านหนังสือจากพ่อแม่ แต่อาจไม่เข้าใจในสิ่งที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า ต้นแบบจึงสำคัญ และนับเป็นสัญญาณที่ดีที่เด็กเรียนรู้ที่จะรับเอาอุปกรณ์สิ่งหนึ่งเข้ามาในชีวิตของเขา นั่นคือ หนังสือ ทั้ง ๆ ที่ก่อนสามขวบเขาจะไม่เห็นความสำคัญของมันนัก อาจจะฉีก ขว้างทิ้ง หรือไม่สนใจก็ตาม แต่หลังสามขวบเขาก็จะรู้ว่า หนังสือมีไว้เพื่ออ่าน เขาเรียนรู้ว่า หนังสือ มีส่วนประกอบคือ ปกหน้า ปกหลัง มีจุดเริ่มต้น มีจุดสิ้นสุด มีหน้าต่าง ๆ ในแต่ละหน้ามี ส่วนต้น ซึ่งอาจมีเลขหน้า หรือส่วนท้ายที่อาจมีชื่อเรื่อง การเปิดพลิกแต่ละหน้าคือการดำเนินเรื่องราวต่าง ๆ และหนังสือก็เริ่มจากซ้ายไปขวา


ประมาณ 4- 5 ขวบ เด็กจะเรียนรู้ส่วนประกอบของหนังสือได้อย่างดี การอ่านข้อความบนปกหนังสือพึงกระทำ อย่างน้อยเพื่อให้เขาคาดการณ์เนื้อหาหรือภาพต่าง ๆ ที่บรรจุภายใน การชี้ชวนให้สนใจส่วนประกอบก็เป็นเรื่องดีที่ให้เด็กช่างสังเกต อย่างน้อยก็รู้ว่า สิ่งใดเปลี่ยนแปลงไปบ้างเมื่อพลิกไปในแต่ละหน้าของหนังสือ เช่น เลขหน้า ความลึกลับซับซ้อนของวัตถุสิ่งนี้ก็ได้ถูกค้นพบแล้วด้วยตัวเด็กเอง


ความพยายามเบื้องต้นในการเขียน


การเขียนเป็นพัฒนาการที่ส่งต่อมาจากการอ่าน เมื่อเรียนรู้การอ่านก็ควรส่งเสริมให้มีการเรียนรู้การเขียนไปพร้อมกันด้วย ในวัยสองขวบ ควรอย่างยิ่งที่จะให้เด็กหัดใช้สีเทียนเพื่อขีดเขียนลงบนกระดาษ อย่างน้อยก็เป็นการพัฒนากล้ามเนื้อมือ และเรียนรู้เรื่องสีต่าง ๆ ที่ใช้ เขาจะสนุกสนานมาก และเมื่อเขาเรียนรู้การอ่านระยะหนึ่ง เขาจะมีความกระตือรือร้นที่จะเขียนไปด้วย


เมื่อเริ่มต้นการหัดเขียนก็เริ่มด้วยตัวอักษรง่าย ๆ ไปเรื่อย ๆ เพื่อเลียนแบบอักษรในหนังสือที่เขาอ่าน หรือการวาดภาพสิ่งที่เห็นในหนังสือ ไม่ต้องสนใจความถูกผิด สมบูรณ์ของภาพ หรือตัวอักษร เมื่อวัยเข้าเรียน เขาจะเรียนรู้ความถูกผิดเองของการสะกดคำ อย่างน้อยสิ่งนี้เป็นสิ่งสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของเขาในรูปของภาพวาด หรือ ตัวอักษร เขาจะเรียนรู้ว่า การเขียนคือสิ่งที่มาคู่กับการอ่าน


การอ่านภาษาอื่น
กรณีที่ต้องการส่งเสริมการอ่านภาษาอังกฤษ หรือ ภาษาจีน หรือภาษาอื่นใดที่นอกเหนือจากภาษาแม่ ก็ให้ดำเนินการเหมือนอย่างที่ได้พูดถึงข้างต้น ทั้งในเรื่องของการพูดคุย การอ่าน และการเขียน ในตอนท้าย เด็กจะสามารถแยกแยะได้เอง และสามารพูดสลับไปมาได้อย่างแคล่วคล่อง หากได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากพ่อแม่ผู้ปกครอง


อย่าลืม ข้อแนะนำเบื้องต้นที่ว่า ความรักการอ่านสำคัญมากกว่าการอ่านหนังสือเป็นโดยไม่รัก ดังนั้นทุกกิจกรรมควรทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องจนเป็นเนื้อเดียวของชีวิตประจำวัน