Skip to main content

ความรู้ใหม่เมื่อผมได้กลับไปเรียน ป. 3 อีกครั้ง ตอน 2

คอลัมน์/ชุมชน










กิตติ วงส์พิเชษฐ เพื่อนชาวประชาไท มาร่วมเล่าประสบการณ์ที่น่าสนใจในช่วงชีวิตหนึ่งที่มีโอกาสได้กลับไปเรียนประถมอีกครั้ง ..




 


กิตติ วงส์พิเชษฐ



พันธกิจและความเชื่อ


โรงเรียนที่ผมต้องพลัดเข้าไปนี้ตั้งขึ้นเมื่อปี 1949 มีชื่อเต็มว่า John W. Overstreet Elementary School ซึ่งคงจะตั้งตามชื่อผู้มีอุปการคุณของโรงเรียนนั่นเอง และอยู่ในย่านที่อยู่อาศัยในซีกเมืองเก่า โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนสำหรับนักเรียนเกรด 3 โดยเฉพาะ ดังคำขวัญของโรงเรียนที่ว่า "The Best Place to be When You’re in Grade Three"


เด็กที่นี่ทุกคนต้องเข้าโรงเรียนตามกฎหมายของรัฐนี้ นักเรียนได้เรียนฟรี มีหนังสือทุกวิชาประจำตัว รวมทั้งกระดาษ ดินสอ และอื่น ๆ อีกหลายอย่างที่ทางโรงเรียนจัดหามาให้ฟรีอีกเหมือนกัน ส่วนการแต่งตัวนั้น เขาตามสะดวกและสบายครับ ทั้งนักเรียนและอาจารย์


โรงเรียนนี้มีพันธกิจสั้น ๆ ชัดเจน และได้ติดไว้ทั่วให้ทุกคนรับรู้ เขาเขียนไว้มีใจความทำนองนี้ครับ


" พันธกิจของเราก็คือ ทำงานร่วมกับนักเรียน ผู้ปกครอง อาจารย์ และชุมชนทั้งหมด ในการจัดหาสภาพแวดล้อมในการเรียนที่ปลอดภัยและท้าทาย ให้เป็นสถานที่ที่นักเรียนทุกคนสามารถบรรลุถึงศักยภาพสูงสุดของพวกเขา และเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต"


ผมว่าอย่างน้อยก็บรรลุพันธกิจอย่างหนึ่งแล้ว ก็คือโรงเรียนได้ทำงานร่วมกับผม ที่เป็นผู้ปกครองคนหนึ่งของนักเรียนโรงเรียนนี้


ลองมาดูความเชื่อของโรงเรียนนี้เพิ่มเติมนะครับ เขาก็มีติดไว้ทั่วโรงเรียนเหมือนกัน มีใจความทำนองนี้ครับ





  • โรงเรียนตระหนักถึงความหลากหลายในการเรียนรู้ของนักเรียน ดังนั้น อาจารย์จึงจะจัดหาแนวทางการสอนแบบต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียน




  • นักเรียนจะมีห้องเรียนที่ได้รับการดูแล ที่ซึ่งพวกเขาจะรู้สึกปลอดภัย ได้รับการนับถือ และมีอิสระในการเรียนรู้




  • นักเรียนทุกคนสามารถเรียนรู้ บรรลุผล และประสบความสำเร็จได้ ดังนั้น การเรียนรู้ของนักเรียนจึงเป็นเป้าหมายหลักของโรงเรียน




  • อาจารย์ได้ให้คำมั่นในการทำงานเป็นทีมร่วมกับผู้บริหาร ผู้ปกครอง และชุมชน ในการสร้างความมั่นใจ มีแนวทางของตนเอง และเป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตของนักเรียน




  • นักเรียนต้องการการยอมรับ และสามารถประสบความสำเร็จได้เมื่อได้รับการยกย่อง

 


เป็นอย่างไรบ้างครับ? เราไม่เคยเห็นหรือได้ยินอะไรแบบนี้มาก่อนใช่ไหม?


พันธกิจและความเชื่อเหล่านี้จะบรรลุผลได้หรือไม่ คงขึ้นอยู่กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ที่ผมเห็นว่ามีอิทธิพลมากที่สุดคงเป็นฝ่ายอาจารย์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนมาก ขนาดว่าคงจะมากกว่าผู้ปกครองด้วยซ้ำ


ผมมีข้อสังเกตเกี่ยวเนื่องกับเรื่องนี้คือ อาจารย์ในโรงเรียนนี้เกือบทั้งหมดเป็นหญิง ผมเห็นอาจารย์ชายเพียงสองคนเท่านั้นและก็ไม่ได้เป็นอาจารย์ประจำชั้น รวมกับภารโรงชายอีกคน เป็นสาม ไม่ทราบว่าเพศของอาจารย์ หรืออัตราส่วนอาจารย์ทั้งสองเพศ มีผลต่อพัฒนาการของเด็กนักเรียนหรือเปล่า? มากหรือน้อย?


และกว่าครึ่งของอาจารย์เป็นคนผิวดำ ซึ่งสะท้อนถึงผลพวงประวัติศาสตร์อันขมขื่นของภูมิภาคนี้ที่เคยมีคนผิวดำเป็นทาสจำนวนมากในอดีต ไม่ทราบว่าปมด้อยที่ยังฝังรากลึกอยู่ในใจของอาจารย์ผิวดำ และปมเขื่องที่ยังไม่ยอมยุบของอาจารย์ผิวขาว จะมีผลกระทบถึงความเชื่อของอาจารย์แต่ละคน แล้วกระเซ็นกระสายออกมาโดนนักเรียน จนทำให้โรงเรียนไม่สามารถบรรลุพันธกิจหรือเปล่า


ผมอยากรู้จริง ๆ แต่ไม่กล้าถามเขาหรอกครับ


สิ่งที่น่าชื่นชมอย่างหนึ่งก็คือ โรงเรียนนี้มีห้องเรียนเฉพาะสำหรับนักเรียนที่มีปัญหาในการเรียนรู้ หรือหากจะเรียกแบบชาวบ้าน ขอโทษนะครับ ก็คงจะเรียกว่าเด็กปัญญาอ่อนที่ง่อยเปลี้ยเสียขา เพราะทุกคนต้องนั่งรถเข็น และมีคนดูแลตลอดเวลา ผมเห็นมีเด็กเหล่านี้ประมาณ 5-6 คน ทางโรงเรียนคงต้องการให้เด็กเหล่านี้มีโอกาสเข้าสู่สังคมปกติ ในขณะเดียวกัน ก็คงต้องการให้คนปกติรับรู้ถึงการมีอยู่ของเด็กเหล่านี้ กิจกรรมการเรียนการสอนของพวกเขาไม่ได้เกี่ยวข้องกับเด็กปกติ เพียงแต่มากินอาหารกลางวันในห้องเดียวกัน