Skip to main content

ความรู้ใหม่เมื่อผมได้กลับไปเรียน ป. 3 อีกครั้ง ตอน 7

คอลัมน์/ชุมชน










กิตติ วงส์พิเชษฐ เพื่อนชาวประชาไท มาร่วมเล่าประสบการณ์ที่น่าสนใจในช่วงชีวิตหนึ่งที่มีโอกาสได้กลับไปเรียนประถมอีกครั้ง ..




กิตติ วงส์พิเชษฐ


การรักษาเวลา


นอกจากจะเป็นวัฒนธรรมของคนอเมริกันที่ตรงต่อเวลาแล้ว ตารางเรียนและกิจกรรมในแต่ละวันของโรงเรียนก็แน่นมากครับ รวมทั้งคาบเรียนหนึ่งก็สั้น ดังนั้น การรักษาเวลาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างหนึ่ง มิฉะนั้น โรงเรียนคงจะไม่สามารถจัดการให้งานลุล่วงไปได้ตามกำหนด


มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ผมเห็นว่าทางโรงเรียนพยายามรักษาเวลาให้เป็นไปตามกำหนด อย่างเช่น ในคาบสอน เมื่อใกล้หมดเวลาในคาบนั้น อาจารย์จะเตือนนักเรียนว่าเหลือเวลาอีกกี่นาที เมื่อหมดเวลา ก็จะสั่งหยุดกิจกรรมทันที เพื่อให้เตรียมตัวเรียนวิชาต่อไป แม้ว่านักเรียนบางส่วนจะยังทำงานไม่เสร็จเรียบร้อย คงเพื่อไม่ให้กระทบคาบเรียนต่อไปนั่นเอง


ในช่วงพักเข้าห้องน้ำและดื่มน้ำที่เขาให้เวลา 20 นาที รวมทั้งเวลาเดินไปกลับห้องเรียน ที่หน้าห้องน้ำชายจะมีภารโรงผิวดำคอยดูแลอยู่ นักเรียนต้องเข้าไปตามลำดับ หากโถฉี่ที่มีอยู่ราวสิบโถมีคนจองเต็ม คนท้ายแถวก็ต้องยืนรออยู่หน้าห้อง ระหว่างทำธุระอยู่ คุณภารโรงก็จะคอยเร่ง เมื่อเสร็จแล้ว ก็จะบอกให้ล้างมือ แล้วแจกกระดาษเช็ดมือ ทั้งนี้ เพราะเด็กนักเรียนจะคอยหาโอกาสเล่น หากไม่มีคนควบคุมก็จะทำให้เกิดปัญหา และรวมทั้งเสียเวลาด้วย


หลังออกจากห้องน้ำแล้ว นักเรียนทุกคนมาเข้าแถวรวมกันใหม่ แล้วเดินไปที่เครื่องทำน้ำเย็นแบบกดขึ้นมาเป็นน้ำพุ เพื่อกินน้ำทีละคน


อย่าใช้เวลากินน้ำนานนักนะเด็ก ๆ หากไม่รู้ว่าแค่ไหนถึงจะพอเหมาะ มิสซิสรูกส์บอกว่าระหว่างกินน้ำ ก็ท่องในใจเป็นภาษาอังกฤษ ดังนี้ 1,001, 1,002, 1,003, 1,004, 1005 เอาละ หยุดกินน้ำได้แล้ว ผมลองจับเวลาดู นาฬิกาผมบอกว่าประมาณเจ็ดวินาทีครับ


ส่วนช่วงพักกินอาหารเที่ยงเขาให้เวลา 35 นาที รวมทั้งเวลาเดินไปกลับห้องเรียนด้วย แต่เนื่องจากต้องเดินไกลขึ้น และบางครั้งต้องรอคนครัวจัดอาหารบางอย่างใส่ถาดหลุมให้ จึงเหลือเวลาที่นั่งลงกินจริง ๆ แค่ประมาณ 20-25 นาทีเท่านั้น


จะเห็นเรื่องการรักษาเวลาได้ชัดเจนในช่วงที่นักเรียนเข้าแถวเดินกลับห้องหลังอาหารเที่ยงนี้ เมื่อผ่านห้องน้ำ นักเรียนจะได้หยุดแวะเข้าอีกครั้ง แต่ตอนผ่านเครื่องทำน้ำเย็นนี่สิครับ อาจจะได้กินหรือไม่ได้กินน้ำก็แล้วแต่ว่ามีเวลาเหลือเท่าใด หากเวลาไม่พอ มิสซิสรูกส์ก็จะบอกให้เดินผ่านไปเข้าห้องเรียนเลย


การจัดการอย่างหนึ่งของโรงเรียนที่ทำให้กิจกรรมต่าง ๆ เป็นไปตามเวลาที่กำหนด ภายใต้ทรัพยากรที่มีจำกัด ก็คือ การสลับกันทำ และ/หรือทำตามคิว อย่างเช่น การกินอาหารเที่ยงไม่พร้อมกันทั้งโรงเรียน แต่จัดให้แต่ละห้องทยอยกันมากิน ทำให้นักเรียนได้กินอาหารตรงเวลา ไม่ต้องมายืนรอนาน ส่วนทางห้องครัวก็จัดการได้ง่าย และไม่ต้องใช้ห้องอาหารที่ใหญ่โตนัก


หรือในกรณีการยืมหนังสือในคาบกิจกรรมห้องสมุด อาจารย์จะเรียกนักเรียนที่นั่งประจำโต๊ะ โต๊ะละสี่คน ทยอยออกมาเพื่อเลือกหนังสือ เมื่อได้แล้วให้กลับไปนั่งรอที่เดิม จนเมื่อทุกคนเลือกได้หนังสือแล้ว อาจารย์จึงจะบอกให้นักเรียนหญิงหรือชายเข้าแถวทีละกลุ่ม เพื่อเช็คหนังสือออก ทำให้ภายในเวลาเพียง 45 นาที นักเรียนสามารถอ่านหนังสือที่จัดไว้ให้บนโต๊ะได้จำนวนหนึ่ง รวมทั้งได้เลือกหนังสือเพื่อยืมกลับไปอ่านที่บ้านด้วย


สุดท้าย ในเรื่องการมารับลูกหลานกลับบ้านหลังโรงเรียนเลิก หากผู้ปกครองคนไหนมารับเด็กช้า ทำให้อาจารย์และโรงเรียนต้องเสียเวลาคอยดูแล เขาจะปรับครับ ถ้าผมอ่านจดหมายข่าวที่เขาแจกมาไม่ผิด เขาจะปรับที่มารับช้าไปนาทีละหนึ่งดอลลาร์ นี่ยังเล็กน้อยนะครับ เมื่อเทียบกับสถานรับเลี้ยงเด็กวัยก่อนเข้าโรงเรียน เขาเขียนประกาศบอกไว้ที่หน้าประตูว่า หากมารับช้า เขาจะปรับนาทีละห้าดอลลาร์ครับ