Skip to main content

สอนลูกรักคณิตศาสตร์

คอลัมน์/ชุมชน

คณิตศาสตร์กลายเป็นยาขมสำหรับเด็กหลายๆคนดังที่ทราบกันจากการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการที่เกณฑ์เฉลี่ยของการเรียนวิชานี้อยู่ในค่าที่ต่ำมาก ไม่ต้องกล่าวถึงค่า 50 เปอร์เซนต์เลย ลำพังค่า 30 เปอร์เซ็นต์ก็ทำได้ยากยิ่งนัก ขณะที่คณิตศาสตร์เป็นวิชาพื้นฐานที่เด็กทุกคนพึงเรียนรู้เพื่อการงานอาชีพต่อไปในอนาคต และสามารถปรับใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งแทบทุกอณูของโลกนี้คราคร่ำไปด้วยตัวเลขและกระบวนการการให้ได้มาซึ่งคำตอบหรือที่เรียกว่า อัลกอริทึม


เราทราบกันแล้วจากงานวิจัยว่า เด็กที่ประสบความสำเร็จในชีวิตการเรียนไม่ว่าสาขาใดก็ตามล้วนมีเหตุมาจากการส่งเสริมจากพ่อแม่แทบทั้งสิ้น การสร้างทัศนคติที่ดีต่อการเรียนให้รักในวิชานี้เป็นเรื่องสำคัญกว่าในอดีตนัก เหตุเพราะความต้องการทางเทคโนโลยี่ที่สูงนั้นล้วนต้องมีรากฐานที่เข้มแข็งจากวิชานี้ทั้งสิ้น ไม่มีใครสามารถปฏิเสธความเป็นโลกาภิวัฒน์ได้ฉันท์ใด คณิตศาสตร์ก็กลับมีบทบาทสูงมากในการสามารถร่วมอยู่กับสังคมเยี่ยงนี้ฉันท์นั้น


เพื่อการรองรับโลกอนาคตของลูกและเพื่อความมั่นใจในการเรียนในชั้นสูงขึ้น พ่อแม่ควรตระหนักชัดในภารกิจเพื่อเสริมสร้างทัศนคติในทางบวกกับวิชานี้ให้กับลูก อีกทั้งเป็นการเพิ่มพูนทักษะวิชาดังกล่าวด้วย คณิตศาสตร์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรืออยู่เฉพาะในห้องเรียนอย่างที่หลายคนเข้าใจ หรือเป็นเรื่องที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์อะไรได้ในชีวิตประจำวัน ตรงข้ามกลับเป็นเรื่องใกล้ตัวแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการตื่นเช้าเพื่อไปทำงาน ไปโรงเรียนตลอดยาวไปจนถึงสิ้นวันเพื่อเข้านอน อย่างน้อยที่สุดก็มีเรื่องของเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งนั่นเป็นส่วนหนึ่งของคณิตศาสตร์ในภาคตัวเลข คณิตศาสตร์มิใช่เป็นเพียงเรื่องของตัวเลขเท่านั้น ในการแก้ปัญหาชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหาเส้นทางใดที่ลัดที่สุดที่ใช้เวลาน้อยที่สุดในการเดินทางเพื่อเข้าที่ทำงานได้ไวที่สุด ทั้งหมดล้วนมีรากฐานมาจากคณิตศาสตร์แทบทั้งสิ้น


สิ่งที่ได้จากคณิตศาสตร์




  • ความเป็นนักแก้ปัญหา ด้วยกระบวนการแก้ปัญหาโจทย์ทางคณิตศาสตร์นั้นส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถตั้งคำถาม ค้นคว้าหาคำตอบโดยการสำรวจหาข้อมูลหรือเงื่อนไขจากโจทย์ที่ใช้ในการแก้ปัญหา การได้เกาะติดกับปัญหาเพื่อหาคำตอบ การได้รู้ว่า ทุกปัญหาล้วนมีคำตอบและกระบวนการให้ได้มาซึ่งคำตอบก็มีหลากหลายวิธี จะทำให้เด็กไม่ยึดติดจนเกินไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากปลูกฝังให้เกิดกับลูกๆได้เขาจะเป็นนักแก้ปัญหาที่ดีต่อไปโดยไม่ต้องพึงพาผู้อื่นหรือพ่อแม่ ดังตัวอย่างการเลือกซื้อของในห้างสรรพสินค้า โดยการเปรียบเทียบราคาของสินค้าสองสิ่ง ให้ดูทั้งปริมาณของสินค้า ราคา และความสดใหม่ของสินค้า เป็นต้น
  • การสามารถสื่อสารด้วยภาษาคณิตศาสตร์ สรรพสิ่งในโลกนี้มีกรรมวิธีในการแสดงค่าของตัวเองอยู่สองลักษณะ คือ รูปธรรม และ นามธรรม การได้แสดงในเชิงปริมาณ ที่เป็นตัวเลขแน่ชัดจะทำให้การมองภาพของสิ่งนั้นๆชัดเจนขึ้น เพราะบรรทัดฐานของแต่ละคนต่างกัน เช่น การระบุว่า อากาศวันนี้ร้อนจัง ถ้าถามคนทางแทบทะเลทราย คำว่าร้อนของเขาอาจจะถึง 38-40 องศาเซลเซียส ในขณะที่คำเดียวกันนี้ถ้าถามคนทางแทบขั้วโลกเหนือ หรือ ยุโรป อาจเป็นหน่วยที่ต่ำกว่า เป็นต้น การมีตัวเลขยืนยัน หรือ กราฟ หรือ สัญลักษณ์บางอย่าง ที่จับต้องได้ทำให้การพูดคุยไม่ผิดเพื้ยน หรือ เข้าใจไขว้เขวได้ เราก็ควรสอดแทรกสิ่งเหล่านี้ให้กับลูกๆในกระบวนการหาคำตอบของเขาด้วย เพื่อการสื่อสารที่เข้าใจตรงกัน
  • การคิดอย่างมีตรรกะ เพราะโลกปัจจุบันมีความซับซ้อนสูงขึ้น คณิตศาสตร์ส่งเสริมให้มีการคิดอย่างมีตรรกะ เป็นเหตุเป็นผลในการแก้ปัญหา การที่จะสามารถเลือกบริโภคข้อมูลใดๆล้วนต้องอาศัยการแยกแยะ ความเหมือน ความต่างให้ชัดเจน และการคิดที่สัมพันธ์สอดคล้องกันอย่างบูรณาการ ด้วยกรรมวิธีดังกล่าวจะทำให้เด็กๆไม่ถูกหลอกโดยง่าย เพราะเขาได้ฝึกฝนในการแก้ปัญหาแล้ว เนื่องจากบางเงื่อนไขในโจทย์ไม่สัมพันธ์ในกระบวนการหาคำตอบก็ต้องตัดทิ้งไป อย่างนี้เป็นต้น

ในคราวหน้าจะกล่าวถึงสิ่งที่ควรทราบของคณิตศาสตร์และกิจกรรมส่งเสริมทัศนคติให้รักคณิตศาสตร์