Skip to main content

สอนลูกเรียนวิทยาศาสตร์

คอลัมน์/ชุมชน

ทำไมท้องฟ้าถึงมีสีฟ้าคะ


ทำไมของต่าง ๆ ถึงตกพื้นละครับ


เมล็ดพืชมันโตอย่างไรครับ


อะไรทำให้เกิดเสียงคะ


ภูเขามาจากไหนกัน..


 


1


 


ใครที่มีลูกเล็ก ๆ คงเคยได้ยินคำถามทำนองนี้อยู่บ่อย ๆ จากลูก คำตอบทั้งหมดสามารถอธิบายได้โดยวิทยาศาสตร์ หรือที่เรามักได้ยินรัฐมนตรีกระทรวงวิทย์ฯ กล่าวบ่อย ๆ ว่า " วิทยาศาสตร์มีคำตอบ " ด้วยกระบวนการการคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งเกี่ยวพันกับความอยากรู้อยากเห็น การช่างสังเกต การตั้งคำถามจากสิ่งที่ได้พบเห็นและพยายามหาคำตอบให้ได้


เหล่านี้คือกระบวนการให้ได้มาซึ่งคำตอบ และก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างมีคำตอบในยุคสมัยที่เราสนใจ ในบางเรื่องบางเหตุการณ์อาจเป็นเพียงข้อสังเกตเบื้องต้น แต่ขาดข้อมูล หรือ อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ไม่เพียงพอในการหาคำตอบก็เป็นได้ เสมือนหนึ่งเทคโนโลยีปัจจุบันไม่สามารถสนองตอบได้


ความอยากรู้อยากเห็นเป็นธรรมชาติของเด็ก เขาต้องการเพียงคำอธิบายของผู้ใหญ่ในการเชื่อมโยงสิ่งที่เขาสังเกตเห็นกับความเข้าใจที่แท้จริง และนี่คือเหตุผลที่ทำไมพ่อแม่ต้องให้ความสนใจการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เมื่อไรที่เรากระตุ้นเด็กให้คิดโดยการตั้งคำถาม หรือคาดการณ์สิ่งที่เกิดขึ้น การให้คำอธิบายหรือต่อยอดความคิดของเด็ก ๆ ในสิ่งต่าง ๆ รอบตัว นั่นคือการส่งเสริมให้เขาประสบความสำเร็จในการเรียนวิทยาศาสตร์ และเป็นนักคิดที่ลึกซึ้ง และก็ไม่จำเป็นที่พ่อแม่ต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือจบจากสถาบันชั้นสูงทางวิทยาศาสตร์ถึงจะช่วยลูกได้ การอธิบายศัพท์ทางเทคนิคในเชิงวิทยาศาสตร์สำคัญน้อยกว่าการได้เรียนรู้ร่วมกับลูกในการค้นคว้าหรือขวนขวายหาคำตอบ


ต่อความอยากรู้อยากเห็นของลูกวิทยาศาสตร์ คือสิ่งที่เกิดขึ้นรอบ ๆ ตัวเราทุกวันนี้ เรามีโอกาสมากมาย ที่จะชี้ชวนให้ลูก ๆสนใจความมหัศจรรย์ของวิทยาศาสตร์โดยไม่จำเป็น ต้องใช้เครื่องมือทางเคมี หรือฟิสิกส์ที่ทันสมัยหรือราคาแพงขอเพียงแต่กระตุ้นให้เขาสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นไปในโลกใบนี้เท่านั้น นั่นคือจุดเริ่มต้น และไม่ต้องคาดหวังมากมายกับการกระตุ้นนี้ เด็ก ๆ ก็จะเริ่มต้นเรียนรู้ไปเรื่อย ๆ แม้แต่สิ่งต่างที่เกิดขึ้นตามทางเดิน เช่น ไอศกรีมหยดลงบนพื้น ถ้วยน้ำลอยน้ำได้ในขณะที่บางอย่างก็จมน้ำ ไฟฟ้าสถิตในฤดูหนาว เหล่านี้กระตุ้นได้ทั้งสิ้น


ปัจจุบันในกระแสโลกาภิวัตน์ที่เชี่ยวกราก ความจำเป็นในความรู้ทางเทคโนโลยี มีมากขึ้น มากกว่ายุคสมัยที่เราเป็นเด็กมาก และแม้ว่าลูก ๆ ของเราจะไม่เป็น นักวิทยาศาสตร์ต่อไปในอนาคต กระบวนการคิดหรือความรู้วิทยาศาสตร์ ก็ยังคงมีความจำเป็นอยู่อย่างมากในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นข่าวสารที่มีมากมายท่วมตัวที่ต้องการการกลั่นกรองจากผู้บริโภคเช่นเรา ๆ ท่าน ๆ หรืออุปกรณ์ในการใช้งานต่าง ๆ เช่น คอมพิวเตอร์ หรืออื่น ๆ ล้วนแล้วแต่ต้องอาศัยกระบวนการคิดวิทยาศาสตร์ในการคัดกรอง หรือทักษะในการใช้อย่างมีขั้นมีตอนทั้งสิ้น การเตรียมโลกของการเรียนรู้ด้านนี้เพื่อให้เขาเผชิญได้อย่างชาญฉลาด เป็นภารกิจพึงกระทำของพ่อแม่


 


2


ความรู้วิทยาศาสตร์เป็นความรู้สะสม ไม่ใช่ความจำเพียงครั้งเดียว ดังนั้นการให้เด็กสัมผัสได้เร็วเป็นเรื่องดีโดยเฉพาะที่บ้าน อาจโดยการตั้งประเด็นความสนใจร่วมกัน เช่น ฟองสบู่เกิดได้ อย่างไรในเวลาอาบน้ำให้ลูก เป็นต้น การพูดคุยกันในเรื่องเหล่านี้จะนำไปสู่มุมมองแง่คิดหรือ ทัศนคติต่อวิทยาศาสตร์ในทางที่ดี ซึ่งเป็นการเตรียมพร้อมให้ลูกในการเรียนในอนาคตต่อไป

สำหรับพ่อแม่ที่ยังเริ่มต้นคุยไม่ถูก ผู้เขียนก็ขอแนะนำได้คร่าว ๆ ดังนี้




  • ทำไมดวงจันทร์ถึงเปลี่ยนรูปร่างในแต่ละคืน ให้ลองบันทึกดูว่ามันมีรูปร่างอย่างไรบ้างในแต่ละวันในรอบเดือน แล้วช่วยกันหาคำตอบ


  • ลองดูท้องฟ้า หรือกลุ่มดาวต่าง ๆ ในท้องฟ้า แล้วดูว่ามันเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง


  • ร่วมกันทำขนมเค้ก สังเกตตั้งแต่ตอนผสมแป้ง นม ไข่ น้ำตาล เนย เกลือ และอื่น ๆ แล้วลองดูว่า หลังอบแล้วเปลี่ยนเป็นอย่างไร ส่วนผสมนั้นหายไปไหน แล้วหาสาเหตุ


  • สังเกตเครื่องซักผ้าว่าทำงานอย่างไร มีน้ำ มีผงซักฟอก แล้วสุดท้าย ทำไมน้ำถึงหายไปเหลือแต่ผ้า


  • สังเกตทำไมน้ำแข็งละลาย


  • หรือเดินเล่นในสวน สังเกตดูว่าสัตว์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น แมว หมา หรือนก อะไรที่เหมือนกัน อะไรที่ต่างกัน


  • สังเกตบ้านแต่ละหลังในละแวกบ้านทำด้วยอะไร บางบ้านใช้ไม้ บางบ้านใช้อิฐ หรือบางส่วนของบ้าน เช่น หน้าต่าง ทำไมต้องใช้ไม้ เป็นต้น

 


การสังเกตอย่างละเอียดเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการเรียนวิทยาศาสตร์ซึ่งจะนำไปสู่การอธิบายหรือหาคำตอบต่าง ๆ ได้อย่างดี การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกันของพ่อแม่และลูกก็เป็นเรื่องสำคัญด้วยเช่นกัน


สุดท้ายคือ การกระตุ้นให้ลูกหัดตั้งคำถาม ซึ่งหากพ่อแม่ตอบคำถามลูกไม่ได้ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติแต่อย่างไร เพราะไม่มีใครรู้คำตอบทุกอย่างทุกเรื่อง แม้แต่ตัวนักวิทยาศาสตร์เองก็ตาม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ ปัจจุบันยังไม่ผู้ใดสามารถรักษาหวัด ซึ่งเป็นกันได้ทั่วทุกคนได้ มีแต่การรักษาอาการข้างเคียงเท่านั้น เรารู้แค่เพียงว่า เชื้อโรคข้ามผ่านจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งได้อย่างไร แต่ยังไม่รู้วิธีกำจัดมันได้


คำถามก็อาจเริ่มง่าย ๆ เช่น ลูกคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ หรือเรามาหาคำตอบด้วยกัน ซึ่งพ่อแม่อาจร่วมกันตั้งสมมติฐานก่อน แล้วหาคำตอบจากหนังสือหรืออินเตอร์เน็ต หรือถามผู้รู้อื่น ๆ ก็ได้ การรู้จักหัดตั้งคำถามก็คือ การเริ่มรู้จักคิดเองนั่นเอง


ซึ่งส่งผลดีต่อไปในระยะยาวต่อชีวิตของเขา นอกจากนี้การได้รู้จักหาคำตอบ จากคำถามที่ตั้งก็สำคัญ ซึ่งผิดถูกไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับเด็ก ความเชื่อมั่นในตนเองสำคัญมากกว่า ดังนั้นควรอย่างยิ่งที่จะหลีกเลี่ยง คำตอบหรือท่าทีที่ส่งผลให้กำลังใจของลูกถดถอยไปโดยอาศัยการค้นคว้า เพิ่มเติมเพื่อให้เขาทราบข้อมูลที่แท้จริง


 


3


การสำรวจและการทดลองเป็นขั้นตอนใหญ่ในการเรียนวิทยาศาสตร์และ


เป็นการเพิ่มพูนความเข้าใจแนวความคิดทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างดีขึ้น อีกทั้งเป็นการตอกย้ำความมั่นใจให้เกิดขึ้นในสิ่งที่ค้นคว้าหรือแก้ปัญหา เด็กเล็ก ๆ ควรได้รับการส่งเสริมในการคิดในสิ่งที่เขาสัมผัสได้ เข้าใจและเปลี่ยนแปลงได้ เขาควรตระหนักว่าอะไรเกิดขึ้น และมีการค้นคว้าสืบสวนในการหาคำตอบทั้งหมดนี้คือ แก่นหรือหัวใจของวิทยาศาสตร์ ในช่วงของการทำงานหรือทดลอง แน่นอนอาจสับสนไร้ความแน่นอนเที่ยงตรงหรือขาดความเป็นระเบียบและใช้เวลามากมาย ดังนั้น ก่อนจะทำการทดลองควรต้องมีการประเมินสิ่งเหล่านี้ด้วย เพื่อมิให้เบื่อหน่ายก่อนที่จะได้ฝึกความอดทน


สำหรับเด็กแล้วปัจจัยเรื่องเวลามีผลต่อสมาธิเสมอ ดังนั้นการที่ให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องเรื่องราวที่หลากหลายแต่เป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยน่าจะดีกว่า โดยพ่อและแม่มีบทบาทเสริมให้รู้ลึกซึ้งได้เมื่อเขาต้องการ หรือที่เรียกว่า Less Is More นอกเหนือจากนี้กิจกรรมที่เหมาะสำหรับเด็กแต่ละคนเป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องคำนึง ถึงด้วยเพราะเด็กที่มีความสนใจหลากหลายจะตอบสนองต่อความสนใจใน วิทยาศาสตร์ที่ต่างกันไป เด็กบางคนอาจชอบหิน ดิน ทราย ในขณะที่เด็กบางคนกลับไม่ชอบ หรือเด็กวัยต่างกันความสนใจ ก็ต่างไปด้วยเช่นกัน หากการหากิจกรรมที่เหมาะกับความสนใจจะช่วย ในด้านการพัฒนาการเรียนรู้ที่ดีเสมอ


ต่อไปนี้ คือ เทคนิคในการช่วยค้นหาความสนใจของเด็กที่เหมาะสมกับเขา


 




  • ควรเป็นกิจกรรมที่ไม่ยากหรือง่ายเกินไปสำหรับเด็ก เพราะหากยากไป เขาก็จะมีทัศนคติว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องยากเกินไปที่เขาจะเรียนรู้ส่งผลให้เกิดทัศนคติในทางลบต่อไป ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าเด็กนิยมการแสดงโชว์เรื่องที่สลับซับซ้อน ซึ่งไม่จริงเสมอไป



  • พิจารณาบุคลิกหรือนิสัยส่วนตัวด้วย งานบางชิ้นดีสำหรับทำเพียงลำพัง แต่บางชิ้นเหมาะสำหรับงานกลุ่ม บางอย่างต้องการผู้ใหญ่ช่วย หรือบางชิ้นไม่ต้องการเลย ดังนั้นควรเลือกกิจกรรมที่เหมาะกับนิสัยของเด็กด้วย
  • เลือกกิจกรรมที่เหมาะกับสถานที่อยู่ด้วย
  • อนุญาตให้เด็กได้เลือกกิจกรรมเองด้วย เช่น กิจกรรมการเก็บเปลือกหอย ควรถามเธอว่าสมควรเลือกเก็บแบบใด อย่างไร เพราะการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจจะทำให้กิจกรรมน่าสนใจประทับใจสำหรับเด็กอย่างมาก

นอกเหนือจากการเลือกกิจกรรมดังกล่าวแล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องนำเสนอให้ลูก ๆ รับทราบถึง หัวใจของ วิทยาศาสตร์ ก็คือ




  • การสังเกตที่ละเอียด


  • การบันทึกที่แม่นยำ


  • การไม่ลำเอียงในข้อมูล หรือวัตถุที่นำเสนอ


  • การแบ่งปันการสังเกตอย่างซื่อสัตย์กับเพื่อนร่วมกลุ่ม และควรอย่างยิ่งที่จะให้ผู้อื่นสามารถทดสอบหรือทัดทานสิ่งที่ทำอย่างจริงใจ


  • ต้องตระหนักว่าสิงที่ทดลองอยู่นั้นอาจไม่ถูกก็ได้


  • เคารพความอยากรู้อยากเห็นเสมอ และ


  • เปิดใจกว้างต่อวิกฤตการณ์ที่จะเกิดหรือการเปลี่ยนแปลงหากไม่เป็นไปดังคาดหวัง

 คงพอได้แนวทางกว้าง ๆ ที่สามารถประยุกต์ใช้ในแต่ละครอบครัว อย่างน้อยทัศนคติต่อวิทยาศาสตร์ควรได้เริ่มบ่มเพาะให้กับลูก ๆ ของเราตามความตั้งใจของผู้เขียน อีกทั้งผลพวงของมัน มิใช่จำกัดอยู่เพียงวิชาวิทยาศาสตร์เท่านั้น หากแต่สามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างดี หรือในการเรียนวิชาอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิชา ประวัติศาสตร์ วรรณคดี ซึ่งแต่เดิมเรามักคิดว่า ท่องจำเพียงอย่างเดียว แต่หากนำแนวคิดหรือกระบวนการคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์มาจับผสมผสานกับจิตวิทยา หรือ มานุษยวิทยา จะทำให้การเรียนน่าสนใจยิ่งขึ้นทีเดียว


วิทยาศาสตร์โดยตัวของมันเองไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อมนุษย์เลย มีเพียงแต่มนุษย์ผู้มืดบอดทางจริยธรรมเท่านั้นที่ฉกฉวยผลของการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ไปหากินกับมนุษย์ด้วยกันเอง ไม่ว่าจะเป็นทฤษฏีสัมพันธภาพของไอสไตน์ หรือ การค้นคว้าทางวิศวกรรมพันธุกรรมมากมายในปัจจุบัน อย่างน้อยวิทยาศาสตร์ก็ช่วยขจัดความกลัว หรือความเชื่อที่ไร้เหตุผลได้อย่างดีซึ่งนำไปสู่การพัฒนาการเรียนรู้ที่ยั่งยืนต่อไป วิทยาศาสตร์จึงต้องคู่กับคุณธรรมด้วยจึงให้ผล