Skip to main content

ความรู้ใหม่เมื่อผมได้กลับไปเรียน ป. 3 อีกครั้ง ตอน 6

คอลัมน์/ชุมชน










กิตติ วงส์พิเชษฐ เพื่อนชาวประชาไท มาร่วมเล่าประสบการณ์ที่น่าสนใจในช่วงชีวิตหนึ่งที่มีโอกาสได้กลับไปเรียนประถมอีกครั้ง ..




กิตติ วงส์พิเชษฐ


 


หน้าที่พิเศษของนักเรียน


นอกจากจะเรียนและเล่นแล้ว นักเรียนยังมีหน้าที่พิเศษอีกด้วยครับ โดยจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำ หรือที่เรียกว่าเป็นเวรเป็นกรรมของนักเรียนในเมืองไทยนั่นแหละครับ แต่ที่นี่เขาเรียกเสียโก้ว่า ผู้ช่วยประจำห้อง


งานที่ต้องการผู้ช่วยก็มีหลายอย่าง ลองดูนะครับ เช่น คนเดินนำแถว ทำหน้าที่นำแถวนักเรียนไปกลับตามตารางเรียนในแต่ละวัน การนำนี้ไม่ใช่ว่าจะเดินรวดเดียวนะครับ เขามีจุดที่ต้องหยุดรอเป็นช่วง ๆ เช่น มุมเลี้ยว และหากมิสซิสรูกส์ไม่สั่งให้เดินต่อ ก็ให้ยืนรอไปเรื่อย ๆ


พูดไปทำไมมี เจ้าหลานผมที่พึ่งเข้าไปเรียนและพูดภาษาอังกฤษไม่ออก ยังได้เป็นคนเดินนำแถวกับเขามาแล้วนะครับ


คนนำปฏิญาณ ผู้ช่วยคนนี้จะได้ทำหน้าที่อาทิตย์ละครั้งกระมัง ตอนจะออกไปพักเข้าห้องน้ำและกินน้ำในตอนเช้า นักเรียนจะยืนหันหน้าเข้าหาธงชาติสหรัฐฯ ที่ติดอยู่ข้างฝา แล้วกล่าวคำปฏิญาณพร้อมกัน (ที่จริงอ่านตามที่เขาเขียนติดไว้ข้างฝานั่นแหละ) เขาไม่ได้เข้าแถวเคารพธงชาติในตอนเช้าเหมือนโรงเรียนในเมืองไทยครับ


ที่ผมเห็นว่าน่าสนใจคือ คำปลุกปลอบใจตัวเอง ที่นักเรียนจะกล่าวพร้อมกันหลังกล่าวคำปฏิญาณแล้ว ผมขอถอดความมาอย่างนี้ครับ


" ข้าฯ เป็นคนพิเศษ ข้าฯ เป็นคนที่มีสติปัญญา ข้าฯ สามารถเรียนรู้ได้ วันนี้ข้าฯ จะทำให้ดีที่สุด มิสซิสรูกส์รักข้าฯ วันนี้จะเป็นวันที่ยิ่งใหญ่"


ลองวิเคราะห์ดูนะครับ ว่าทำไมเขาให้นักเรียนปลุกปลอบใจตัวเองอย่างนี้


อีกตำแหน่งหนึ่งคือคนเช็ดโต๊ะหลังอาหารมื้อเที่ยง มีอยู่สองคน และต้องทำทุกวันหลังจากที่นักเรียนในห้องลุกออกจากโต๊ะจนเกือบหมด


ผมว่า นักเรียนที่เป็นผู้ช่วยรู้สึกเป็นเกียรติที่ตนได้รับมอบหมายหน้าที่เหล่านี้ เพราะเห็นแต่ละคนทำหน้าที่อย่างจริงจัง