Skip to main content

ความรู้ใหม่เมื่อผมได้กลับไปเรียน ป. 3 อีกครั้ง ตอน 1

คอลัมน์/ชุมชน










กิตติ วงส์พิเชษฐ เพื่อนชาวประชาไท มาร่วมเล่าประสบการณ์ที่น่าสนใจในช่วงชีวิตหนึ่งที่มีโอกาสได้กลับไปเรียนประถมอีกครั้ง ..




 


กิตติ วงส์พิเชษฐ


ถ้าคุณมีอายุครึ่งศตวรรษ เรียนจบภาคบังคับมานานแล้ว แต่ต้องกลับไปเข้าห้องเรียน ป. 3 ร่วมกับเด็กอายุประมาณหนึ่งทศวรรษ (บวกลบนิดหน่อย) อีกครั้ง คุณจะเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ได้อีกไหมครับ?


บทความนี้จะบอกเล่าสิ่งที่ผมได้พบเห็นมาเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยหวังว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนกับผู้ปกครองและอาจารย์ของนักเรียนในระดับนี้


ที่ผมมีประสบการณ์เช่นนี้ ก็เนื่องจากผมและหลาน ด.ช. พงศ์พศิน ที่เรียนอยู่ ป. 3 ที่เมืองไทย มีเหตุต้องมาที่เมืองเล็ก ๆ ชื่อสตาร์กวิลล์ รัฐมิสซิสซิปปี สหรัฐอเมริกา เมื่อมาถึง ผมจึงพาเขาไปสมัครเข้าเรียนในโรงเรียนประถมแห่งหนึ่ง


ในตอนสายของวันแรกที่หลานผมเริ่มเรียน อาจารย์ใหญ่ที่เป็นหญิงผิวดำก็โทรศัพท์ตามผู้ปกครองเพื่อขอปรึกษาเกี่ยวกับเด็กนักเรียนคนใหม่ทันที สาเหตุเนื่องจากเขาไม่สามารถสื่อสารกับใครได้เลย ทางอาจารย์ได้ลองให้เด็กชาวจีนที่เรียนอยู่ด้วยกันเป็นล่ามให้ เพราะคนอเมริกันหลายคนมักนึกว่าคนผิวเหลืองจากประเทศต่าง ๆ คุยกันรู้เรื่อง เหมือนกับที่ผมเคยนึกว่าคนอาฟริกันทั้งทวีปพูดภาษาเดียวกัน แต่ก็ไร้ผล


อาจารย์ใหญ่ถามว่าจะทำอย่างไรดี ทางโรงเรียนจะพยายามหานักศึกษาไทยที่มาเรียนหนังสือหรือคนไทยที่มาอยู่เมืองนี้ เพื่อมาช่วยเป็นล่ามให้กับหลานผม แต่ผมรู้แล้วว่าหาไม่ได้แน่นอน


ตั้งแต่แรก ผมก็กะว่าจะปล่อยให้เขาปรับตัวไปตามธรรมชาติสักระยะหนึ่ง ซึ่งใช้เวลาไม่กี่เดือนตามประสบการณ์ที่ผมเคยเห็น เพื่อซึมซับภาษาอังกฤษเข้าไปเรื่อย ๆ นอกจากนี้ ผมยังคิดเหมือนผู้ปกครองคนไทยทั่วไป ที่อยากจะโยนภาระการสั่งสอน รวมทั้งการดูแลเด็ก ให้กับโรงเรียนทั้งหมด แต่เมื่อได้เห็นความตั้งใจจริงของอาจารย์ใหญ่ ผมเลยบอกไปว่า ช่วงแรกนี้ผมจะมาเป็นล่ามให้เขาเอง หากต่อไปทางโรงเรียนหาคนอื่นได้ ผมก็จะถอนตัวออกไป


นี่แหละครับ สาเหตุที่ผมต้องกลับไปเข้าห้องเรียน ป. 3 อีกครั้ง แม้ว่าจะเป็นระยะเวลาไม่นานนัก แต่ก็ทำให้ผมได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ บางอย่าง โดยเฉพาะเรื่องที่น่าจะเกี่ยวพันกับการเรียนการสอนเด็กนักเรียนระดับประถม จนผมอยากจะเอามาเล่าสู่กันฟัง