Skip to main content

สอนลูกรักคณิตศาสตร์ ตอนจบ

คอลัมน์/ชุมชน

สิ่งที่ควรทราบของคณิตศาสตร์


1. เราสามารถแก้ปัญหาได้หลายวิธี แม้ว่าคณิตศาสตร์ส่วนใหญ่มักจะมีคำตอบเดียวเสมอ แต่กระบวนการให้ได้มาซึ่งคำตอบมักมีหลายวิธี การเรียนคณิตศาสตร์มิใช่เพียงหาคำตอบได้แล้วก็พอเพียง แต่ความสำคัญยิ่งกว่านั้นคือ กระบวนการคิดหาคำตอบให้ได้โดยมีตรรกะที่ดี และการนำกระบวนการดังกล่าวนี้ไปใช้ประยุกต์กับปัญหาใหม่ได้


2. เรียนรู้จากคำตอบที่ผิด เพราะความถูกต้องแม่นยำเป็นสิ่งสำคัญของคณิตศาสตร์ อย่างไรก็ตามในบางครั้งคำตอบที่ผิดก็ช่วยลูกๆได้เรียนรู้สิ่งต่างๆมากมายในการหาเหตุผลในคำตอบที่ผิดนั้น การวิเคราะห์จากคำตอบที่ผิดทำให้เด็กเข้าใจแนวความคิดของปัญหาหรือโจทย์นั้นๆ สุดท้ายก็จะสามารถประยุกต์ทักษะการวิเคราะห์เหล่านี้นำไปสู่คำตอบที่ถูกต้องได้ ทั้งนี้ควรอย่างยิ่งที่จะโน้มน้าวให้เขาอธิบายถึงแนวคิดในการหาคำตอบนั้น เพราะจะช่วยทำให้พ่อแม่เข้าใจจุดอ่อนของเขาในการแก้ปัญหาโจทย์ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของการบวก ลบ คูณ หรือ หาร และ อื่นๆ อันจะช่วยมองเห็นกรอบของการช่วยเหลือสนับสนุนจากพ่อแม่ได้ชัดเจนขึ้น


3. กล้าเผชิญการแก้ปํญหา ในการผจญกับปัญหาที่ยากในการแก้ กลับเป็นผลดีในการฝึกฝนความมุ่งมั่น และมุมานะพยายาม ถึงแม้ว่าจะยากและมีหลายวิธีในการแก้ เป็นความท้าทายที่ลูกๆต้องฝึกความกล้า ไม่กลัวความผิด เพราะความผิดก็มีประโยชน์ดังได้กล่าวแล้ว และสุดท้ายเขาจะกลายเป็นนักแก้ปัญหาที่ดีและอิสระไม่ต้องพึงพิงผู้อื่นได้


4. คณิตคิดในใจมีประโยชน์ คณิตศาสตร์มิใช่ศาสตร์ที่ใช้เพียงดินสอกับกระดาษเท่านั้น การฝึกคิดโดยใช้สมองอย่างเดียวโดยไม่อาศัยเครื่องมือใดๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องคิดเลข คอมพิวเตอร์ หรือ อื่นๆ ช่วยในเรื่องความคล่องตัวอย่างยิ่ง เพราะในชีวิตประจำวันที่มีการซื้อหรือ ขายของ หรือกิจอย่างอื่น การหาเครื่องมืออาจทำได้อย่างยิ่ง และการฝึกคณิตคิดในใจช่วยให้สมองได้ทำงานอย่างดีและเพิ่มความแข็งแรงให้กับวิชานี้ด้วย


5. เครื่องมือบางครั้งก็จำเป็น ฝึกให้ลูกหัดใช้เครื่องมือในการคำนวณบ้างภายใต้สถานการณ์บางอย่างที่จำเป็นหรือต้องการประสิทธิผล หรือ ต้องการเป็นเครื่องมือตรวจสอบข้อผิดพลาดการแก้ปํญหาโจทย์ก็เป็นสิ่งพึงกระทำ เพราะอย่างน้อย ก็เป็นเครื่องทุ่นแรงได้เมือเจอตัวเลขที่มากเกินสมองจะคำนวณ แต่ไม่ควรใช้ทุกครั้งเมื่อมีเพียงการคำนวณเล็กน้อย เพราะไม่ได้เพิ่มพูนกระบวนการคิดเท่าไหร่



ตัวอย่างกิจกรรม
เราสามารถปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่อคณิตศาสตร์ได้ในหลายกิจกรรม ไม่ว่าจะเป็นการร้องเพลงที่มีการเอ่ยถึงตัวเลข ไม่ว่าจะเป็นการเล่นในสวนธารณะ หรือที่อื่นๆ เช่น


เพลง ไข่ 5 ฟอง "ไข่ 5 ฟอง วางอยู่บนโต๊ะ แตกดังโป๊ะเหลือไข่ 4 ฟอง
ไข่ 4 ฟอง วางอยู่บนโต๊ะ แตกดังโป๊ะเหลือ ไข่ 3 ฟอง
ไข่ 3 ฟอง วางอยู่บนโต๊ะ แตกดังโป๊ะเหลือ ไข่ 2 ฟอง
ไข่ 2 ฟอง วางอยู่บนโต๊ะ แตกดังโป๊ะเหลือ ไข่ 1 ฟอง
ไข่ 1ฟอง วางอยู่บนโต๊ะ แตกดังโป๊ะเหลือ ไข่ 0 ฟอง "
พร้อมทำท่าประกอบโดยใช้กำปั้นมือวางซ้อนกันเป็นชั้นๆก็ได้เพื่อความสนุกสนาน


ก้าวเท้าไปมา พ่อแม่อาจพาลูกไปเที่ยวเล่นในสวน แล้วลองให้ลูกทำตามที่แม่บอกดังนี้ก็ได้
"ก้าวใหญ่ 3 ก้าว ก้าวเล็ก 1 ก้าว หรือ
ก้าวเล็ก 3 ก้าว แล้วกระโดด 1 ครั้งแล้วก้าวใหญ่ 1 ก้าว หรือ
ก้าวเล็ก 2 ก้าว แล้วหมุนรอบตัว 1 ครั้ง แล้ว ก้าวใหญ่ 1 ก้าว หรือ
ก้าวเล็ก 3 ก้าว แล้วถอยหลัง 3 ก้าว "
ข้างต้นคือการละเล่นธรรมดาเพื่อฝึกให้คุ้นเคยกับภาษาคณิตศาสตร์ และได้ออกกำลังพร้อมความสนุกสนานไปในตัว พร้อมหน้ากันทั้งครอบครัว


ในห้องครัว เพื่อร่วมทำขนมกับลูกๆ การผสมส่วนผสมต่างๆ ก็ควรให้ลูกซึ่งเป็นเด็กโตขึ้นมาหน่อยประมาณ 5-6 ขวบ คุ้นเคยกับอุปกรณ์ตวงเหล่านั้น และอาจมีเรื่องของอัตราส่วน หรือ เศษส่วนในการตวง เมื่อเขาโตกว่านี้


ในการสนทนาประจำวัน อาจหยิบยกสิ่งต่างๆรอบตัวมาตั้งเป็นโจทย์ปัญหาได้ เช่น อะไรเอ่ย สองหัวสองคน คำตอบตรงนี้มีได้หลายคำตอบ แล้วแต่จะนึกถึง อาจจะเป็นคนอุ้มงู 1 ตัว ก็ได้ หรือ คนถือไส้เดือน ก็ได้ เป็นต้น หรือ อาจจะถามว่า ในกล่องจดหมายหน้าบ้าน มีจดหมายอยู่กี่ซอง เป็นต้น หรือ ในการกินขนมต่างๆ ลองถามว่า มีรูปทรงวงกลม กี่ อัน สี่เหลี่ยม กี่ชิ้น สามเหลี่ยมกี่ชิ้น เป็นต้น


จะเห็นได้ว่าเราสามารถบูรณาการสิ่งต่างๆรอบตัวเพื่อปลูกฝังให้เด็กรักคณิตศาสตร์ได้ไม่ยาก สุดแต่ท่านจะให้เวลาหรือเห็นความสำคัญของวิชานี้หรือไม่