Skip to main content

ความรู้ใหม่เมื่อผมได้กลับไปเรียน ป. 3 อีกครั้ง ตอน 5

คอลัมน์/ชุมชน










กิตติ วงส์พิเชษฐ เพื่อนชาวประชาไท มาร่วมเล่าประสบการณ์ที่น่าสนใจในช่วงชีวิตหนึ่งที่มีโอกาสได้กลับไปเรียนประถมอีกครั้ง ..




 


กิตติ วงส์พิเชษฐ



การเรียนการสอน


วิชาที่สอนในเกรด 3 นี้แบ่งเป็นสองกลุ่มครับ กลุ่มแรกเป็นวิชาแกน ประกอบด้วยวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ การอ่าน การสะกดคำ การเขียน วิทยาศาสตร์ และสังคมศึกษา มิสซิสรูกส์สอนวิชาในกลุ่มนี้ทุกวัน


ส่วนกลุ่มที่สองเป็นวิชาพิเศษ ประกอบด้วยกิจกรรมด้านห้องสมุด พลศึกษา ดนตรี และศีลปะ นักเรียนจะย้ายห้องไปเรียนวิชาในกลุ่มนี้เพียงสัปดาห์ละครั้ง ยกเว้น กิจกรรมห้องสมุดที่มีสองครั้ง วิชาพิเศษแต่ละวิชาจะมีอาจารย์เฉพาะครับ


ดูแล้วก็มีครบทุกด้านนะครับ ไม่ว่าพุทธศึกษา จริยศึกษา พลศึกษา และหัตถศึกษา แต่ผมว่าหลักสูตรนี้เน้นเรื่องภาษามาก รองลงมาคือคณิตศาสตร์


เรื่องภาษานี้มีประเด็นครับ ในการเรียนการสอนเกี่ยวกับภาษานั้น นักเรียนส่วนใหญ่ในห้องนี้จะเรียนด้วยกัน แต่ในเรื่องการอ่าน จะมีการแยกห้องตามระดับความสามารถ เจ้าหลานผมที่รู้เพียงเอถึงแซด (ที่จริงคนอเมริกันไม่รู้จักตัวแซดหรอกนะครับ) กับ yes, no และ ok จึงต้องไปเข้าห้องต่ำสุดโดยปริยาย


ที่ผมว่าเขาเน้นเรื่องภาษามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ่าน เพราะเห็นได้จากตารางเรียนและกิจกรรมที่จัดไว้ โรงเรียนมีห้องสมุดที่มีบรรณารักษ์ประจำ และในห้องสมุดก็มีหนังสืออ่านเล่นมากมายจนเหลือเฟือร่วม 5,000 เล่ม สำหรับให้นักเรียนที่มีความสามารถในการอ่านระดับต่าง ๆ กันมาเลือกอ่านในคาบ และยังบังคับให้ยืมกลับไปอ่านที่บ้านอาทิตย์ละอย่างน้อยหนึ่งเล่ม โดยทางห้องสมุดได้แยกหนังสือเป็นสัดส่วนตามความยากง่าย ด้วยการติดรหัสสีไว้ที่สันหนังสือเพื่อสังเกต ในการทำกิจกรรมการอ่านนี้ จะมีการบันทึกไว้เป็นผลงานเพื่อรับคะแนนของนักเรียนแต่ละคนด้วยครับ


อาจถือว่าการอ่านเป็นเรื่องปกติของนักเรียน นอกจากที่ต้องอ่านในวิชาแล้ว เราจะเห็นกิจกรรมการอ่านได้ในช่วงเวลาต่าง ๆ ตั้งแต่เมื่อมาถึงโรงเรียนในตอนเช้า นักเรียนจะต้องนั่งอ่านหนังสือรอเพื่อเข้าห้องพร้อมกัน กิจกรรมลำดับต้น ๆ ในห้องเรียนก็คือ มิสซิสรูกส์จะอ่านหนังสือเรื่องให้นักเรียนฟังอย่างมีชีวิตชีวา และหากมีเวลาว่างระหว่างคาบเรียน เธอก็จะให้นักเรียนเอาหนังสืออ่านเล่นที่มีอยู่ในตะกร้าในห้องมาอ่านฆ่าเวลา


กิจกรรมการอ่านอย่างหนึ่งที่ผมเห็นว่าน่าสนใจ คือมี นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในเมืองนี้ มาอ่านนิทานให้นักเรียนฟังประมาณ 20 นาที ประโยชน์ที่ได้ นอกจากจะเป็นการส่งเสริมเด็กให้รักการอ่านแล้ว นักเรียนน้อยยังได้มีปฏิสัมพันธ์กับนักศึกษาใหญ่ที่มาจากนอกโรงเรียนอีกด้วย


การที่ทางโรงเรียนเน้นเรื่องภาษาและการอ่านมาก ก็เพื่อเป็นฐานหรือเครื่องมือให้นักเรียนใช้ศึกษาด้วยตนเองต่อไปเมื่อเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ต่อมา ผมได้อ่านเจอในเอกสาร เขาเขียนบอกไว้ชัดเจนว่า ในระดับนี้เขาเน้นให้นักเรียนเรียนรู้การอ่าน เพื่อที่ว่าจะได้อ่านเพื่อเรียนรู้ต่อไป ก็สอดคล้องกับพันธกิจและความเชื่อของทางโรงเรียนที่กล่าวไว้ข้างต้นนะครับ


มาถึงตรงนี้ ผมนึกขึ้นมาได้ว่า เมื่อไม่กี่ปีที่แล้ว มีข่าวว่าประเทศเวียดนามกำลังจะปฏิรูปการศึกษา วิชาหนึ่งที่เขาจะเน้นก็คือภาษานี่แหละครับ เขาบอกว่าภาษาเฉย ๆ ไม่ได้ระบุว่าภาษาอังกฤษหรือภาษาอะไร ตอนนั้นก็เริ่มมีการพูดกันว่าเวียดนามกำลังไล่ตามไทยมาติด ๆ และจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวในอนาคตอันใกล้ จากนี้อีกสักห้าปีสิบปี เราลองมาถกกันใหม่นะครับว่า เขาจะยังวิ่งดมกลิ่นเต่าของเราอยู่ หรือเราจะเดินตามดมกลิ่นเต่าของเขา


แม้ว่าหลานผมจะมีความรู้ภาษาอังกฤษไม่เพียงพอ แต่ในส่วนของวิชาคณิตศาสตร์ ผมมั่นใจว่าเขา รวมทั้งนักเรียน ป. 3 ของไทยโดยเฉลี่ย มีความรู้อย่างเพียงพอ หรืออาจจะเกินเด็กนักเรียนอเมริกันก็ได้ เพราะเมื่อเขาเห็นโจทย์สั้น ๆ ที่มีเครื่องหมายบวกลบแสดงไว้ เขาก็ทำได้เลย หากเป็นโจทย์ที่มีข้อความ พอผมแปลให้โดยไม่ได้แนะวิธี เขาก็ทำได้เช่นกัน


แต่ผมก็ยังสงสัยอยู่ว่า เด็กนักเรียน ป. 3 ของไทยมีความคิดเป็นของตัวเองมากน้อยแค่ไหน หรือเพียงแต่จำวิธีการแก้ปัญหาที่อาจารย์สอนให้ เพราะเมื่อผมดูเขาวาดรูปในคาบศิลปะ เขาก็ไม่ได้แสดงแนวคิดอะไรออกมาเด่นชัด เขาคงอ่านหนังสือน้อยเกินไปตามผลการสำรวจในเมืองไทยเมื่อไม่นานมานี้กระมัง จึงไม่มีจินตนาการบรรเจิดเหมือนเด็กอเมริกันพวกนี้


โรงเรียนนี้เขาเริ่มส่งเสริมให้นักเรียนคิดครับ ที่ฝาข้างโถงทางเดินมีโปสเตอร์รูปคนที่มีชื่อเสียงในวงการต่าง ๆ มาติดไว้ ในโปสเตอร์เขียนไว้ได้ความว่า บุคคลเหล่านี้ "คิดแตกต่าง" จากคนทั่วไป ส่วนที่ข้างฝาห้องเรียน มีโปสเตอร์เขียนไว้ว่า "ในตอนเช้าแต่ละวัน ลองจินตนาการถึงบุคคลที่เธอต้องการจะเป็นในอนาคต" และก็มีโปสเตอร์อีกแผ่นเกี่ยวกับมาตรฐานการเรียนรู้ร่วมกันติดไว้ มีใจความข้อหนึ่งว่า "ให้อธิบายแนวคิดของเธอและบอกว่าทำไม"


ในทางปฏิบัติ มิสซิสรูกส์ก็มักจะถามว่าทำไม และรับฟังความเห็นของนักเรียน แม้ว่าหลายครั้งเธอจะบอกว่าเธอไม่เห็นด้วยกับความคิดนั้น แต่เธอก็ไม่ได้แสดงท่าทีตำหนิแต่อย่างใด


ในเรื่องการแสดงความคิดเห็นนี้ เห็นได้ชัดว่านักเรียนส่วนมากมีความกระตือรือร้น มักยกมือแย่งกันขอตอบคำถาม หรือถามในระหว่างการสอน กระตือรือร้นอย่างไรหรือครับ ก็เช่น ยกมือขึ้นให้สุดแขน แล้วสั่นฝ่ามือและนิ้ว หรือยกมือขึ้น แล้วโน้มตัวให้ผิดเพื่อน หรือยกมือขึ้นพร้อมกับทำเสียงเรียกร้องความสนใจ ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อให้อาจารย์เห็น จะได้ชี้ให้พูดไงครับ


ในเรื่องการบ้าน ในช่วงนั้นมักเป็นวิชาคณิตศาสตร์และการสะกดคำ ปริมาณการบ้านในแต่ละวันไม่มากนัก เพราะมิสซิสรูกส์สอนเพียงคนเดียว จึงสั่งงานได้อย่างเหมาะสม ส่วนวันศุกร์ เธอจะไม่สั่งการบ้าน คงต้องการให้นักเรียนได้พักผ่อนและเที่ยวเล่นในวันเสาร์และอาทิตย์ตามประสาคนอเมริกันที่มักมีโปรแกรมในวันหยุด


นอกจากมิสซิสรูกส์จะสั่งการบ้านขณะที่สอนแต่ละวิชาแล้ว เธอยังเขียนลงในกระดานให้ดูด้วย นักเรียนทุกคนมีสมุดแผนการเรียนประจำวันเพื่อใช้บันทึกว่าในแต่ละวันมีการบ้านวิชาอะไร คำถามอยู่หน้าไหน ดังนั้น ข้อแก้ตัวของนักเรียนที่ว่าลืมไปว่าวิชานี้มีการบ้าน จึงฟังไม่ขึ้นแน่นอน

คุณอาจสงสัยว่า การที่มิสซิสรูกส์เป็นคนสอนวิชาแกนเพียงคนเดียว หากเธอติดธุระหรือไม่สบาย จะทำอย่างไร ในกรณีเช่นนี้ จะมีอาจารย์สำรองมาสอนแทนครับ โดยจะสอนเนื้อหาต่อจากเดิม และเมื่อมิสซิสรูกส์กลับมา ก็จะสอนต่อไปตามปกติ รวมทั้งรับรู้ด้วยว่า นักเรียนคนไหนทำผิดระเบียบในเรื่องอะไร เพราะอาจารย์สำรองจะรายงานเธอ


โรงเรียนส่งเสริมให้นักเรียนแสดงออกและเพื่อสร้างความภาคภูมิใจด้วย ดังเช่นในวิชาศิลปะ อาจารย์จะให้นักเรียนวาดรูปในแผ่นกระดาษ เมื่อเสร็จแล้ว จะให้เซ็นชื่อในรูป แล้วเอาไปส่งมิสซิสรูกส์ ซึ่งเธอจะนำรูปเหล่านั้นมาติดไว้ที่ข้างฝาเพื่อแสดง แล้วเปลี่ยนใหม่ในอาทิตย์ต่อไป หรือในการเขียนเรียงความเนื่องในเทศกาลสำคัญ บางครั้ง อาจารย์ก็จะนำเรียงความเหล่านั้นมาติดแสดงไว้เป็นครั้งคราวเช่นกัน